สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์>>
ประชาธิปไตย ประชาสิทธิ ประชาธรรม
การพูดในวันนี้ ข้าพเจ้าต้องการชี้ให้เห็นว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ระบอบประชาธิปไตยของไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก และความเปลี่ยนแปลงนี้มีนัยหรือผลสะเทือนต่อประเด็นเรื่องสิทธิของประชาชน และความเป็นธรรมในสังคมเป็นอย่างมากทั้งในทางบวกและลบ
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้โยงกับเฉพาะตัวตนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แม้ว่าท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลภายใต้การนำของท่านจะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ แต่มีอีกหลายสิ่งที่จะต้องพิจารณา ซึ่งรวมทั้งผลในทางปฏิบัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ผลสะเทือนของวิกฤตเศรษฐกิจในปีเดียวกันนั้น และนอกเหนือจากนี้ยังจะต้องพิจารณาถึงความเปลี่ยนแปลงในอำนาจของฝ่ายนักธุรกิจ รวมตลอดถึงการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจใหม่ระหว่างข้าราชการกับขบวนการประชาชน และกับรัฐสภา
สำหรับประเด็นที่ว่าเมื่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมีนัยต่อเรื่องสิทธิประชาชน และความเป็นธรรมในสังคมในทางลบด้วยนั้น แล้วทางออกของภาคประชาชนจะเป็นอย่างไร ข้าพเจ้าไม่มีคำตอบที่เป็นสูตรสำเร็จ แต่ในการพูดวันนี้จะพยายามทำความกระจ่างให้กับประเด็นปัญหาและวิเคราะห์ทางเลือกให้ท่านพิจารณา
หากเราย้อนหลังกลับไปดูวิวัฒนาการของการเมืองไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านนับจากสมัยนายกฯ ชาติชาย ชุนหะวัณ ประมาณ 15 ปีที่แล้ว ท่านยังคงจำได้ว่ารัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯ ชาติชาย ในขณะนั้นท้าทายระบบอมาตยธิปไตย หรือระบบที่ข้าราชการรวมศูนย์อำนาจค่อนข้างมาก โดยยืนยันอำนาจของรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีเหนืออำนาจของฝ่ายข้าราชการ พัฒนาการดังกล่าวทำให้ระบบอมาตยาธิปไตยอ่อนแอลง และอ่อนไหวต่อแรงกดดันและการต่อรองจากกลุ่มสังคมประชา หลังจากนั้นเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ.2535 ซึ่งส่งผลลดทอนเกียรติภูมิและฐานะของกองทัพเป็นอย่างมาก ยิ่งเซาะกร่อนระบบอมาตยธิปไตยต่อไปอีก ขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิและความเป็นธรรมในสังคมต่างๆ ตระหนักถึงสถานการณ์ใหม่นี้ จึงฉกฉวยโอกาสขยายพื้นที่ทางการเมืองและเรียกร้องสิทธิต่างๆ อย่างได้ผล ภาวะการณ์ที่กล่าวนี้มีส่วนกำหนดวิถีทางของ "การเมืองภาคประชาชน" ในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมาอย่างสำคัญ โดยการเมืองภาคประชาชนในสมัยนั้นแบ่งออกได้เป็น 2 แบบหลักๆ
หนึ่ง เกิดขบวนการประชาชนซึ่งต่อรองกับฝ่ายบริหาร คือรัฐบาลและข้าราชการโดยตรง เพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบาย และเรียกร้องให้ประชาชนมีส่วนมีบทบาทในการกำหนดนโยบายมากขึ้น ข้าราชการที่มีสำนึกทางสังคม อดีตข้าราชการ และราษฎรอาวุโสหลายท่าน ดำเนินบทบาทสำคัญเป็นเสมือน "ตัวกลาง" ระหว่างขบวนการประชาชน ณ ขั้วหนึ่ง กับฝ่ายบริหารคือ ร.ม.ต. และข้าราชการระดับสูงอีกขั้วหนึ่ง ศ.นายแพทย์ประเวศ วะสี คุณศรีสว่าง พั่ววงศ์แพทย์ เป็นตัวอย่างที่ดี ศ.นิคม จันทรวิฑูร สมัยท่านยังมีชีวิตอยู่ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง (โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิแรงงาน) ยุทธศาสตร์การต่อรองโดยตรงนี้ ได้ผลเป็นขบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 การปฏิรูประบบสาธารณสุข การปฏิรูประบบการศึกษา การกระจายอำนาจสู่ อ.บ.ต. และความพยายามปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในแผน 8 และแผน 9
สอง อีกยุทธศาสตร์หนึ่งของการเมืองภาคประชาชน คือ "การเมืองบนท้องถนน" เห็นได้จากขบวนการที่นำโดยสมัชชาคนจน ยุทธวิธีการเดินขบวนประท้วง การปิดกั้นทางหลวง และการเป็นข่าวในสื่อมวลชนทั้งในและนอกประเทศ ส่งผลผลักดันให้ฝ่ายบริหาร และข้าราชการระดับสูง จำต้องยอมมานั่งที่โต๊ะเจรจากับฝ่ายประชาชน เพื่อวิเคราะห์ปัญหา ข้อเรียกร้อง และหาแนวทางการแก้ไขร่วมกัน อย่างไรก็ตามฝ่ายบริหารและข้าราชการสู้กลับอย่างแรง และประสบความสำเร็จยกเลิกข้อตกลงที่เป็นประโยชน์กับฝ่ายประชาชนผู้เรียกร้องเสมอ แต่ในสภาวะดังกล่าวภาคประชาชนก็พอจะมีความสำเร็จอยู่บ้าง
ที่อยากจะชี้ให้เห็นก็คือ ยุทธศาสตร์ทั้งสองนี้เป็นไปได้ เพราะสภาวะพิเศษของยุคสมัยนั้น ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นสมัยของ "การเมืองเปิด" เป็นสภาวะที่รัฐรวมศูนย์อำนาจหรืออมาตยาธิปไตยแบบเก่าอ่อนแอลงชั่วคราว แถมตกอยู่ในภาวะสับสน แต่ ณ วันนี้ยุคสมัยนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว
สามปัจจัยที่ทำให้สมัยของ "การเมืองเปิด" สิ้นสุดลง ประการที่หนึ่ง กลุ่มทุนไทยสามารถเข้าเกาะกุมระบบรัฐสภาได้อย่างเต็มที่ หลังจากที่ได้มีความพยายามมาชั่วระยะหนึ่งแล้ว วิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ.2540 ที่ส่งผลคุกคามสถานภาพของทุนไทยอย่างจัง ส่งสัญญาณให้กลุ่มทุนไทยสำคัญๆ ที่หลุดรอดมาได้รวมตัวกันเข้ายึดกุมการเมืองไทยในท้ายที่สุด กลุ่มทุนหลักที่อยู่เบื้องหลังรัฐบาลปัจจุบันสนับสนุนสิ่งที่ข้าพเจ้านำเสนอนี้ ประการที่สอง รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 เพิ่มอำนาจให้กับนายกรัฐมนตรีมากขึ้นกว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ นอกจากนั้นการกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส. ว่าต้องจบปริญญาตรี และการนำระบบปาร์ตี้ลิสมาใช้ หมายความว่าองค์ประกอบของสมาชิกรัฐสภาเอนเอียงไปด้านชนชั้นนำในเมืองมากกว่าชนชั้นล่างทั้งในเมืองและต่างจังหวัด อีกประการหนึ่ง ความพยายามของผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 ที่จะถ่วงดุลระหว่างภาคส่วนต่างๆ ของระบบรัฐสภาประชาธิปไตย โดยให้มีการตรวจสอบจากองค์กรอิสระต่างๆ (ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ-(กสช.) ฯลฯ )และโดยให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอร่าง พ.ร.บ. และตรวจสอบนักการเมืองผ่านมาตรการ 50,000 ชื่อ และอื่นๆ ได้ ปรากฏว่าไม่ประสบความสำเร็จดังที่คาดหวังไว้ ประการที่สาม กลุ่มทุนไทยได้รวมตัวกันเพื่อฉกฉวยโอกาสจากสถานการณ์ใหม่นี้ โดยก่อตั้งพรรคไทยรักไทย และมีแผนการโครงการที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม การเมืองไทย ที่ทะเยอทะยานทีเดียว
ข้าพเจ้าขอเน้นวิเคราะห์ปัจจัยประการที่ 3 คือบทบาทความสำคัญของพรรคไทยรักไทย บทบาทนี้มีมากกว่าการปรับนโยบายเศรษฐกิจ แต่เป็นความพยายามจัดความสัมพันธ์ด้านพลังทางการเมืองเสียใหม่ ในความเห็นของข้าพเจ้า เราอาจจะสรุปยุทธศาสตร์ของพรรคไทยรักไทยภายใต้ 6 หัวข้อด้วยกัน
1. ภายใต้การนำของพรรคไทยรักไทย รัฐไทยสำแดงความเป็น "รัฐพัฒนาการ" (development state) ในความหมายที่ว่ารัฐบาลให้การสนับสนุนธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่โดยตรงอย่างมีนัยสำคัญ ในอดีต รัฐไทยลังเลที่จะดำเนินนโยบายและมาตรการอุดหนุนธุรกิจไทยโดยตรงตามแนวทางของรัฐพัฒนาการของกลุ่มเศรษฐกิจเอเซียตะวันออก (เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฯลฯ ) เช่นในเรื่องของสินเชื่อนั้น รัฐบาลเช่นเกาหลีใต้ เคยมีบทบาทจัดสรรเครดิตให้ธุรกิจผ่านธนาคารของรัฐ แต่ในกรณีของไทย จะยกให้ภาคธนาคารพาณิชย์เอกชนเป็นผู้จัดการ ขณะนี้บทบาทของธนาคารพาณิชย์เอกชนของไทยลดลงเป็นอย่างมาก ธนาคารของรัฐกลับมีโครงการจัดสรรสินเชื่อที่คึกคักขึ้น โครงการเช่นหน่วยลงทุนวายุภักษ์ ก็เป็นการดำเนินรอยตามตัวอย่างที่ประเทศสิงคโปร์ และเอเซียตะวันออกอื่นๆ เคยทำมาก่อน นอกจากนั้นรัฐบาลยังมีโครงการคัดเลือกสาขาอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญระดับต้นๆ เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถแข่งขันเป็นการเฉพาะ และยังมีโครงการปลีกย่อยอื่นๆ เพื่อส่งเสริมบริษัทธุรกิจที่โยงกับไทยรักไทยในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการใช้มาตรการทางกฎหมาย การเปลี่ยนกฎเกณฑ์ และการเข้าถึงสินเชื่อ ฯลฯ
2. นโยบายแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน และการจัดระเบียบเศรษฐกิจใต้ดินทั้งที่ถูกและผิดกฎหมาย (เศรษฐกิจมืด) ถือได้ว่าเป็นโครงการพัฒนาทุนนิยมไทยให้ลึกลงไปอีก ด้วยการบูรณาการเศรษฐกิจชาวนาและเศรษฐกิจมืดเข้ามาอยู่ในระบบเศรษฐกิจที่เป็นทางการเสีย ท่านนายกฯ ทักษิณ เองอธิบายไว้ว่า โครงการกองทุนหมู่บ้านต่างๆ และสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายเล็กนั้น มุ่งหมายปรับเปลี่ยนให้ชาวนาเป็นผู้ประกอบการ ท่านนายกฯ กล่าวเมื่อเร็วๆนี้ใจความว่า ทุนนิยมต้องการเงินทุน ถ้าไม่มีเงินทุนก็ไม่มีทุนนิยม จึงจำเป็นต้องผลักดันเงินทุนสู่ชนบท ทำนองเดียวกับโครงการยกเศรษฐกิจใต้ดินขึ้นมาบนดินให้ถูกกฎหมายเสีย เช่น การพนัน รวมทั้งการค้าประเวณีและอื่นๆ แม้จุดมุ่งหมายหลักก็เพื่อเพิ่มรายได้ภาษีให้กับภาครัฐ และเพิ่มอัตราความจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่กระนั้นจุดมุ่งหมายเพื่อขยายขอบเขตของระบบนายทุนที่ชอบธรรม ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน นอกจากนั้นแล้ว โครงการทั้งสองชุดนี้ยังส่งผลบวกในทางการเมือง การขยายทุนนิยมสู่ชนบท มุ่งหมายเพื่อป้องกันการเดินขบวนต่อต้านโดยคนชนบท และการนำเศรษฐกิจใต้ดินที่เคยผิดกฎหมายเข้าสู่ระบบ น่าจะลดทอนแหล่งเงินทุน "มืด" เพื่ออุดหนุนนักการเมืองอีกด้วย จะพูดถึง 2 ประเด็นนี้อีกในตอนต่อไป
3. การปฏิรูประบบราชการของรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งรัฐบาลเองเปรียบเปรยเสมือนการปฏิรูปสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นความพยายามที่จะก้าวรุดหน้าไปกว่าระบบอมาตยาธิปไตย โดยมุ่งหมายสยบข้าราชการระดับสูงให้อยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายบริหารอย่างสิ้นเชิง รัฐบาลของนายกฯ ชาติชาย เริ่มกระบวนการนี้ แต่หลังจากที่ฝ่ายข้าราชการแข็งขืน รัฐบาลของนายกฯ ชวน หลีกภัย ก็โอนอ่อนลง รัฐบาลภายใต้การนำของไทยรักไทยเริ่มต้นเหมือนในกรณีของนายกฯ ชาติชาย คือเข้าแทรกแซงการเลื่อนขั้น แต่ไทยรักไทยไปไกลกว่านั้น และในขณะนี้การแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งสำคัญๆ ล้วนแล้วแต่เป็นการตัดสินใจโดยฝ่ายบริหาร คือเป็นเรื่องของการเมืองจริงๆ อุดมการณ์ซีอีโอท้าทายความเป็นใหญ่ของอมาตยาธิปไตย และกำหนดให้ข้าราชการเป็นผู้รับใช้นักธุรกิจ แทนที่จะเป็นผู้กำกับนักธุรกิจดังแต่ก่อน
4. ในระบบรัฐสภา มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจจากที่เคยกระจุกอยู่ที่เจ้าพ่อท้องถิ่น อิทธิพลย้ายมารวมอยู่ที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่มีเงินอุดหนุนหนาแน่น นโยบายปราบปรามยาเสพติดโดยใช้ความรุนแรงเกินขอบเขตของกฎหมายและขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชน การกำหนดเป้ากำจัด "ผู้มีอิทธิพล" ความพยายามควบคุมผู้มีสิทธิเป็นเจ้าของอาวุธปืน และนโยบายจัดระเบียบเศรษฐกิจผิดกฎหมาย ล้วนแต่ สะท้อนแผนการลดทอนและสยบเจ้าพ่อแบบเก่า ซึ่งเคยมีบทบาทครอบงำสนามการเลือกตั้งในช่วงระยะเวลาประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา สำหรับนโยบายประชานิยมหลากหลายชุด ก็กำหนดขึ้นเพื่อทดแทนระบบอุปถัมภ์ของเจ้าพ่อท้องถิ่น ที่เคยร้อยรัดชาวบ้านกับพวกเขามาแต่ก่อนเก่า และท้ายที่สุดในระบบพรรคการเมืองยุคใหม่หลังรัฐธรรมนูญ 2540 การจัดสรรเงินทุนจากกองกลาง การประสานงานระดับชาติ และเทคนิควิธีการที่เหนือกว่า ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ตัดสินชี้ขาดความสำเร็จในการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไป ภายใต้ระบบเดิมนั้น พรรคการเมืองเป็นเพียงการรวมตัวกันแบบหลวมๆ ระหว่างเจ้าพ่อท้องถิ่น พรรคไทยรักไทยเสนอรูปแบบใหม่ คือ การที่พรรคระดมเงินทุนจากนักธุรกิจกระเป๋าหนักชั้นนำระดับชาติ ส่งผลให้พรรคมีความสามารถที่จะสร้างวินัย และชี้นำสมาชิกได้อย่างสิ้นเชิง พัฒนาการใหม่นี้ยังเป็นระยะเริ่มต้น แต่แนวทางชัดเจน และจะยิ่งเห็นชัดเจนขึ้นในการเลือกตั้งคราวหน้าที่จะถึงนี้
5. การสยบเสียงวิจารณ์และขบวนการเดินขบวนใดๆ เพื่อให้ "การเมืองนิ่ง" ในช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมาบอกอะไรแก่เรา คำตอบคือ มันเป็นปฏิกิริยาของทุนใหญ่ต่อสองเหตุการณ์ คือ การถูกคุกคามโดยทุนต่างชาติหลังวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ.2540 และความกลัวขบวนการประชาชน ทุนขนาดใหญ่ของไทยที่หลุดรอดจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจมาได้ รู้สึกว่าถูกคุกคามโดยขบวนการประท้วงขององค์กรประชาชนระดับรากหญ้า และขบวนการเรียกร้องต่างๆ ซึ่งดูเหมือนจะสะสมพลังมากขึ้นเรื่อยๆ มาตั้งแต่ช่วง "การเมืองเปิด" ของทศวรรษก่อน เหตุผลที่รัฐบาลอ้างขึ้นมาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับนโยบาย "ปิดพื้นที่ทางการเมืองภาคประชาชน " นั้นขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตย กล่าวคือ ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาโดยระบบรัฐสภาประชาธิปไตยเท่านั้นที่มีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการอภิปรายทางการเมืองและในการกำหนดนโยบาย นั่นก็คือ ส.ส. และ ส.ว. เท่านั้นสามารถอ้างตัวเป็น "ชาติ" ในความหมายทางการเมือง คนอื่นๆ ไม่มีสิทธิ
6. มีการฟื้นฟูประเพณีอนุรักษ์นิยมบางประการของรัฐไทยในอดีตหลายรูปแบบ กล่าวคือ (ก) การฟื้นฟูบทบาททางการเมืองของกองทัพหลังจากที่สูญเสียสถานภาพไปเมื่อเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ.2535 ขณะนี้โครงข่ายอำนาจถูกถักทอขึ้นใหม่ผ่านญาติ ครอบครัว และเพื่อนร่วมรุ่น มิตรภาพ ภายในกลุ่มทหารและตำรวจระดับสูง พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ดำรงฐานะเสมือน "มือขวา" กองทัพมีบทบาทสำคัญขึ้นในการปฏิบัติการเพื่อควบคุมชายแดน ยาเสพติด และการรณรงค์ต่อต้านผู้ก่อการร้าย การทำบัญชีรายชื่อนายทหารที่ได้รับการเลื่อนยศประจำปี หวนกลับมาเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญยิ่งอีกครั้งหนึ่ง (ข) มีการฟื้นฟูบทบาทของรัฐในการจัดระเบียบวัฒนธรรมและสังคม (ค) มีการฟื้นฟูแนวคิดและสัญลักษณ์ของชาตินิยม โดยเฉพาะการใช้ธงชาติ วิธีการต่างๆ เหล่านี้เป็นการฟื้นฟูประเพณีซึ่งสามารถย้อนรอยไปถึงสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม และอื่นๆ อีกในประวัติศาสตร์ เป็นแนวความคิด รัฐเข้าควบคุมจัดหมวดหมู่ประชาชนตามแนวทางกองทัพคือให้ซ้ายหัน ขวาหันตามที่ผู้ปกครองต้องการ
โดยสรุป โครงร่างใหม่ของประชาธิปไตยไทย มีองค์ประกอบหลักคือ (1) กลุ่มทุนใหญ่เข้าเกาะกุมระบอบการเมืองอย่างสิ้นเชิง (2) ฝ่ายบริหารและพรรคการเมืองใหญ่มีบทบาทนำ (3) การใช้ประเพณีอนุรักษ์นิยมของรัฐไทยปิดกั้นพื้นที่ทางการเมืองสำหรับการเมืองภาคประชาชน หรืออีกนัยหนึ่งการเมืองนอกรัฐสภา "การเมืองเปิด" ที่มีองค์ประกอบของการมีส่วนร่วมในการกระบวนการกำหนดนโยบาย และการประท้วงผนวกกับการเจรจาต่อรอง ใช้ไม่ได้อีกต่อไป
ความเปลี่ยนแปลงที่บังเกิด ใช่ว่าจะไม่มีสิ่งดีเสียเลยทีเดียว มีสิ่งดีหลายประการ ถือได้ว่าเป็นชัยชนะของหลักการประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง ข้าพเจ้าแน่ใจว่ารัฐบาลนี้มีความจริงใจในการดำเนินนโยบายขจัดความยากจน และอาจจะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีก็ได้ หากเศรษฐกิจเจริญเติบโตในอัตราสูงอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลดำเนินการแก้ไขความยากจนระดับรากหญ้าด้วยมาตรการเจาะจงอย่างจริงจัง นอกจากนั้น การขยายบริการด้านสังคม ( เช่น การสาธารณสุข) อย่างกว้างขวางก็มีค่ายิ่ง นโยบายปฏิรูปที่ดินก็อาจจะสำเร็จอย่างงดงาม
แต่ข้าพเจ้าไม่มั่นใจว่าความก้าวหน้าในเรื่องสิทธิของประชาชน และความเป็นธรรมในสังคมจะดำเนินไปอย่างราบรื่น ธุรกิจขนาดใหญ่ให้ความสนใจกับประเด็นเรื่องสิทธิของประชาชนและเรื่องความเป็นธรรมในสังคมน้อย ภูมิปัญญาอนุรักษ์นิยมของรัฐไทยไม่เคยให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้มากนัก ขณะนี้พลังทั้งสองบูรณาการเข้าด้วยกันเสมือนเป็นหนึ่งเดียว ด้วยเหตุฉะนี้เราจึงไม่อาจคาดหวังอะไรได้มากนัก
จะทำอย่างไรดี ? ข้าพเจ้าเริ่มต้นจากสมมุติฐานว่าในภาวะการณ์ใหม่นี้ยุทธศาสตร์การเมืองภายใต้ภาวะ "การเมืองเปิด" ของทศวรรษ 1990 หมดพลังไปแล้ว ดังนั้นข้าพเจ้าจะขอพูดถึงทางเลือกต่างๆ ที่มีอยู่
ทางเลือกที่ 1 รอจนกว่าจะสะดุดขาตนเอง ดูเหมือนว่านี่จะเป็นยุทธศาสตร์ของผู้คนและพรรคฝ่ายค้านบางพรรค ผู้ที่เลือกยุทธศาสตร์นี้สังเกตว่าการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงได้เร็วมาก ประชาชนเบื่อง่าย และอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอ แต่ถ้าหากท่านเห็นด้วยกับการวิเคราะห์ของข้าพเจ้าก่อนหน้านี้ที่ว่าประชาธิปไตยไทยเปลี่ยนไปแล้ว และพลังที่อยู่เบื้องหลังมีความแข็งแกร่งทีเดียวแล้วละก็ ยุทธศาสตร์นี้ก็ไม่ใช่ทางเลือก คือใช้ไม่ได้อีกต่อไป ถ้ายังขืนยึดยุทธศาสตร์นี้ เห็นทีจะเป็นการฆ่าตัวตายแบบสันติวิธี
ทางเลือกที่ 2 ปฏิรูปรัฐธรรมนูญ เป็นที่ชัดเจนว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2540 หลายบทมีส่วนเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การเมืองรูปแบบใหม่ก่อตัวขึ้นมาได้ แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยเดียว ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญจึงอาจไม่มีประสิทธิภาพมากนัก นอกจากนั้น หลายๆคนกริ่งเกรงว่า การเปิดประเด็นเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญภายใต้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในปัจจุบัน กลับจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก และเราอาจจะสูญเสียความเชื่อมั่นในความสามารถที่จะเปลี่ยนการเมืองโดยการร่างรัฐธรรมนูญเสียก็ได้
ทางเลือกที่ 3 ก่อตั้งกลุ่มผลประโยชน์ที่สามารถรวบรวมมวลชนจำนวนมากเข้าสู่ขบวนการ แล้วรวบรวมพลกำลังทั้งการเงินและกำลังสมอง ในการวิ่งเต้นเปลี่ยนแปลงนโยบายและกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เข้าทำนองดำเนินรอยตามระบอบการเมืองของกลุ่มผลประโยชน์ที่เป็นอยู่ที่สหรัฐอเมริกา การส่งแรงกดดันและการวิ่งเต้นจะให้ได้ผลต้องส่งแรงตรงไปที่ฝ่ายบริหารไม่ใช่ที่ฝ่ายข้าราชการ มีความจำเป็นที่จะต้องวิ่งเต้นส่งอิทธิพลต่อฝ่ายบริหาร เพราะว่ากลุ่มวิ่งเต้นมีกำลังต่อรองในฐานะเป็นผู้ออกเสียงเลือกตั้ง นั่นคือมีบทบาทที่จะกำหนดผลการเลือกตั้งได้ ยุทธศาสตร์นี้ต้องคิดในแง่ระยะยาว ไม่ใช่เรื่องง่าย และจะต้องใช้เงินทุน บางทีขบวนการจัดตั้งภาคประชาชนอาจต้องนึกถึงยุทธศาสตร์นี้ เป็นส่วนเสริมหรือถึงขั้นแทนยุทธศาสตร์แบบเดิมๆ เสียเลยทีเดียว
ทางเลือกที่ 4 สื่อเสรี ยุทธศาสตร์นี้สำคัญมาก สื่อสารมวลชนในขณะนี้ประนีประนอมกับอำนาจทางการเมืองเกือบหมดสิ้น กลุ่มที่ต้านยันอยู่ได้เพียงกลุ่มเดียวก็กำลังจะถูกซื้อไปโดยครอบครัวนักธุรกิจระดับนำของไทยรักไทย เราได้สังเกตเห็นคุณภาพของสื่อมวลชนที่ดูเหมือนจะถดถอยลงในช่วงระยะ 2 ปีที่ผ่านมาอย่างน่าใจหาย ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคิดถึงสื่อทางเลือก เช่น สื่อผ่านอินเตอร์เนต อาจต้องนึกถึงหนังสือพิมพ์อินเตอร์เนต เช่น KINI ของมาเลเซีย
ทางเลือกที่ 5 การเมืองระบบพรรค บางทีในท้ายที่สุดอาจจะต้องยอมรับว่า ขณะนี้เราอยู่ ณ จุดที่รัฐสภามีบทบาทนำและสำคัญที่สุด ดังนั้นเกมเดียวที่จะต้องเล่น ก็คือ การเมืองในระบอบรัฐสภา ประเด็นนี้มีความสำคัญมาก ยิ่งเมื่อพิจารณาในทางปฏิบัติแล้ว การเมืองไทยอาจจะมีแนวโน้มไปสู่การเมืองพรรคเดียว นอกเสียจากว่าเกิดปาฏิหารย์ขึ้น พรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุด ก็ดูเหมือนจะไม่ใช่ทางเลือกที่ให้ความมั่นใจ แม้ว่าจะพยายามนำเสนอชุดนโยบายของพรรคแบบใหม่เมื่อเร็วๆนี้ ก็ดูไม่แตกต่างจากของไทยรักไทยเท่าใดนัก แม้ว่าจะพยายามชี้ว่าแตกต่าง เพราะไม่ใช่นโยบายประชานิยม อย่างไรก็ตาม ประวัติการทำงานที่ผ่านมาในอดีต ทำให้เราไม่อาจหวังอะไรที่แตกต่างไปจากพรรคไทยรักไทยมากนัก อันที่จริงแล้วจุดอ่อนของพรรคฝ่ายค้านปัจจุบัน น่าจะเป็นโอกาสสำหรับการเปิดพื้นที่ให้กับพรรคใหม่ที่แตกต่าง ยุทธศาสตร์นี้ไม่ใช่เรื่องระยะสั้น ต้องเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาว ไม่ง่ายและต้องใช้เงินทุน อาจจะถึงเวลาที่จะต้องมีการอภิปรายกันอย่างจริงจังในเรื่องนี้มากกว่าที่ผ่านมาในอดีต ในประเทศอื่นๆ ซึ่งประสบกับภาวะที่การเมืองถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนใหญ่ ทางเลือกมักจะออกมาในรูปของขบวนการที่พันธมิตรระหว่างชาวนา กรรมกรและผู้หญิง มีบทบาทสำคัญ ขณะนี้กลุ่มต่างๆ ที่กล่าวถึงมีขบวนการของตัวเองเหมือนกัน แต่ยังไม่มีการผนึกกำลัง อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องพิจารณาด้วยก็คือว่า ขบวนการดังกล่าวมีจุดยืนอะไรที่มีพลังที่จะยึดโยงมวลชนเข้าด้วยกัน
โดยสรุป พรรคไทยรักไทยทำให้การเมืองไทยเปลี่ยนไปแล้ว ขบวนการประชาชนจะใช้ยุทธศาสตร์เดิมๆ สภาพเดียวไม่ได้อีก จำเป็นที่จะต้องคิดถึงยุทธศาสตร์ใหม่ๆ ที่เสนอมาไม่ใช่ให้เลือกอันใดอันหนึ่ง อาจต้องใช้หลายยุทธศาสตร์ประสานกัน และในที่สุดเมื่อขบวนการต่างๆ มีจุดยืนที่ชัดเจน และสามารถยึดโยงมวลชนได้ เราอาจจะเห็นการเมืองไทยเคลื่อนไปอีกระดับหนึ่ง ในแนวทางที่ภาคประชาชนสามารถปกป้องสิทธิและสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมได้อย่างยั่งยืน
--------------------------------------------------
*** ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร
ปาฐกถานำในการสัมมนาประจำปี ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เรื่อง "ประชาธิปไตย ประชาสิทธิ ประชาธรรม" วันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 ณ
ห้องประชุมสารนิเทศ