ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>

ปรัชญาอินเดีย

ความหมายของปรัชญาอินเดีย

  มีผู้เข้าใจว่า  “ปรัชญาอินเดีย”  หมายถึงปรัชญาฮินดู  ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนหรือไม่ตรงกับความเป็นจริง  ความหมายที่ถูกต้องของคำว่า  “ปรัชญาอินเดีย”  ก็คือ  หมายถึงปรัชญาทุกสำนักหรือทุกระบบที่เกิดขึ้นในอินเดีย  หรือที่คิดสร้างสรรค์ขึ้นไว้โดยศาสดาและนักคิดที่เคยมีชีวิตอยู่หรือกำลังมีชีวิตอยู่ในอินเดีย  เพราะฉะนั้น  ปรัชญาอินเดียจึงไม่ได้หมายถึงเฉพาะแต่ปรัชญาฮินดู  แต่หมายรวมถึงปรัชญาอื่นที่ไม่ใช่ปรัชญาฮินดูด้วย  เช่น  พุทธปรัชญา  ปรัชญาเชน  เป็นต้น

ความแตกต่างระหว่างปรัชญาอินเดียกับปรัชญาตะวันตก

  ปรัชญาอินเดียมุ่งแสวงหาความจริงเกี่ยวกับโลกและชีวิตเช่นเดียวกับปรัชญาตะวันตกแต่มีข้อแตกต่างที่สำคัญคือ  ปรัชญาตะวันตกมุ่งแสวงหาความจริงหรือข้อเท็จจริงเพียงอย่างเดียวโดยไม่พยายามที่จะปฏิบัติตนเพื่อให้เข้าถึงความจริงที่ได้แสวงหาพบแล้ว  เพราะฉะนั้นนักปรัชญาตะวันตกจึงอาจดำเนินชีวิตไปในทางที่ตรงกันข้ามกับแนวความคิดทางปรัชญาของตนก็ได้  อีกอย่างหนึ่ง  ปรัชญาตะวันตกส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวกับศาสนาหรือออกเป็นคนละส่วนกับศาสนา  แต่ปรัชญาอินเดียไม่สามารถแยกออกจากศาสนาได้เด็ดขาด  ทั้งนี้เพราะนักปรัชญาหรือนักคิดชาวอินเดียนั้น  เมื่อแสวงหาความจริงจนพบแล้ว  ก็พยายามที่จะปฏิบัติตนตามวิธีการที่กำหนดขึ้นไว้  เพื่อเข้าถึงความจริงนั้นๆ  ฉะนั้น  ปรัชญาอินเดียทุกระบบจึงเป็นปรัชญาชีวิต  เพราะแนวความคิดทางปรัชญาที่ค้นคิดขึ้นได้นั้น  ได้นำมาใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวันด้วย  โดยลักษณะดังกล่าวนี้ปรัชญากับศาสนาของอินเดียมักไปด้วยกันเสมอ

วิธีการแห่งปรัชญาอินเดีย

  ปรัชญาอินเดียมีวิธีการเป็นแบบฉบับของตนเอง  คือก่อนที่จะเสนอแนวความคิดของตนเองขึ้นมานักปรัชญาหรือนักคิดอินเดียจะเสนอแนวความคิดของนักปรัชญาคนอื่นหรือระบบอื่นเสียก่อน  แนวความคิดของนักปรัชญาคนอื่นหรือระบบอื่นที่เสนอก่อนนี้เรียกว่า  ปูรวปักษ์  เมื่อเสนอแนวความคิดของคนอื่นขึ้นมาแล้ว  ต่อจากนั้น  นักปรัชญาคนนั้นก็จะวิพากษ์วิจารณ์โจมตีว่า  แนวความคิดเช่นนั้นมีจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องอย่างไร  มีความหมายสมควรแก่การยอมรับเชื่อถือหรือไม่  การวิพากษ์วิจารณ์โจมตีนี้  เรียกว่า  ขัณฑนะ  เมื่อได้ยกทรรศนะของคนอื่นขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์โจมตีชี้ให้เห็นข้อบกพร่องแล้วนักปรัชญาคนนั้นจึงเสนอแนวความคิดทางปรัชญาของตน  พร้อมกับพยายามอธิบายให้เห็นว่า  ทรรศนะของตนนั้นปราศจากข้อบกพร่องและเป็นทรรศนะที่ถูกต้องอย่างไรบ้าง  ทรรศนะของตนเองที่เสนอขึ้นมาทีหลังนี้เรียกว่า  อุตตรปักษ์

  ด้วยเหตุที่วิธีการแห่งปรัชญาอินเดียมีลักษณะดังกล่าวมานี้  จึงปรากฏว่าในบันทึกแนวความคิดทางปรัชญาระบบต่างๆของอินเดีย  นอกจากจะมีแนวความคิดของตนเองโดยเฉพาะแล้ว  ยังมีคำวิพากษ์วิจารณ์โจมตีแนวความคิดของระบบอื่นๆ  ปรากฏรวมอยู่ด้วยเสมอ

ระบบต่างๆแห่งปรัชญาอินเดีย

  ตามวิธีที่ปฏิบัติกันมาในการจัดแบ่งระบบต่างๆของปรัชญาอินเดียนั้น  ถือเอาลักษณะกว้างๆโดยอาศัยความขัดแย้งกันเป็นสำคัญ  โดยวิธีดังกล่าวนี้  ปรัชญาอินเดียจึงแบ่งออกเป็นระบบหรือสายใหญ่ๆ  2  สาย  คือ  สายที่เรียกว่า  อาสติกะ  (Orthodox)  สายหนึ่ง  และที่เรียกว่า  นาสติกะ  (Heterodox)  สายหนึ่ง  สายอาสติกะมีระบบปรัชญาที่สำคัญที่เรียกว่าระบบทั้งหกแห่งปรัชญาอินเดียได้แก่  นยายะ  ไวเศษิกะ  สางขยะ  โยคะ  มีมามสา  เวทานตะ  การที่ปรัชญาทั้งหกระบบนี้ได้ชื่อว่าสายอาสติกะนั้น  มิใช่เพราะว่าระบบทั้งหกนี้มีความเชื่อถือในความมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้าสูงสุด  แต่เพราะระบบเหล่านี้ยอมรับนับถือความขลัง  ความถูกต้องสมบูรณ์และความศักดิ์สิทธิ์ของพระเวท

  สายนาสติกะมีระบบปรัชญาที่สำคัญอยู่  3  ระบบ  คือ  ปรัชญาจารวาก  พุทธปรัชญา  และปรัชญาแห่งศาสนาเชน

  ปรัชญาอินเดียทุกระบบล้วนแต่ได้รับอิทธิพลจากคัมภีร์พระเวททั้งสิ้น  จะต่างกันก็แต่ว่าได้รับอิทธิพลจากพระเวทโดยตรงหรือโดยอ้อมเท่านั้น  ปรัชญาระบบต่างๆที่เชื่อถือในความขลังและความศักดิ์สิทธิ์ของพระเวทได้ชื่อว่า  ได้รับอิทธิพลของพระเวทโดยตรง  ส่วนปรัชญาที่คัดค้านหรือไม่ยอมเชื่อในความขลังและความศักดิ์สิทธิ์ของพระเวทได้ชื่อว่า  ได้รับอิทธิพลของพระเวทโดยอ้อม  ปรัชญาพวกแรกได้แก่ระบบทั้งหกแห่ง  ปรัชญาอินเดีย  ส่วนพวกหลังได้แก่ปรัชญาจารวาก  พุทธปรัชญาและปรัชญาแห่งศาสนาเชน  ดังกล่าวมาแล้ว

พัฒนาการแห่งปรัชญาอินเดีย

  ในประวัติแห่งปรัชญาอินเดียนั้น  เราจะพบว่าปรัชญาทุกระบบ  แม้ว่าจะไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกันก็ตาม  แต่เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ดำรงอยู่ร่วมกันกับระบบอื่นๆที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากว่าปรัชญาอินเดียเป็นปรัชญาชีวิต  เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็มีประชาชนกลุ่มหนึ่งเลื่อมใสและนำเอาแนวความคิดทางปรัชญานั้นมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของตน  และถ่ายทอดให้แก่อนุชนในยุคต่อๆมา  พัฒนาการแห่งปรัชญาอินเดียนั้น  เป็นไปในลักษณะที่ต่างก็วิพากษ์วิจารณ์โจมตีซึ่งกันและกัน  ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นวิธีที่รักษาและเชิดชูปรัชญาของตนเท่านั้น  แต่ยังทำให้มีการเคลื่อนไหวทางปรัชญาอยู่เสมออีกด้วย  โดยประการดังกล่าวมานี้  วงการทางปรัชญาของอินเดียจึงไม่มีการหยุดนิ่งนับตั้งแต่กาลอันเป็นอดีตมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

  ปรัชญาอินเดียทุกระบบเริ่มต้นด้วยการแสดงทรรศนะทางวาจาหรือคำพูดทรรศนะทางปรัชญาเช่นนั้นจะถูกถ่ายทอดให้แก่สานุศิษย์หรือผู้เลื่อมใส  ซึ่งสานุศิษย์ทั้งหลายจะทรงจำหรือท่องจำเอาไว้แล้วถ่ายทอดให้แก่ผู้เป็นศิษย์ต่อๆไปโดยลำดับ  กาลต่อมาผู้สืบต่อปรัชญาแต่ละระบบเห็นความจำเป็นที่จะรักษาแนวความคิดทางปรัชญาในระบบของตนไว้ไม่ให้เสื่อมสูญ  จึงรวบรวมแนวความคิดทางปรัชญานั้นไว้เป็นหมวดหมู่  เรียกว่า  สูตร  คำว่า  สูตร  เป็นภาษาสันสกฤต  บาลีใช้ว่า  สุตตะ  แปลว่าเส้นด้าย  ใช้ในความหมายว่า  รวบรวมเอาคำสอนเข้าไว้ด้วยกัน  เหมือนเส้นด้ายที่ร้อยดอกไม้ต่างๆเข้าด้วยกันไม่ให้กระจัดกระจายไปฉะนั้น  สูตรดังกล่าวนี้  เช่น  พรหมสูตร  ของพาทรายณะซึ่งแต่งอธิบายแนวความคิดทางปรัชญาแห่งคัมภีร์อุปนิษัท  โยคสูตรของกนาทะ  มีมามสาสูตรของไชมินิ  นยายสูตรของโคตรมะ  เป็นต้น  สูตรต่างๆเหล่านี้ทีแรกก็ใช้ท่องจำต่อๆกันมา  แต่ภายหลังได้จดจารึกขึ้นไว้เป็นรายลักษณ์อักษร  เพื่อเก็บรักษาไว้ให้คงอยู่ตลอดไป

  ข้อความในสูตรต่างๆมีเนื้อความย่อกะทัดรัด  บรรจุเอาไว้เฉพาะใจสำคัญ  บางทีเป็นข้อความสั้นๆแต่อมใจความไว้มาก  ยากแก่การเข้าใจสำหรับผู้ที่ยังไม่สันทัดต่อแนวความคิดนั้นๆ  กาลต่อมาคณาจารย์ของลัทธินั้นๆ  จึงได้แต่งคำอธิบายข้อความที่กล่าวไว้ในสูตรเหล่านั้น  ข้อความหรือคัมภีร์ที่แต่งอธิบายสูตรนี้เรียกว่า  ภาษยะ  บาลีใช้ว่า  อรรถกถา

  ข้อที่ควรทราบในที่นี้คือ  คณาจารย์ต่างๆแห่งปรัชญาแต่ละระบบนั้นมักจะต่างคนต่างแต่งภาษยะ  หรืออรรกถาอธิบายสูตรขึ้นตามทรรศนะของตน  จึงมักปรากฏว่าสูตรเดียวกัน  แต่มีภาษยะหลายภาษยะของหลายคณาจารย์  เช่น  พรหมสูตรของพาทรายณะ  มีภาษยะที่แต่งโดยคณาจารย์ต่างๆ  เช่น  ศังกราจารย์  รามานุชะ  มัทวะ  วัลลภะนิมพารกะ  เป็นต้น  บรรดาสานุศิษย์ของคณาจารย์เหล่านี้ต่างก็ถือเอาความหมายของพรหมสูตรตามทรรศนะแห่งอาจารย์ของตน  จึงทำให้เกิดนิกายย่อยแห่งลัทธิเวทานตะขึ้นมากมาย

  เมื่อกาลเวลาล่วงไป  ก็มีคัมภีร์ฏีกาแต่งอธิบายภาษยะหรืออรรถกถา  และอนุฏีกาซึ่งแต่งอธิบายฏีกาเกิดขึ้นอีก  นอกจากนี้ยังมีปกรณ์วิเศษซึ่งเป็นวรรณกรรมอิสระเกิดขึ้นอีก  ปกรณ์วิเศษนี้ไม่จัดอยู่ในประเภทอรรถกถาฏีกาหรืออนุฏีกาโดยตรง  เป็นหนังสือที่แต่งเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นคู่มือสนับสนุนแนวความคิดทางปรัชญาแห่งระบบนั้นๆ  พร้อมกับวิพากษ์วิจารณ์แนวความคิดทางปรัชญาของระบบอื่นๆไปด้วย  โดยประการดังกล่าวมานี้  ระบบต่างๆแห่งปรัชญาอินเดียจึงมีพัฒนาการมาเรื่อยๆ  จนกระทั่งปรากฏอยู่ในลักษณะดังที่เราได้เห็นอยู่ทุกวันนี้

ลักษณะร่วมแห่งระบบต่างๆของปรัชญาอินเดีย

  ปรัชญาอินเดียแม้จะมีมากมายหลายระบบ  และบรรดาระบบต่างๆเหล่านั้น  แม้จะมีหลักคำสอนสำคัญและหลักคำสอนปลีกย่อยแตกต่างกันอย่างไรก็ตาม  แต่กระนั้นก็ยังมีลักษณะสำคัญบางประการซึ่งเป็นลักษณะร่วมแห่งปรัชญาอินเดียทุกระบบ  ซึ่งพอจะแยกกล่าวเป็นข้อๆได้ดังนี้

1.       ปรัชญาอินเดียทุกระบบถือว่า  แนวความคิดทางปรัชญามีสาระอยู่ที่สามารถนำมาใช้ให้เกิด

ประโยชน์แก่ชีวิตประจำวัน  เพื่อให้ชีวิตดำเนินไปสู่อุดมการณ์ที่ตั้งไว้อย่างดีที่สุด  ปรัชญาอินเดียทุกระบบจึงเป็นปรัชญาชีวิต

2.       ปรัชญาอินเดียทุกระบบเกิดขึ้นจากความรู้สึกไม่พึงพอใจต่อสภาพที่เป็นอยู่ของชีวิต  โดยเห็น

ว่าชีวิตของมนุษย์นั้นเต็มไปด้วยความทุกข์นานัปการ  นักคิดหรือนักปรัชญาของอินเดียจึงพยายามคิดค้นแสวงหาทางที่จะทำให้ชีวิตนี้หลุดพ้นไปจากสภาพที่ทุกข์  แล้วบรรลุถึงความสุขที่ไม่เปลี่ยนแปรหรือความสุขนิรันดร  ด้วยเหตุนี้ปรัชญาอินเดียทุกระบบจึงมีการเริ่มต้นที่มีลักษณะเป็นทุนนิยม  (Pessimism)  แต่ทุนนิยมในปรัชญาอินเดียนี้ไม่ใช่ทุนนิยมแท้จริง  เพราะมีอยู่แต่ในตอนต้นเท่านั้น  จุดสุดท้ายหรือจุดหมายปลายทางปรัชญาอินเดียจบลงด้วยสุนิยม  (Optimism)  ทุกระบบ

3.       ปรัชญาอินเดียทุกระบบเชื่อในกฎแห่งกรรม  ทั้งในลักษณะที่เป็นกฎแห่งสากลจักรวาล  หรือ

กฎแห่งและผล  และในลักษณะที่เป็นกฎแห่งศีลธรรม  ทุกระบบแห่งปรัชญาอินเดียเชื่อว่า  ทำดีย่อมได้รับผลดี  ทำชั่วย่อมได้รับผลชั่ว  แม้ว่าแต่ละระบบจะมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเกี่ยวกับการกระทำอย่างใดเป็นการกระทำที่ดีหรือชั่วก็ตาม

4.       ปรัชญาอินเดียทุกระบบมีทรรศนะต้องกันในข้อที่ว่า  อวิชชาหรืออวิทยาเป็นสาเหตุแห่งความ

ติดข้องและการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร  ส่วนวิชชาหรือวิทยาเป็นสิ่งที่จะทำให้หลุดพ้นจากการติดข้องและการเวียนว่ายตายเกิดเช่นนั้น  การติดข้องอยู่ในโลกและการท่องเที่ยวไปในวัฏสงสารทำให้ต้องได้รับความทุกข์ไม่มีที่สิ้นสุด  ปรัชญาอินเดียจึงมุ่งการบรรลุโมกษะหรือความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงเป็นจุดหมายปลายทาง

  อย่างไรก็ตาม  เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า  อวิชชานี้  ปรัชญาอินเดียไม่ได้มีความเห็นต้องกันทุกระบบ  สิ่งที่เรียกว่าวิชชาของระบบหนึ่ง  อาจจะเป็นอวิชชาของอีกระบบหนึ่ง  เช่น  ระหว่างปรัชญาฮินดูกับพุทธปรัชญา  ปรัชญาฮินดูถือว่า  การเห็นหรือรู้ชัดว่ามีสิ่งเที่ยงแท้ไม่เปลี่ยนแปรที่เรียกว่าอาตมันเป็นวิชชาหรือวิทยา  ส่วนพุทธปรัชญาถือว่า  การเห็นว่ามีสิ่งที่เที่ยงเช่นนั้นเป็นอวิชชาเป็นต้น

5.       ปรัชญาอินเดียทุกระบบถือว่า  การบำเพ็ญสมาธิและวิปัสสนาโดยพิจารณาสิ่งต่างๆให้เห็น

ตามสภาพความเป็นจริง  เป็นทางที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้นจากทุกข์  แต่เรื่องนี้ก็เป็นเช่นที่กล่าวแล้วในข้อ  4  คือ  สภาพความเป็นจริงตามทรรศนะของระบบหนึ่งอาจแตกต่างจากสภาพความเป็นจริงตามทัศนะของอีกระบบหนึ่ง

6.       ปรัชญาอินเดียทุกระบบเห็นว่า  การควบคุมตนเองหรือการควบคุมจิตใจไม่ปล่อยให้เป็นไป

ในอำนาจของตัณหา  เป็นทางที่ขจัดกิเลสหรือความเศร้าหมองแห่งจิตใจให้หมดไปได้  และเมื่อความเศร้าหมองแห่งจิตใจหมดไปแล้ว  ก็จะบรรลุโมกษะซึ่งเป็นความสุขนิรันดร

7.       ปรัชญาอินเดียทุกระบบมีความเชื่อตรงกันว่า  ความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงหรือโมกษะนั้น

เป็นสิ่งที่เป็นไปได้และสามารถบรรลุถึงได้ด้วยการปฏิบัติอย่างเข้มงวดตามวิธีที่กำหนดไว้  แต่วิธีปฏิบัติเพื่อบรรลุความหลุดพ้นจากทุกข์นั้น  แต่ละระบบก็มีวิธีการเป็นของตนเอง   นอกจากนั้นสถานะเช่นไรที่เรียกว่าเป็นสถานะแห่งความหลุดพ้น  แต่ละระบบก็มีทรรศนะไม่เหมือนกัน  ฉะนั้น  จึงสรุปกล่าวได้ว่า  แม้ว่าทุกระบบจะมีความเห็นพ้องกันว่า  โมกษะความหลุดพ้นที่เป็นไปได้  แต่ในเรื่องของวิธีการและธรรมชาติของความหลุดพ้น  แต่ละระบบมีทรรศนะไม่ตรงกัน

ลักษณะทั้ง  7  ประการดังกล่าวมานี้  เป็นลักษณะร่วมแห่งปรัชญาอินเดียทุกระบบยกเว้นปรัชญาจารวจากเพียงระบบเดียว  เพราะปรัชญาจารวจากเป็นปรัชญาวัตถุนิยมซึ่งมีแนวความคิดไม่ตรงกับแนวความคิดของระบบอื่นๆทั้งหมดของอินเดีย

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย