วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>

ภาวะโลกร้อน (Global Warming)

ดาราศาสตร์กับปัญหาโลกร้อน

            ดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์หลักในระบบสุริยะของเราที่แผ่พลังงานงานออกมาจากปฏิกิริยาเทอร์โมนิวเคลียร์บริเวณใจกลางดวงอย่างต่อเนื่องออกมาสู่ผิว และแผ่ออกมาถึงโลกที่อยู่ไกลจากดวงอาทิตย์เป็นระยะทางเฉลี่ยถึง 150 ล้านกิโลเมตร ทำให้โลกได้รับแสงสว่างและความอบอุ่นมาเป็นเวลายาวนานถึง 4,500 ล้านปีแล้ว โดยพลังงานที่แผ่ออกมาถึงโลก ทำให้อุณหภูมิโลกมีความเหมาะสมพอดีต่อการกำเนิดและดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต

แกนหมุนของโลกที่เอียงทำมุม 23.5 องศากับเส้นตั้งการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ และการเอียงของแกนหมุนของโลกในขณะที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ดังกล่าวนี้ทำให้เกิดฤดูกาลบนพื้นโลก โดยซีกโลกที่หันเข้าสู่ดวงอาทิตย์จะเป็นฤดูร้อน ในขณะที่ซีกโลกตรงข้ามจะเป็นฤดูหนาว

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์พบว่ามีปัจจัยสำคัญทางดาราศาสตร์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อแกนหมุนของโลก และวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ที่ทำให้โลกเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าปกติ ทำให้อุณภูมิเฉลี่ยของโลกสูงกว่าปกติและเกิดสภาวะ “โลกร้อน” ขึ้น และในทำนองเดียวกันก็มีช่วงเวลาที่แกนหมุนของโลก และวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ที่ทำให้โลกอยู่ห่างดวงอาทิตย์มากกว่าปกติ ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกต่ำกว่าปกติและเกิดสภาวะ “ยุคน้ำแข็ง” ได้

นักวิทยาศาสตร์ชาวยูโกสลาเวีย ชื่อ มิลูติน มิลานโควิชช์ (Milutin Milankovitch) เสนอทฤษฎีความเชื่อมโยงระหว่างการเกิดยุคน้ำแข็งกับวัฏจักรทางดาราศาสตร์เกี่ยวกับวงโคจรและแกนหมุนของโลก 3 อย่าง ดังนี้

  1. การส่ายของแกนหมุนของโลก (Earth’s Precession) ที่เอียงกับเส้นตั้งฉากกับวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ประมาณ 23.5 องศาเนื่องจากแรงไทดัล (Tidal Force) ของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ที่กระทำต่อโลก โดยมีการส่ายประมาณ 26,000 ปีต่อรอบ และผลการรบกวนของแรงโน้มถ่วงจากดาวเคราะห์ดวงใหญ่ เช่น ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์เป็นต้น ทำให้การส่ายของแกนหมุนของโลกเปลี่ยนจาก 26,000 ปีต่อรอบเป็น 21,000 ปีต่อรอบ หากช่วงที่โลกอยู่ ณ จุดเพริฮีเลียน (Perihelion) ซึ่งเป็นจุดที่โลกใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวงโคจร แล้วแกนโลกเอียงเข้าหาดวงอาทิตย์ด้วย ก็จะทำให้ฤดูร้อนบนโลก ร้อนมากกว่าปกติ และหากช่วงที่โลกอยู่ ณ จุดอะฟีเลียน (Aphelion) ซึ่งเป็นจุดที่โลกอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์มากที่สุดบนวงโคจร แล้วแกนโลกเอียงออกจากดวงอาทิตย์ด้วยก็จะทำให้ฤดูหนาวบนโลก หนาวกว่าปกติ ในขณะที่ซีกโลกด้านตรงข้ามจะมีฤดูร้อนที่เย็นกว่าปกติ ในขณะที่มีฤดูหนาวที่อุ่นกว่าปกติ

  2. การเปลี่ยนแปลงมุมเอียงของโลกที่เอียงกับเส้นตั้งฉากกับวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์อย่างช้าๆจาก 22.1-24.5 องศา โดยในปัจจุบันมุมเอียงประมาณ 23.5 องศา การเปลี่ยนแปลงมุมเอียงดังกล่าวใช้เวลาประมาณ 41,000 ปี ซึ่งมีผลต่อปริมาณพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่ตกสู่โลกเช่นกัน

  3. วงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์มีการเปลี่ยนแปลงจากวงโคจรค่อนข้างกลม (ค่าความรีประมาณ 0.005) เป็นวงโคจรค่อนข้างรี (ค่าความรีประมาณ 0.058) โดยค่าความรีเฉลี่ยของวงโคจรมีค่า 0.028 และในปัจจุบันค่าความรีของวงโคจรของโลกมีค่า 0.017 การเปลี่ยนแปลงความรีของวงโคจรดังกล่าวนี้มีคาบประมาณ 100,000 ปี อันเป็นผลจากสนามความโน้มถ่วงของดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์

ซึ่งวัฏจักรทางดาราศาสตร์ทั้ง 3 อย่างนี้เรียกว่า “วัฏจักรของมิลานโควิชช์ (Milankovitch’s Cycles)” ซึ่งทำให้เกิดวัฏจักรของยุคน้ำแข็งสลับกับภาวะโลกร้อนโดยเฉลี่ยทุก 100,000 ปี

 

การสร้างความตระหนักในการแก้ปัญหาโลกร้อน

            แม้ว่าภาวะโลกร้อนและการเกิดยุคน้ำแข็งบนโลกนั้น เป็นวัฏจักรตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นโดยปกติในช่วงทุกแสนปีก็ตาม แต่ปัจจัยเสี่ยงจากการใช้เชื้อเพลิงหรือการสร้างมลพิษทางอากาศของมนุษย์ที่ยังคงมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ย่อมเป็นปัจจัยเร่งที่จะทำให้ภาวะโลกร้อนส่งผลที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นต่อมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มจำนวนผู้เสียชีวิตจากภาวะโลกร้อน การเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลอันเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดอุทกภัย การเกิดคลื่นความร้อนที่บ่อยและรุนแรงขึ้น ภาวะฝนแล้งและการเกิดไฟป่า และการสูญพันธ์ของสิ่งมีชีวิตบางชนิด จึงเป็นเรื่องที่เร่งด่วนอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความรู้เรื่องโลกร้อนและวิธีชะลอให้ภาวะโลกร้อนมีผลกระทบต่อมนุษย์น้อยที่สุด ความตระหนักถึงผลจากปัญหาโลกร้อนและและจิตสำนึกของมนุษย์ที่ร่วมกันอนุรักษ์โลกของเราเท่านั้น ที่จะช่วยให้โลกของเรารอดพ้นจากภัยพิบัติอันเป็นผลจากดวงอาทิตย์ดาวฤกษ์เพียงดวงเดียวในระบบสุริยะของเราได้

» ภาวะโลกร้อน (Global Warming)

» วิธีลดภาวะโลกร้อน

» วิธีประหยัดพลังงาน

» ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ต่อการเกิดโรคสัตว์สู่คนอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ

» ดาราศาสตร์กับปัญหาโลกร้อน

» คาร์บอนเครดิต(Carbon Credit)

» ผลจากภาวะโลกร้อน

» ก๊าซเรือนกระจก

» พิธีสารเกียวโต

» ปรากฎการณ์วิกฤตโลกร้อน

» สภาวะโลกร้อนกับความพร้อมของสังคมไทย

» ผลกระทบต่อประเทศไทย

» ประเทศไทยกับภาวะโลกร้อน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย