ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
จรดพระนังคัล
เป็นชื่อเรียกพระราชพิธีแรกนา ซึ่งมีมาแต่โบราณ ในชั้นเดิมทำแต่พิธีแรกนาเรียกว่า พระราชพิธีจรดพระนังคัลเป็นพิธีพราหมณ์ ต่อมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้ทรงเพิ่มพระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ขึ้นอีก งานพระราชพิธีนี้จึงเป็นสองงานซ้อนกันอยู่
พระราชพิธีจรดพระนังคัล นัยว่ามีมาแต่สมัยกรุงสุโขทัย และสมัยกรุงศรีอยุธยา กระทำในเดือนหก มีเรื่องต่าง ๆ ที่ควรกล่าวคือ
1. กำหนดวันพิธีแรกนา เหมาะสมกับสมัยเริ่มฤดูทำนาของประเทศนี้ และถือกันมาเป็นประเพณีว่า ชาวนาจะยังไม่ลงมือในนาปีนี้ จนกว่าจะล่วงพ้นพระราชพิธีแรกนาไปแล้ว
2. ผู้กระทำพิธีแรกนา โดยปกติเป็น7/ที่เสนาบดีกรมนา ที่เกษตราธิบดีคือ เจ้าพระยาพลเทพ แต่ก็มียกเว้นบ้างในบางสมัย โดยโปรด ฯ ให้ผู้อื่นเป็นผู้แรกนา
3. สถานที่แรกนา เท่าที่ปรากฎในราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2418 - 2435 ทำที่ทุ่งส้มป่อยคือ บริเวณที่เป็นสนามราชตฤณมัย (สนามม้านางเลิ้ง) หลังจากนั้นก็ย้ายไปทำที่อื่นบ้าง เช่น ศาลายิงเป้าสระปทุมวัน ทุ่งพญาไท ทุ่งศาลาแดง และท้องสนามหลวง
4. การเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรแรกนา แต่เดิมมาเป็นการสุดแต่พระราชอัธยาศัย ต่อมาในรัชกาลที่ 6 และที่ 7 ได้เสด็จทอดพระเนตรเสมอ เว้นบางปีที่ไม่ได้เสด็จอยู่ในพระนครเท่านั้น ในรัชกาลที่ 9 ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรทุกปี ส่วนพระราชพิธีพืชมงคล ปรากฎว่ารัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินเสมอ ปีใดไม่เสด็จก็โปรด ฯ ให้พระเจ้าลูกเธอ เสด็จแทนพระองค์ ในรัชกาลที่ 6 ที่ 7 และที่ 9 ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินเสมอ เว้นแต่มิได้เสด็จอยู่ในพระนคร
5. สถานที่ประกอบพระราชพิธีพืชมงคล ในรัชกาลที่ 4 โปรดให้ปลูกพลับพลาขึ้นที่ท้องสนามหลวง และสร้างหอพระเป็นที่ไว้พระคันธารราษฎร์ สำหรับการพระราชพิธีพืชมงคลอย่างหนึ่ง พิรุณศาสตร์อย่างหนึ่ง ได้ทำพิธีพืชมงคลที่พลับพลาท้องสนามหลวง จนถึงปี พ.ศ.2441 จึงไปทำที่อื่น
งานพระราชพิธีพืชมงคล และจรดพระนังคัล ได้กระทำเต็มรูปแบบเป็นครั้งสุดท้าย ในปี พ.ศ.2479 การฟื้นฟูพระราชพิธีจรดพระนังคัล เมื่อปี พ.ศ.2502 ได้เริ่มกระทำเป็นงานประจำปี เมื่อปี พ.ศ.2503 เป็นต้นมา โดยทำต่อเนื่องเป็นงานเดียวกับพระราชพิธีพืชมงคล เช่นที่เคยทำมาแต่กาลก่อน
>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>