ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

สภากาชาด

เป็นองค์การกุศลที่ทำหน้าที่รักษาพยาบาลผู้ป่วยไข้ และบาดเจ็บ ทั้งในยามสงครามและยามสงบ ตลอดจนบรรเทาทุกข์ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ

กาชาด เกิดจากแนวคิดของ อังรี ดูนังต์  ชาวสวิส เกิดเมื่อปี พ.ศ.2371 ได้เห็นการสู้รบระหว่างทหารฝรั่งเศส ช่วยอิตาลีรบกับออสเตรีย ที่หมู่บ้านทางภาคเหนือของอิตาลี มีทหารสี่หมื่นคนบาดเจ็บ ล้มตายเกลื่อนสนามรบ โดยไม่มีผู้ใดช่วยเหลือ รักษาพยาบาล ดูนังต์ได้ลงมือช่วยเหลือผู้บาดเจ็บด้วยตนเอง และขอร้องหญิงชาวบ้านในท้องถิ่น ให้มาช่วยด้วย ประสบการณ์นี้ทำให้ดูนังต์ เกิดแรงบันดาลใจเขียนหนังสือเรื่อง "ความทรงจำเรื่องที่ ซอลเฟริโน" ขึ้น

จากแนวคิดของดูนังต์ ได้มีการจัดตั้ง "คณะกรรมการระหว่างประเทศ เพื่อบรรเทาทุกข์ทหารบาดเจ็บ" เมื่อปี พ.ศ.2406  ปัจจุบันคือ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางเมื่อเกิดการขัดแย้ง หรือความไม่สงบ หรือสงครามกลางเมือง หรือสงครามระหว่างประเทศ

สัญลักษณ์ของกาชาดคือ เครื่องหมายกากบาทแดง อันเป็นการให้เกียรติ์แก่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งเป้นต้นก่อเกิดของกาชาด และเพื่อป้องกันการเข้าใจผิดว่า เครื่องหมายกากบาท มีความสำคัญทางศาสนาคริสต์ อนุสัญญาเจนีวา จึงอนุมัติให้ประชากรมุสลิมใช้เครื่องหมายเสี้ยววงเดือนแดง เป็นสัญลักษณ์ของกาชาดแทนกากบาทแดง ทั่วโลกถือเอาวันที่ 8 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันเกิดของ อังรี ดูนังต์ เป็นวันที่ระลึกกาชาดสากล หรือวันกาชาดโลก

การดำเนินการของกาชาดนั้น ได้ยึดหลักการกาชาดเจ็ดประการคือ

1. มนุษยธรรม  กาชาดมีจุดมุ่งหมายที่จะคุ้มครองชีวิตและสุขภาพของทุกคน เคารพต่อสิทธิมนุษยชน สนับสนุนและส่งเสริมความเข้าใจ ความเป็นมิตรภาพและความร่วมมือ ส่งเสริมสันติภาพระหว่างประชากรทั้งมวล
2. ความไม่ลำเอียง  กาชาดไม่เลือกปฎิบัติในเรื่องสัญชาติ เชื้อชาติ ศาสนา ชั้นวรรณะ ความคิดเห็นทางการเมือง
3. ความเป็นกลาง  กาชาดไม่อาจเกี่ยวข้อง หรือเข้ากับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ในการสู้รบ
4. ความเป็นอิสระ  เพื่อที่จะสามารถปฎิบัติตามหลักการกาชาดไว้ทุกเวลา
5. บริการอาสาสมัคร   ไม่มีความปรารถนาในผลประโยชน์ใด ๆ
6. ความเป็นเอกภาพ   ในประเทศหนึ่ง พึงมีสภากาชาดได้เพียงแห่งเดียว ต้องเปิดให้แก่คนทั่วไป ต้องปฎิบัติงานด้านมนุษยธรรม ทั่วทุกดินแดนของตน
7. ความเป็นสากล  สภากาชาดทั้งมวลมีฐานะเท่าเทียมกัน

สภากาชาดไทย เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2436  โดยใช้ชื่อว่า สภาอุณาโลมแดง และอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์  ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น สภากาชาดสยาม และเปลี่ยนเป็นสภากาชาดไทย เมื่อปี พ.ศ.2492  มีภารกิจหลักอยู่สี่ลักษณะงาน คือ
-  การบริการทางการแพทย์
-  การเตรียมการและบรรเทาทุกข์ ผู้ประสบภัยพิบัติ
-  การบริการโลหิต
-  การส่งเสริมคุณภาพชีวิต

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย