ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
ยะไข่
ยะไข่ หรืออาระกัน เป็นชื่อรัฐหนึ่งของประเทศพม่า ในอดีตก่อนปี พ.ศ.2327 ซึ่งเป็นปีที่พม่าผนวกยะไข่ไว้ในอำนาจ ยะไข่เป็นอาณาจักรอิสระ และมีประวัติศาสตร์สัมพันธ์กับแคว้นเบงกอล อาณาจักรพม่า และมอญ มาเป็นเวลาอันยาวนาน
รัฐยะไข่ ตั้งอยู่สุดแดนทางทิศตะวันตกของประเทศพม่า หรืออยู่ทางฝั่งตะวันออกของอ่าวเบงกอล มีพื้นที่ประมาณ 36,700 ตร.กม. และมีฝั่งทะเลทางทิศตะวันตกยาวประมาณ 560 กม. ทางทิศตะวันออกของรัฐยะไข่ มีเทือกเขายะไข่ หรืออาระกันโยมา ซึ่งมีความสูง 3,000 - 6,000 ฟุต ทอดตัวจากเหนือลงใต้ เป็นดุจกำแพงที่กั้นรัฐยะไข่ไว้จากดินแดน ส่วนใหญ่ของพม่า ในอดีตการติดต่อทางบก ระหว่างยะไข่กับพม่าเกือบจะกระทำไม่ได้เลย นอกจากผ่านช่องเขาสองช่องคือ ช่องเขาอัน ที่ใช้ออกไปสู่เขตมินบู และช่องเขาตาวกุบ ใช้ออกไปสู่เมืองแปร เหตุนี้ยะไข่จึงมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ที่แยกต่างหากจากพม่าเป็นส่วนใหญ่ เมืองสำคัญคือ เมืองอัคยับ ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญ มาตั้งแต่อังกฤษเข้ายึดครองรัฐยะไข่ได้ในปี พ.ศ.2369
ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวยะไข่ บางส่วนเป็นชาวอินเดีย และบังคลาเทศ ชาวยะไข่เป็นเชื้อสายเดียวกับชาวพม่า ภาษาที่ใช้พูดก็เป็นภาษาพม่า ส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา และส่วนน้อยนับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ ชาวยะไข่มุสลิมเหล่านี้เรียกว่า โรฮิงยา ส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมากจากชาวอินเดียมุสลิมในเบงกอล ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคเหนือของยะไข่ในเขตมลายู ส่วนชาวยะไข่ที่นับถือพระพุทธศาสนา อยู่กันมากทางภาคใต้
นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า ชนเชื้อสายพม่าเข้ามาตั้งถิ่นฐานในรัฐยะไข่ ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ก่อนหน้านั้น บริเวณรัฐยะไข่เป็นถิ่นที่อยู่ของพวกอินเดีย ที่มาจากฝั่งตะวันตกของอ่าวเบงกอล ราชวงศ์ที่ปกครองบริเวณนี้ก็เป็นราชวงศ์อินเดีย นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า พระพุทธศาสนาได้แพร่เข้าสู่รัฐยะไข่ ก่อนดินแดนอื่น ๆ ในพม่าจะเห็นได้จากพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของยะไข่คือ พระมหามุนี อายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 8 - 9 ก่อนหน้าพุทธศตวรรษที่ 15 บริเวณรัฐยะไข่มักถูกพวกไทยใหญ่ พม่า และเบงกอล บุกปล้นสดมภ์อยู่เสมอ จนกระทั่งพม่าได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานได้อย่างถาวร
ในตอนปลายพุทธศตวรรษที่ 16 พระเจ้าอนิรุทธ์ แห่งอาณาจักรพุกามของพม่า ได้เข้ามาปราบปรามยะไข่ ทำให้ยะไข่ต้องอยู่ใต้อำนาจของพุกามเรื่อยมา จนพุกามถูกกองทัพมองโกลโจมตีในปี พ.ศ.1830 ยะไข่เป็นอิสระอยู่ได้ระยะหนึ่ง ก็ต้องเผชิญกับการรุกรานของแคว้นเบงกอล อาณาจักรพม่า และมอญ สลับกันไป ในปี พ.ศ.1947 พม่าได้เข้ามามีอิทธิพลในยะไข่อีก อาณาจักรยะไข่จึงขอความช่วยเหลือจากเบงกอล กษัตริย์ยะไข่ต้องทรงยินยอมมีนามแบบอิสลามต่อท้ายพระนาม ในตอนปลายพุทธศตวรรษที่ 20 ยะไข่มีเมืองหลวงชื่อ มยาวอุ และยืนยาวต่อมาถึงปี พ.ศ.2327
ในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ยะไข่ต้องเผชิญกับความวุ่นวายภายใน กษัตริย์ส่วนใหญ่ถูกปลงพระชนม์ ต่อมาในช่วงปี พ.ศ.2074 - 2096 ยะไข่มีกษัตริย์ที่มีความสามารถพระนามว่า มินบิน สามารถเป็นอิสระจากเบงกอล และการรุกรานจากพม่า ชาวตะวันตกเริ่มเข้ามาค้าขายกับยะไข่ พระเจ้ามินบินจัดให้มีกองทหารรับจ้างโปร์ตุเกส ในบางครั้งกองกำลังผสมของยะไข่ และโปร์ตุเกส ได้บุกรุกเข้าไปจนถึงลุ่มน้ำคงคา จนได้รับสมญานามว่า ภัยสยองแห่งลุ่มน้ำคงคา
ยะไข่ ได้ใช้กองกำลังรับจ้างโปร์ตุเกส เข้าทำลายเมืองหงสาวดี และยึดเมืองสิเรียมของพม่าไว้ได้ ในปี พ.ศ.2142 และยินยอมให้ชาวโปร์ตุเกสชื่อ ฟิลิป เดอ บริโด เป็นเจ้าเมืองสิเรียม
ในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ 13 รัชสมัยพระเจ้าสันทธรรม (พ.ศ.2195 - 2227) ยะไข่ได้ทำสงครามกับเบงกอล ราชวงศ์มุกัล สามารถยึดเมืองจิตตะกอง และเมืองเดียนกา ได้ในปี พ.ศ.2209 หลังจากนั้น ยะไข่ได้อ่อนแอลงมาก และพม่ายึดยะไข่ได้ในปี พ.ศ.2327 พระเจ้าสะมะดา พระราชวงศ์และชาวยะไข่ ราว 20,000 คน ถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย พระมหามุนี ถูกนำไปประดิษฐานที่อังวะ ชาวยะไข่เป็นจำนวนมากได้หนีไปอยู่ในเขตแคว้นเบงกอล โดยเฉพาะที่เมืองจิตตะกอง
อังกฤษได้ประกาศสงครามกับพม่า เมื่อปี พ.ศ.2367 เรียกว่า สงครามอังกฤษ - พม่า ครั้งที่หนึ่ง พม่าต้องยกแคว้นยะไข่ ตะนาวศรี อัสสัม และมณีปุระ ให้อังกฤษ ต่อมาในปี พ.ศ.2395 ได้เกิดสงครามอังกฤษ - พม่า ครั้งที่สอง พม่าแพ้ต้องเสียแคว้นพะโค ให้อังกฤษ ต่อมาในปี พ.ศ.2405 อังกฤษได้รวมแคว้นยะไข่ ตะนาวศรี และพะโค เข้าเป็นหน่วยปกครองเดียวกัน เรียกว่า พม่าของอังกฤษ โดยให้เป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย ต่อมาเมื่ออังกฤษยึดครองพม่าได้หมดในปี พ.ศ.2428 อังกฤษกำหนดให้ยะไข่เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของพม่า
นโยบายของอังกฤษก่อให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมและเศรษฐกิจระหว่างชาวยะไข่ ที่นับถือพระพุทธศาสนากับที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เป็นปัญหา อังกฤษจัดให้ชาวอินเดียเข้ามาอยู่ในพม่าเป็นจำนวนมากเป็นเหตุให้ชาวมุสลิมในพม่ามีมากขึ้น รวมทั้งยะไข่ด้วย มุสลิมในยะไข่อยู่กันหนาแน่นทางภาคเหนือ ซึ่งอยู่ในเขตมายู
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง พรรคการเมืองของพม่าที่มีนายพลอองซานเป็นผู้นำ ได้เรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ อังกฤษสัญญาว่าจะปล่อยพม่าเป็นอิสระ พรรคการเมืองนี้มีนโยบายสนับสนุนชาวพุทธในยะไข่ ทำให้ชาวมุสลิมไม่พอใจเกิดการปะทะกันระหว่างชาวพุทธกับมุสลิมในยะไข่ พวกโรฮิงยา บางส่วนเรียกร้องให้นำยะไข่เหนือไปรวมกับปากีสถาน (ปัจจุบันคือ บังกลาเทศ) แต่รัฐบาลปากีสถานไม่ยอมสนับสนุน เพราะเกรงจะมีปัญหากับพม่า พวกโรฮิงยา ส่วนหนึ่งได้จัดตั้งกองกำลังขึ้น เพื่อก่อกวนเจ้าหน้าที่รัฐบาล และชาวพุทธ กองกำลังนี้เรียกว่า มูจาฮีด (นักรบในสงครามศักดิ์สิทธิ์)
ต่อมาในปี พ.ศ.249ๆ เกิดกบฎขึ้นในยะไข่ภาคใต้ ผู้นำกบฎเคยเป็นผู้นำกองกำลังยะไข่ต่อต้านญี่ปุ่น ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองมาก่อน ฝ่ายกบฎมีจุดมุ่งหมายจะแยกรัฐยะไข่ ให้เป็นอิสระทั้งจากอังกฤษและจากพม่า ฝ่ายกบฎได้รับความร่วมมือจากพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ฝ่ายที่เรียกว่า ธงแดง ฝ่ายพม่าปราบกบฎได้ในปีเดียวกัน โดยจับหัวหน้าได้ แต่ฝ่ายกบฎยังคงต่อสู้กับรัฐบาลต่อไป
ในปี พ.ศ.2491 พม่าได้รับเอกราชและได้เกิดการจลาจลขึ้นทั่วประเทศ เพราะเกิดจากกลุ่มชนหลายฝ่าย การก่อความวุ่นวายของพวกมูจาฮีดในยะไข่ภาคเหนือ ได้เพิ่มความรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นกบฎ พวกมูจาฮีดไม่พอใจรัฐบาลพม่า ที่ไม่ยอมให้พวกมุสลิมจากยะไข่ ที่ลี้ภัยเข้าไปในอินเดียกลับเข้ามา และยังยึดที่ดินของชาวมุสิลมเหล่านั้นไป ให้ชาวยะไข่ที่เป็นชาวพุทธ พวกกบฎยะไข ่และพวกมูจาฮีด ตกลงที่จะแบ่งยะไข่ออกเป็นสองส่วนคือ ภาคเหนือเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวมุสลิม และภาคใต้ เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวพุทธ พวกมูจาฮีดสามารถยึดพื้นที่ส่วนใหญ่ ในเขตมลายูได้ยกเว้นเมืองอัดยับ ต่อมารัฐบาลพม่าโดยกองทัพพม่าสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ในปี พ.ศ.2493 ทำให้พวกมูจาฮีดในยะไข่หยุดการเคลื่อนไหวไประยะหนึ่ง แต่ต่อมาในปี พ.ศ.2497 ก็ก่อการกบฎอีกในเขตมลายู แต่ถูกรัฐบาลพม่าปราบได้ พวกมูจาฮีดยังคงปฎิบัติการก่อกวนรัฐบาล และลักลอบนำสินค้าเถื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลักลอบนำข้าวไปขายในปากีสถาน รวมทั้งมีส่วนลอบนำชาวมุสลิมจากจิตตะกอง เข้ามาอยู่ในยะไข่ด้วย
รัฐธรรมนูญพม่าฉบับปี พ.ศ.2490 กำหนดให้ยะไข่เป็นส่วนหนึ่งของพม่าอย่างแท้จริง โดยมีฐานะเป็นภาค แต่ยินยอมให้ดินแดนชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ เช่น ไทยใหญ่ คะฉิ่น ฉิ่น และกะเหรี่ยง มีฐานะเป็นรัฐ ที่สามารถปกครองตนเองได้ในระดับหนึ่ง และมีสิทธิ์ที่จะแยกตัวออกจากพม่าได้ในอนาคต ต่อมาในปี พ.ศ.2503 อูนุ นายกรัฐมนตรีพม่าในขณะนั้น มีนโยบายที่จะจัดให้ดินแดนยะไข่ และมอญ เป็นรัฐตามคำสัญญาที่ให้ไว้ในสมัยหาเสียงเลือกตั้ง พวกโรฮิงยาได้เรียกร้องให้แยกเขตมลายูออก ขึ้นโดยตรงต่อรัฐบาลกลาง เพราะไม่ต้องการอยู่ใต้การบริหารของรัฐยะไข่ในอนาคต ด้วยเกรงว่าจะทำให้มุสลิมต้องอยู่ใต้การควบคุมของชาวยะไข่ ที่เป็นชาวพุทธ อูนุยอมผ่อนปรนตามข้อเรียกร้อง เพราะในร่างกฎมายจัดตั้งรัฐยะไข่ เขตมลายูถูกแยกไว้ต่างหาก แต่อูนุไม่สามารถตั้งรัฐยะไข่ และมอญได้สำเร็จ เพราะพรรคฝ่ายค้านต่อต้านนโยบายนี้ และต่อมาในปี พ.ศ.2505 นายพลเนวิน ได้ทำการปฎิวัติล้มรัฐบาลอูนุ ด้วยเหตุผลสำคัญคือ เพื่อป้องกันการแตกสลายของสหภาพพม่า อันเนื่องมาจากความต้องการเป็นอิสรภาพของพวกชนกลุ่มน้อย สภาปฎิวัติได้ยกเลิกหลักการให้อำนาจปกครองตนเอง และอภิสิทธิ์ต่าง ๆ แก่ชนกลุ่มน้อย ตามรัฐธรรมนูญฉบับเดิม
ต่อมาในปี พ.ศ.2516 ได้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เน้นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสหภาพพม่า ยะไข่เป็นรัฐเช่นเดียวกับรัฐของชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ อีกหกรัฐ ส่วนดินแดนที่อยู่ของชาวพม่าแท้ แบ่งออกเป็นภาคมีอยู่เจ็ดภาค ชนกลุ่มน้อยในยะไข่ไม่พอใจ จึงดำเนินการต่อสู้เพื่อความเป็นอิสระของพวกตนต่อไป โดยตั้งพรรคปลดแอกยะไข่ ขึ้นในปี พ.ศ.2517 รัฐบาลพม่าสืบทราบได้ว่า ขบวนการปลดแอกรัฐยะไข่ได้รับการช่วยเหลือจากบังคลาเทศ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเกิดความตึงเครียดขึ้น รัฐบาลพม่าเริ่มทำการกวาดล้างชาวมุสลิมที่รัฐบาลถือว่า เป็นผู้ลักลอบเข้าเมืองในรัฐยะไข่เป็นการใหญ่
ในปี พ.ศ.2521 พวกมุสลิมจากรัฐยะไข่ได้หนีเข้าไปในบังกลาเทศ เป็นจำนวนถึงสองแสนคน รัฐบาลบังกลาเทศกล่าวหาว่ารัฐบาลพม่าผลักดันให้ชาวมุสลิมเหล่านี้ ให้ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ และเรียกร้องให้พม่ารับกลับคืนไป แต่พม่ากล่าวว่า ชาวมุสลิมดังกล่าวเป็นผู้ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดอีกครั้ง ในช่วงปี พ.ศ.2534 - 2535 เมื่อพวกโรฮิงยา กล่าวหาว่าทหารพม่าทำทารุณกรรมต่อพวกตน เป็นเหตุให้พวกโรฮิงยา ประมาณสามแสนคน ต้องลี้ภัยไปอยู่ในบังกลาเทศ
>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>