ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

ทวารวดี

คำนี้เป็นภาษาสันสกฤต อาจแบ่งอธิบายได้เป็นสองตอนคือ

1. เป็นชื่อหนึ่งของเมืองทวารกา ซึ่งเป็นราชธานีของพระกฤษณ์ในแคว้นคุชราฐ นับถือกันว่าเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์เมืองหนึ่ง ในบรรดาเมืองศักดิ์สิทธิ์เจ็ดเมืองในอินเดีย

2. เป็นชื่ออาณาจักรหนึ่งทางตอนกลางของประเทศไทย เดิมได้รู้จักชื่อจากจดหมายเหตุของพระภิกษุจีนเหี้ยนจัง (พระถังซัมจั๋ง) และพระภิกษุจีนอี้จิง ซึ่งเดินทางไปสืบศาสนายังประเทศอินเดียในพุทธศตวรรษที่ 12 ว่ามีอาณาจักรหนึ่งชื่อ "โถโลโปตี" ตั้งอยู่ระหว่างอาณาจักรศรีเกษตร (พม่า) และอีศานปุระ (กัมพูชา) คำว่า "โถโลโปตี" นี้นักปราชญ์ฝรั่งเศสสันนิษฐานว่า คงตรงกับคำว่าทวารวดีในภาษาสันสกฤต ต่อมาได้พบเงินเหรียญสองเหรียญที่จังหวัดนครปฐม มีจารึกเป็นภาษาสันสกฤตว่า "ศรีทวารวดีศวรปุณย"

อาณาจักรทวารวดี คงตั้งอยู่ทางภาคกลางของประเทศไทย แต่ราชธานีจะอยู่ที่ใดยังไม่ทราบแน่นอน ประชาชนอาจเป็นมอญเพราะได้ค้นพบศิลาจารึกภาษามอญโบราณ ทั้งที่นครปฐมและลพบุรี ชาวไทยอาจมีบ้างแล้วแต่ยังคงเป็นส่วนน้อย

ศิลปทวารวดี คงมีอายุตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 12 - 16 ส่วนใหญ่อยู่ในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท มีฝ่ายมหายานเข้ามาปะปนบ้าง ประติมากรรมสมัยทวารวดี ส่วนใหญ่สลักด้วยศิลา มีทั้งประติมากรรมลอยตัวสลักเป็นพระพุทธรูป และรูปธรรมจักรที่เป็นภาพนูนต่ำ ประติมากรรมสำริดมักหล่อเป็นขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังนิยมใช้ดินเผา และปูนปั้นตกแต่งสถาปัตยกรรมอีก

สำหรับสถาปัตยกรรมมีหลายแห่งที่สำคัญเช่น พระปฐมเจดีย์องค์เดิม เจดีย์จุลประโทน จังหวัดนครปฐม นอกจากนี้ศิลปทวารวดียังได้แผ่ขึ้นไปทางเหนือเช่น ที่วัดจามเทวี หรือกู่กุฎิ จังหวัดลำพูน และทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเช่นที่เมืองฟ้าแดดสูงยาง จังหวัดกาฬสินธิ์ ทางภาคตะวันออกเช่น ที่ดงศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย