ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

ทาส

ตามความหมายอย่างกว้างหมายถึง คนรับใช้หรือบ่าว ซึ่งมีสถานภาพแห่งบุคคลต่ำต้อยกว่าคนรับใช้ที่ได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง

ระบบทาสของประเทศต่าง ๆ ในอดีต มีลักษณะคล้ายคลึงกันอยู่หลายประการคือ ผู้เป็นทาสนั้นมีภาวะเป็นทรัพย์หรือเสมือนทรัพย์ของเจ้าของ เหตุที่ทำให้คนตกเป็นทาสหรือสงคราม หนี้สิน การสืบเชื้อสายจากทาส และการซื้อขายผู้เป็นทาสอยู่แล้ว ในบรรดาเหตุเหล่านี้สงครามจัดว่าเป็นเหตุสำคัญ

ในสมัยอยุธยา มีกฎหมายว่าด้วยทาสโดยตรงคือ ลักษณะทาส ฉบับแรกตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2178 ในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง ที่จริงแล้วไทยได้มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่กล่าวถึงทาสมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่หนึ่ง (อู่ทอง) ซึ่งบัญญัติไว้ในกฎหมายลักษณะผัวเมียอีกสองตอน ตอนแรกตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1903

คัมภีร์มานวศาสตร์ หรือที่ฝรั่งเรียกว่าประมวลกฎหมายมนู เป็นต้นแบบสถาบันทาสของไทยสมัยอยุธยา

ในพุทธศตวรรษที่ 22 และ 23 นักปราชญ์ทางการเมืองของยุโรปได้แสดงความเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันทาสอย่างชัดแจ้งและแพร่หลาย ได้โน้มน้าวมติมหาชนของยุโรปให้ยกเลิกสถาบันทาส และปลดปล่อยทาสออกเป็นอิสระเสียโดยเร็ว ในปี พ.ศ.2376 อังกฤษ ได้ออกกฎหมายประกาศปลอดปล่อยทาสเป็นอิสระจำนวนถึง 800,000 คน ในอาณาเขตโพ้นทะเลที่อังกฤษปกครองอยู่ โดยรัฐบาลอังกฤษต้องใช้ค่าทดแทนเป็นเงินถึง 20 ล้านปอนด์สเตอริงให้แก่บรรดาเจ้าของทาส ส่วนสถาบันทาสในอินเดียของอังกฤษได้เลิกไปเมื่อปี พ.ศ.2386

เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งยุติลงในปี พ.ศ.2461 สันนิบาตชาติได้มีส่วนทำอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยทาส พ.ศ.2469 ด้วยความมุ่งหมายให้ประเทศที่เป็นภาคีช่วยกันขจัดระบบทาสในรูปแบบต่าง ๆ ให้หมดไป ปรากฎว่าประเทศสำคัญ ๆ ที่ได้ออกกฎหมายยกเลิกสถาบันทาสในอาณานิคม หรือเขตอธิปไตยของตน มีหลายประเทศเช่น สวีเดน (พ.ศ.2389) ฝรั่งเศสและเดนมาร์ก (พ.ศ.2391) โปร์ตุเกส (พ.ศ.2399) เนเธอร์แลนด์ (พ.ศ.2403) สเปญ (พ.ศ.2415) สหรัฐอเมริกา (พ.ศ.2408)

การเลิกสถาบันทาสในประเทศไทย เกิดจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พระองค์ได้ทรงเตรียมการเป็นระยะ ๆ อย่างรอบคอบ ในที่สุดได้มีการตราพ.ร.บ.ลักษณะทาษ ร.ศ.124 (พ.ศ.2448) เป็นสัญลักษณ์สำคัญประการหนึ่งของชาติ

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย