ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
สงกรานต์
เป็นคำสันสกฤต แปลว่าผ่านหรือเคลื่อนย้ายเข้าไป หมายถึงอาทิตย์ผ่าน หรือเคลื่อนย้ายเข้าไปในราศีหนึ่ง ๆ กล่าวคือเมื่อดวงอาทิตย์โคจรผ่าน หรือเคลื่อนย้ายหนึ่งเข้าไปในอีกราศีหนึ่ง เรียกว่าสงกรานต์ และเนื่องจากการเคลื่อนย้ายจากราศีหนึ่งเข้าไปในอีกราศีหนึ่ง กินเวลาหนึ่งเดือนจึงเรียกสงกรานต์เช่นนี้ว่า สงกรานต์เดือน เมื่อดวงอาทิตย์โคจรผ่าน หรือเคลื่อนย้ายไปจนครบสิบสองราศีคือ ครบจักรราศีแล้วขึ้นต้นจักรราศีใหม่ จึงเรียกสงกรานต์นั้นว่าสงกรานต์ปีหรือมหาสงกรานต์ ฉะนั้นคำสงกรานต์ที่พูดกันโดยทั่วไปจึงหมายถึงสงกรานต์ปีหรือมหาสงกรานต์นั่นเอง
จักรราศีคือ วงรีในท้องฟ้า ทางโหราศาสตร์ถือว่าเป็นทางที่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และดวงดาวนพเคราะห์ต่าง ๆ โคจรผ่านเข้าไป จักรราศีแบ่งออกเป็นสิบสองส่วนเท่า ๆ กัน เรียกว่า สิบสองราศี กำหนดเป็นองศาได้ราศีละ 30 องศา รวมเป็น 360 องศา แต่ละราศีมีกลุ่มดาวอยู่ในนั้นโดยเฉพาะ กำหนดชื่อราศีตามรูปลักษณะของกลุ่มดาวนั้น ๆ คือราศีเมษ มีกลุ่มดาวรูปแกะราศีพฤษภมีกลุ่มดาวรูปวัว ราศีเมถุนมีกลุ่มดาวรูปคนคู่ ราศีกรกฎมีกลุ่มดาวรูปปู ราศีสิงห์มีกลุ่มดาวรูปสิงห์ ราศีกันยามีกลุ่มดาวรูปนาง ราศีตุลมีกลุ่มดาวรูปคันชั่ง ราศีพฤศจิกมีกลุ่มดาวรูปแมงป่อง ราศีธนูมีกลุ่มดาวรูปธนู ราศีมังกรมีกลุ่มดาวรูปมังกร ราศีกุมภ์มีกลุ่มดาวรูปหม้อ ราศีมีนมีกลุ่มดาวรูปปลา
ไทยนับเดือนอ้ายเป็นเดือนหนึ่ง มาตั้งแต่ก่อนใช้จุลศักราชเพราะเห็นว่าฤดูเหมันต์ (ฤดูหนาว) ดวงอาทิตย์เดินปัดไปทางใต้ จึงกำหนดว่าฤดูเหมันต์เป็นต้นปี กำหนดฤดูคิมหันต์ (ฤดูร้อน) เป็นกลางปี เพราะดวงอาทิตย์เดินตัดตรงศีรษะ และกำหนดเอาฤดูวัสสานะ (ฤดูฝน) เป็นปลายปี แต่เมื่อเราใช้จุลศักราช ได้ถือเอาวันที่ดวงอาทิตย์โคจรเข้าสู่ราศีเมษ ที่ไม่คาบเกี่ยวกับราศีอื่น ๆ เป็นวันมหาสงกรานต์ มีเวลากลางวัน และกลางคืนเท่ากัน ซึ่งตกในเดือนห้าของไทยและอยู่ในฤดูคิมหันต์ เดิมวันที่ดวงอาทิตย์โคจรเข้าสู่ราศีเมษตรงกับวันที่สิบสามเมษายน แต่บัดนี้ได้คลาดเคลื่อนไปแล้วคือ มาตกในวันที่ยี่สิบเอ็ดมีนาคม แต่ไทยยังคงถือเอาวันที่สิบสามเมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์เหมือนเดิม
>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>