ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
สัตยาบัน
คำ สัตยาบัน นี้เกี่ยวข้องกับกฎหมายสองเรื่อง เรื่องแรก เกี่ยวกับหลักกฎหมายว่าด้วย นิติกรรมที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนเรื่องที่สอง เกี่ยวกับการทำสนธิสัญญา ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ
สัตยาบัน ที่เกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศ หมายถึง การที่องค์การภายในของรัฐใด ซึ่งมีอำนาจทำให้รัฐนั้น ต้องถูกผูกพันตามสนธิสัญญา ได้ให้ความเห็นชอบในการทำสนธิสัญญานั้นเป็นการยืนยันว่าสนธิสัญญานี้ถูกต้องสมบูรณ์นั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ การให้สัตยาบันสนธิสัญญาจึงจัดเป็นระเบียบวิธีการขั้นตอนหนึ่ง ในจำนวนสามขั้นตอนของหลักการทำสนธิสัญญาเต็มรูปแบบ ขั้นตอนที่หนึ่งคือการเจรจาข้อตกลงในสนธิสัญญา ขั้นตอนที่สองคือการลงนามสนธิสัญญา และขั้นตอนที่สามคือการให้สัตยาบันเพื่อยืนยันให้สนธิสัญญาสมบูรณ์ มีผลตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามในสนธิสัญญาบางเรื่องก็อาจไม่จำเป็นต้องมีการให้สัตยาบัน หากเป็นสนธิสัญญาที่มิได้ทำไป โดยเกินขอบเขตอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งรัฐนั้น หรือเป็นกรณีที่คณะผู้แทนเจรจาของรัฐใด ได้รับมอบอำนาจเด็ดขาดชัดแจ้ง ให้มีการตกลงได้โดยเร่งด่วน และไม่ต้องให้สัตยาบัน
หลักเกณฑ์การให้สัตยาบันโมฆียะกรรม และการให้สัตยาบันสนธิสัญญา
1. การให้สัตยาบันโมฆียะกรรม หมายถึงการทำให้นิติกรรมกลับสมบูรณ์ สามารถกระทำได้กับนิติกรรมสมบูรณ์ สามารถกระทำได้กับนิติกรรมอันตกเป็นโมฆียะด้วยสาเหตุต่าง ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น
2. การให้สัตยาบันสนธิสัญญา ความหมายของสนธิสัญญาตามอนุสัญญากรุงเวียนนา ว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ.1969 ได้บัญญัติไว้ว่า สนธิสัญญาหมายถึง ความตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งได้กระทำขึ้นระหว่างรัฐเป็นลายลักษณ์อักษร และอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งนี้ไม่ว่าจะปรากฎในตราสารฉบับเดียว หรือสองฉบับหรือตราสารที่เกี่ยวข้องกันมากกว่านั้นขึ้นไป และจะมีชื่อเรียกเฉพาะว่าอย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุนี้สนธิสัญญาตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ จึงเป็นความตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างรัฐผู้มีอำนาจอธิปไตย เพื่อให้มีผลตามกฎหมาย ซึ่งอาจเป็นความตกลงสองฝ่าย หรือหลายฝ่ายก็ได้เช่นสนธิสัญญา อนุสัญญา กฎบัตร ปฎิญญา และความตกลง
ตามความหมายอย่างกว้างของสนธิสัญญา ความตกลงระหว่างรัฐดังกล่าวมีผลบางประการได้ โดยไม่มีการจำกัดว่าความตกลงนี้ จะต้องผ่านแบบพิธีการให้สัตยาบันเลย อันทำให้ความตกลงมีผลตามกาฎหมายทันทีที่มีการลงนามหรือที่เรียกว่า "ความตกลงชนิดทำแบบย่อ"
โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศถือว่าการให้สัตยาบันสนธิสัญญาเป็นนิติกรรมอิสระ ที่กระทำด้วยใจสมัคร ด้วยเหตุนี้รัฐซึ่งเป็นคู่สัญญา จึงเป็นผู้มีอำนาจใช้ดุลยพินิจ ซึ่งก่อให้เกิดผลที่ว่ารัฐคู่กรณีสัญญาอาจให้สัตยาบัน ตามระยะเวลาที่รัฐนั้นเห็นว่าเหมาะสมก็ได้ หรืออาจปฏิเสธการให้สัตยาบัน ตามข้ออ้างบางประการดังเช่น ผู้ได้รับมอบอำนาจทำสนธิสัญญาทำเกินขอบเขตที่ให้ไว้ก็ได้ หรืออาจให้สัตยาบัน โดยมีเงื่อนไขต่อสนธิสัญญาก็ได้
นอกจากนี้คำว่าการให้สัตยาบัน การยอมรับ การให้ความเห็นชอบ และภาคยานุวัติ โดยทั่วไปมีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน อันหมายถึงการกระทำในทางกฎหมายระหว่างประเทศอย่างหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐได้ให้ความยินยอมเพื่อผูกพันตามสนธิสัญญา แต่การนำคำว่าการยอมรับ หรือการให้ความเห็นชอบมาใช้แทนคำว่าการให้สัตยาบัน ก็มีสาเหตุมาจากการเปิดโอกาสให้ฝ่ายบริหารของรัฐ หลีกเลี่ยงการบังคับใช้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดให้ฝ่ายนิติบัญญัติต้องให้ความยินยอม โดยการให้สัตยาบันแก่สนธิสัญญา
สนธิสัญญาจะเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันให้สัตยาบันแล้ว หากรัฐใดปฏิเสธการให้สัตยาบัน ก็ย่อมทำให้สนธิสัญญาดังกล่าวเป็นอันไร้ผล แต่ในระหว่างที่สนธิสัญญายังไม่ได้ให้สัตยาบันหรือถูกปฎิเสธนั้น สนธิสัญญาดังกล่าวก็คงมีอยู่ เพียงแต่ไม่มีผลบังคับกันระหว่างรัฐผู้เป็นคู่สัญญา
>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>