ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

ฌาน

โดยรูปคำแปลว่าเผา คือเผาธรรมอันเป็นข้าศึก มีนิวรณ์เป็นต้น และแปลว่าเพ่งหรือคิด คือเพ่งคิดอารมณ์คือ กสิณ และเพ่งลักษณะสภาวธรรม มีอนิจลักษณะเป็นต้น

เมื่อว่าโดยปริยาย ฌานคือธรรมเป็นเครื่องสลัดทิ้ง (ออก) จากกามทั้งหลาย เรียกเป็นเฉพาะว่า "เนกขัมฌาน" เมื่อว่าโดยองค์ธรรมที่เป็นตัวฌานได้แก่ วิตก วิจาร ปิติ สุข เอกัคตา ที่ประกอบกับจิตให้มีกำลังมากกว่าปรกติจิต จนสามารถละกาม และอกุศลกรรมทั้งหลายอันเป็นปฏิปักษ์โดยเด็ดขาดได้ เรียกเป็นเฉพาะว่าองค์ประกอบของฌาน

ฌานจัดโดยประเภทที่เพ่งอารมณ์เป็นสองอย่างคือ รูปฌาน และอรูปฌา

รูปฌาน  แบ่งออกเป็นสี่ชั้นบ้าง ห้าชั้นบ้าง เรียกชื่อตามลำดับที่หยาบ และประณีตขึ้นกว่ากัน โดยลำดับคือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน

ปฐมฌาน  มีองค์ประกอบห้าคือ มีตรึกซึ่งเรียกว่า วิตก มีตรองซึ่งเรียกว่า วิจารณ์ เหมือนอารมณ์จิตคนสามัญ แต่ไม่ประกอบด้วย กิเลสกาม และอกุศลธรรม มีปิติคือ ความอิ่มใจและสุขคือ ความสบายใจอันเกิดแต่วิเวกคือ ความเงียบกับประกอบด้วยอารมณ์เป็นหนึ่งลงไปซึ่งเรียกว่า เอกัคตา
ทุติยฌาน  มีองค์สาม ละวิตก วิจารณ์เสียได้ คงอยู่แต่ปิติ และสุขอันเกิดแต่สมาธิกับเอกัคตา
ตติยฌาน  มีองค์สอง ละปิติเสียได้ คงเหลือแต่สุขกับเอกัคตา
จตุตถฌาน  มีองค์สอง ละสุขเสียได้กลายเป็นอุเบกขาคือ เฉย ๆ กับเอกัคตา

ฌานสี่นี้จัดเป็นรูปฌาน เป็นรูปสมาบัติ มีรูปธรรมเป็นอารมณ์สงเคราะห์เข้าในรูปาวจรภูมิ

อรูปฌาน ก็จัดเป็นสี่ชั้นเหมือนกัน โดยประเภทอารมณ์สี่เรียกว่า อรูปสี่คือ

อรูปฌานที่หนึ่ง  อากาสาปัญจายตนะฌาน ยึดหน่วงเอาอากาศนิมิตอันหาที่สุดฝ่ายข้างเกิดและข้างดับมิได้ เป็นอารมณ์ เป็นบ่อเกิด
อรูปฌานที่สอง  วิญญานัญจายตนฌาน ยึดหน่วงเอาจิตที่นึกเอาอากาศตั้งอยู่ในอากาศอันหาที่สุดฝ่ายข้างเกิด และฝ่ายข้างดับมิได้ เป็๋นอารมณ์ เป็นบ่อเกิด
อรูปฌานที่สาม  อากิญจัญญายตนะฌาน ยึดหน่วงเอาความที่ไม่มีของจิตที่ตั้งอยู่ในอากาศเป็นอารมณ์ เป็นบ่อเกิด
อรูปฌานที่สี่  เนวสัญญาสัญญายตนฌาน ยึดหน่วงเอาอรูปฌานที่สามอันสัญญา เวทนาและสัมปยุตธรรมทั้งสิ้นละเอียดประณีตนัก มีอยู่เหมือนอย่างไม่มี เป็นอารมณ์ เป็นบ่อเกิด

อีกนัยหนึ่ง อรูปฌานสี่เป็นชื่อแห่งภพ คือผู้ที่ได้อรูปฌานนั้นล้วนเป็นโลกียะ จุติจากอัตภาพนั้นแล้วไปเกิดในพรหมภพ มีประเภทเป็นสี่ มีชื่อเหมือนอย่างนั้น ตามกำลังฌานของตน อรูปฌานทั้งสี่นี้มีองค์สมบัติ หรือองค์ประกอบสองคือ อุเบกขา และเอกัคตา เป็นอรูปสมาบัติ มีอรูปธรรมเป็นอารมณ์ สงเคราะห์เข้าในอรูปาวจรภูมิทั้งสี่ชั้นเหมือนกันหมด

ฌานเกิดจากการเจริญสมถกรรมฐาน 30 ในกรมฐาน 40 ถึงขั้นอัปปนาภาวนา  กรรมฐาน 30 นั้นคือ กสิณ 10  อสุภ 10  อาณาปานสติ 1  กายคตาสติ 1  พรหมวิหาร 4  อรูป 4

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย