ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

ตันตรยาน

ลัทธิตันตระหรือนิกายฝ่ายซ้ายของศาสนาฮินดู และพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ที่เกิดขึ้นในตอนหลัง โดยรับเอาลัทธิตันตระของศาสนาฮินดูมาดัดแปลงผสมผสานกับหลักความเชื่อ และหลักปรัชญาของมหายาน เพื่อแข่งขันกับลัทธิตันตระของศาสนาฮินดู

คำว่า ตันตระแปลกันหลายนัยด้วยกัน ต้นกำเนิดของลัทธิฮินดู ตันตระจริง ๆ ไม่มีใครรู้แน่นอน ได้แต่สันนิษฐานกัน บางพวกเชื่อว่าเผ่าชนโบราณเผ่าหนึ่งเรียกว่า วราตยะ นำเข้ามาในอินเดีย พวกนี้เข้ามาทางทิศตะวันตกเฉียงหนือ และตั้งรกรากอยู่ทางทิศตะวันออก คืออาณาบริเวณที่เป็นแคว้นพิหาร และเบงกอลปัจจุบัน ในคัมภีร์มนุศาสตร์ กล่าวว่า พวกลิจฉวี และมัลละ ก็สืบเชื้อสายมาจากชนเผ่านี้ บางท่านว่า ชนเผ่าทิเบต พม่า และมอญ - เขมร ก็สืบมาจากชนเผ่านี้ พวกนี้นำเอาลัทธิบูชาแบบบาปิโลนติดมาด้วย

ร่องรอยของลัทธิตันตระปรากฎอยู่ทั่วไปตามเส้นทางแถบพรมแดนที่ชนพวกนี้อพยพมา คือจากอาฟกานิสถาน และแคชเมียร์เรื่อยมา ตามเส้นพรมแดนตะวันออกเฉียงเหนือของแคว้นอุตร ประเทศจนถึงแคว้นเบงกอล และอัสลัมตะวันออก พวกอารยันในสมัยโบราณเรียกดินแดนเหล่านี้ว่า ดินแดนของพวกอนารยันไม่นับถือศาสนาพราหมณ์ แต่นับถือผีสางตามแบบตน

ต่อมาเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 16 ชาวฮินดูพวกหนึ่งได้ปรับปรุงความเชื่อถือ ศาสนาเดิมของตน ให้ผิดแปลกออกไปจากเดิม โดยนำเอาลัทธิของพวกอนารยัน ในบริเวณดังกล่าวนี้มาผสม และได้ตัดความเชื่อถือเดิมบางประการทิ้งไปเสีย เช่น เลิกพิธีบูชาแบบของพราหมณ์ ถือตามลัทธิบูชาของคนพื้นเมืองนี้ คือฆ่าสัตว์บูชายัญ นำโลหิตสัตว์ที่ฆ่าไปบูชาเทพเจ้าในเทวาลัย เลิกใช้ภาษาสันสกฤต ใช้ภาษาพื้นเมืองเป็นภาษาสวดมนต์ในพิธีแทนมีพิธีแห่เทวรูป และแสดงลัทธิอย่างแสดงละคร ในเทวาลัยก็จัดให้มีหญิงแพศยาไว้ประจำ เรียกว่า เทพทาสี พิธีที่ประกอบในเทวาลัยนั้น ยิ่งหยาบช้า ลามกได้เท่าไหร่ก็ถือว่าเป็นที่พอใจของมหาเทพ และมหาเทพีเท่านั้น

หลักปฎิบัติที่ขาดไม่ได้ของพวกตันตระคือ ดื่มน้ำเมา กับเนื้อสัตว์ พร่ำมนต์ให้เกิดความกำหนัด ทำท่ายั่วยวนและเสพเมถุน หลักปฏิบัติดังกล่าวนี้กระทำกันในที่มืดหรือกลางคืน จึงเรียกว่า กาลจักร

พุทธมหายานในบริเวณนั้นค่อย ๆ รับเอาความเชื่อในเรื่องตันตระเข้ามาผสมกับความเชื่อเดิมมากขึ้น ตามลำดับ จนเกิดพุทธตันตระขึ้น พวกมหายานด้วยกันถือว่าพวกนี้เป็นพวกสัทธรรมปฏิรูป คือ พวกนอกรีดนอกรอย เป็นพวกฝ่ายซ้ายและกล่าวคัดค้านโต้แย้ง แต่พวกนี้กล่าวว่าหลักธรรมแบบนี้สามัญชนรู้ไม่ได้ พระไวโรจนพุทธเจ้าเทศนาไว้ในวัชรธรรมธาตุมณเฑียร ต่อมานาคารชุนได้ไปเปิดกรุพระะธรรมลึกลับนี้ ออกมาเปิดเผย แต่เปิดเผยเฉพาะบางคนเท่านั้น เพราะหลักธรรมนี้ลี้ลับจึงเรียกลัทธินี้ว่า คุยหยาน

ชื่อของพุทธตันตระมีอีกสองชื่อตามลักษณะของหลักปรัชญา และพิธีกรรม เพราะเหตุที่ลัทธินี้มีหลักปรัชญาที่สูงเหนือธรรมชาติมีความแข็งเหมือนเพชร ใสเหมือนอากาศ ไม่มีอะไรต้านทานได้เหมือนสายฟ้าจึงเรียกลัทธิว่า วัชรยาน และเพราะเหตุที่ลัทธินี้ถือการสวดมนต์คาถาถือเอาการบูชา และเลขยันต์เป็นพิธีกรรมที่ขลังและศักดิ์สิทธิ์จึงให้ชื่อว่า มนตรยาน

เมื่อพุทธตันตระยาน แพร่หลายออกไป ปรากฏว่าได้รับพระบรมราชูปถัมภ์ จากกษัตริย์ราชวงศ์ปาละเป็นอย่างดี ทำให้คำสอนของลัทธิพุทธตันตระพัฒนา และรวมตัวขึ้นเป็นพุทธศาสนาตามแบบทางการในยุคนั้น ซึ่งมีหลักคำสอนผสมกันระหว่าง ปรัชญาปารมิตา ของมาธยมิกะกับตันตระของฮินดู สถาบันศึกษาหลายแห่งได้เปิดสอนลัทธินี้กันอย่างแพร่หลาย เช่นที่นาลันทา โอทันตปุรี วิกรมศิลา ชัคคทละ และโสมรูปะ

ต่อมาภิกษุที่สำเร็จการศึกษาจากนาลันทาและสำนักศึกษาพุทธตันตระอื่นๆ ก็เผยแพร่ลัทธิออกไปนอกประเทศ เช่น คุรุปัทมสมภพ จากนาลันทา เข้าไปเผยแพร่ในทิเบต จนเกิดเป็นลัทธิลามะขึ้น ศุภกรสิงห์ ได้ไปเผยแพร่ถึงประเทศจีน ในแผ่นดินพระเจ้าถังเอี้ยงจง และได้แปลคัมภีร์มหาไวโรจนสูตร ออกสู่ภาษาจีนด้วย และได้ถ่ายทอดความรู้นี้ให้แก่ อิกเห็ง ซึ่งเดิมเป็นสานุศิษย์สำนักนิกายเซน ต่อมาได้เป็นคณาจารย์ใหญ่ในจีนได้แต่งอรรถกถาขยายความ ไวโรจนสูตรถึง 20 ผูกซึ่งถือเป็นคัมภีร์สำคัญของลัทธินี้

คณะสงฆ์ญี่ปุ่นเริ่มสนใจ โกโบะไดชิ ได้เดินทางมายังประเทศจีน และนำลัทธิมนตรยานกลับไปเผยแพร่ในญี่ปุ่น เรียกว่า ชินกุงอน เป็นนิกายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น และได้รับพระบรมราชูปถัมภ์จากพระเจ้าจักรพรรดิ์ญี่ปุ่นด้วย ในประเทศไทย มนตรยาน หรือรัชรยานได้แพร่เข้ามาในสมัยสุโขทัย - เชียงแสน สองระยะคือ ราว พ.ศ.1300 - 1900 และราว พ.ศ.1700 - 1800 จึงมีการนับถือพระพุทธรูปในฐานะของขลัง

ตันตระ เป็นชื่อคัมภีร์ของตันตระยาน หรือลัทธิตันตระ ทั้งที่เป็นฮินดูตันตระและพุทธตันตระมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ที่มีรายชื่อปรากฏมีอยู่เพียง 64 คัมภีร์

พวกฮินดูตันตระเชื่อว่าคัมภีร์ทางศาสนาของอินเดียนั้นมีสี่ชนิด ซึ่งพระศิวะให้แก่มนุษย์เพื่อให้เหมาะสมกับยุคสมัย คือ คัมภีร์พระเวทสำหรับสัตยยุค คัมภีร์สัมฤติ สำหรับไตรคายุค คัมภีร์ปุราณะสำหรับทวาปรยุค และคัมภีร์อาคมหรือคัมภีร์ตันตระสำหรับกลียุค

คัมภีร์ตันตระเท่าที่มีอยู่เกือบทั้งหมดแต่งขึ้นทีหลัง คือเล่มที่เก่าแก่ที่สุด แต่งขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 12 หรือ 13 เล่มที่สำคัญ เช่น คุยหสมาส ของพุทธตันตรยาน แต่งขึ้นราว พ.ศ.1193 คัมภีร์บัญชูศรีมูลกัลปะ แต่งราว พ.ศ.1293

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย