ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
เรือสำปั้น
เป็นชื่อเรือต่อชนิดหนึ่ง ใช้เป็นพาหนะสำหรับอาศัยไปมา หรือบรรทุกสิ่งของสินค้าขึ้นล่องทางน้ำ โดยการแจวหรือพาย
เรือสำปั้นของไทยในชั้นเดิมสันนิษฐานว่า ได้แบบอย่างจากเรือของจีน เป็นเรือต่อด้วยไม้กระดานแผ่นยาวพอประมาณ จำนวนสามแผ่นประกอบเข้าเป็นลำเรือ
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ บุนนาค) ได้คิดดัดแปลงเรือสำปั้นเรียกว่าเรือสำปั้นแปลง โดยเพิ่มกระดานที่นำมาต่อเรืออีกสองแผ่น รวมเป็นห้าแผ่น ลักษณะท้องเรือค่อนข้างมน กลางลำป่องเป็นกระพุ้ง หัวและท้ายเรือเพรียว ส่วนท้ายเรืองอนเชิดขึ้นสูงกว่าหัวเรือ ต่อมาได้คิดต่อให้ใหญ่และยาวขึ้นเป็น 7 - 8 วา และต่อมาได้ต่อได้ยาวถึง 14 - 15 วา ใช้กันแพร่หลายเป็นลำดับมา ในชั้นหลังใช้ไม้สักแทนไม้ฉำฉา
เรือสำปั้นขนาดย่อม ใช้กำลังคนพายท้ายเรือ และหัวเรือแห่งละคน ส่วนเรือสำปั้นขนาดใหญ่ และยาวมากมักใช้แจวแทนพาย อาจมีหนึ่งแจว หรือสองแจว แต่บางลำใช้หกหรือแปดแจวก็มี
ต่อมาได้มีการต่อเติม และดัดแปลงให้มีรูปลักษณะและสิ่งประกอบต่าง ๆ ตามความนิยม และประโยชน์ใช้สอย จึงมีเรือสำปั้นต่างชนิด และเรียกชื่อต่าง ๆ กันเช่น
เรือสำปั้นเพรียว หรือเรือเพรียว
เป็นเรือสำปั้นขนาดเล็กและเพรียว นั่งได้เพียงคนเดียว
มีผู้นำไปถวายวัดสำหรับพระภิกษุพายออกบิณฑบาต
เรือสำปั้นประทุน เป็นเรือขนาดกลาง ติดหลักแจวหนึ่งหรือสองหลัก
ตอนกลางลำเรือทำประทุนรูปโค้งกั้นแดดกันฝนต่างหลังคา
ใช้สำหรับเดินทางรอนแรมไปไกล ๆ
เรือสำปั้นเก๋ง เป็นเรือขนาดกลาง และขนาดใหญ่ อาจใช้แจวสี่ถึงแปดแจว
กลางลำเรือตั้งเก๋งเครื่องกั้นแดดกันฝน
เรือสำปั้นสวน เป็นเรือขนาดกลาง ใช้บรรทุกผลิตผลจากสวน
เรือสำปั้นจ้าง หรือเรียกสั้น ๆ ว่า เรือจ้าง
เป็นเรือขนาดกลางใช้คนแจวคนเดียว มีทั้งแบบตั้งเก๋งโถงและเรือเปล่า
ใช้รับจ้างส่งคนข้ามฟากหรือไปในระยะไม่ไกลนัก
เรือสำปั้นเล็ก ยาวประมาณหนึ่งวาสองศอกถึงสองวา ใช้พายคนเดียว
บางทีเรียกเรือคอน มักใช้เป็นเรือพายขายของกินต่าง ๆ
เรือสำปั้นแปลง มีขนาดทั้งเล็ก กลาง และใหญ่ ดัดแปลงขึ้นใหม่ให้เหมาะสม
สำหรับขนส่งสิ่งของ โดยทำส่วนกราบเรือทั้งสองข้างสูงขึ้นกว่าปรกติ
>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>