ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
ทักษิณาจาร
เป็นชื่อลัทธิพุทธตันตระแบบหนึ่ง เป็นแบบขวาหรือฝ่ายขวาคู่กับวามาจาร คือ แบบซ้ายหรือฝ่ายซ้าย พุทธตันตระทั้งสองแบบนี้ แตกต่างกันที่หลักการคือ หลักพิธีกรรมและหลักปรัชญา ซึ่งยิ่งและหย่อนกว่ากัน หลักการของฝ่ายทักษิณาจาร มีดังนี้
1. หลักพิธีกรรม
อันดับแรกเรียกชื่อว่า อภิเษก คือ พิธีรับเข้าหมู่ หรือรับเป็นศิษย์ของพุทธตันตระ เป็นการครอบวิชาให้ เพราะในคติลัทธินี้ แม้พระโพธิสัตว์ก็จะต้องผ่านอภิเษก จากบรรดาพระพุทธเจ้าก่อนจึงจะบรรลุภูมิได้
พิธีกรรมอันดับที่สอง เรียกว่า มันตระ หรือ ธารณี คือ การสังวัธยายมนตร์ หรือการบริกรรมคาถา ต้องออกเสียงให้ถูกต้อง อักขรวิธี อย่าให้อักขรวิบัติ การเชื่อถือเวทมนตร์คาถาอาคมขลังของไทย ก็คงมาจากพุทธตันตระนี้เอง แต่เรียกรวมว่า พิธีกรรมทางไสยศาสตร์ พุทธตันตระนั้น ดึงเอาวิธีการของไสยศาสตร์ทางศาสนาพราหมณ์มา แต่เปลี่ยนเทพเป็นพระพุทธเจ้า และพระโพธิสัตว์แบบมหายาน
พิธีกรรมอันดับที่สามชื่อ มุทรา คือ แสดงท่าต่าง ๆ ด้วยนิ้วมือ หรือแสดงอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็นเครื่องหมายประจำองค์พระพุทธเจ้า และพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย เช่น สมาธิมุทรา ธรรมจักรมุทรา วิตรรกมุทรา วัชระมุทธา เป็นต้น ที่เรียกว่า ปาง เช่น ปางสมาธิ ปางแสดงธรรมจักร ปางประทานอภัย เป็นต้น
พวกตันตระถือว่าผู้ใดทำรูปกายของตน ให้มีอาการดุจอาการ หรือมุทราของพระพุทธเจ้า หรือพระโพธิสัตว์ หรือเทพองค์ใดก็เท่ากับเชิญท่านดังกล่าวนั้น ให้มาอยู่กับตน ท่ามุทรานี้เดิมเป็นของฮินดูตันตระ ต่อมาพุทธตันตระฝ่ายซ้ายนำมาใช้ พิธีกรรมถัดไปชื่อ สมาธิ คือ กำหนดจิตให้จดจ่ออยู่กับพระพุทธเจ้า หรือพระโพธิสัตว์ หรือเทพองค์ใดองค์หนึ่ง จนปรากฎว่าเรากลายเป็นพระ หรือเทพ นั้น ๆ นี้คือ จุดหมายสูงสุดของพุทธตันตระ
คำว่า "ความว่าง" ก็คือ ศูนยตา ซึ่งเป็นหลักปรัชญาของสำนักพุทธปรัชญามาธยมิกะ และคำว่า พีชะในอาลัยวิญญาณ ก็คือ หลักปรัชญาของสำนักพุทธปรัชญาโยคาจาร
2. หลักปรัชญา
มีใจความว่า พระไวโรจนพุทธะ เป็นมูลธาตุของสากลจักรวาล สรรพสิ่งทั้งหลายในสากลจักรวาล จึงมีภาวะอย่างเดียวกับรูปกาย และนามกายของพระไวโรจนพุทธ จะเห็นได้ว่าพระไวโรจนพุทธะของพุทธตันตระนี้เป็นอย่างเดียวกับพรหมันของฮินดูนั่นเอง นับเป็นสัทธรรมปฏิรูปคือของแปลกปลอมในพระพุทธศาสนา ทำให้พระสัทธรรมเดิมอันตรธานจากความเข้าใจของชาวพุทธ
>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>