ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

ไปรษณีย์

หมายถึง วิธีการส่งหนังสือ และหีบห่อสิ่งของโดยมีองค์การที่ตั้งขึ้นเป็นเจ้าหน้าที่รับส่ง

ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้คิดระบบไปรษณีย์ขึ้นมาคือ จักรพรรดิ์ดาริอุส แห่งเปอร์เซีย ซึ่งได้จัดม้าใช้ นำข่าวสารออกไปทั่วราชอาณาจักร และรับทราบความเป็นไปจากหน่วยทหารในทุกหนทุกแห่ง โดยกำหนดให้ม้าใช้ออกเดินทาง ในหนึ่งวันแล้วเปลี่ยนม้าและคนใหม่ ไปเรื่อยเป็นทอด ๆ จนกว่าจะถึงที่หมาย สามัญชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจการไปรษณีย์ ในราวปี พ.ศ.1943 ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 11  แห่งประเทศฝรั่งเศส

กิจการไปรษณีย์ของไทย  ในสมัยโบราณการส่งหนังสือไปมาถึงกัน ระหว่างเมืองต่อเมือง ส่วนมากมีอยู่แต่ในทางราชการเท่านั้น  โดยคนเดินหนังสือใช้วิธีส่งต่อกันเป็นทอด ๆ โดยเปลี่ยนคนเดินหนังสือในแต่ละเมือง

ต่อมาทางการได้จัดให้มีคนเดินหนังสือประจำตามหัวเมืองสำคัญเรียกว่า "คนเร็ว" มีหน้าที่ส่งหนังสือโดยเฉพาะ ส่วนหนังสือราชการที่จะต้องส่งไปยังราชการต่างประเทศ โดยมากจะใช้วิธีมอบไปกับพ่อค้าสำเภา ที่มีเกียรติควรแก่การเชิญหนังสือราชการนั้น แต่ถ้าเป็นพระราชหัตถเลขา หรือพระราชสาสน์ถึงประมุขของประเทศ ก็ต้องแต่ตั้งทูตอัญเชิญพระราชหัตถเลขา หรือพระราชสาสน์ นั้นโดยเฉพาะ

ในปี พ.ศ.2418  ได้มีพระบรมวงศานุวงศ์ ประกอบด้วยเจ้านาย 11 พระองค์ โดยการนำของ สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช  ทรงร่วมกันออกหนังสือรายวันฉบับหนึ่ง เพื่ออ่านกันในหมู่เจ้านายชื่อ "ข่าวราชการ" เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่สมาชิก ผู้รับหนังสือจึงให้มีบุรุษเดินหนังสือขึ้นและให้มีตั๋ว "แสตมป์" เพื่อแสดงว่าได้เสียค่าเดินหนังสือแล้วด้วย นับว่าเป็นตราไปรษณียากรที่ประเทศไทยมีใช้เป็นครั้งแรก

ต่อมาในปี พ.ศ.2423 เจ้าหมื่นเสมอใจราช หัวหมื่นมหาดเล็กเวรสิทธิ์ ผู้ซึ่งเคยไปเห็นกิจการไปรษณีย์ในต่างประเทศมาแล้ว ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลรัชกาลที่ห้า ถวายคำแนะนำให้เปิดบริการไปรษณีย์ขึ้นในประเทศไทย จึงได้มีการประกาศรับฝากส่งจดหมาย หรือหนังสือเป็นการทดลองในเขตพระนคร และธนบุรีขึ้นในปี พ.ศ.2426 มีที่ทำการอยู่ ณ ไปรษณียาการ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตอนปากคลองโอ่งอ่าง ด้านทิศเหนือ สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ฯ ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการกรมไปรษณีย์และโทรเลข

การให้บริการไปรษณีย์โทรคมนาคมและการเงิน ทั้งในประเทศ และต่างประเทศของกรมไปรษณีย์โทรเลข ดำเนินมาได้ระยะเวลา 94 ปี จนถึงปี พ.ศ.2519 จึงได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2519 แยกงานส่วนปฏิบัติการของกรมไปรษณีย์โทรเลขออกมาจัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจ มีชื่อว่าการสื่อสารแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 ส่วนกรมไปรษณีย์โทรเลขยังคงมีฐานะเป็นส่วนราชการฝ่ายพลเรือนระดับกรมตามเดิม มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการสื่อสารในระดับอำนวยการ

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย