ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
จาม
เป็นชนชาติหนึ่งที่เคยเจริญรุ่งเรืองมานาน แต่บัดนี้ได้สูญสิ้นประเทศของตนไปหมด คงมีอยู่กระจัดกระจายตามแถบภูเขา ลุ่มแม่น้ำโขง มีจำนวนไม่มากนัก
ถิ่นกำเนิดของจามไม่ทราบชัดว่ามาจากไหน แต่เมื่อดูจากภาษาพูดก็ทำให้สันนิษฐานได้ว่า คงเป็นพวกมลายูหรืออินโดนีเซีย แต่ก็มีคำในเครือญาติใช้ร่วมกับคำไทยอยู่มากคำ
พวกจามเดิมนับถือศาสนาพุทธ ฝ่ายมหายาน และศาสนาพราหมณ์ ที่ถือพระศิวะเป็นใหญ่ ภายหลังมีพวกมลายูข้ามทะเลมาเผยแพร่ศานาอิสลามในจัมปา พวกจามโดยมากจึงเข้ารีตนับถืออิสลาม แต่ก็คงมีฮินดูปะปนอยู่ในจารีตประเพณีต่าง ๆ อยู่มาก
อาณาจักรของพวกจามที่เรียกจัมปานั้น ได้เริ่มมีขึ้นเมื่อประมาณตอนต้นหรือตอนกลางพุทธศตวรรษที่ 8 ตอนแรกดูเหมือนที่เริ่มต้นที่เมืองกวางนามใต้ เมืองเว้ลงไปไม่มากนัก ต่อมาได้ขยายเขตลงมาทางใต้เป็นระยะทางกว่า 320 กม. จนถึงอ่าวคัมราห์น และขยายไปทางตะวันตก พ้นเทือกเขาอันนัมเข้าไปยังลุ่มแม่น้ำโขงอันได้แก่ กัมพูชา และภาคใต้ของลาวในปัจจุบัน
เรื่องราวของพวกจาม มีปรากฏเป็นครั้งแรกในบันทึกความทรงจำของผู้สำเร็จราชการจีน ที่มาปกครองมณฑลต่าง ๆ ที่มีชาวเวียดนามอาศัยอยู่ เมื่อปี พ.ศ.823 ว่า พวกจามได้โจมตีเขตแดนที่อยู่ในความยึดครองของจีนเนือง ๆ เพราะได้รับการสนับสนุนจากอาณาจักรฟูนัน ซึ่งอยู่ทางทิศใต้และตะวันตกของอาณาจักรจัมปา พวกจามมักยกกองทัพไปตีบ้านเมืองชายราชอาณาจักรของจีนอยู่เสมอ ในปลายพุทธศตวรรษที่ 12 สมัยราชวงศ์ถังสามารถยับยั้งการรุกรานของพวกจามได้ชั่วคราว จนถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 15
ต้นพุทธศตวรรษที่ 14 อาณาจักรจัมปาถูกพวกชวาโจมตีอย่างหนัก ในปี พ.ศ.1317 พวกชวาได้ทำลายเทวาลัยโพนนครอันเก่าแก่อยู่ในเมืองนาตรังปัจจุบัน ต่อมาในรัชสมัยพระเจ้าชัยสิงหวรมันที่ 1 (พ.ศ.1441 - 1446) ได้มีสัมพันธไมตรีกับชวาอย่างใกล้ชิด ทำให้ชวามีอิทธิพลเหนือศิลปะของจามในสมัยพุทธศตวรรษที่ 15 เป็นอย่างมาก
พ.ศ.1450 ราชวงศ์ถังสิ้นอำนาจ อานันได้ตั้งอาณาจักรไดโคเวียด (อานัมและตังเกี๋ย) ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1482 ต่อมาได้ยกกองทัพมาย่ำยีจัมปา ทำลายเมืองอินทรปุระ และปลงพระชนม์พระเจ้าปรเมศวรวรมัน พระเจ้าอินทรวรมันที่ 4 ขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ.2525 ได้ลี้ภัยไปอยู่ทางใต้ และขอให้จีนช่วยแต่ไม่เป็นผล เมื่อพระเจ้าอินทรวรมันที่ 4 สิ้นพระชนมม์ เมื่อปี พ.ศ.1532 ชาวอานัมชื่อเหลียวกีกอง ซึ่งยึดอำนาจได้ก็ตั้งตนเป็นกษัตริย์จัมปา และขอให้จีนรับรองฐานะของตน
ในปี พ.ศ.1531 พวกจามได้ต่อสู้เพื่ออิสรภาพโดยมีชาวพื้นเมืองคนหนึ่ง ต่อมาตั้งตัวเป็นกษัตริย์ที่เมืองวิชัย (บินห์ดินห์) ทำการได้สำเร็จใช้พระนามว่า พระเจ้าหริวรมันที่ 2 ผู้ตั้งราชวงศ์ที่ 7 พระองค์ขอให้จีนรับรองฐานะของพระองค์ เป็นผลสำเร็จ แล้วยกทัพไปโจมตีอานัมหลายครั้งด้วยกัน ในที่สุดอาณาจักรทางเหนือของจามก็อวสานลง พวกอานัมได้โจมตีมณฑลต่าง ๆ จน จามต้องทิ้งเมืองอินทรปุระมาอยู่ที่เมืองวิชัย
ในพุทธศตวรรษที่ 16 จามต้องสูญเสียแคว้นต่าง ๆ ทางเหนือให้แก่อานัม ในปี พ.ศ.1573 ได้ทำสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 แห่งกัมพูชา
ในรัชสมัยพระเจ้าวรมันที่ 3 มีจารึกจำปานคร ปรากฎใช้ภาษาไทยลงศักราชเทียบเท่า พ.ศ.1598 พระเจ้าหริวรมันที่ 4 ได้ตั้งราชวงศ์ที่ 9 ทรงสามารถบูรณะปฎิสังขรณ์บ้านเมืองที่ถูกทำลายไป ทำให้จัมปากลับเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาอีกอย่างรวดเร็ว ได้ขับไล่อานัมออกไปและบุกรุกกัมพูชา เข้าไปจนถึงเมืองซำบอร์ ริมฝั่งแม่น้ำโขง และได้ทำลายปูชนียวัตถุ ทางศาสนาลงหมดสิ้น
พ.ศ.1688 พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 แห่งกัมพูชา ได้ยกทัพไปรุกรานจัมปา ยึดเมืองวิชัยซึ่งเป็นเมืองหลวงได้ ก็ตั้งตัวเป็นใหญ่เหนืออาณาจักรจัมปา พระเจ้าชัยหริวรมันที่ 1 ได้ขับไล่เขมรออกไป แล้วยกทัพไปโจมตีเขมร ในปี พ.ศ.1792 ยึดเมืองวิชัยคืน
พ.ศ.1720 พระเจ้าชัยอินทรวรมันที่ 4 ยกทัพเรือทางทะเลไปยังดินแดนปากแม่น้ำโขง แล้วแล่นเรือไปตามแม่น้ำโขง เข้ายึดนครธมโดยเขมรไม่ทันรู้ตัว พ.ศ.1733 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สร้างนครธมขึ้นใหม่ แล้วยกทัพไปตีอาณาจักรจัมปาได้
การที่พวกมองโกลมีชัยชนะในประเทศจีน ทำให้สงครามระหว่างอานัมกับจัมปา ยุติลงอีก 5 ปี ต่อมาคือ ปี พ.ศ.1800 กองทัพมองโกล เข้าตีเมืองฮานอยแต่ไม่สำเร็จ ในปี พ.ศ.1824 กุบไบข่าน ส่งขุนพลผู้หนึ่งมาปกครองจัมปา แต่ก็พบอุปสรรค และการต่อต้านมากมาย และในที่สุดก็ถูกฆ่าตาย
ปี พ.ศ.1855 อานัมยกกองทัพมาตีจัมปา ปลดพระเจ้าชัยสิงหวรมันที่ 4 และจับไปเป็นเชลย และตั้งอนุชาของพระองค์นาม เชนัง เป็นกษัตริย์แทน ตอนนี้จัมปากลายเป็นแคว้นหนึ่งของอานัม ผู้ปกครองจัมปาถูกลดฐานะลงเป็นเจ้าประเทศราชชั้นสอง เชนังพยายามต่อสู้ในปี พ.ศ.1861 แต่พ่ายแพ้ยับเยินต้องหนีไปอยู่ที่ชวา อันเมืองเมืองเกิดของพระราชมารดาของพระองค์
ในปี พ.ศ.1914 จัมปาตีและทำลายเมืองฮานอยได้ แต่จีนโดยปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หมิง สั่งให้จัมปายุติสงคราม กษัตริย์จัมปาจึงหันไปปราบปรามพวกสลัดในทะเลหลวง และสิ้นพระชนม์ในการรบทางทะเล เมื่อปี พ.ศ.1933
ในปี พ.ศ.2014 อานัมก็พิชิตจัมปาได้อย่างเด็ดขาด สงครามครั้งนี้ ชามจัมปาถูกฆ่าตายไม่น้อยกว่า 60,000 คน พวกอานัมจับพวกราชตระกูล และเชลยศึกอีกประมาณ 30,000 คน กลับไปอานัม อานัมได้ผนวกจัมปาทั้งหมด แต่ทางตอนใต้บางส่วน พวกจามก็ยังคงมีแว่นแคว้นของตน อยู่ต่อมาอีกหลายร้อยปี จีนรับรองกษัตริย์จาม จนถึงปี พ.ศ.1986 ราชสำนักจามคงมีอยู่ในภูมิภาคนี้จนถึงปี พ.ศ.2261 ซึ่งเป็นปีที่กษัตริย์องค์สุดท้ายของชาวจาม ได้อพยพพลเมืองเกือบทั้งหมด หนีความกดขี่ของอานัมเข้าไปในดินแดนกัมพูชา
ลำดับกษัตริย์จาม
ราชวงศ์ที่ 1 (พ.ศ.735 - 879) มี 5 องค์
ราชวงศ์ที่ 2 (พ.ศ.879 - 963) มี 6 องค์
ราชวงศ์ที่ 3 (พ.ศ.963 - 1072) มี 9 องค์
ราชวงศ์ที่ 4 (พ.ศ.1072 - 1300) มี 9 องค์
ราชวงศ์ที่ 5 (พ.ศ.1301 - 1402) มี 5 องค์
ราชวงศ์ที่ 6 (พ.ศ.1418 - 1534) มี 9 องค์
ราชวงศ์ที่ 7 (พ.ศ.1534 - 1587) มี 6 องค์
ราชวงศ์ที่ 8 (พ.ศ.1587 - 1617) มี 3 องค์
ราชวงศ์ที่ 9 (พ.ศ.1617 - 1682) มี 5 องค์
ราชวงศ์ที่ 10 (พ.ศ.1682 - 1688) มี 1 องค์
ราชวงศ์ที่ 11 (พ.ศ.1688 - 1861) มี 11 องค์
ราชวงศ์ที่ 12 (พ.ศ.1861 - 1933) มี 3 องค์
ราชวงศ์ที่ 13 (พ.ศ.1933 - 2001) มี 5 องค์
ราชวงศ์ที่ 14 (พ.ศ.2001 - 2014) มี 2 องค์
>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>