ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

ชนชาติส่วย

เป็นชนชาติในตระกูลมอญ - เขมร ส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานในบริเวณ จ.สุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ อุบลราชะานี คำว่า ส่วย เป็นชื่อที่คนไทยใช้เรียก แต่พวกส่วยเรียกตนเองว่ากวยหรือกูย ซึ่งแปลว่าคน ลาวเรียกพวกส่วยว่า ข่า

ถิ่นเดิมของพวกส่วยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศลาว บริเวณเมืองจำปาศักดิ์ สารวัน อัตบือ แสนปาว

หลักฐานการรับรู้ของคนไทยต่อชาวส่วยปรากฎในสมัยอยุธยา ดังปรากฎในพระไอยการอาญาหลวง ประกาศใช้ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่สอง (พระเจ้าสามพระยา พ.ศ.1967 - 1991) โดยเรียกว่ากวย และถือเป็นชาวต่างประเทศที่ห้ามคนไทยยกลูกสาวหลานสาวให้แต่งงานด้วย ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ (พ.ศ.2199 - 2231) ชาวส่วยได้เริ่มอพยพเข้ามาอยู่ในบริเวณที่เป็น จ.อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ปัจจุบันโดยผ่านทางแม่น้ำมูลที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำโขง และในปลายสมัยอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้มีช่าวส่วยถูกกวาดต้อนจากลาวตอนใต้ เข้ามาในบริเวณสี่จังหวัดดังกล่าว ในช่วงเวลานั้นไทยคงเรียกชาวส่วยว่า เขมรป่าดง การเรียกว่าชาวส่วยน่าจะเริ่มในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ (พ.ศ.2367 - 2394) เมื่อมีสัคเลก (หรือเลข) และเรียกเก็บส่วยคือ สิ่งของหรือเงินแทนการเกณฑ์แรงงานที่เรียกว่า การรับราชการหรือเข้าเดือน คำว่าส่วยในระยะแรกคงไม่ได้หมายถึง พวกเขมรป่าดงโดยเฉพาะ เพราะมีคำเรียกส่วยลาว ส่วยเขมร

ชาวส่วยบางคนได้เริ่มเข้ารับราชการเป็นขุนนาง ตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยาเพราะมีความชอบในการช่วยจับช้างเผือกที่หลบหนีจากกรุงศรีอยุธยามาทางศรีสะเกษ หัวหน้าพวกส่วยเช่นตากะจะ ได้เป็นหลวงแก้วสุวรรณ ต่อมาได้เลื่อนเป็นพระไกรภักดีศรีนครลำดวน และพระยาไกรภักดี ฯ เจ้าเมืองศรีนครลำดวนคือ เมืองศรีสะเกษในปัจจุบัน เชียงปุ่มได้เป็นหลวงสุรินทร์ภักดี ต่อมาได้เลื่อนเป็นพระสุรินทรภักดีเจ้าเมืองประทายสมันต์คือ เมืองสุรินทร์ในปัจจุบัน

เมื่อตั้งมณฑลเทศาภิบาลในปี พ.ศ.2437 เมืองศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี รวมอยู่ในมณฑลลาวกาว ชาวส่วยมีภาษาพูดของตนเอง แต่ไม่มีภาษาเขียน

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย