ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
ลำตัด
เป็นการละเล่นที่มีผู้แสดงเป็นชายและหญิง ว่าเพลงร้องแก้กัน มีลูกคู่จะรำมะนาประกอบ การเล่นลำตัดดัดแปลงมาจากการแสดงดิเก หรือดจิเกของชาวมลายู ซึ่งเป็นการขับร้องเพลงสวดบูชาอัลเลาะห์ ประกอบกับรำมะนาของพวกมุสลิม ลำตัดเกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ปัจจุปันนิยมเล่นกันมากทางภาคกลางแถบ จ.พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี อ่างทอง นนทบุรี และกรุงเทพ ฯ
การแสดงลำตัดเดิมใช้ผู้ร้องสองคน เป็นชายหนึ่งคนหญิงหนึ่งคน ปัจจุบันมีผู้ร้องฝ่ายชาย และฝ่ายหญิงจำนวนพอ ๆ กันเรียกว่าพ่อเพลงและแม่เพลง ฝ่ายละประมาณสามถึงสี่คน ในการแสดงพ่อเพลงและแม่เพลง จะว่ากลอนสลับกัน มีบทเกี้ยวพาต่อว่า เสียดสี แทรกด้วยลูกขัด ลูกหยอด และบางครั้งสำนวนกลอน อาจมีความหมายเป็นสองแง่ ภาษาลำตัดเรียกว่า "สองง่ามสองกลอน"
บทร้องลำตัด ใช้กลอนหัวเดียวเหมือนเพลงฉ่อย การลงกลอนของลำตัดนิยมลงท้ายด้วยสระเสียงยาว
การแสดงลำตับเริ่มด้วยการตีรำมะนาโหมโรง เดิมตีหลายทำนองเรียกว่า ออกภาษา เช่น พม่า มอญ ญวน จีน ลาว แขก ปัจจุบันได้ตัดทอนทำนองให้สั้นลง เมื่อโหมโรงเสร็จ พ่อเพลงคนหนึ่ง จะเป็นผู้ร้องปันตน เกริ่นหน้ากลองอยู่ในวงรำมะนา
บทปันตน ที่ใช้ร้องเกริ่นหน้ากลองการเล่นรำตัด แรกเริ่มใช้ภาษามลายู ปนภาษาไทย ต่อมาเปลี่ยนเป็นภาษาไทยทั้งหมด
เมื่อจบเกริ่นหน้ากลองแล้ว พ่อเพลงคนหนึ่งจะยืนร้องไหว้ครู จากนั้นก็ร้องบทฝากตัว ทักทายผู้ชม และร้องบทออกตัว ซึ่งมักกล่าวถ่อมตัวในฝีมือ เมื่อพ่อเพลงร้องจบ แม่เพลงก็ร้องบทต่าง ๆ เช่นเดียวกับพ่อเพลง จากนั้น ฝ่ายชายจะเป็นผู้เริ่มร้องลำลอย ซึ่งในบางครั้ง อาจไม่เริ่มด้วยบทสร้อย และด้นกลอน
การว่ากลอนลำตัด เป็นการว่ากลอนแก้ลำกัน ระหว่างชายหญิง โดยใช้ปฎิภาณของตน
>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>