ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

รัตนชาติ

รัตนชาติหรืออัญมณี หมายถึง วัตถุธรรมชาติที่มีคุณค่าซึ่งนำมาตกแต่งเจียระไนใช้เป็นเครื่องประดับ มีสมบัติที่สำคัญสามประการคือ ความสวยงาม ความทนทาน และความหายาก

แร่ที่เกิดขึ้นในโลกและเป็นที่รู้จักกันมีไม่ต่ำกว่า 2,000 ชนิด แต่มีเพียงประมาณ 90 ชนิด ที่ถือว่ามีสมบัติพอจะจัดเป็นรัตนชาติได้ และจะเป็นรัตนชาติที่สำคัญจริง ๆ ต่อตลาดการค้าอัญมณีทั่ว ๆ ไปเพียงประมาณ 20 ชนิดเท่านั้น

รัตนชาติที่มีคุณค่าราคาสูง และเป็นที่นิยมของคนส่วนใหญ่ ต่างก็จัดเป็นแร่ทั้งสิ้น เช่น เพชร ทับทิม ไพลิน มรกต หยก โอปอล รัตนชาติอาจแบ่งออกอย่างง่าย ๆ ได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ เพชรและพลอย พลอยในความหมายกว้าง ๆ หมายถึงรัตนชาติทุกชนิดยกเว้นเพชร

สมบัติที่จำเป็นสำหรับสิ่งที่ถือว่าเป็นรัตนชาติโดยทั่วไปพอสรุปได้ดังนี้

1.  ความสวยงาม นับเป็นสมบัติที่สำคัญที่สุดที่ใช้กำหนดวัตถุรัตนชาติสมบัติสำคัญที่ส่งผลให้เกิดความสวยงามแก่รัตนชาติ พอจำแนกได้คือ

1.1 สี จำแนกได้เป็นสามลักษณะคือ ชนิดสี ความสดของสี และระดับอ่อนแก่ของสี รัตนชาติที่ดีควรจะมีสีเข้มสด ไม่มืดดำและสม่ำเสมอกันโดยตลอด
1.2 ความใสสะอาด ควรจะโปร่งใสปราศจากตำหนิฝ้า จุดด่างดำหรือรอยแตก ยิ่งเนื้อใสแบบตาตั๊กแตนยิ่งดี
1.3 ความเป็นประกาย เรียกตามภาษาชาวบ้านในวงการค้าอัญมณีไทยว่า ไฟ หมายถึงปริมาณแสงสะท้อนภายในและภายนอก ผิวรัตนชาติที่เจียระไนแล้วเข้าสู่ตา
1.4 ความเป็นประกายรุ้ง เป็นสมบัติเฉพาะตัวของรัตนชาติบางชนิดที่สามารถแยกแสงสีขาวให้เป็นสีรุ้งตามสีของสเปกตรัม ได้ความเป็นประกายรุ้งจะมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับค่าการกระจายแสงของรัตนชาติ และสัดส่วนของการเจียระไนรัตนชาติที่มีค่าการกระจายแสงสูง เพียงพอที่จะทำให้แลเห็นความเป็นประกายรุ้งที่สำคัญได้แก่ เพชร เพทาย
1.5 ความวาว เป็นสมบัติในการสะท้อนแสงจากผิวรัตนชาติความวาวของรัตนชาติจะขึ้นอยู่กับค่าดัชนีหักเหของรัตนชาตินั้น ๆ รวมทั้งความมันเรียบสมบูรณ์ของผิวการเจียระไน
1.6 ปรากฎการณ์ เป็นสมบัติพิเศษแห่งปรากฎการณ์ของแสงที่มีต่อรัตนชาติบางชนิด เช่น ทำให้เห็นเป็นเส้นแถบแนวแสงสะท้อน เคลื่อนไปมาขณะที่ขยับรัตนชาติที่เรียกว่า ตาแมว

2 ความทนทาน ไม่สึกกร่อน บุบสลาย แตกหักหรือเสื่อมความสวยงามง่ายจนเกินไป พอแบ่งออกได้เป็น 

2.1 ความแข็ง  หมายถึง ความทนทานต่อการขูดขีดบนผิวหน้าเรียบของรัตนชาตินั้น ๆ  การกำหนดความแข็งที่นิยมใช้กันในวิชาแร่ แต่จะบอกเป็นตัวเลขจาก 1 ถึง 10 ตามสเกลความแข็ง โมส์ ซึ่งเป็นมาตรฐานความแข็งเปรียบเทียบของแร่ ตามที่นักแร่วิทยาชาวเยอรมันผู้หนึ่งเป็นผู้กำหนดขึ้น ประกอบด้วยแร่มาตรฐาน 10 ชนิด เรียงลำดับตั้งแต่ทนทานต่อการขูดขีดน้อยที่สุด (อ่อนที่สุด)  ถึงมากที่สุด (แข็งที่สุด)  ทัลก์ มีค่าความแข็ง 1 เพชร มีค่าความแข็ง 10
2.2 ความเหนียว  หมายถึง ความทนทานต่อการแตกหักของรัตนชาติ อันเป็นผลเนื่องมาจากแรงดึงดูดภายในโมเลกุลของรัตนชาติ หรือจากโครงสร้างของเนื้อที่ประสานตัวกันเป็นรัตนชาตินั้น
2.3 ความคงทน  หมายถึง ความคงทนต่อการผุสลาย หรือทำปฎิกิริยากับสารเคมีอื่น เพื่อจะยังคงรักษาความสวยงามเดิมไว้

3.  ความหายาก  เป็นสมบัติหนึ่งทำให้รัตนชาติมีคุณค่าสูง หรืออาจเป็นสิ่งที่มีค่าอยู่แล้ว และหาได้ยาก

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย