ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
ปัตตานี
จังหวัดภาคใต้ ตั้งศาลากลางที่ ต.สะมารัง อ.เมือง ฯ ฝั่งซ้ายแม่น้ำปัตตานีห่างปากน้ำราว 2 กม. ทิศเหนือและทิศตะวันออกตกทะเลในอ่าวไทย ทิศใต้จด จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส ทิศตะวันตกจด จ.สงขลา ภูมิประเทศตอนเหนือและตะวันออกเป็นที่ราบลุ่ม ตอนใต้และตะวันตกเป็นที่ดอน มีเขาเล็ก ๆ เตี้ย ๆ มาก พลเมืองส่วนมากเป็นไทยอิสลาม ทำนา ทำสวนยางพารา เลี้ยงสัตว์และทำประมง สินค้ามีข้าว ยางพารา มะพร้าวแห้ง โค กระบือ ไก่ เป็ด ปลาสด ปลาเค็ม และแร่ดีบุก
จ.ปัตตานีเรียกกันว่า เมืองตานีบ้าง เป็นเมืองเก่าเมืองหนึ่งในแหลมมลายู มีเรื่องกล่าวกันว่า เป็นเมืองผู้หญิงสร้าง ในสมัยเมื่อไทยแผ่อาณาเขตลงไป ถึงปลายแหลมมลายูนั้น จ.ปัตตานีก็ขึ้นแก่ไทยเป็นเมืองประเทศราช ส่งบรรณาการเป็นคราว ๆ เช่นเดียวกับเมืองมะละกา เมืองปัตตานีนี้ ใช้วิธีปกครองโดยสตรีในวงศ์ตระกูลเจ้าเมือง ซึ่งมีอายุสูงพ้นเขตที่จะมีบุตรได้แล้วเป็นนางพระยาว่า ราชการเมืองเป็นประเพณีสืบมา ดังเช่นในเกาะสุมาตราบางแห่งและ ใช้ประเพณีนี้ตลอดมาในสมัยสุโขทัยจนถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่คราวใดกรุงศรีอยุธยาอ่อนอำนาจลงเมืองปัตตานีก็งดส่งบรรณาการแสดงอาการกระด้างกระเดื่อง เช่นในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททองในปี พ.ศ.2175 นางพระยาปัตตานีถือโอกาสงดส่งบรรณาการแสดงความกระด้างกระเดื่อง จึงโปรดให้กองทัพกรุงออกไปปราบถึงสองครั้งก็ยังปราบไม่ได้ เตรียมกองทัพจะไปปราบอีก แต่พวกฮอลันดาแนะนำนางพระยาให้อ่อนน้อมเสีย เมืองปัตตานีจึงกลับเป็นของไทยดังเก่า
ครั้นเมื่อเสียกรุงแก่พม่า เมื่อปี ค.ศ. 2310 พระยาปัตตานีถือโอกาสปลีกตัวจากไทยอีกจนถึง พ.ศ.2329 เมื่อเสร็จศึกพระจ้าปะดุงในรัชกาลที่หนึ่งแล้ว กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ได้เสด็จยกทัพหลวงไปขับไล่พม่าทางแหลมมลายูไปหมดแล้ว มีพระบัณฑูรออกไป ให้บรรดาหัวเมืองมลายูที่เคยขึ้นแก่ไทย มาอ่อนน้อมดังเดิม พระยาปัตตานีขัดแข็ง ต้องให้กองทัพไปปราบปรามจึงได้เมืองปัตตานีคืน และชะรอยจะตั้งผู้เป็นเชื่อพระวงศ์ของพระยาปัตตานีให้เป็นเจ้าเมือง แต่เจ้าเมืองคนใหม่ไม่ซื่อสัตย์ เพราะปรากฏว่าในปี พ.ศ.2332 พระยาปัตตานี้ได้ไปชักชวนองเชียงสือ ซึ่งเป็นพระเจ้าเวียดนามยาลองจะให้มาตีหัวเมืองในพระราชอาณาจักร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ จึงโปรดให้กองทัพไปตีหัวเมืองปัตตานีอีกครั้งหนึ่ง แล้วถอดเจ้าเมืองเก่าเสีย ตั้งข้าราชการไทยเป็นเจ้าเมืองแทน ต่อมาในรัชกาลที่สอง พม่าคิดจะยกทัพมาตีไทยอีก ได้ให้ไปชักชวนหัวเมืองมลายูที่ขึ้นแก่ไทยให้ก่อการกบฎขึ้น แต่เจ้าเมืองปัตตานีเป็นคนไทยจึงปราบปรามไว้ได้ แต่นั้นต่อมาจึงโปรดเกล้า ฯ ให้แบ่งเมืองปัตตานีออกเป็นเจ็ดหัวเมือง คือ ปัตตานี ยะลา ยะหริ่ง ระแงะ ราห์มัน สายบุรี และหนองจิก มีพระยาเมืองปกครองขึ้นต่อเมืองสงขลา มาจนถึงรัชกาลที่ห้าโปรดให้จัดการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล แต่บางเมืองที่มีเชื้อสายเจ้านายเก่า ๆ ปกครองอยู่ เช่นหัวเมืองในภาคพายัพบ้าง ภาคอีสานบ้าง ปักษ์ใต้บ้าง ได้จัดการปกครองเป็นบริเวณ โดยรวมกลุ่มเมืองเล็ก ๆ เข้าเป็นบริเวณดั้งเชื้อสายเจ้านายเก่า ๆ ในบริเวณนั้น ๆ เป็นผู้ครองเมือง และตั้งข้าหลวงประจำจังหวัด เป็นผู้ทำงานแทนผู้ครองเมือง แต่เมืองปัตตานีที่แยกออกเป็นเจ็ดหัวเมือง ก็ได้จัดการปกครองเป็นบริเวณ เสียกว่าบริเวณเจ็ดหัวเมือง ตั้งข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณตำแหน่งหนึ่ง ขึ้นต่อข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ต่อมาถึงปี พ.ศ.2449 จึงได้ตั้งบริเวณเจ็ดหัวเมือง เป็นมณฑลปัตตานี ให้ข้าหลวงใหญ่เป็นสมุหเทศาภิบาล ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ และให้มีจังหวัดเพียงสี่จังหวัด คือรวมเมืองปัตตานี เมืองหนองจิก และเมืองยะหริ่งเข้าเป็นเมืองปัตตานี รวมเมืองยะลากับเมืองราห์มันเข้าเป็นเมืองยะลา ส่วนเมืองระแงะกับเมืองสายบุรีคงอยู่ตามเดิม จนถึงปี พ.ศ.2475 จึงยุบเมืองสายบุรีเป็นเมืองตะลุบันขึ้น จ.ปัตตานี และแบ่งท้องที่ไปขึ้น จ.นราธิวาส (เมืองระแงะเดิม) บ้าง ตัวเมืองปัตตานีเดิมตั้งอยู่ที่บ้านมะนา ซึ่งปัจจุบันเป็น ต.บานาขึ้น อ.สะบารัง (อ.เมืองปัจจุบัน)
>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>