ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
ปันเชนลามะ
เป็นชื่อเรียกตำแหน่งลามะชั้นสูงอีกตำแหน่งหนึ่ง ของระบบการปกครองคณะสงฆ์ฝ่ายพุทธตันตรยาน (นิกายลามะ) ในประเทศทิเบต มีสำนักอยู่ ณ มหาวิหารดาษิ ในมณฑลชิกัดเส เป็นประธานสงฆ์ลามะฝ่ายตะวันตก จำกัดอยู่ในปริมฑลที่กำหนดไม่เกี่ยวกับทางอาณาจักร จึงเป็นที่สองรองจากตำแหน่งดาไลลามะ ซึ่งเป็นผู้ปกครองทั้งฝ่ายศาสนจักรและอาณาจักร
ความเป็นมาของตำแหน่งปันเชนลามะคือ สมัยเมื่อเจงกิสข่านชาวมองโกลแผ่อำนาจครอบครองดินแดนจีน และทิเบตไว้ได้ในปี พ.ศ.1849 นั้น ทรงเลื่อมใสพุทธศาสนาลัทธิมนตรยาน จึงสนับสนุนพระสงฆ์ลามะให้มีฐานะมั่นคงขึ้นมาตลอด มาจนถึงสมัยจักรพรรดิกุบไลข่าน จักรพรรดิ์มองโกลใช้ศาสนาให้เป็นประโยชน์ในการปกครองทิเบต จึงยกย่องประมุขสงฆ์ให้อำนาจ เป็นผู้ปกครองแผ่นดินด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง ดาไลลามะจึงดำรงตำแหน่งราชาธิบดีและมหาสังฆราชในคราวเดียวกันแต่นั้นมา
ครั้งจีนมีอำนาจเหนือทิเบต จักรพรรดิ์จีนได้ดำเนินรัฐประศาสโนบายเหมือนที่จักรพรรดิ์มองโกลกระทำมา มีการยกย่องประมุขสงฆ์ทิเบตขึ้นเป็นองค์ดาไลลามะ อนุญาตให้สร้างมหาวิหารหรือวังใหญ่ คือ โปตละ ณ กรุงลาซา อันเป็นเมืองหลวงขึ้นเป็นที่ประทับ
ส่วนตำแหน่งปันเชนลามะเกิดขึ้น เมื่อประมาณปี พ.ศ.2180 เป็นประมุขสงฆ์ฝ่ายตะวันตก ครั้นมีอิสระแยกอำนาจการปกครองออกจากฝ่ายเมืองหลวง แล้วเห็นว่าประธานสงฆ์ลามะทางเมืองหลวง อ้างตนเองเป็นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรอวตารลงมาได้ สงฆ์ลามะฝ่ายตะวันตก จึงออกกำหนดว่าประธานนิกายสงฆ์ฝ่ายตนคือ พระอมิตาพุทธอวตาร มาเกิด
นับแต่ปันเชนลามะ อ้างดังกล่าวข้างต้น สงฆ์ลามะนิกายอื่นที่แยกตัวไปต่างก็อ้างว่า ประธานสงฆ์นิกายตน คือ อวตารของพระโพธิสัตว์แต่ละองค์ และศาสนาจารย์คนสำคัญแต่ละคนอวตารลงมาเกิดทั้งสิ้น
>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>