ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

เยรูซาเลม

เป็นเมืองสำคัญในตะวันออกกลาง ปัจจุบันเป็นเมืองหลวงของประเทศอิสราเอล ลักษณะของเมืองแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนที่เป็นเมืองเก่า มีกำแพงล้อมรอบและเมืองใหม่ ซึ่งขยายตัวออกไปในภายหลัง โอบล้อมเมืองเก่าอยู่ ภายในกำแพงเมืองเก่ามีสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ และสำคัญทางศาสนาสามศาสนาได้แก่ กำแพงตะวันตก ซึ่งเป็นที่เคารพของชาวยิว โบสถ์ซึ่งเป็นที่ฝังศพที่ชาวคริสต์ถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และโดมอันเป็นที่เคารพของชาวมุสลิม

เมืองเยรูซาเลม ตั้งอยู่ตรงใจกลางของดินแดนปาเลสไตน์ ท่ามกลางทิวเขายูเดียน ค่อนไปทางทะเลทรายยูเดียน พื้นที่เมืองประมาณ 109 ตร.กม. ประชากรเป็นชาวยิว ประมาณสองในสามที่เหลือเป็นชาวอาหรับ มีการแบ่งแยกที่อยู่อาศัยออกเป็นสี่ส่วนคือ ส่วนที่อยู่ของชาวมุสลิม ชาวคริสต์ ชาวยิว และชาวอาร์เมเนียน

ชาวยิว ถือว่าเยรูซาเลมเป็นศูนย์รวมของชาติและศาสนายูดา หรือศาสนายิว เป็นสถานที่ที่พระเยซูสั่งสอนศาสนา ถูกตรึงไม้กางเขนทนทุกข์ทรมาน กลับฟื้นคืนชีพและขึ้นสวรรค์ นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งชุมชนชาวคริสต์ พร้อมกับโบสถ์แห่งแรกในสมัยโบราณ ส่วนชาวมุสลิม เยรูซาเลม เป็นสถานที่ซึ่งพระมะหะหมัด ได้ขึ้นไปยังสวรรค์ ความศักดิ์สิทธิ์จะเป็นรอง ก็เพียงนครเมกกะ และเมดินา เท่านั้น

ตามประวัติ เยรูซาเลมได้มีการกล่าวถึงในคำสาปแช่งของอียิปต์ ตั้งแต่ 1,300 - 1,200 ปี ก่อนพุทธศักราชและปรากฎจารึกอยู่บนแผ่นอามาร์นา ซึ่งบันทึกเรื่องราวว่าเป็น นครรัฐอิสระคานาอะไนต์แห่งหนึ่ง เมื่อประมาณ 800 กว่าปีก่อนพุทธศักราช ราว 500 ปีก่อนพุทธศักราช กษัตริย์เดวิดได้เข้ามาครอบครองเมืองนี้ และตั้งเป็นเมืองหลวง เพื่อรวบรวมคนเผ่าพันธุ์ยิวเข้าด้วยกัน พระองค์ได้นำแผ่นหินสองแผ่น ซึ่งจารึกบัญญัติสิบประการ เข้ามายังเยรูซาเลม ทำให้เมืองนี้กลายเป็นศูนย์กลางทั้งทางด้านศาสนา และการปกครอง ต่อมาราว 400 ปี ก่อน พ.ศ. กษัตริย์โซโลมอน ได้ปรับปรุงด้านเศรษฐกิจ ทำให้เมืองนี้เป็นศูนย์กลางการค้าของฟินิเซียไปยังอีลาต ซึ่งอยู่บนอ่าวอะกาบา และจากอียิปต์ไปยังเมโสโปเตเมีย ประมาณ 300 ปี ก่อนพ.ศ. เมืองเยรูซาเลม ได้ตกมาอยู่ในความปกครองของอาณาจักรยูเดีย

ประมาณพุทธศตวรรษที่สาม กรีกได้เข้ามาครอบครองดินแดนบริเวณนี้ แต่เมื่อพระเจ้าอะเล็กซานเดอร์ ฯ สวรรคตแล้ว เมืองเยรูซาเลมได้ปกครองตนเอง เพียงแต่ส่งบรรณาการไปให้พระเจ้าปโตเลมี แห่งนครรัฐกรีก โรมันเข้าครอบครองเยรูซาเลมในราวพุทธศตวรรษที่หก ได้สร้างพระราชวัง วิหาร และป้อมปราการขึ้นมากมาย ภายใต้การปกครองของโรมัน ชาวยิวได้รับอิสระในการปกครองกันเอง แต่ต่อมาชาวยิวได้ปลดปล่อยเมืองเยรูซาเลม ออกมาเป็นอิสระจากโรมัน ระหว่างปี พ.ศ.675 - 678 เมื่อโรมันยึดคืนมาได้ จึงห้ามไม่ให้ชาวยิวเข้าเมือง

ในพุทธศตวรรษที่สิบ พระเจ้าคอนสแตนสตินมหาราช ได้ให้เมืองเยรูซาเลมเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ของชาวคริสต์ ได้ก่อสร้างสถานที่สำคัญทางคริสต์ศาสนาขึ้นหลายแห่ง เป็นช่วงอิทธิพลของพวกไบแซนไทน์ ซึ่งได้เข้ามาครอบครองเยรูซาเลม ในราวพุทธศตวรรษที่ 11

ระหว่างปี พ.ศ.1181 - 1642 เป็นช่วงต้นที่ชาวอิสลามได้เข้ามาครอบครองเยรูซาเลม ในปี พ.ศ.1642 สถานที่สำคัญทางคริสต์ศาสนาในเยรูซาเลม ถูกพวกมุสลิมทำลายและได้เกิดสงครามครูเสด เมืองเยรูซาเลมตกอยู่ในอำนาจของพวกครูเสด ซึ่งเป็นชาวคริสต์ ชาวมุสลิมและชาวยิวถูกสังหารไปเป็นจำนวนมาก พวกครูเสดได้ตั้งเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของตน ได้มีการซ่อมแซมสถานที่ทางคริสต์ศาสนา ที่ถูกพวกมุสลิมทำลายและเปลี่ยนสถานที่ทางศาสนาอิสลาม ให้เป็นโบสถ์ในคริสต์ศาสนา

ในปี พ.ศ.1730  สุลต่านมุสลิม จากอียิปต์ได้เข้ามายึดครองเยรูซาเลม และได้เชื้อเชิญชาวยิวให้กลับมาอยู่ในเยรูซาเลม และได้เปลี่ยนสถานที่ทางศาสนาอิสลามเดิม ที่ถูกเปลี่ยนไปให้กลับเป็นดั้งเดิม เปลี่ยนโบสถ์คริสต์เป็นสุเหร่า

สงครามครูเสด สิ้นสุดลงในพุทธศตวรรษที่สิบแปด ในปี พ.ศ.1772 ได้มีการตกลงแบ่งเมืองโดยให้มุสลิม ครอบครองเฉพาะเทมเปิลเมานต์ ที่อยู่ทางด้านตะวันตกในกำแพงเมืองเก่า เป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ของมุสลิม เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ฮาเรมอัลชารีพ มีโดม ออฟเดอะร็อก และสุเหร่าอัลอัคซา แต่ต่อมามุสลิมได้เข้ามายึดครองเยรูซาเลมคืน ในปี พ.ศ.1787

ในปี พ.ศ.1803 อียิปต์ได้เข้ามาครอบครองดินแดนนี้ ได้รวมเยรูซาเลมเข้ากับปาเลสไตน์ และให้ขึ้นตรงต่อไคโร อียิปต์ได้ปกครองบริเวณนี้มาจนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2061 ดินแดนทั้งหมดได้ตกไปอยู่ในการปกครองของจักรวรรดิ์ออตโตมัน ในช่วงนี้อำนาจทางด้านยุโรปได้เข้ามาแทรกแซงในบริเวณนี้ เริ่มตั้งแต่สงครามไครเมีย ในปี พ.ศ.2397 - 2399  ชาวยิวได้รับอนุญาตให้เข้าไปยังเทมเปิลเมานต์ได้ โดยการเสียเงินหรือได้รับอนุญาตเป็นพิเศษ จักรวรรดิ์ออตโตมันปกครองเยรูซาเลม จนกระทั่งจักรวรรดิ์ได้ล่มสลายลง เมื่อแพ้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อังกฤษได้ขับไล่อิทธิพลของจักรวรรดิ์นี้ออกไปจากปาเลสไตน์ สันนิบาตชาติมอบปาเลสไตน์ให้เป็นเมืองในอาณัติของอังกฤษ ในช่วงนั้นเองยิวและอาหรับได้แย่งชิงกัน เพื่อครอบครองปาเลสไตน์ ซึ่งเป้าหมายที่แท้จริงคือ เยรูซาเลม การพยายามแก้ปัญหาความขัดแย้งในดินแดนนี้ ไม่บังเกิดผลใด ๆ ในขณะนั้น

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง อังกฤษเกิดความเบื่อหน่ายในการแก้ปัญหาในดินแดนนี้ จึงยกให้ไปอยู่ในความดูแลขององค์การสหประชาชาติ ในปี พ.ศ.2490 องค์การสหประชาชาติได้ตกลงให้แบ่งดินแดนปาเลสไตน์ ระหว่างอาหรับกับยิว ส่วนเยรูซาเลมจัดให้เป็นดินแดนนานาชาติ ชาวอาหรับในปาเลสไตน์และชาติอาหรับอื่น ๆ ไม่เห็นด้วยกับแผนการนี้ พวกอาหรับได้เริ่มโจมตีชาวยิวทั่วทั้งพื้นที่ทันที อิสราเอลและจอร์แดนได้มีข้อตกลงสงบศึกลงชั่วคราว ในปี พ.ศ.2492 เป็นเหตุให้มีการแบ่งแยกเยรูซาเลมออกเป็นสองส่วน โดยให้กำแพงเมืองเก่าทางด้านตะวันออกอยู่ในการปกครองของจอร์แดน ส่วนด้านตะวันตกของเยรูซาเลม ซึ่งเป็นเมืองใหม่ให้อิสราเอลครอบครอง

ต่อมาในปี พ.ศ.2510 ได้เกิดสงครามระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์ กษัตริย์ฮุสเซน แห่งจอร์แดน ได้สนับสนุนให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในเยรูซาเลม กองทัพอิสราเอลได้ถือโอกาสนี้ บุกเข้ายึดเยรูซาเลมตะวันออก และประกาศรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอิสราเอล

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย