ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
จอมพล มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี
(เจิม แสงชูโต)
เป็นผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ เสนาบดีกระทรวงเกษตรพาณิชยการ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ และเป็นต้นสกุล แสง - ชูโต
เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เกิดเมื่อปี พ.ศ.2394 ได้รับการศึกษาอักษรสมัยเบื้องต้น ในสำนักพระวิเชียรมุนี วัดพิชยญาติการาม จนอายุ 13 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อลาสิกขาแล้ว เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เป็นมหาดเล็กวิเศษ สังกัดเวรฤทธิ์
เมื่อมีการจัดตั้งกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ นายเจิมได้เป็น หลวงศีลยุทธสรการ ผู้บังคับกองร้อยที่ 6 ในปี พ.ศ.2414 ท่านได้รับราชการในตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ อย่างก้าวหน้าตลอดมา กล่าวคือ ได้รับพระราชทานเลื่อนยศ และบรรดาศักดิ์เป็น นายร้อยเอก จมื่นสราภัยสฤษดิการ ตำแหน่งราชองครักษ์
ในปี พ.ศ.2421 ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นอุปทูต เดินทางไปประเทศอังกฤษ เพื่อเจรจาเรื่องที่ จอร์จ นอกซ์ กงสุลอังกฤษ จะนำเรือรบมาปิดปากอ่าวไทย ในการนี้ท่านได้มีโอกาสดูงานด้านทหารบก ทหารเรือ และวิธีการทำเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ในประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี และได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็น เจ้าหมื่นไวยวรนาถ ตำแหน่งหัวหมื่นมหาดเล็ก เวรฤทธิ์
ในปี พ.ศ.2423 ท่านได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ช่วยกันจัดการกรมทหารหน้า และเป็นผู้บังคับการกรมทหารหน้าด้วย ท่านได้ปรับปรุงระเบียบการปกครอง การแต่งกาย และการฝึกแบบตะวันตก ขึ้นในกรมทหารหน้า และในปี พ.ศ.2425 ได้จัดสร้างโรงทหารหน้าขึ้นใหม่ บนที่ดินที่เป็นฉางหลวงเก่า โดยสร้างเป็นตึกสามชั้น เพื่อบรรจุทหารให้ได้ถึงหนึ่งกองพลน้อย ปัจจุบันใช้เป็นที่ทำการของกระทรวงกลาโหม
การยกทัพไปปราบฮ่อ ครั้งที่สาม ในปี พ.ศ.2428 ท่านได้เป็นแม่ทัพไปปราบฮ่อ ที่แขวงเมืองหัวพันห้าทั้งหก ท่านได้เกลี้ยกล่อมให้พวกฮ่อ ยอมจำนนเป็นผลสำเร็จ พวกฮ่อได้ขอสวามิภักดิ์ เมื่อท่านเดินทางถึงกรุงเทพ ฯ ในปี พ.ศ.2430 ก็ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็น นายพลตรี พระยาสุรศักดิ์มนตรี สังกัดกรมยุทธนาธิการ ที่โปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นกรมกลาง รับผิดชอบการดำเนินงาน และบังคับบัญชากรมทหารบก และกรมทหารเรือ
ต่อมาในปี พ.ศ.2433 ได้ยกฐานะกรมยุทธนาธิการ เป็นกระทรวงยุทธนาธิการ ท่านได้เป็นผู้บัญชาการทหารบก ต่อมาในปี พ.ศ.2435 ท่านได้ลาออกจากราชการในตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารบก เนื่องจากของบประมาณค่าเครื่องแต่งตัวทหาร และขออาวุธเพิ่ม แต่ที่ประชุมเสนาบดีคัดค้าน ในปีเดียวกัน ท่านได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็น เสนาบดีกระทรวงเกษตรพาณิชยการ ต่อมาในปี พ.ศ.2439 ท่านได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี
ท่านได้ลาออกจากราชการในปี พ.ศ.2440 มียศเป็น นายพลโท และได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้มีเกียรติยศเท่าเสนาบดี และองคมนตรี ท่านได้ริเริ่มจัดตั้งบริษัท เพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวกบการค้าไม้กระยาเลย ได้ก่อตั้งบริษัทป่าไม้ศรีราชาทุน จำกัด และได้รับสัมปทานให้ทำป่าไม้กระยาเลย
ในปี พ.ศ.2445 เกิดกบฎเงี้ยวเมืองแพร่ ขึ้น พวกยึดได้เมืองแพร่แล้วคิดที่จะยึดเมืองลำปาง แต่ตีเมืองไม่สำเร็จ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เป็นแม่ทัพ ยกขึ้นไปปราบกบฎ ท่านทำการได้สำเร็จเรียบร้อย มีการลงโทษเจ้านายเมืองแพร่ ด้วยการปลดออกแล้วให้ข้าราชการ จากส่วนกลางไปดำรงตำแหน่งใหม่ทั้งหมด
เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อปี พ.ศ.2474 โดยไม่มีบุตร ธิดา
>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>