ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
พระยาเจ่ง
เป็นเจ้าเมืองเตริน (อัตวัน) เกิดในเมืองมอญ ทำราชการอยู่กับพม่า ได้เคยคุมกองมอญสมทบพม่า เข้ามาเมืองไทยครั้งหนึ่ง เมื่อพม่าตีเมืองหลวงพระบาง ในปี พ.ศ.2315 ในครั้งนั้นพม่าได้พระยาเจ่ง รักษาเมืองเชียงแสน ได้เจ้าชาวเมืองเชียงแสนเป็นภริยา เกิดบุตรเป็นต้นตระกูลคชเสนีสายเหนือ เสร็จศึกครั้งนั้นแล้ว พม่าให้เป็นเจ้าเมืองเตริน
หลังกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ.2310 ไม่นาน พระยาตาก ก็สามารถกอบกู้เอกราชได้ พระเจ้ามังระ กษัตริย์พม่าจึงให้ แพกิจจา คุมกำลังและถือหนังสือรับสั่งลงมาถึงปะกันหวุ่น เจ้าเมืองเมาะตะมะ ตำแหน่งเทศาภิบาลมณฑลหัวเมืองมอญฝ่ายใต้ เป็นแม่ทัพยกมาทางด่านเจดีย์สามองค์ ปะกันหวุ่นให้เกณฑ์พลรามัญเมืองเมาตะมะ เข้ากองทัพแล้วให้เกณฑ์พระยาเจ่ง เจ้าเมืองเตริน และเพื่อนอีกหลายคน เป็นกองหน้า พระยาเจ่งและพวกชวนกันคิดขบถ ฆ่าแพกิจจาและไพร่พลพม่าเสียสิ้นที่ท่าดินแดง แล้วยกทัพกลับไปเมืองเมาะตะมะ บรรดารามัญไพร่นายก็มาเข้ากับพระยาเจ่ง เป็นอันมาก แล้วเข้าปล้นเมืองเมาะตะมะได้
พระยาเจ่ง และพรรคพวก เห็นที่จะชิงเอาเมืองมอญทั้งปวงได้ จึงยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองสะโตง เมืองหงสาวดี แล้วยกเข้าตีเมืองย่างกุ้ง แต่ตีหักไปได้ครึ่งเดียว พระเจ้าอังวะก็ให้อะแซหวุ่นกี้ ยกทัพมารบมอญ กองทัพมอญสู้ไม่ได้ก็ถอยกลับมาเมืองเมาะตะมะ อะแซหวุ่นกี้ก็ยกทัพติดตามมา พวกมอญเห็นเหลือกำลัง จึงกวาดต้อนครัวมอญหนีมาพึ่งไทย มีจำนวนประมาณ 10,000 คน โดยเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์บ้าง เมืองตากบ้าง และได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ปากเกร็ด แขวงเมืองนนท์ ขึ้นไปจนถึงเมืองสามโคก จึงทรงตั้งพระยาบำเรอภักดิ์ครั้งกรุงเก่าซึ่งเป็นเชื้อมอญให้เป็นพระยารามัญวงศ์ มียศเสมอจตุสดมภ์ เรียกกันว่า จักรีมอญ เป็นหัวหน้าควบคุมกองมอญทั่วไป ส่วนพระยาเจ่ง เข้าใจว่าได้เป็นพระยามหาโยธา ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ จึงได้เป็นเจ้าพระยามหาโยธา ฯ ที่จักรีมอญแทนพระยารามัญวงศ์
ตั้งแต่พวกมอญเข้าสวามิภักดิ์ครั้งนั้นแล้ว ต่อมาเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จไปทำสงครามกับพม่าครั้งใด ก็ปรากฏว่ามีทหารกองมอญพระยารามัญวงศ์ ควบคุมเข้าขบวนทัพไปด้วยทุกครั้ง ในคราวที่พระเจ้าปดุงยกทัพเก้าทัพมาตีเมืองไทย เมื่อปี พ.ศ.2328 ฝ่ายไทยยกไปตั้งรับที่ทุ่งลาดหญ้า (เชิงเขาบรรทัด) เมืองกาญจนบุรี กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงจัดให้พระยามหาโยธา (เจ่ง) คุมกองมอญจำนวน 3,000 ยกไปขัดตาทัพอยู่ที่ด่านกรามช้าง อันเป็นช่องเขาริมลำน้ำแควใหญ่ ในทางที่ข้าศึกจะยกมา กองมอญมีจำนวนน้อยกว่าต้องล่าถอย
นับแต่พระยาเจ่งได้เข้ามาสวามิภักดิ์ต่อไทยแล้วก็ได้รับราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตตลอดมา และได้เข้าร่วมในราชการสงครามหลายครั้งหลายหน ในปี พ.ศ.2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ได้พระราชทานนามสกุลแก่ผู้สืบสกุลตรงลงมาจากเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ว่าคชเสนี
>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>