ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์
(พ.ศ.2301 - 2310)
มีอีกพระนามว่า พระเจ้าเอกทัศน์ พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์สุดท้าย
พระองค์ที่สามสิบสาม แห่งกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยของพระองค์
บ้านเมืองมีปัญหามาก และจากการรุกรานของพม่า ทำให้เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง
เมื่อปี พ.ศ.2310
พระองค์มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าเอกทัศน์ (กรมขุนอนุรักษ์มนตรี) เป็นพระราชโอรสของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ.2275 - 2301) แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง (พ.ศ.2275 - 2310) มีพระเชษฐาคือ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ (กรมขุนเสนาพิทักษ์) และพระอนุชาคือ เจ้าฟ้าอุทุมพร (กรมขุนพรพินิต) ต่อมาคือ พระเจ้าอุทุมพร (พ.ศ.2301)
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เห็นว่าเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี "โฉดเขลา หาสติปัญญา และความเพียรมิได้ ถ้าเป็นพระมหาอุปราช บ้านเมืองจะเกิดภัยพิบัติฉิบหาย" และทรงเห็นว่า เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต มีความเฉลียวฉลาดหลักแหลม จึงโปรดให้เป็นพระมหาอุปราช และโปรดให้ เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีผนวช
เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ประชวร เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี ลอบลาผนวช และเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.2301 เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าอุทุมพร แต่พระองค์ทรงเกรงพระทัย และเผอิญพระองค์มีพระชนมายุครบบวช ดังนั้น หลังจากครองราชย์ได้เดือนเศษ จึงเสด็จออกผนวช และเสด็จไปประทับที่วัดประดู่โรงธรรม (วัดประดู่ทรงธรรม) เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี จึงได้ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาที่สาม
ในเวลาเก้าปี ที่พระองค์ครองราชย์อยู่นั้น มีปัญหาเกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอก จนเป็นเหตุนำไปสู่การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ.2310
ความคิดในการแย่งชิงราชสมบัติมีอยู่ตลอดเวลา ขุนนางแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ กลุ่มหนึ่ง จงรักภักดีต่อพระองค์ อีกกลุ่มหนึ่ง จงรักภักดีต่อพระเจ้าอุทุมพร
ความเสื่อมของระบบการป้องกันประเทศ เป็นอีกปัญหาหนึ่งเพราะการไม่มีสงครามภายนอกเป็นเวลานาน และการกบฎภายใน ซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้งในราชวงศ์บ้านพลูหลวง ทำให้การควบคุมหัวเมือง และการควบคุมกำลังคน หรือไพร่พลไม่มีประสิทธิภาพ ไพร่หลวงซึ่งเป็นกำลังสำคัญของบ้านเมือง ได้รับความเดือดร้อน มากกว่าไพร่สม ซึ่งเป็นคนของมูลนาย มีการหลยหนีเข้าป่า จนทางราชการต้องลดเวลาการเข้าเดือนของไพร่หลวง จากเดิมหกเดือน เหลือสี่เดือนต่อปี
ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ด้านเศรษฐกิจ ปรากฎว่าพระองค์ และขุนนางหลายคน ต้องเป็นหนี้บริษัท อินเดียตะวันออก ของฮนลันดา จนนำไปสู่การปิดสถานีการค้าของ บริษัทอินเดียตะวันออก ของฮอลันดา ที่พระนครศรีอยุธยา ในปี พ.ศ.2308
ในส่วนปัญหาจากภายนอกคือ การรุกรานของพม่า พระเจ้าอลองพญา ยกกองทัพมาโจมตีไทยในปี พ.ศ.2303 โดยยกกองทัพมาตีเมืองทวาย มะริด และตะนาวศรี ซึ่งเป็นของไทย ทัพพม่ามีกำลัง 30,000 คน ทัพพม่ารุกมาเรื่อย ๆ ได้เมืองกุยบุรี เพชรบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ขุนนาง และราษฎร ได้พากันไปกราบทูลขอให้ พระเจ้าอุทุมพรทรงแก้ไขสถานการณ์ จัดการป้องกันกรุงศรีอยุธยา และส่งกองทัพไปต้านทัพพม่า แต่ไม่สามารถต้านได้
พระเจ้าอลองพญา ยกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา แต่ถูกปืนใหญ่ยิงเอง แตกระเบิดใส่ จนประชวรหนัก จึงให้ยกทัพกลับ และสวรรคตระหว่างทาง พระเจ้ามังระได้ครองราชย์ต่อมา
ในปี พ.ศ.2306 พม่ายกทัพมาตีไทย ทั้งจากทางเหนือ และทางใต้ โดยได้ส่งกองทัพไปตีหัวเมืองล้านนา ในปีต่อมาได้ส่ง เนเมียวสีหบดีคุมกำลังไปเสริมอีก สามารถตีเชียงใหม่ หลวงพระบาง และในปี พ.ศ.2307 ได้ให้มังมหานรธายกทัพไปทวาย มะริด ตะนาวศรี พระเจ้ามังระเห็นว่า ทัพพม่ารบชนะไทยง่าย จึงให้กองทัพทั้งสองตีกระหนาบ เข้ามาบรรจบกันที่กรุงศรีอยุธยา โดยทางเหนือ กองทัพเนเมียวสีหบดียกลงมา ในปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2308 ตีได้เมืองต่าง ๆ คือ ตาก กำแพงเพชร สวรรคโลก สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ อ่างทอง สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ส่งกองทัพไปต่อต้าน แต่ไม่เป็นผล มีการต่อต้านที่สำคัญ จากการรวมตัวของชาวบ้านบางระจัน ซึ่งรบชนะพม่าถึงเจ็ดครั้ง ทำให้กองทัพของเนเมียวสีหบดีหยุดชะงักไปห้าเดือน กว่าจะยกมาถึงกรุงศรีอยุธยา ก็เป็นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2308 ในเวลาใกล้เคียงกับกองทัพของเนเมียวสีหบดี
กองทัพพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2308 ถึงเดือนเมษายน พ.ศ.2310 เป็นเวลาสิบสี่เดือนนั้น ราษฎรได้รับความเดือดร้อนมาก มีราษฎรบางส่วนหลบหนีไปสวามิภักดิ์พม่า พระยาวชิรปราการ (สิน) เจ้าเมืองกำแพงเพชรหมดหวังในการป้องกันกรุง จึงตีแหวกวงล้อมพม่าไปทางหัวเมืองตะวันออก
ฝ่ายไทยไปเจรจาสงบศึก และยอมเป็นประเทศราชของพม่า แต่แม่ทัพพม่าไม่ยินยอมขอทำสงครามต่อไป ให้ได้ชัยชนะเด็ดขาด พม่าเข้ากรุงศรีอยุธยาได้ในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2310 จับผู้คนประมาณ 30,000 คนเป็นเชลย ยึดทรัพย์สมบัติกลับไปพม่า
>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>