ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
โปมะยุง่วน
เป็นชาวพม่าที่ได้รับแต่งตั้งจากพระจ้ามังระแห่งกรุงอังวะให้ไปครองเมืองเชียงใหม่ ก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะเสียแก่พม่าครั้งที่สองไม่นานนัก
เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ ทรงยกกองทัพไปปราบชุมนุมเจ้าพระฝางที่เมืองสรรคบุรี พวกเจ้าพระฝางหนีไปพึ่งพม่าที่เมืองเชียงใหม่ โปมะยุง่วนเห็นเป็นโอกาส จึงยกกองทัพลงมาตีเมืองสวรรคโลก เมื่อปี พ.ศ.2313 ฝ่ายไทยรักษาเมืองไว้ได้ และตีกระหนาบกองทัพพม่าแตกพ่ายกลับไป
สมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ เมื่อทรงทราบข่าวศึกก็ยกทัพขึ้นไปช่วย แต่เมื่อเสด็จไปถึงกลางทางทรงทราบว่า พวกเจ้าเมืองภาคเหนือช่วยกันตีพม่าแตกกลับไปแล้ว จึงทรงตัดสินพระทัยยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่เสียเลย เมื่อตอนต้นปี พ.ศ.2314 โดยกองทัพไทยตั้งประชุม พลที่เมืองพิชัย รวบรวมไพร่พลได้ประมาณ 15,000 คน เจ้าพระยาสุรสีห์ ฯ เป็นแม่ทัพหน้าคุมพลหัวเมืองเหนือยกขึ้นไป พวกเมืองเหนือในอาณาจักรล้านนาไทยได้มาสวามิภักดิ์ต่อฝ่ายไทย โปมะยุง่วนตั้งรับอยู่ในเมืองเชียงใหม่ กองทัพไทยมีกำลัง และเสบียงไม่เพียงพอต้องถอยทัพกลับพระนครหลังจากล้อมเชียงใหม่อยู่เก้าวัน โปมะยุง่วนถือโอกาสส่งกองทัพเข้าตามตีแต่ถูกทัพไทยตีกอบหนีไป
สมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ ได้ทรงยกทัพไปตีเชียงใหม่อีกครั้งในปีพ.ศ.2319 โดยเกณฑ์ทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือ 20,000 คน ไปรวมกำลังที่บ้านระแหง แขวงเมืองตากและเกณฑ์กำลังพลจากกรุงธนบุรีและหัวเมืองชั้นใน 15,000 คน เป็นกองทัพหลวงไปประชุมทัพที่เมืองระแหง โดยยกไปทางเรือแล้วโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาจักรีกับเจ้าพระยาสุรสีห์ คุมกองทัพเมืองเหนือขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ ส่วนพระองค์คุมทัพหลวงคงตั้งอยู่ที่เมืองตาก เพื่อคอยฟังข่าวการเคลื่อนทัพของพม่า ที่เมืองเมาะตะมะและเมื่อได้ทรงสั่งการให้กองทัพไปตั้งรับพม่าที่บริเวณลำน้ำไทรโยคแล้ว กับให้อีกส่วนหนึ่งคอยสกัดกั้นกองทัพพม่าที่จะเข้ามาทางเมืองตาก แล้วพระองค์ก็ทรงยกกองทัพหลวงขึ้นไปยังเมืองเชียงใหม่
กองทัพไทยเข้าล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้ตั้งตามรอบเมือง 34 ค่าย ชักปีกกา ตลอดกันถึงสามด้านเหลือเฉพาะทางด้านเหนือที่ยังลงค่ายไม่เสร็จตลอดด้าน พวกเมืองเชียงใหม่ที่หนีไปซุ่มซ่อนอยู่ในป่าและที่อยู่ในตัวเมืองก็พากันเล็ดลอดมาเข้ากับกองทัพไทยจนมีจำนวนเพิ่มถึง 50,000 คน
กองทัพไทยตีค่ายพม่าด้านใต้ ด้านตะวันตกและด้านตะวันออกได้ โปมะยุง่วนและโปสุพลาต้องทิ้งเมืองเชียงใหม่ออกไปทางประตูช้างเผือกทางด้านเหนือ กรุงธนบุรีจึงได้เมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูน เมืองลำปาง เมืองแพร่และเมืองน่าน เข้ามาอยู่ในพระราชอาณาเขตไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2317 เป็นต้นมา
ในปี พ.ศ.2318 อะแซหวุ่นกี้มีคำสั่งให้โปมะยุง่วน และโปสุพลาที่คอยหนีไปตั้งอยู่ที่เมืองเชียงแสน ให้ยกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ให้ได้ในฤดูฝน เพื่อเตรียมเรือรบ เรือลำเลียง รวมทั้งเสบียงอาหารส่งมายังกองทัพอะแซหวุ่นกี้ที่จะเข้ามาตีเมืองไทยในต้นฤดูแล้ง แต่ต้องถอยกลับไปเชียงแสน เมื่อทราบว่ากองทัพไทยยกขึ้นไปป้องกันเมืองเชียงใหม่
ในปี พ.ศ.2318 พระเจ้าจิงกูจา ราชโอรสพระเจ้ามังระขึ้นครองราชย์ต้องการได้แว่นแคว้นล้านนาไทย 57 หัวเมืองไว้ในอำนาจ จึงแต่งกองทัพมาสมทบ กับกองทัพของโปมะยุง่วนที่เมืองเชียงแสน เข้าตีเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ.1319 เจ้าเมืองเชียงใหม่ต้องทิ้งเมืองอพยพผู้คนมายังเมืองสรรคโลก เจ้าพระยาสุรสีห์คุมกองทัพเมืองเหนือ ไปสมทบกับพระยากาวิละ เจ้าเมืองลำปาง ยกไปตีเมืองเชียงใหม่คืนจากพม่า โปมะยุง่วนต้องถอยทัพกลับไปเมืองเชียงแสนอีก
ในปี พ.ศ.2330 พระเจ้าปดุงยกกองทัพใหญ่มาปราบปรามหัวเมืองประเทศราชทางเหนือคือ เมืองเชียงรุ้ง และเมืองเชียงตุง โปมะยุง่วนคุมกำลังจากเมืองเชียงแสน มาช่วยตีเมืองฝางด้วย เมื่อตีได้แล้วก็กลับมาเมืองเชียงแสน แต่ถูกเจ้าเมืองต่าง ๆ ในแว่นแค้นล้านนา รวมกำลังเข้าขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงแสน และถูกจับตัวได้ที่เมืองเชียงรายแล้วถูกส่งตัวมายังกรุงเทพ ฯ รัชกาลที่หนึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้ซักถามโปมะยุง่วนเกี่ยวกับข้อราชการต่าง ๆ ภายหลังได้รวบรวมเป็นเรื่องเรียกว่า "คำให้การชาวอังวะ" หรือ "คำให้การมะยิหวุ่น"
>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>