ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
ร่าย
เป็นคำประพันธ์กรองประเภทหนึ่ง แบ่งออกเป็นสี่แบบคือ ร่ายโบราณ ร่ายสุภาพ ร่ายดั้น และร่ายยาว
1. ร่ายโบราณ แบ่งออกเป็นวรรค ๆ แต่ละวรรคใช้คำห้าคำ
ยกเว้นบางกรณีอาจใช้คำมากกว่าห้าคำ แต่มีน้อย ในการแต่งร่ายโบราณอาจจบลงห้วน ๆ
เมื่อหมดเนื้อความโดยไม่ต้องมีโคลงสองสุภาพต่อท้าย เหมือนร่ายสุภาพและร่ายดั้น
2. ร่ายสุภาพ ใช้คำวรรคละห้าคำรวด
เมื่อจบข้อความต้องลงท้ายด้วยโคลงสองสุภาพเสมอ
3. ร่ายดั้น มีวรรคละห้าคำ เหมือนร่ายสุภาพ
เพียงแต่ตอนจบข้อความนั้น ต้องลงท้ายด้วยบาทที่สาม และบาทที่สี่ของโคลงสี่ดั้น
ทั้งสามร่ายดังกล่าวข้างต้น มีข้อบังคับตรงกันคือ คำสุดท้ายในวรรคแรก
ส่งสัมผัสไปวรรคที่สอง และคำสุดท้ายของวรรคที่สอง ส่งสัมผัสไปวรรคที่สาม
ทำดังนี้ต่อ ๆ กันไป เมื่อส่งสัมผัสด้วยวรรณยุกต์ใด
ก็ต้องรับสัมผัสด้วยวรรณยุกต์อย่างเดียวกันเสมอ
4. ร่ายยาว เป็นร่ายที่มีลักษณะเหมือนร่ายโบราณ
ร่ายสุภาพและร่ายดั้น จะต่างกันเล็กน้อยตรงที่ร่ายยาว ใช้คำไม่ตายตัว อย่างต่ำสองคำ
แต่อย่างสูงจะกี่คำก็ได้ เพียงแต่ไม่ให้ยืดยาวไป จนอ่านไม่สะดวกเท่านั้น
ตอบจบเนื้อความก็จบเฉย ๆ ไม่มีโคลงมาต่อข้างท้าย การส่งสัมผัสไม่บังคับวรรณยุกต์
ให้ตรงกับตัวรับสัมผัสในวรรคต่อไป จะส่งสัมผัสด้วยวรรณยุกต์อะไร
การรับสัมผัสก็ไม่จำเป็นต้องสัมผัสด้วยวรรณยุกต์เหมือนกัน
ลักษณะของร่ายยาวดูเผิน ๆ เหมือนกับร้อยแก้ว ที่เพิ่มสัมผัสลงไปเท่านั้น
ร่ายยาวจึงเป็นแบบคำประพันธ์ถึงร้อยแก้วกึ่งร้อยกรอง
>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>