ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

สังคายนา

มีบทนิยามว่า "การซักซ้อม"  การสวดพร้อมกัน และเป็นแบบเดียวกัน การประชุมชำระพระไตรปิฎก ให้เป็นแบบเดียวกัน " การสังคายนา ในพระพุทธศาสนา มีความมุ่งหมายเพื่อรักษาพระธรรมวินัย ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์เหมือนเดิม เพราะพระธรรมวินัยเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า ตราบใดที่พระธรรมวินัยยังคงอยู่ ตราบนั้น พระพุทธศาสนาก็ยังคงอยู่

การสังคายนา เกิดขึ้นตามพระดำรัสของพระพุทธเจ้า ที่คณะสงฆ์ได้รับมาปฎิบัติสืบทอดกันมา เมื่อเกิดเหตุการณ์จะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะฝ่ายเถรวาท สามารถรักษาความบริสุทธิ์บริบูรณ์ไว้ได้

พระพุทธองค์ทรงแสดงหลักการและหลักธรรม ที่ควรสังคายนาไว้ใน ปาสาทิกสูตร คัมภีร์ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค (พระไตรปิฎก เล่ม 11) ดังนี้
1.  พร้อมเพรียงกันประชุม
2.  สอบทานอรรถกับอรรถ
3.  สอบทานพยัญชนะกับพยัญชนะ
4.   อย่าทะเลาะวิวาทกัน
5.  ถ้าภิกษุใด ทรงจำอรรถและพยัญชนะมาผิด หรือถูก อย่าเพิ่งชื่นชม อย่าเพิ่งยอมรับหรือคัดค้าน แต่ควรร่วมกันพิจารณาตรวจสอบให้ดีก่อน

หลักธรรมที่ควรสังคายนา ได้แก่ โพธิปักขิยธรรม (ธรรมที่เป็นฝ่ายแห่งความตรัสรู้)  สามสิบเจ็ดประการ ประกอบด้วย สติปัฎฐานสี่ อิทธิบาทสี่ อินทรีย์ห้า พละห้า โพชฌงค์เจ็ด และอริยมรรค มีองค์แปด

ต้นแบบการสังคายนาพระธรรมวินัย พระสารีบุตรได้แสดงวิธีการสังคายนา ปรากฎอยู่ในสังคีติสูตร คัมภีร์ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค ซึ่งได้รวบรวมพระธรรม ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในที่ต่าง ๆ มาจัดเป็นหมวด ๆ ตั้งแต่หมวดละหนึ่งข้อ จนถึงหมวดละสิบข้อ นับเป็นแบบของการสังคายนา พระธรรมวินัยในสมัยต่อมา

การสังคายนาครั้งที่หนึ่ง  หลังจากพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้สามเดือน ที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ภูเขาเวภารบรรพต กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ มีพระอรหันต์เข้าร่วมประชุมห้าร้อยรูป โดยมีพระมหากัสสปเถระ ผู้มีพรรษาสูงสุด ในขณะนั้น เป็นประธาน และทำหน้าที่เป็นผู้ถาม มีพระเจ้าอชาติศัตรู เป็นศาสนูปถัมภก พระอุบาลีเถระ ผู้ชำนาญพระวินัย เป็นผู้วิสัชนา (ตอบ)  พระวินัย เมื่อไม่มีผู้ใดคัดค้าน พระสงฆ์ทั้งปวงจึงสวดสิกขาบทนั้น ขึ้นพร้อม ๆ กัน เมื่อสังคายนาพระวินัยจบแล้ว  พระอานนท์ ผู้เป็นพระพุทธอุปัฎฐาก และเป็นพหูสูตรทรงจำพระธรรมวินัยได้มาก เป็นผู้วิสัชนาพระธรรม

การสังคายนาครั้งที่หนึ่ง ทำอยู่เจ็ดเดือน เมื่อเสร็จแล้ว พระอรหันต์ห้าร้อยรูป ผู้ร่วมสังคายนาได้มีมติ มอบหมายการรับผิดชอบ เพื่อธำรงรักษา และสืบทอด ดังนี้ พระวินัยปิฎก มอบให้พระอุบาลี รับไป พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มอบให้พระอานนท์ รับไป พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มอบให้ศิษย์ทั้งหลายของพระสารีบุตร รับไป พระสุตตันตกปิฎก สังยุตนิกาย มอบให้พระมหากัสสปะ รับไป พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย มอบให้พระอนุรทธะ รับไป พระสุตตันตปิฎก ขุทกนิกาย ส่วนที่เป็นพระพุทธวงศ์ และจริยปิฎก มอบให้ศิษย์ทั้งหลายของพระสารีบุตร รับไป นอกจากนั้น มอบให้พระอานนท์ รับไป

การสังคายนาครั้งที่สอง  ปรารภพวกภิกษุ วัชชีบุตร แสดงวัตถุสิบประการ นอกธรรม นอกวินัย พระยศถากัณฑกบุตร เป็นผู้ชักชวน ได้พระอรหันต์เจ็ดร้อยรูป พระเรวตะ เป็นผู้ถาม พระสัพพกามี เป็นผู้วิสัชนา ประชุมทำที่วาลิการาม เมืองเวสาลี เมื่อปี พ.ศ.100 โดยพระเจ้ากาลาโศกราช เป็นศาสนูปถัมภก อยู่แปดเดือน จึงเสร็จ

การสังคายนาครั้งที่สาม ปรารถเดียรถีย์มากมาย ปลอมบวชในพระศาสนา เพราะมีลาภสักการเกิดขึ้น พระอรหันต์หนึ่งพันรูป มีพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธาน ประชุมทำที่อโศการาม เมืองปาฎลีบุตร เมื่อประมาณปี พ.ศ.300 โดยมีพระเจ้าอโศก ฯ เป็นศาสนูปถัมภก ทำอยู่เก้าเดือนจึงเสร็จ การสังคายนาครั้งนี้ได้จัดแบ่งหมวดหมู่ พระธรรมวินัยออกเป็นสามปิฎก โดยมีพระอภิธรรมปิฎกเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จึงครบไตรปิฎก

การสังคายนาครั้งที่สี่  ทำในประเทศศรีลังกา ปรารภในพระศาสนาประดิษฐานมั่นคงในลังกาทวีป พระสงฆ์ 68,000 รูป มีพระมหินทเถระ เป็นประธาน และเป็นผู้ถาม พระอริฎฐะ เป็นผู้วิสัชนา กระทำที่ ถูปวราม เมืองอนุราธบุรี เมื่อปี พ.ศ.303 โดยพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ เป็นศาสนูปถัมภก ทำอยู่สิบเดือน จึงเสร็จ

การสังคายนาครั้งที่ห้า  ทำในประเทศศรีลังกา ปรารภพระสงฆ์แตกกันเป็นสองพวก และคำนึงว่า พระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระสาวกทั้งหลายได้ทรงจำสืบต่อ ด้วยวิธีมุขปาฐะ (ท่องจำกันมา ด้วยปากเปล่า)  ไม่ได้เรียนไว้สืบไป ภายหน้ากุลบุตรจะถอยปัญญา ควรจารึกพระธรรมวินัยลงในใบลาน พระอรหันต์ห้าร้อยรูป จึงประชุมกันสวดซ้อม แล้วจารึกพระพุทธพจน์ ลงในใบลาน ณ อาโลก เลณสถาน ในมลยชนบท เมื่อปี พ.ศ.450 โดยพระเจ้าวัฎฎคามมุณีอภัย เป็นศาสนูปถัมภก

หลังจากการสังคายนาครั้งที่ห้า ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา แบบเถรวาท ก็ได้ไปรับคัมภีร์ที่จารึกพระไตรปิฎก จากศรีลังกามายังประเทศของตน แล้วคัดลอกจารึกสืบต่อกันมา เป็นเวลายาวนานนับพันปี พระไตรปิฎกฉบับที่จารึกเป็นลายลักษณ์อักษร จึงแพร่หลายไปยังนานาประเทศ ที่นับถือพระพุทธศาสนา ต่อมาพุทธศาสนิกชนแต่ละประเทศ ได้แปลพระไตรปิฎกภาษาบาลี สู่ภาษาของตน

การสังคายนาในประเทศไทย  มีหลักฐานยืนยันว่า พระสงฆ์ในล้านนาได้ไปรับพระไตรปิฎก อักษรเขียนพร้อมทั้งวิธีเขียนจากลังกา ได้คัดลอกจารึกลงใบลานสืบต่อมา ต่อมาเมื่อพบว่ามีความผิดพลาดคลาดเคลื่อน เกิดจากการคัดลอกต่อๆ กัน จึงได้ทำสังคายนาสอบทานเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2020 ที่เชียงใหม่ สมัยพระเจ้าติโลกราช ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ จึงได้มีการทำสังคายนาชำระพระไตรปิฎกครั้งใหญ่ ทำอยู่ห้าเดือนเสร็จ ได้จารึกด้วยอักษรขอม ลงในใบลานปิดทองทับ เรียกพระไตรปิฎกฉบับนี้ว่า ฉบับทอง ใช้เป็นต้นฉบับเก็บไว้ในหอมณเทียระรรม และได้คัดลอกไปถวายวัดต่าง ๆ เพื่อใช้ศึกษากันต่อมา จนได้จัดพิมพ์ด้วยอักษรไทยเป็นเล่มหนังสือ

การจัดพิมพ์พระไตรปิฎก เผยแผ่เป็นเล่มหนังสือ ในประเทศไทยนั้น ดำเนินมาโดยลำดับคือ จัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2431 ครั้งที่สองเมื่อปี พ.ศ.2468 ครั้งที่สาม เมื่อปี พ.ศ.2483 ฉบับบาลีชุดนี้เรียกว่า ฉบับสยามรัฐ ในปี พ.ศ.2500 คณะสงฆ์ได้จัดให้การแปลพระไตรปิฎก เป็นภาษาไทยอย่างเป็นทางการ ต่อมาได้จัดพิมพ์อีกสี่ครั้ง ในปี พ..ศ.2514, 2521, 2525 และ พ.ศ.2530

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย