วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>

ภาวะโลกร้อน (Global Warming)

สภาวะโลกร้อนกับความพร้อมของสังคมไทย

ระพี สาคริก  

        การเขียนบทความเรื่อง “สภาวะโลกร้อนกับความพร้อมของสังคมไทย” ในครั้งนี้ มีเหตุสืบเนื่องมาจากการที่ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ จะได้จัดให้มีการประชุมสัมมนาขึ้นในวันที่ 28 กันยายน และได้ให้เกียรติเชิญฉันมาปาฐกถา ซึ่งแท้จริงแล้วสำหรับตัวฉันเองอาศัยที่เป็นคนมีนิสัยช่างสังเกต แม้แต่เรื่องเล็ก ๆที่ผ่านเข้ามาสู่วิถีชีวิตในอดีต
       ดังนั้น การได้รับเชิญครั้งนี้จึงมีผลทำให้ต้องค้นหาความจริงจากอดีตซึ่งเข้าไปฝังอยู่ในรากฐานจิตใจมาโดยตลอด นอกจากนั้น ตัวฉันเองยังให้ความสำคัญ แม้แต่เรื่องเล็ก ๆ โดยไม่ดูถูกการตอบรับคำเชิญไปปาฐกถาในครั้งนี้ จึงมีผลทำให้ตัวเองมองเห็นโอกาสที่จะค้นหาความจริงจากใจ อันนับได้ว่า คือวิถีการเรียนรู้ที่ช่วยให้จิตใจหยั่งรากลงสู่สัจธรรมลึกซึ้งยิ่งขึ้น
       ปัจจุบันนี้มีคนพูดถึงเรื่อง “สภาวะโลกร้อน” กันกว้างขวางมากขึ้น จากเหตุดังกล่าว น่าจะมีผลสืบเนื่องมาจากผลกระทบซึ่งทำให้หลายคน รู้สึกเป็นห่วงการดำรงชีวิตของคนในสังคมเพิ่มมากยิ่งขึ้น เรื่องนี้ตัวฉันเองมีอายุผ่านพ้นมาถึง 85 ปีแล้ว ทำให้มีโอกาสรู้สึกได้ถึงสิ่งที่อยู่ในรากฐานคนในสังคมไทยมาแล้วในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฉันเป็นคนมีนิสัยช่างสังเกตและจำเรื่องราวในอดีตได้อย่างแม่นยำ
       นอกจากนั้น อาศัยที่เป็นคนไม่มองข้ามของเล็กซึ่งอยู่บนพื้นดิน หากใช้ข้อมูลลักษณะนี้ ที่ค้นได้จากจิตใจตนเองมาแล้ว เป็นพื้นฐานการดำเนินชีวิตทำให้เป็นคนมีสติอยู่เสมอ หวนกลับไปนึกถึงกรุงเทพในอดีต แม้กาลเวลาจะผ่านพ้นมาประมาณ 70ปี ซึ่งช่วงนั้นมีงานที่โดดเด่นอยู่ในประเพณีของไทยอย่างน้อย 2 งานด้วยกัน งานหนึ่งได้แก่  “ งานภูเขาทอง ” ซึ่งจัดในช่วงเดือนพฤศจิกายน ส่วนอีกงานหนึ่งคือ “ งานพระบรมรูปทรงม้า ” ซึ่งจัดในวันที่ 23 ตุลาคมของทุกปี โดยเฉพาะทั้งสองงานนี้เด็ก ๆ ชอบไปเที่ยว เนื่องจากสนใจดอกไม้ไฟที่นำไปจำหน่ายในช่วงนั้น
        อนึ่ง บรรยากาศในงานพระบรมรูปทรงม้าเวลากลางคืนยังต้องสวมเสื้อสักกะหลาด นอกจากนั้น ยังเป็นโอกาสให้มีการสวมเครื่องแต่งตัวอวดกันระหว่างผู้ใหญ่ บางปีก็มีน้ำท่วมแต่ดู เหมือนภายในจิตใจคนกรุงเทพแทนที่จะรู้สึกว่าเป็นปัญหากลับสนุกสนานกันอย่างมีอิสระ เพราะมีโอกาสพายเรือบนพื้นถนน ความจริงแล้ว สภาพที่กล่าวมานี้ก็ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงมาจนกระทั่งช่วงหลัง ๆ เราแทบจะไม่ได้เห็นบรรยากาศดังกล่าว
       โดยเฉพาะบรรยากาศที่ให้ความอบอุ่น แต่กลับกลายมาเป็นความร้อนซึ่งเข้ามาแทนที่ แต่นิสัยคนไทยส่วนใหญ่มักไม่สนใจศึกษาและสังเกตถึงการเปลี่ยนแปลง หากกลับรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับชีวิตคนที่มีนิสัยตกอยู่ในความประมาทขาดสติ อนึ่ง มีหลายต่อหลายคนเห็นหน้าฉันเป็นกล้วยไม้ ไหน ๆ ก็เป็นอย่างนี้แล้ว
        ดังนั้นจึงขออนุญาตนำเอาเรื่องกล้วยไม้มาพูด อยู่มาวันหนึ่ง ประมาณช่วงกลาง ๆ ของชีวิตมันเกิดเรื่องแม้แต่ว่าจะเล็กน้อย หากคนตกอยู่ในความประมาทมันก็จะนำไปเป็นสู่เรื่องใหญ่ได้ไม่ยาก ขณะนั้น ฉันปลูกกล้วยไม้พันธุ์ที่มีนิสัยทนทานต่อแสงแดด จนกระทั่ง สามารถปลูกลงแปลงเอาไว้ในกลางแจ้งได้อย่างเป็นปกติ ยิ่งกว่านั้นถ้ายิ่งให้แสงแดดจัดให้ดอกดกอีกด้วย
        สภาพดังกล่าว ดูเหมือนจะเป็นธรรมดาของบรรยากาศในกรุงเทพ จนกระทั่งเขียนลงไว้ในหนังสือเรื่องการเพาะปลูกกล้วยไม้ด้วย วันหนึ่ง ในขณะที่ฉันนั่งทำงานอยู่ในสำนักงานบริหารของมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ซึ่งติดเครื่องปรับอากาศ โดยที่ไม่รู้เลยว่าอะไรมันเกิดขึ้นกับบรรยากาศข้างนอก จนกระทั่งหลังกลับจากทำงานแล้ว ได้ลงมาดูกล้วยไม้ดังกล่าว ตนจึงสังเกตเห็นใบซึ่งหงายด้านบนขึ้นรับแสงแดดอย่างเป็นปกติและมีลักษณะอวบน้ำ ซึ่งหมายถึงภายในใบจะมีน้ำมากเป็นพิเศษจนกระทั่งแข็งและเปล่งปลั่ง


       ช่วงนั้น ในแต่ละวันฉันได้สังเกตเห็นใบกล้วยไม้เริ่มสุก เหมือนถูกน้ำร้อนลวก สภาพการเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมาแล้วมันไม่คลาดไปจากสายตาของตัวเองที่จะนำมาคิดแม้จะละเอียดอ่อนมากแค่ไหน ประกอบกับตนเป็นคนมองสองด้าน อีกทั้งมองให้ถึงรากฐานจิตใจคนทั่วไปร่วมด้วย สิ่งที่กล่าวเป็นตัวอย่างมาแล้วเป็นเพียงลักษณะหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงในกระแสสิ่งแวดล้อม จนกระทั่งมาถึงช่วงนี้ ฉันกล้าพูดว่า ปัญหาที่จะพูดถึงมันเป็นมานานแล้ว แต่คนในสังคมไทยส่วนใหญ่ตกอยู่ในความประมาทจึงไม่สนใจ จนกระทั่งเกิดปัญหาหนักอย่างเช่นที่คนโบราณเคยกล่าวฝากไว้ว่า “สัญชาติคางคก ถ้ายางหัวไม่ตกก็คงไม่รู้จักจำ”
        สิ่งที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด แม้จะเป็นตัวอย่างเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าเป็นคนมีนิสัยอยู่อย่างไม่ประมาทย่อมสามารถสานเหตุผลไปถึงเรื่องใหญ่ได้อย่างเป็นธรรมชาติ ความจริงแล้วคำว่า “สัตว์โลก” ควรจะหมายถึง “มนุษย์และสัตว์ต่าง ๆ ที่อยู่ร่วมกันในโลกนี้ย่อมมีความสำคัญเท่าเทียมกันและสานถึงซึ่งกันและกันหมด” ถ้ามนุษย์ไม่สำคัญตัวเองผิด ควรจะมีนิสัยเรียนรู้ซึ่งกันและกันกับสัตว์ต่าง ๆ โดยไม่มีการแบ่งแยกว่า “ฉันเป็นคน ย่อมวิเศษกว่าสัตว์อื่นๆ” ซึ่งหมายความว่า การดำเนินชีวิตของมนุษย์ไม่ควรดูถูกสัตว์ ยิ่งเป็นสัตว์เล็ก ๆ เนื่องจากสัตว์เหล่านี้ มีความรู้สึกที่สื่อถึงการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติได้ไม่ด้อยกว่ามนุษย์ ทั้งนี้และทั้งนั้น เนื่องจากสัตว์ในระดับดังกล่าวไม่มีความโลภโมโทสันกับสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ หากถือมั่นอยู่กับความเป็นจริงของธรรมชาติได้อย่างลึกซึ้ง แม้แต่สุนัขซึ่งเข้ามาหาบางคน พร้อมทั้งเลียแข้ เลียขาและกระดิกหาง แต่หลังจากพบอีกคนหนึ่ง มันกลับหางจุกตูดและวิ่งหนีจนสุดตัว นั่นเพราะอะไร เพราะมันรู้ว่าใครมีเมตตาและใครมีใจโหดเหี้ยม
        ซึ่งประเด็นนี้ ถ้าคนไม่ดูถูกสัตว์แม้แต่สุนัข มันก็เป็นครูสอนให้เรารู้ว่าทุกวันนี้เมื่อพูดถึง “สื่อ” หลายคนมักมองไปยังสิ่งพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ แทนที่จะตระหนักได้ว่า “สื่อทางใจระหว่างมนุษย์และสัตว์” ควรใช้เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด
        อนึ่ง ฉันเคยเขียนไว้ในบทความเรื่อง “สื่อ” โดยยกตัวอย่างว่า ขณะที่ฉันเป็นรัฐมนตรี เช้าวันหนึ่งฉันเข้าไปในเรือนกล้วยไม้ก่อนไปทำงาน ได้สังเกตเห็นกระรอกตัวหนึ่งกำลังกระโดดอยู่บนราวแขวนกล้วยไม้ภายในเรือน ฉันหันไปมองดวงตามันแล้วรู้สึกว่า “ใสสะอาดและบริสุทธิ์” เมื่อฉันก้าวเดินต่อไปมันก็จะกระโดดตาม เมื่อฉันหยุดมันก็หยุด และมองมายังฉันด้วยด้วยแววตาที่ไร้เดียงสา เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ฉันรู้สึกว่ามันน่ารักมากจึงเอื้อมมือไปดีดนิ้วตรงหน้าด้วยความรัก และโดยไม่ได้คาดฝันมาก่อน พลันมันก็กระโดดเกาะนิ้วมือฉันและฝังฟันอันแหลมคมลงไปในปลายนิ้วจนเลือดกระฉูด แต่แทนที่ฉันจะโมโหเจ้ากระรอกตัวนั้น กลับหันมาโทษตัวเองว่า “เรายังเรียนรู้นิสัยอันเป็นธรรมชาติของมันยังไม่เพียงพอ” เหตุการณ์ดังกล่าวสอนให้รู้ว่า อย่าดูถูกสัตว์เล็ก ๆ และอย่าสำคัญตัวเองผิดว่าเรามีอิทธิพลเหนือกว่า สรุปแล้ว มนุษย์ควรเรียนรู้จากสัตว์ถ้าไม่หลงตนลืมตัวจนเกินเหตุ
         ตั้งแต่ช่วงนั้นเป็นต้นมา ฉันยังจำได้ดีว่า “ตั้งแต่ช่วงที่ฉันยังเป็นเด็กเป็นต้นมาฉันยังจำได้ดีว่า เมื่อมีฝนตั้งเค้า ทำให้ได้กลิ่นโอโซน ได้สังเกตเห็นมดตัวเล็ก ๆ สามัคคีกันคาบไข่ออกไปเก็บไว้ในที่ปลอดภัยอย่างเป็นธรรมชาติ สิ่งนี้เองถ้าใครดูถูกว่าเป็นเรื่องเล็กมันก็ช่วยไม่ได้ แต่ถ้าใครมีปัญญาสักหน่อยก็น่าจะเห็นเป็นเรื่องใหญ่ที่สอนให้มนุษย์รู้จักรักและสามัคคีกัน”
        เรื่องนี้ แม้จากช่วงนั้นมาจนถึงทุกวันนี้ หลายคนในสังคมไทยก็ยังคิดแบ่งแยกสัตว์ออกจากมนุษย์ได้อย่างชัดเจน จนกระทั่งบางคนพูดสอนผู้คนทั้งหลายเอาไว้ว่า “ดูซิ คนทุกวันนี้น่าอายสัตว์ตัวเล็ก ๆ หรือไม่” สิ่งที่กล่าวมาแล้วนี่เอง มันได้สะท้อนความรู้สึกของมนุษย์มานานแล้ว แต่เป็นเพราะคนไทยส่วนใหญ่ตกอยู่ในความประมาทขาดสติจนกระทั่งหลงอยู่กับความสบายทำให้ไม่นึกถึง
         ส่วนในปัจจุบัน เมื่อพูดถึงปัญหาโลกร้อน มักจะมุ่งวิธีแก้ปัญหาไปที่วิทยาศาสตร์ ดังเช่น คนที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ หลายคนก็มักเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้าไปแก้ไข บางคนเสนอให้ยกเลิกการใช้จีเอ็มโอ และยังมีวิธีอื่น ๆ อีกหลายอย่าง หากบุคคลใดหยั่งรู้ความจริงว่า ปัญหาโลกร้อนมันเกิดจากความโลภของคน แทนที่จะมุ่งการใช้วิทยาศาสตร์หรือใช้อะไรต่อมิอะไรไปแก้ไข หากใช้วิธีแก้ที่คน ก็น่าจะมีโอกาสประสบความสำเร็จได้ไม่ยากแม้จะช้านานแค่ไหน
         ยิ่งในขณะนี้ เราจะหวังความสามัคคีของคนในชาติได้จากที่ไหน?  แม้แต่คนกลุ่มเล็กหรือกลุ่มใหญ่ ก็มักสะท้อนให้เห็นถึงความแตกแยกจนกระทั่งยกพวกทำร้ายซึ่งกันและกัน ซึ่งคนเหล่านี้กระทำไปโดยไม่รู้สึกตัว ถ้าใครไปพูดขวางหูเข้าสักหน่อย แทนที่จะใจเย็นและดับได้ที่ตนเอง กลับเอะอะโวยวาย แถมยังหลงโทษอีกฝ่ายหนึ่ง จนกระทั่งทำให้ชาติบ้านเมืองเสี่ยงต่ออันตรายจากทุก ๆ ด้านเพิ่มมากยิ่งขึ้น
         สภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน  จึงมีเหตุที่ยังไม่สำคัญเท่ากับความร้อนที่อยู่ในรากฐานจิตใจคนในสังคมไทยอย่างคาดไม่ถึง ถ้าผู้ที่เป็นห่วงเป็นใยสังคมเรื่องนี้ สามารถร่วมใจกันดับความร้อน โดยดำเนินชีวิตอย่างถือขันติเสียได้แล้ว แผ่นดินของโลกจะสูงยิ่งขึ้นกว่านี้

25 กรกฎาคม 2550

» ภาวะโลกร้อน (Global Warming)

» วิธีลดภาวะโลกร้อน

» วิธีประหยัดพลังงาน

» ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ต่อการเกิดโรคสัตว์สู่คนอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ

» ดาราศาสตร์กับปัญหาโลกร้อน

» คาร์บอนเครดิต(Carbon Credit)

» ผลจากภาวะโลกร้อน

» ก๊าซเรือนกระจก

» พิธีสารเกียวโต

» ปรากฎการณ์วิกฤตโลกร้อน

» สภาวะโลกร้อนกับความพร้อมของสังคมไทย

» ผลกระทบต่อประเทศไทย

» ประเทศไทยกับภาวะโลกร้อน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย