ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
สนธิสัญญา
เป็นคำที่ใช้กันในเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ อนุสัญญากรุงเวียนนา ว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ลงวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2512 ได้กำหนดนิยามของสนธิสัญญาไว้ในมาตรา 2 (1) (เอ) ว่า "สนธิสัญญา หมายความถึง ความตกลงระหว่างประเทศ ที่ได้ทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างรัฐต่าง ๆ และอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งนี้ไม่ว่าจะปรากฎในตราสารฉบับเดียว หรือสองฉบับ หรือตราสารที่เกี่ยวข้องกันมากกว่านั้นขึ้นไป และจะมีชื่อเฉพาะว่าอย่างไรก็ตาม" ด้วยเหตุนี้ ความหมายของสนธิสัญญาจึงได้แก่ ความตกลงระหว่างรัฐ ผู้มีอำนาจอธิปไตยเพื่อให้มีผลทางกฎหมาย
นักกฎหมายบางคน มีความเห็นว่า ความหมายของสนธิสัญญานี้ สามารถแบ่งออกได้เป็นสองนัยคือ ความหมายอย่างแคบ และความหมายอย่างกว้าง ในความหมายอย่างแคบ หรือที่เรียกว่า "สนธิสัญญาชนิดทำเต็มตามแบบ" หมายถึง ตกลงระหว่างรัฐอันมีอธิปไตย เพื่อให้มีผลบางประการแก่รัฐที่ได้ตกลงกันนั้น โดยความตกลงดังกล่าว จะมีผลต่อเมื่อผ่านแบบพิธีการ ให้สัตยาบันแล้ว เป็นการผ่านแบบพิธีสามระยะได้แก่ การเจรจา การลงนาม และการให้สัตยาบัน ส่วนความหมายอย่างกว้าง หรือที่เรียกว่า "สนธิสัญญาชนิดทำตามแบบย่อ" หมายถึง ความตกลงระหว่างรัฐอันมีอธิปไตย เพื่อให้มีผลบางประการนั้น โดยไม่จำกัดว่า ความตกลงนี้ต้องทำผ่านแบบพิธีในการให้สัตยาบัน ทั้งนี้ สนธิสัญญาเกิดขึ้นได้ เมื่อมีการเจรจา แล้วมีการลงนาม ก็มีผลตามกฎหมาย
ความสำคัญของสนธิสัญญา ในทางกฎหมายระหว่างประเทศ ถือว่าสนธิสัญญาเป็นบ่อเกิด หรือที่มาแห่งกฎหมายระหว่างประเทศ โดยพิจารณาจากบทบัญญัติมาตรา 38 แห่งพระธรรมนูญ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้กำหนดให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ นำสิ่งเหล่านี้มาใช้ในการพิจารณาวินิจฉัย เพื่อพิพากษาและบังคับคดีได้แก่
1. สนธิสัญญาหรืออนุสัญญาระหว่างประเทศ ไม่ว่าทั่วไปหรือโดยเฉพาะ
ซึ่งตั้งกฎเกณฑ์อันเป็นที่รับรองของรัฐ ที่เกี่ยวข้องโดยชัดแจ้ง
2. จารีตประเพณีระหว่างประเทศ ในฐานะเป็นหลักฐานแห่งการปฎิบัติโดยทั่วไป
ซึ่งได้รับการรับรองว่าเป็น กฎหมาย
3. หลักกฎหมายทั่วไป ซึ่งอารยประเทศรับรอง ส่วนคำพิพากษาของศาล
และคำสอนของนักนิติศาสตร์ของประเทศต่าง ๆ ไม่ถือว่า
เป็นบ่อเกิดหรือที่มาแห่งกฏหมายระหว่างประเทศ แต่เป็นเพียงเครื่องช่วยให้ศาล
วินิจฉัยหลักกฎหมายเท่านั้น
องค์ประกอบของสนธิสัญญา มีสี่ประการได้แก่
1. เป็นความตกลงระหว่างประเทศที่ทำขึ้น เพื่อก่อให้เกิดความผูกพันตามที่ได้ตกลงกันไว้ ระหว่างภาคีแห่งสนธิสัญญาแต่ละฉบับนั้น นอกจากนี้ ยังรวมถึงความตกลงระหว่างรัฐกับองค์การระหว่างประเทศด้วย นักกฎหมายบางท่านมีความเห็นว่า สนธิสัญญาเป็นนิติกรรมสองฝ่าย หรือหลายฝ่าย ส่วนคำมั่น คำแถลงการณ์ที่อธิบาย หรือแสดงความคิดเห็น หรือคำประกาศ ซึ่งรับได้แสดงออกฝ่ายเดียว เช่น ข้อเสนอ บันทึกช่วยจำ และคำประกาศสงคราม ไม่ใช่สนธิสัญญา
2. เป็นความตกลงระหว่างผู้มีอำนาจอธิปไตย ตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป
รวมถึงองค์การระหว่างประเทศเข้าร่วมเป็นภาคีด้วย
3. เป็นความตกลงที่ทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น
4. เป็นความตกลงที่อยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ
การแบ่งประเภทสนธิสัญญา เพื่อประโยชน์ในการเข้าใจลักษณะ และความหมายของสนธิสัญญา โดยอาจพิจารณาได้สองแนวทางคือ
1. การแบ่งตามเนื้อหา อาจแยกพิจารณาตามสาระของสนธิสัญญา ได้แก่
ก. สนธิสัญญาเสมอภาค และสนธิสัญญาไม่เสมอภาค
ข. สนธิสัญญาประเภทสัญญา และสนธิสัญญาประเภทกฎหมาย
2. การแบ่งตามรูปแบบ อาจแยกพิจารณาตามรูปแบบ
การจัดทำสนธิสัญญาเป็นหลัก
ก. การแบ่งประเภทของคู่สนธิสัญญา
ข. การแบ่งตามจำนวนของคู่สนธิสัญญา เช่น สนธิสัญญาสองฝ่าย สนธิสัญญาหลายฝ่าย
ค. การแบ่งตามกระบวนการจัดทำสนธิสัญญา โดยพิจารณาแบบพิธีของการจัดทำสนธิสัญญาคือ
การเจรจา การลงนาม และการให้สัตยาบัน
การจัดทำสนธิสัญญา ภายใต้สนธิสัญญากรุงเวียนนา ว่าด้วย กฎหมายสนธิสัญญา พ.ศ.2452 ได้กำหนดวิธีการจัดทำสนธิสัญญาไว้ โดยได้แบ่งวิธีทำสนธิสัญญา ชนิดทำเต็มตามแบบ ไว้สามระยะคือ การเจรจา การลงนาม การให้สัตยาบัน
ความไม่สมบูรณ์ของสนธิสัญญา มีผลให้รัฐ ซึ่งเป็นคู่สัญญาใช้อ้างปฎิเสธความผูกพัน ตามสนธิสัญญาที่ได้จัดทำขึ้น ได้แก่
1. ความสำคัญผิด เป็นกรณีที่รัฐเข้าทำสนธิสัญญา โดยสำคัญผิดเกี่ยวกับปัจจัย หรือสถานการณ์ ซึ่งรัฐถือว่ามีอยู่ในขณะเข้าทำสนธิสัญญา และเป็นสาระสำคัญต่อความยินยอมให้ถูกผูกพันตามสนธิสัญญา เว้นแต่รัฐผู้อ้างความไม่สมบูรณ์ของสนธิสัญญา จากความสำคัญผิดนั้น มีส่วนโดยพฤติกรรมของตนเองในความสำคัญผิด หรือควรรู้ว่ามีความผิดพลาดเช่นนั้น ตามมาตรา 48 แห่งอนุสัญญากรุงเวียนนา ว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา
2. กลฉ้อฉล เป็นการหลอกลวงโดยรัฐ ซึ่งเป็นคู่เจรจาชักจูงให้อีกรัฐได้ตกลงเข้าทำสนธิสัญญา ตามมาตรา 49 แห่งอนุสัญญา ฯ
3. ความทุจริต เป็นความประพฤติมิชอบทุจริตของผู้แทนรัฐ โดยรับสินบนจากรัฐคู่เจรจา เป็นผู้ให้แก่ผู้แทนนั้น ไม่ว่าทางตรง หรือทางอ้อม ตามมาตรา 50 แห่งอนุสัญญา ฯ
4. การขู่เข็ญบังคับ เป็นการใช้กำลัง หรือการขู่เข็ญ บีบบังคับแก่ผู้แทนรัฐ ที่ทำการเจรจาในการจัดทำสนธิสัญญานั้น อันทำให้สนธิสัญญานั้นไร้ผลทางกฎหมาย ตามมาตรา 51 แห่งอนุสัญญา ฯ
5. การขัดต่อกฎหมายเด็ดขาด เป็นการตกลงที่มีสาระสำคัญอันขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ที่มีหลักการมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับ และรับรองกันโดยประชาคมโลก ซึ่งไม่อนุญาตให้มีการตกลงเลี่ยงหลักการนั้น
ผลของสนธิสัญญา สนธิสัญญาย่อมมีผลตามกฎหมาย หรือบังคับต่อรัฐที่เป็นคู่สนธิสัญญาโดยตรง นักกฎหมายทั่วไปเห็นว่า สนธิสัญญาที่สมบูรณ์ก่อให้เกิดหนี้ผูกพันต่อรัฐเท่านั้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อกลุ่มบุคคลในรัฐ ที่เป็นคู่สนธิสัญญาสองกลุ่ม ได้แก่
1. ผลของสนธิสัญญาต่อองค์กรปกครองของรัฐภาคีสนธิสัญญา องค์กรปกครองของแต่ละรัฐคือ กลุ่มผู้ปกครองในรัฐนั้น ผลผูกพันสำคัญประการแรกแก่องค์การปกครองแห่งรัฐ ต่อสนธิสัญญาก็คือ การกระทำในฐานะตัวแทนแห่งรัฐสภาคือ สนธิสัญญาที่จะต้องงดเว้นการกระทำใด ๆ ที่อาจมีผลทำให้วัตถุประสงค์ของสนธิสัญญาตกเป็นอันไร้ผล ตามมาตรา 18 แห่งอนุสัญญา ฯ
2. ผลของสนธิสัญญาต่อประชาชนของรัฐที่เป็นคู่สัญญา เมื่อสนธิสัญญามีผลผูกพันระหว่างรัฐต่อรัฐที่เป็นคู่สัญญาแล้ว ย่อมทำให้องค์กรปกครองแห่งรัฐนั้น ๆ ต้องจัดให้เป็นสาระสำคัญแห่งความตกลงในสนธิสัญญา เป็นส่วนหนึ่งในระเบียบภายในของรัฐด้วย
ความสิ้นสุดแห่งสนธิสัญญา สาเหตุแห่งการสิ้นสุดสนธิสัญญามีสี่ประการ ได้แก่
1. ความตกลงยินยอมยกเลิกของคู่สนธิสัญญา มาตรา 54 แห่งอนุสัญญา ฯ ได้กำหนดให้การสิ้นสุดของสนธิสัญญา อาจเกิดขึ้นได้ทุกขณะ โดยความยินยอมของภาคีสนธิสัญญาทั้งหมดของสนธิสัญญา ส่วนความตกลงยกเลิกสนธิสัญญานั้น อาจกระทำโดยสนธิสัญญาเฉพาะ เพื่อการยกเลิกสนธิสัญญานั้น หรืออาจปรากฎอยู่ในข้อกำหนดปลีกย่อย ในสนธิสัญญาฉบับใดฉบับหนึ่งก็ได้ นอกจากนี้ ยังมีการตกลงยกเลิกสนธิสัญญาโดยปริยายระหว่างภาคี แห่งสนธิสัญญา
2. คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบอกเลิกสนธิสัญญา โดยหลักทั่วไป สนธิสัญญาแต่ละฉบับไม่อาจถูกยกเลิกไปด้วยความประสงค์ ของคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่มีข้อยกเว้น บางกรณีที่อาจกระทำได้ ซึ่งต้องกระทำตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา 56 แห่งอนุสัญญา ฯ กล่าวคือ
ก. กรณีที่ปรากฎโดยเจตจำนงค์ของภาคี ในการยอมรับการบอกเลิกหรือการถอนตัวจากสนธิสัญญา ส่วนวิธีการบอกเลิก หรือการถอนตัวจากสนธิสัญญาฝ่ายเดียวคือ ภาคีจะต้องแจ้งเจตน์จำนงของตนเป็นหนังสือ ก่อนการบอกเลิก หรือถอนตัวจากสนธิสัญญาแก่ภาคีอื่น ๆ ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า สิบสองเดือน
ข. กรณีเมื่อสิทธิในการบอกเลิก หรือถอนตัวจากสนธิสัญญาเป็นสิทธิที่เกิดขึ้น โดยปริยายจากลักษณะของสนธิสัญญานั้น
3. การไม่ปฎิบัติตามสนธิสัญญา เมื่อภาคีแห่งสนธิสัญญา ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฎิบัติตามสนธิสัญญา แล้วมาตรา 60 แห่งอนุสัญญา ฯ ได้กำหนดให้ภาคีอื่น ในสนธิสัญญาสามารถกล่าวอ้าง การละเมิดสนธิสัญญามาเป็นเหตุในการทำสนธิสัญญาสิ้นสุด หรือระงับใช้สนธิสัญญานั้นไว้ทั้งหมด หรือแต่บางส่วนได้
4. พฤติการณ์บางประการที่ทำให้เลิกสนธิสัญญา ได้แก่
ก. พฤติการณ์เป็นพ้นวิสัย มาตรา 61 แห่งอนุสัญญา ได้กำหนดให้ภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา สามารถอ้างกรณีการบังคับตามสนธิสัญญา ตกเป็นพ้นวิสัยมาเป็นเหตุให้สนธิสัญญาสิ้นสุดลงได้ หากว่าการพ้นวิสัยนั้น ทำให้วัตถุประสงค์ของสนธิสัญญาที่เป็นสาระสำคัญ ของการบังคับตามสนธิสัญญาดังกล่าวสิ้นไป
ข. สภาวะการณ์เปลี่ยนแปลงไป มาตรา 62 แห่งอนุสัญญา ฯ กำหนดไว้ว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญต่อสภาวการณ์ที่เคยมีอยู่ในขณะจัดทำสนธิสัญญา และไม่อาจคาดหมายได้โดยภาคีสนธิสัญญา และไม่อาจคาดหมายได้โดยภาคีสนธิสัญญา ย่อมไม่อาจนำมากล่าวอ้างให้เป็นเหตุให้สนธิสัญญาสิ้นสุดลง เว้นแต่เป็นกรณีที่ว่า การคงอยู่ของสภาวการณ์ดังกล่าวนั้น เป็นพื้นฐานที่ก่อให้เกิดความยินยอมของภาคี ที่จะผูกพันตามสนธิสัญญาประการหนึ่ง และเป็นกรณีที่ก่อให้เกิดผลอย่างรุนแรง ต่อขอบเขตเนื้อหาของพันธกรณีในการปฎิบัติตามสนธิสัญญาอีกประการหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หากว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาวการณ์เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสนธิสัญญาว่าด้วย การกำหนดเขตแดนก็ดี หรือเป็นผลมากจากการละเมิดพันธกรณีของสนธิสัญญา โดยการกระทำของภาคีผู้กล่าวอ้างนั้นก็ดี ก็ไม่อาจนำการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว มาใช้เป็นเหตุกล่าวอ้าง เพื่อให้สนธิสัญญาสิ้นสุดลงแต่อย่างใด
>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>