ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

สามัคคีเภทคำฉันท์

 เป็นชื่อวรรณกรรมร้อยกรองประเภทคำฉันท์ ว่าด้วยโทษแห่งการแตกสามัคคีของพวกกษัตริย์ลิจฉวี ผู้ครองกรุงเวสาลี แคว้นวัชชี เป็นบทประพันธ์ของ นายชิต บุรทัต รัตนกวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยอาศัยเค้าเรื่องที่เกิดขึ้น ขณะพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ภูเขาคิชกูฎ กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ เป็นครั้งสุดท้ายก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน ดังความปรากฎในตอนต้นของมหาปรินิพพานสูตร คัมภีร์ทีฆนิกาย มหาวรรค (พระไตรปิฎก เล่มที่ 10) และจบลงหลังพระพุทธปรินิพพาน แล้วสามปี

นายชิต บุรทัต ได้อ่านคำแปลอรรถกถา ในคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี ภาคสอง ประกอบกับเคยอ่านหนังสือ อิลราชคำฉันท์ ของพระศรีสุนทรโวหาร ( ผัน สาลักษณ์)  มาก่อน จึงเกิดแรงบันดาลใจนำมาร้อยกรอง เป็นคำฉันท์ โดยเพิ่มอรรถรสทั้งด้านภาษา และเนื้อหาสาระ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ เคยใช้เป็นแบบเรียนบังคับ ในการสอบไล่ชั้นมัธยมศึกษา บริบูรณ์ (ม.8)

นายชิต บุรทัต  แต่งฉันท์เรื่องนี้เป็นฉันท์ 413 บท ใช้ฉันท์ และกาพย์ 20 ประเภท

สามัคคีเภทคำฉันท์ มีสองสำนวน สำนวนแรก แต่งเมื่อปี พ.ศ.2457 ผู้ประพันธ์ระบุนาม และนามสกุลเดิมว่า ชิต ชวางกูร ต่อมานายชิต ได้มอบสามัคคีเภทคำฉันท์ สำนวนแรกนี้ให้เป็นสมบัติของหอพระสมุดวชิรญาณ ต่อมาในปี พ.ศ.2472 กระทรวงธรรมการได้ประกาศให้สามัคคีเภทคำฉันท์ เป็นหนังสือแบบเรียนกวีนิพนธ์ บังคับเรียนสำหรับชั้นมัธยมบริบูรณ์ นายชิต บุรทัต จึงได้ตรวจแก้ไข ขัดเกลาคำฉันท์เรื่องนี้ ทำให้เป็นสำนวนใหม่ และใช้นามผู้ประพันธ์ว่า ชิต บุรทัต

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย