ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

รัตนสูตร

เป็นพระสูตรสำคัญพระสูตรหนึ่งในพระไตรปิฎก ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสให้พระอานนท์เรียน แล้วเดินทำพระปริต คือ ความคุ้มครองป้องกันในเมืองไพศาลี เมื่อคราวเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ครั้งหนึ่ง นอกจากนั้น พระอินทรก็ได้ผูกคาถาอิงคุณพระรัตนตรัย เพิ่มอีกสามคาถา รัตนสูตรนี้บางทีก็เรียก รัตนปริต เป็นสูตรหนึ่งที่พระสงฆ์ จะต้องสวดในเวลาเจริญพระพุทธมนต์เสมอ มีความเป็นมาดังนี้

ในสมัยพุทธกาล เมืองไพศาลี เมืองหลวงของอาณาจักรวัชชี ต่อมาเมืองนี้เกิดข้าวยากหมากแพง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าแห้งเหี่ยวตาย เกิดทุพภิกขภัยใหญ่ และมีโรคระบาด ผู้คนล้มตายเป็นอันมาก พวกอมนุษย์พากันเข้าเมืองเกิดอหิวาตกโรคตามมา

เมื่อเกิดภัยสามประการคือ ทุพภิกขภัย อมนุษย์ และพยาธิภัย ขึ้นในเมืองไพศาลี กษัตริย์ลิจฉวีจึงหาทางระงับภัยดังกล่าวนั้น โดยเห็นร่วมกันว่า ควรกราบทูลนิมนต์พระพุทธเจ้า ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ที่เมืองราชคฤห์ จึงได้ส่งเจ้าลิจฉวีสององค์เป็นฑูต ไปกราบทูลนิมนต์ เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบว่า พระพุทธเจ้าทรงรับนิมนต์แล้ว จึงทูลขอเวลาตระเตรียมหนทาง ตั้งแต่เมืองราชคฤห์ ไปถึงฝั่งแม่น้ำคงคา เป็นระยะทางประมาณ 80 กม. พระองค์ได้ตามเสด็จไปจนถึงฝั่งขวาของแม่น้ำคงคา แล้วทรงส่งข่าวสารไปยังเมืองไพศาลีว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาถึงฝั่งแม่น้ำคงคาแล้ว

พระเจ้าพิมพิสารโปรดให้จัดเรือสองลำ ตรึงขนานเข้าด้วยกัน แล้วกราบทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นประทับ พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ที่ติดตามพระพุทธองค์

ทางเมืองไพศาลี ซึ่งตั้งอยู่ห่างฝั่งซ้ายของแม่น้ำคงคาขึ้นไปทางเหนือ ประมาณ 40 กม. ก็เตรียมหนทางให้ราบเรียบตั้งแต่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำคงคา ไปจนถึงเมืองไพศาลี เรือขนานนำพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์มาในแม่น้ำคงคาเป็นระยะทาง 16 กม. ก็ถึงเขตเมืองไพศาลี ครั้นเรือขนานเทียบถึงฝั่งแม่น้ำคงคา กลุ่มเมฆมหึมาซึ่งแผ่กระจายตั้งเค้ามืดมิด ก็บันดาลให้ฝนตกลงมาห่าใหญ่ น้ำฝนไหลนองท่วมพื้นดินพัดพาเอาซากศพ ลอยลงแม่น้ำคงคาไปหมด ทำให้ภาคพื้นดินบริสุทธิ์สะอาดโดยทั่วไป บรรดากษัตริย์ลิจฉวี นำเสด็จพระพุทธเจ้าดำเนินเป็นเวลาสามวัน ก็ถึงนครไพศาลี ขณะนั้นพระอินทร์ได้เสด็จพร้อมด้วยฝูงทวยเทพ มาชุมนุมอยู่ด้วยทำให้พวกอมนุษย์เกรงกลัว พากันหลบหนีไป

พระพุทธเจ้าเสด็จถึงประตูเมืองไพศาลี ในเวลาเย็นได้ตรัสให้พระอานนท์เรียนรัตนสูตร เพื่อเดินจาริกทำพระปริตไปในระหว่างกำแพงสามชั้น (ตรีบูร)  ในเมืองไพศาลีกับกุมารลิจฉวี เมื่อพระอานนท์เรียนรัตนสูตรจากพระพุทธเจ้าแล้ว ก็เอาบาตรของพระพุทธเจ้าใส่น้ำถือไปยืนที่ประตูเมือง พลางรำลึกถึงพระพุทธคุณ ตั้งแต่ทรงตั้งความปรารถนาที่จะได้บรรลุพระโพธิญาณ จนถึงทรงแสดงพระธรรมจักรกัปปวัฒนสูตร และโลกตรธรรมเก้า (คือ มรรคสี่ ผลสี่ นิพพานหนึ่ง)  แล้วเข้าไปในพระนคร เดินทำพระปริตไปในระหว่างกำแพงเมืองสามชั้น ทำให้พวกอมนุษย์ที่ยังหลงเหลืออยู่บ้าง พากันหนีออกจากเมืองไปหมด โรคภัยไข้เจ็บของชาวเมืองก็สงบลง

ครั้นพระอานนท์ทำพระปริตอารักขาทั่วพระนครแล้ว ก็กลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงตรัสรัตนสูตรอีกครั้งหนึ่ง รวมสิบสี่คาถา แล้วพระอินทร์ได้ผูกคาถา (ฉันท์) ต่ออีกสามคาถา

พระพุทธเจ้าได้ประทับอยู่ที่เมืองไพศาลี และตรัสเทศนารัตนสูตรทุกวัน รวมเจ็ดวัน

เมื่อทรงเห็นว่าภัยทุกอย่างสงบเรียบร้อยแล้ว จึงตรัสลากษัตริย์ลิจฉวี และชาววัชชี เสด็จกลับเมืองราชคฤห์

คำแปล รัตนสูตร

1. ขอให้ภูติทั้งหลาย ทั้งที่อยู่บนพื้นดินและในอากาศที่มาชุมนุมกันอยู่ในที่นี้ จงเป็นผู้มีน้ำใจดี และขอเชิญฟังคำที่ตถาคตกล่าวต่อไปนี้ โดยเคารพเถิด

2. เพราะฉะนั้น ขอภูติทั้งหลายทั้งปวงจงฟัง ขอให้ท่านทั้งหลายจงสร้างความเป็นมิตร กับบรรดามนุษย์ทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงคุ้มครองรักษาพวกมนุษย์ ที่นำเครื่องพลีกรรมมาบวงสรวงพวกท่านทั้งในเวลากลางวัน และกลางคืน เถิด อย่าได้ประมาทเลย

3. บรรดาทรัพย์ หรือ รัตนะ อันประณีตบรรดามีทั้งในโลกนี้และโลกอื่น และสวรรค์ทุกชั้นหาเสมอด้วยพระตถาคตไม่ รัตนะ คือ พระพุทธเจ้าเป็นของประณีตด้วยสัจจะนี้ ขอความสวัสดีจงมี (แก่ท่านทั้งหลาย)

4. พระธรรมอันเป็นที่สิ้นกิเลส ปราศจากราคะเป็นอมตะ ประณีต ที่พระศากยมุนีผู้มีพระหทัยเป็นสมาธิได้บรรลุแล้ว หามีธรรมใด ๆ เสมอมิได้ รัตนะ คือ พระธรรมเป็นของประณีต ด้วยสัจจะนี้ ขอความสวัสดีจงมี (แก่ท่านทั้งหลาย)

5. สมาธิที่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด ตรัสสรรเสริญว่าเป็นธรรมสะอาด ที่ปราชญ์ทั้งหลายเรียกว่า อานันตริกสมาธิ (คือ มรรคสมาธิที่ให้อริยผลทันที) ไม่มีสมาธิอื่นใดเสมอ รัตนะ คือ พระธรรมเป็นของประณีตด้วยสัจจะนี้ ขอความสวัสดีจงมี (แก่ท่านทั้งหลาย)

6. พระอริยบุคคลแปดประเภทที่สัตบุรุษทั้งหลาย ยกย่องสรรเสริญจัดเป็นสี่คู่นั้น เป็นสาวกของพระสุคตเจ้า เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา ทานที่ถวายในพระอริยบุคคลแปดประเภทนี้ เป็นทานมีผลมาก รัตนะ คือ พระสงฆ์เป็นของประณีต ด้วยสัจจะนี้ ขอความสวัสดีจงมี (แก่ท่านทั้งหลาย)

7. พระอริยบุคคลในศาสนาของพระโคตมพุทธเจ้า เป็นผู้ประกอบด้วยศีลเป็นอันดี มีใจมั่นคง ไม่มีกามกิเลส ยึดหน่วง อมตนิพพานเป็นอารมณ์ เสวยผลสมาบัติโดยได้เปล่าชื่อว่า ได้บรรลุผลที่พึงบรรลุแล้ว รัตนะ คือ พระสงฆ์เป็นของประณีต ด้วยสัจจะนี้ ขอความสวัสดีจงมี (แก่ท่านทั้งหลาย)

8. เสาอินทขีล ที่ฝังลึกลงไปในดิน ลมที่พัดมาทั้งสี่ทิศ ไม่อาจทำให้ขยับเขยื้อนได้ฉันใด สัตบุรุษ (คือ พระอริยบุคคล) ผู้เห็นแจ้งอริยสัจ (ทั้งสี่ทิศ) แล้ว ตถาคต กล่าวว่า (ไม่มีใครอาจทำให้ขยับเขยื้อนจากความเห็นได้)  ฉันนั้น รัตนะ คือ พระสงฆ์เป็นของประณีต ด้วยสัจจะนี้ ขอความสวัสดีจงมี (แก่ท่านทั้งหลาย)

9. พระอริยบุคคล  (พระโสดาบัน)  ผู้เห็นแจ้งอริยสัจทั้งสี่ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีปัญญาลึกซึ้ง ได้ทรงแสดงไว้ดีแล้ว แม้จะยังเป็นผู้ประมาทอยู่มาก ก็จะไม่ถือเอาภพที่แปด (คือ เกิดอย่างมากอีกเพียงเจ็ดครั้ง) รัตนะ คือ พระสงฆ์เป็นของประณีต ด้วยสัจจะนี้ ขอความสวัสดีจงมี (แก่ท่านทั้งหลาย)

10. พร้อมกับการบรรลุทัสสนะ (โสดาปัตติมรรค)  พระโสดาบันท่านก็ละสังโยชน์สามประการคือ สักกายทิฐิ  วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส  แม้ยังจะมีสังโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งเหลืออยู่อีก แต่ท่านก็พ้นแล้วจากอบายสี่ และไม่อาจทำอภิฐานหก (คือ อนันตริยกรรมห้า กับการเปลี่ยนใจไปนับถือศาสนาอื่น) รัตนะ คือ พระสงฆ์เป็นของประณีต ด้วยสัจจะนี้ ขอความสวัสดีจงมี (แก่ท่านทั้งหลาย)

11. ท่านผู้บรรลุทัสสนะ นั้น แม้จะยังทำกรรมชั่วด้วยกาย วาจา หรือใจ อยู่บ้าง ท่านก็ไม่อาจปิดบังกรรมชั่วที่ท่านทำไว้นั้น เพราะการที่บุคคลผู้เห็นทางพระนิพพานแล้ว จะปิดบังกรรมชั่วของตนไว้นั้น พระตถาคต กล่าวว่า ไม่อาจปิดบังได้ รัตนะ คือ พระสงฆ์เป็นของประณีต ด้วยสัจจะนี้ ขอความสวัสดีจงมี (แก่ท่านทั้งหลาย)

12. พุ่มไม้ใหญ่ในป่า ผลิยอดในเดือนร้อนเดือนแรก (เดือนห้า)  ของคิมหันตฤดู ฉันใด พระตถาคตได้แสดงพระธรรมอันประเสริฐ (ให้แตกกิ่งก้านงอกงาม)  เป็นเครื่องชี้ทางดำเนินไปสู่พระนิพพาน ยิ่งยวดด้วยประโยชน์เกื้อกูล (แก่สัตว์โลก)  มีอุปมาเหมือนพุ่มไม้ในป่าฉันใด รัตนะ คือ พระพุทธเจ้า เป็นของประณีต ด้วยสัจจะนี้ ขอความสวัสดีจงมี (แก่ท่านทั้งหลาย)

13. พระตถาคต ผู้ประเสริฐ เป็นผู้รู้พระนิพพานอันประเสริฐ เป็นผู้ให้พระธรรมอันประเสริฐ เป็นผู้นำซึ่งมรรคอันประเสริฐ ไม่มีผู้อื่นประเสริฐยิ่งกว่า ได้ทรงแสดงธรรมอันประเสริฐ รัตนะ คือ พระพุทธเจ้า เป็นของประณีต ด้วยสัจจะนี้ ขอความสวัสดีจงมี (แก่ท่านทั้งหลาย)

14. พระอริยบุคคล ที่มีกรรมเก่าสิ้นไปแล้ว (และ)  กรรมใหม่ที่จะให้เกิดอีกไม่มี เป็นผู้มีจิตปราศจากความกำหนัดยินดีในภพต่อไป เป็นผู้สิ้นพืช (ที่จะให้เกิดอีก) แล้ว ไม่มีฉันทะที่เป็นเชื้อให้งอกงามได้อีก เป็นผู้มีปัญญาย่อมดับไป เหมือนประทีปดวงนี้ดับไป ฉะนั้น รัตนะ คือ พระสงฆ์เป็นของประณีต ด้วยสัจจะนี้ ขอความสวัสดีจงมี (แก่ท่านทั้งหลาย

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย