วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>

ภาวะโลกร้อน (Global Warming)

ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนต่อการเกิดโรคสัตว์สู่คนอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ

   สพ.ญ.  วราพร พิมพ์ประไพ   

 

ภาวะโลกร้อน

           สภาพภูมิอากาศกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนน่าวิตก ธารน้ำแข็งลดลง หิ้งน้ำแข็งพังทลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ชั้นดินเยือกแข็งคงตัวละลาย ปรากฏการณ์ต่างๆเหล่านี้เคยเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในธรณีกาลแต่กลับใช้เวลาเพียงแค่ชั่วอายุคนเท่านั้น  อุณหภูมิโลกที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยภายนอกต่างๆอาทิเช่น การเปลี่ยนแปลงของวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์, การระเบิดของภูเขาไฟ แต่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ภาวะเรือนกระจกอันเป็นผลที่ตามมาจากการสะสมในชั้นบรรยากาศของก๊าซเรือนกระจกซึ่งเกิดจากกิจกรรมการพัฒนาของมนุษย์โดยเฉพาะการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน

            ภาวะเรือนกระจกได้รับการกล่าวถึงเป็นครั้งแรกโดย Joseph Fourier ในปี ค.ศ. 1824 และมีการศึกษาเชิงวิเคราะห์เป็นครั้งแรกโดย Svante Arrhenius ในปี ค.ศ. 1986  ก๊าซเรือนกระจกที่ปกคลุมชั้นบรรยากาศของโลกจะส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นถึง 33 องศาเซลเซียส  ซึ่งในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาอุณหภูมิโลกได้เพิ่มขึ้นอีก 0.5 องศาเซลเซียส อันเป็นผลมาจากการเพิ่มปริมาณของก๊าซเรือนกระจกนี้ โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ก๊าซไนตรัสออกไซด์และ ก๊าซฟลูออโรคาร์บอน นำไปสู่การเกิด “ภาวะโลกร้อน” ผลเสียที่ตามมาคือ ความแห้งแล้ง อุทกภัย ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น ปริมานน้ำฝนที่สูงขึ้นและการแพร่ระบาดของสัตว์พาหะนำโรค ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมทั้งในแง่ของสุขภาพและเศรษฐกิจ

          ภาวะโลกร้อนยังก่อให้เกิดผลกระทบที่ซับซ้อนต่อระบบนิเวศน์อาทิเช่น ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว การอพยพของสัตว์ที่ผิดเวลา ผืนป่าที่หมดสภาพ การลดจำนวนลงของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก พืชบางชนิดหนีไปขึ้นในเขตที่สูงกว่าเดิม การเพิ่มขึ้นของแมลง ฯลฯ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสิ่งมีชีวิตโดยรวม

โรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ

         โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ (Emerging or new infectious disease; EID, NID) คือโรคที่เกิดขึ้นใหม่ หรือเป็นโรคที่รู้จักดีอยู่แล้วแต่เกิดการระบาดขึ้นในพื้นที่ที่ไม่เคยมีการระบาดของโรคมาก่อน

          โรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ (Remerging or resurgent infectious disease; RID) คือโรคที่กลับมาระบาดใหม่หลังจากที่ได้ทำการควบคุมโรคแล้ว หรือพบหลังจากที่ไม่เคยมีการระบาดในพื้นที่เดิมมาเป็นระยะเวลานานรวมถึงภาวะที่เชื้อก่อโรคดื้อยาด้วย

         นอกจากนึ้ทั้งโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำจะต้องเป็นโรคที่สามารถติดต่อครอบคลุมในบริเวณกว้าง แพร่ข้ามสายพันธุ์ในสัตว์ต่างๆหรือแพร่ข้ามมายังคน และต้องก่อให้เกิดความรุนแรงหรือผลกระทบในวงกว้างต่อชีวิต ทรัพย์สิน เศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ ซึ่งลักษณะสำคัญเฉพาะตัวของโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำจะต้องมีการทะลักล้นจากแหล่งรังโรค เช่นการทะลักล้นจากแหล่งรังโรคในสัตว์ อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อโดยตรงในคน หรือเชื้อจากแหล่งรังโรคจะฟักตัวในสัตว์อีกชนิดหนึ่งซึ่งปฏิบัติตัวเป็นแหล่งเพาะโรคจนทำให้เชื้อมีปริมาณสูงขึ้น จากนั้นตัวนำโรคจะนำเชื้อมายังคนอีกต่อหนึ่งทำให้สามารถก่อให้เกิดโรคในคนได้ และในที่สุดสามารถติดต่อจากคนสู่คนจนกระทั่งแพร่ระบาดไปทั่วโลก

         การเกิดโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำทั้งที่พบในคนและสัตว์ เป็นผลพวงสืบเนื่องมาจากการพัฒนาสังคมมนุษย์ โดยมีสาเหตุหลักคือจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นและภาวะโลกร้อน และสาเหตุอื่นๆเช่น การขยายตัวของชุมชนเมือง ความขัดแย้งทางการเมืองและสงคราม ความยากจน ภาวะทุพโภชนาการ การอพยพย้ายถิ่น การระบายน้ำ การสร้างเขื่อน และการคมนาคม เป็นต้น ตัวอย่างของโรคที่เกิดขึ้นได้แก่ Rift valley fever, Schistosomiasis, Lassa fever, Trypanosomiasis, มาเลเรียและไข้เลือดออก เป็นต้น

                ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีโรคที่จัดว่าเป็นโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำที่รุนแรงเกิดขึ้นหลายชนิดซึ่งโรคเหล่านี้ทั้งหมดติดต่อจากสัตว์สู่คนและต่อมาพัฒนาเป็นการติดเชื้อจากคนสู่คน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดโรคเป็นผลมาจากสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากพฤติกรรมของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า การทำลายสภาพแวดล้อมอันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และการบริโภคสัตว์ป่า เป็นต้น นับว่าเป็นการเพิ่มโอกาสให้คนเข้าไปใกล้ชิดกับสัตว์ซึ่งเป็นทั้งแหล่งรังโรคและพาหะนำโรคมากขึ้น

โรคสัตว์สู่คนอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำที่ต้องเฝ้าระวังในประเทศไทย

  1. กาฬโรค
  2. ไข้เลือดออก
  3. ฉี่หนู
  4. เท้าช้าง
  5. มิวรีนทัยฟัส
  6. ไข้สมองอักเสบ
  7. พยาธิทริคิเนลโลซิส
  8. อหิวาตกโรค  
  9. ฮันตาไวรัส
  10. ไข้หวัดนก
  11. พิษสุนัขบ้า
  12. วัณโรค
  13. ไข้หนูกัด
  14. ซาร์ส
  15. มาเลเรีย
  16. ไข้เลือดออกอีโบลา
การเตรียมความพร้อมในการรับมือกับโรคสัตว์สู่คนอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ
      การเตรียมความพร้อมเพื่อควบคุมเมื่อเกิดการระบาดและป้องกันการระบาดซ้ำของโรค จำเป็นที่จะต้องทราบสถานการณ์ปัจจุบันของโรคเพื่อนำไปสู่การประเมินความเป็นไปได้และวิเคราะห์ความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดของโรคในระดับต่างๆในอนาคต

  1. ต้องมีความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของเชื้อในแหล่งรังโรค ชนิดของสัตว์นำโรค และสภาพภูมิศาสตร์ของ บริเวณที่เป็นแหล่งเพาะโรคในพื้นที่นั้นๆ
  2. ทำการประเมินและวิเคราะห์ถึงโอกาสที่จะมีการทะลักล้นของเชื้อไปสู่พื้นที่อื่น
  3. ประเมินความสามารถและโอกาสของเชื้อโรคในการที่จะเกิดการติดเชื้อข้ามสายพันธุ์
  4. พัฒนาและปรับปรุงระบบการเฝ้าระวังและควบคุมโรค ให้สามารถตรวจจับ ประเมินรายงาน และควบคุมโรคได้ตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับประเทศ รวมถึงพัฒนาและปรับปรุงมาตรการการวบคุมและป้องกันโรคที่ด่านเข้าออกระหว่างประเทศ
  5. เตรียมความพร้อมโดยการสร้างความรู้และความเข้าใจ ถ่ายทอดเทคโนโลยีและแลกเปลี่ยนข่าวสารและข้อมูลใหม่ๆเกี่ยวกับโรค ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดโรค ผลกระทบจากการระบาดของโรค ตลอดจนการควบคุมและป้องกันโรคแก่ประชาชน เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ หน่วยงานของกรมปศุสัตว์ หน่วยงานสาธารณสุข รวมถึงหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องในการให้ความร่วมมือและประสานงานเพื่อสนับสนุนการควบคุมและป้องกันโรคในอนาคต

» ภาวะโลกร้อน (Global Warming)

» วิธีลดภาวะโลกร้อน

» วิธีประหยัดพลังงาน

» ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ต่อการเกิดโรคสัตว์สู่คนอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ

» ดาราศาสตร์กับปัญหาโลกร้อน

» คาร์บอนเครดิต(Carbon Credit)

» ผลจากภาวะโลกร้อน

» ก๊าซเรือนกระจก

» พิธีสารเกียวโต

» ปรากฎการณ์วิกฤตโลกร้อน

» สภาวะโลกร้อนกับความพร้อมของสังคมไทย

» ผลกระทบต่อประเทศไทย

» ประเทศไทยกับภาวะโลกร้อน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย