ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

ไทรบุรี

เคยเป็นหัวเมืองมลายูแห่งหนึ่ง ในพระราชอาณาเขตทางใต้ มีฐานะเป็นประเทศราชของไทย ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซีย มีสุลต่านปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญ สันนิษฐานว่า ไทรบุรีอยู่ใต้การปกครองของไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัยเช่นเดียวกับ กลันตัน ตรังกานู เประ และมะละกา แต่ไทยต้องยกดินแดนดังกล่าวนี้ให้อังกฤษ ในปี พ.ศ.2452 ไทรบุรีมีอีกชื่อหนึ่งว่า เคดาห์

ไทรบุรี ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแหลมมลายู ทิศเหนือจดปะลิส และสงขลา ทิศตะวันออกจดสงขลา และรามัน ทิศตะวันตก ตกทะเลตรงช่องแคบมะละกา ไทรบุรีมีหมู่เกาะรวมอยู่ด้วย เกาะใหญ่ที่สุดคือ เกาะลังกาวี นครหลวงคือ อลอร์สตาร์ เมืองท่าสำคัญคือ กัวลาปะหัง และกัวลาเมอร์บก

ในด้านศาสนานั้น แต่เดิมชาวไทรบุรี นับถือพระพุทธศาสนา ต่อมาพวกมลายูอพยพจากเกาะสุมาตรา มาอยู่ในไทรบุรี และเจ้าเมืองคนที่เจ็ดได้เปลี่ยนศาสนา ไปนับถือศาสนาอิสลาม ชาวพื้นเมืองเดิมก็พากันรับนับถือศาสนาอิสลาม พวกมลายูจึงเรียกพวกนี้ว่า พวก "สามสาม" หรือ "สยามอิสลาม"

ไทรบุรี เคยตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรศรีวิชัย ต่อมาเมื่ออาณาจักรมะละกามีอำนาจขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 21 ไทรบุรีก็ตกเป็นเมืองขึ้นของมะละกาบ้าง ของไทยบ้าง ครั้นมะละกาตกไปเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกส ในปี พ.ศ.2054 ไทรบุรีจึงตกเป็นเมืองขึ้นของไทย

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ไทยได้ส่งกองทัพไปปราบปรามเมืองปัตตานี พระยาไทรบุรีคนใหม่ (อับดุลลาห์) จึงเกิดความเกรงกลัวจึงหันไปติดต่อกับอังกฤษ พระยาไทรบุรีเสนอที่จะยกเกาะปีนัง ให้แก่อังกฤษ

ในรัชสมัยพระพุทธเลิศหล้า ฯ เจ้าพระยาไทรบุรี ประแงรัน พยายามจะเป็นพันธมิตรกับอังกฤษอีก แต่เจ้าหน้าที่ปีนังก็ได้รับคำสั่ง ห้ามให้ความคุ้มครองไทรบุรี ในการต่อต้านไทย ต่อมาในปี พ.ศ.2359 ไทยสั่งให้เจ้าพระยาไทรบุรี ยกกองทัพเข้าโจมตีเประ และให้ส่งต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง ไปยังราชสำนักไทย ต่อมาในปี พ.ศ.2363 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงทราบข่าวว่า พม่าเตรียมยกทัพมาตีเมืองไทย และชวนเจ้าพระยาไทรบุรีให้ร่วมมือด้วย เมื่อสืบสวนได้ความแล้ว จึงมีรับสั่งให้เจ้าพระยานคร ฯ หรือพระยาศรีธรรมาโศกราช ยกกองทัพหัวเมืองปักษ์ใต้ไปตีเมืองไทรบุรี เจ้าพระยาไทรบุรีจึงหนีไปอยู่กับอังกฤษที่เกาะหมาก ฝ่ายพระยานคร ฯ เมื่อตีไทรบุรีได้แล้ว ก็ยังส่งกองทัพไปตีเกาะลังกาวี เมื่อเสร็จศึกแล้ว พระยานคร ฯ ได้กวาดต้อนครอบครัวชาวเมืองไทรบุรี เข้ามาอยู่ที่กรุงเทพ ฯ บ้าง อยู่ที่เมืองนครบ้าง แล้วแต่งตั้งบุตรชายชื่อ พระยาภักดีบริรักษ์ (แสง)  เป็นผู้รักษาเมืองไทรบุรี และต่อมาก็ตั้งให้เป็น พระยาอภัยธิเบศร์ เจ้าเมืองไทรบุรี

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ อังกฤษส่ง นายเฮนรี เบอร์นี มาทำสนธิสัญญากับไทย เมื่อปี พ.ศ.2369  ตามสนธิสัญญาฉบับนี้ อังกฤษยอมรับความเป็นเจ้าอธิราชของไทยเหนือไทรบุรี ต่อมาในปี พ.ศ.2374 , 2379 และ 2381 เจ้าพระยาไทรบุรี อาหมัดยาอุดิน ได้พยายามขับไล่ไทยออกจากไทรบุรี แต่ไม่สำเร็จ

ต่อมาในปี พ.ศ.2382 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ เห็นสมควรที่จะยกไทรบุรีเป็นเมืองเหมือนปัตตานี แล้วแต่งตั้งให้ญาติของเจ้าพระยาไทรบุรี ซึ่งเป็นชาวมลายูปกครองกันเอง ดังนั้น จึงโปรดให้แบ่งไทรบุรีเป็นสี่เมือง โดยเลือกชาวมลายูที่มีความจงรักภักดีต่อไทย เป็นผู้ปกครองดังนี้คือ ไทรบุรี ปะลิส กะบังปาสู และสตูล แต่ละเมืองต่างก็เป็นอิสระในการปกครองตนเอง ต่างก็ขึ้นกับเมืองนคร ฯ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ เจ้าเมืองไทรบุรี ถึงแก่อนิจกรรม พระองค์จึงโปรดเกล้า  ฯให้ตั้ง ตนกูมะหมัด บุตรคนโตของเจ้าเมืองไทรบุรี เป็น พระยาไทรบุรี แทน มีนามตามตำแหน่งว่า "พระยาฤทธิสงครามรามภักดี "

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เมื่อปี พ.ศ.2440 ได้โปรดเกล้า ฯ ให้รวมเมืองไทรบุรี เมืองปะลิส และเมืองสตูล เข้าด้วยกัน และโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาฤทธิสงครามรามภักดี เจ้าเมืองไทรบุรี เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลไทรบุรี สำเร็จราชการเมืองปะลิส เมืองสตูล และเมืองไทรบุรี

ต่อมาในปี พ.ศ.2452 ไทยตกลงมอบอำนาจเมืองขึ้นในมลายูสี่เมืองคือ ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส ให้แก่อังกฤษ โดยอังกฤษจะต้องยกเลิกอำนาจศาลกงสุล และสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้เป็นการตอบแทน

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย