ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
ปุราณะ
เป็นคัมภีร์ประเภทหนึ่งของผู้นับถือลัทธิฮินดู แต่งเป็นคำประพันธ์ ร้อยกรองแบบโศลก บางทีได้รับยกย่องว่าเป็นพระเวท คัมภีร์ที่ห้าของศาสนานั้น ด้วยเหตุนี้จึงถือว่าเป็นหนังสือศักดิ์สิทธิ์ ใช้สำหรับสวดฟังแล้วได้บุญ คัมภีร์นี้เป็นเรื่องทำนองตำนานที่เล่าสืบกันมา เป็นเรื่องของเผ่าพันธ์มนุษย์ วงศ์กษัตริย์ ฤาษี ลัทธิ วิทยาธร คนธรรพ์ ทวยเทพ และอสูร ตลอดจนสัตว์ในนิยายเช่นครุฑ นาค หงส์ ราชสีห์ ฯลฯ และย้อนขึ้นไปถึงเรื่องการสร้างโลก นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องที่รวมของเรื่องปลีกย่อยนานาประการ เช่นเรื่องดาราศาสตร์ ปรัชญา ภูมิศาสตร์ เพชรนิลจินดา ฯลฯ จนดูราวกับว่าเป็นสารานุกรมแห่งความรู้ทั้งมวล
การแต่งคัมภีร์นี้ใช้เวลานาน บางเล่มใช้เวลามากกว่าร้อยปี แต่โดยนประเพณีนิยมที่เชื่อถือกันมาแต่โบราณ กล่าวกันว่าฤาษีวยาส หรือกฤษณไทวปายน เป็นผู้รจนาแต่ผู้เดียว ทั้งสิบแปดคัมภีร์ เมื่อแต่งเสร็จได้มอบให้ลูกศิษย์คนหนึ่งนำไปสวดเผยแพร่แก่คนทั่วไป จนเป็นที่รู้จักและท่องจำกันได้แพร่หลาย ในสมัยต่อมา
คัมภีร์ปราณะเล่มเก่าแก่ที่สุดคงจะแต่งก่อนพุทธกาลเล็กน้อย และเล่มหลังสุดแต่งไม่เกินคริสต์ศตวรรษที่ 13 หรือราวพุทธศตวรรษที่ 18 คัมภีร์ปุราณาสิบแปดเล่ม มีดังนี้
1. พรหมปุราณะ
เป็นเล่มแรกสุด จึงมีอีกชื่อว่า อาทิปุราณะ หรือปุราณะ เล่มแรกมีความยาว 25,000
โศลก กล่าวถึงพระพรหม แสดงคำสอนแก่พระทักษประชาบดี
มีเนื้อเรื่องตอนหนึ่งแสดงเทวประวัติ
2. พรหมาณฑปุราณะ
มีความยาว 12,000 โศลก กล่าวถึงความเป็นมาของจักรวาล ตามคำบอกเล่าของพระพรหม
3. พรหมไววรรตปุราณะ
มีความยาว 18,000 โศลก บรรยายคำสอนของพระนารทฤาษี ซึ่งแสดงแก่สาวรรณิกปุราณะ
เนื้อเรื่องส่วนใหญ่เป็นเรื่องการสร้างจักรวาล
4. มารกัณฑยปุราณะ มีความยาว 9,000 โศลก มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับพระอินทร์
พระสูรย และพระอัคคี อย่างละเอียด
5. ภุริษยปุราณะ
มีความยาว 14,000 โศลก กล่าวถึงเรื่องอันจะเกิดมีในอนาคต
เป็นคำกล่าวของพระสูรยะต่อพระมนูผู้เป็นมนุษย์ และกษัตริย์องค์แรกของโลก
6. วามนปุราณะ
มีความยาว 10,000 โศลก มีเนื้อหาสาระคล้ายคลึงกับวราหปุราณะมากที่สุด
กล่าวถึงอวตารปางต่าง ๆ ของพระวิษณุ ตั้งแต่ปางเป็นวามนะเรื่อยมาถึงอวตารปางสุดท้าย
7. วิษณุปุราณะ
มีความยาว 23,000 โศลก จัดว่าเป็นปุราณะที่สำคัญเล่มหนึ่ง
เนื้อเรื่องส่วนใหญ่พรรณาถึงอวตารทั้งสิบสมัย (ปาง) ของวิษณุ
โดยเหตุที่เล่มนี้เป็นคัมภีร์เก่าแก่ และมีค่าสูงสุดจึงได้ชื่อว่าเป็น ปุราณรัตนะ
8. ภาควตปุราณะ
มีความยาว 18,000 โศลก เป็นปุราณะที่มีความแพร่หลายมากที่สุด
และเป็นที่จับจิตใจของบรรดาไวษณพ (ผู้นับถือพระวิษณุเป็นเทพสูงสุด) มากที่สุด
คัมภีร์เล่มนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ของอินเดียวแทบทุกภาษา
9. นารทียปุราณะ มีความยาว 25,000 โศลก เป็นเรื่องที่พระนารทฤาษี
เล่าแก่สนัตกุมาร เกี่ยวกับธรรมทั้งหลายในพฤหัตกัป
10. ครุฑปุราณะ
มีความยาว 8,000 โศลก เป็นเรื่องราวที่พระวิษณุทรงสั่งสอนแก่ครุฑ
มีเรื่องดาราศาสตร์ อายุรศาสตร์ ไวยากรณ์ และเรื่องกำเนิดของเพชร
รวมฟังคุณสมบัติในด้านต่าง ๆ ครึ่งหลังแสดงความคิดทางปรัชญาว่า ชีวิตหลังความตาย
11. ปัทมปุราณะ
มีความยาว 25,000 โศลก เนื้อเรื่องแบ่งออกเป็นหกตอน
นอกจากเนื้อเรื่องจะบรรยายถึงความสำคัญของเดือนต่าง ๆ แล้ว
ยังมีเรื่องแทรกที่สำคัญคือ เรื่องศกุนตลา กับเรื่องพระราม
12. วราหะปุราณะ มีความยาว 14,000 โศลก
กล่าวถึงพระวิษณุอวตารปางที่สาม เป็นวราหะ (หมู) เพื่อปราบอสูรร้าย
และบรรยายเกี่ยวกับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ อันมีชื่อเสียง
13. วายุปุราณะ มีความยาว 14,000 โศลก พระวายุ
เป็นผู้เล่ามีข้อความสดุดีพระเกียรติคุณ ของพระศิวะเป็นส่วนใหญ่
14. ลิงคปุราณะ มีความยาว 12,000 โศลก
บรรยายถึงคำสอนของพระศิวะผู้สถิตอยู่ในรูปของลิงคะ (เครื่องหมายเพศชาย)
และยังกล่าวถึง พระศิวะในรูปแบบอื่น ๆ อีก 28 รูป
15. สกันทปุราณะ มีความยาว 84,000 โศลก พระสกันทะ (โอรสพระศิวะ)
เป็นผู้เล่ามีเนื้อหาว่าด้วยการต่อสู้ระหว่าง พระสกันทะกุมาร กับ ตารกาสูร
16. อัคนิปุราณะ มีความยาว 12,000 โศลก
เป็นเรื่องราวอันทรงคุณค่าทางศิลปวิทยาการสาขาต่าง ๆ ที่เทพเจ้าอัคคี
เล่าแก่พระวสิษพรหมฤาษี เช่น ดาราศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ รัตนศาสตร์
กาพยะลังการนาฎกะ (วิชาการละคร การตกแต่งคำ และกาพย์กลอน) และอื่น ๆ มีกล่าวถึง
อวตารสองปางของพระวิษณุคือ รามจันทราวตาร และกฤษณาวตาร
17. มัตยปุราณะ มีความยาว 13,000 โศลก เป็นเรื่องที่มตสยะ (ปลา)
หรือพระวิษณุ อวตารปางที่หนึ่ง เล่าให้พระมนูปฐมกษัตริย์ของมนุษย์ฟัง
และยังมีเรื่องอื่น ๆ ประกอบอีกมาก เช่น เรื่องของพระไชนมตะ (ศาสนาเชน)
พุทธมตะ (ศาสนาพุทธ) นาฎยศาสตร์ และอานธรราชวงศ์ (เรื่องราวของกษัตริย์
ในแคว้นอานธระทางภาคใต้ของอินเดีย) ฯลฯ
18. กูรมปุราณะ มีความยาว 8,000 โศลก เป็นเรื่องราวของพระวิษณุ
สมัยอวตารเป็นกูรมะ (เต่า) เป็นผู้เล่าที่บาดาลเกี่ยวกับอินทรยุมน์
และกล่าวถึงภูมิศาสตร์ของโลกโบราณว่า ประกอบด้วยทวีปทั้งเจ็ด มหาสมุทรทั้งเจ็ด
และดินแดนภารตะ (อินเดีย) ตั้งอยู่ท่ามกลางทวีปทั้งหลาย มีชื่อว่า ชมพูทวีป
>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>