ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>
มาตรฐานในการเปรียบเทียบ
อาร์ดิ เจ บาม เสนอมาตรฐานในการเปรียบเทียบไว้ 9 แบบคือ
1. ใช้ปรัชญาของตนเองเป็นมาตรฐาน (ones own philosophy as standard) หลักที่ไม่ค่อยดีเพราะสุดท้ายก็จะกลายเป็นว่าความคิดของตนถูกต้อง ของคนอื่นผิดหมด เลยไม่ได้ความคิดอะไรใหม่ ๆ ขึ้นมาเลย
2. ไม่ค่อยมีมาตรฐานใด ๆ (no standard) หลักนี้กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือใช้หลักสัมพัทธนิยมนั่นเอง
3. ใช้ลักษณะสากลเป็นมาตรฐาน (universal traits as standard) คือถือว่าลักษณะที่ปรากฏอยู่ในความคิดทั้งหลาย ยืนยงมาแต่อดีตจนปัจจุบันเป็นมาตรฐานในการเปรียบเทียบ เพราะลักษณะเช่นนั้นกล่าวได้ว่าเป็นลักษณะสากล แต่หลักนี้ในทางปฏิบัติจริง ๆ แล้วก็ทำได้ยากเหมือนกัน
4. ใช้ลักษณะพิเศษเป็นมาตรฐาน (universal traits as standard) คือเอาลักษณะพิเศษที่มีอยู่ในระบบปรัชญาหรือวัฒนธรรมนั้น ๆ มาเป็นมาตรฐานหรือเป็นหลักในการเปรียบเทียบ หลักอันนี้ก็ไม่ค่อยดีนัก เพราะหากหาลักษณะพิเศษไม่ได้ก็หาที่เปรียบเทียบไม่ได้นั่นเอง
5. ใช้ลักษณะเลือกสรรเป็นมาตรฐาน (selected traits as standard) คือเลือกเอาบางเรื่องบางประเด็นมาเปรียบเทียบกัน อาจจะเป็นการเริ่มจากเรื่องง่าย ๆ ไปหาเรื่องที่จะเป็นประโยชน์ทางใดทางหนึ่ง หรือเรื่องที่น่าสนใจเป็นต้น
6. การใช้อุดมคติเหนือวัฒนธรรมต่าง ๆ เป็นมาตรฐาน (an ideal standard) คือการใช้อุดมคติที่เป็นกลางไม่ลำเอียงไปทางวัฒนธรรมใด ๆ วัฒนธรรมหนึ่งเป็นมาตรฐานในการเปรียบเทียบ แต่ก็เป็นการยากที่จะหาอุดมคติเช่นนี้ได้ในทางปฏิบัติ
7. การใช้ลักษณะทั้งหมดเป็นมาตรฐาน (all traits as standard) คือศึกษาเปรียบเทียบกันทุกเรื่อง แต่หลักนี้ก็ออกจะเป็นการทำได้ยากและเกินความจำเป็น
8. การใช้ปรัชญาโลกเป็นมาตรฐาน (developed world philosophy as standard) คือใช้ปรัชญาสากล หรือปรัชญาอันยุติแน่นอนตายตัวแล้วเป็นมาตรฐาน แต่หลักอันนี้ก็คงจะเป็นเพียงความฝันมากกว่าความเป็นจริง
9. การใช้ลักษณะที่เปรียบเทียบกันมาแล้วในอดีตเป็นมาตรฐาน (previously compared traits as standards) คือการใช้ทรรศนะอันเป็นผลของการเปรียบเทียบที่ได้เคยมีผู้ทำไว้แล้วในอดีตมาเป็นมาตรฐานในการเปรียบเทียบ ข้อเสียของหลักอันนี้ก็คืออาจจะทำให้เรากลายเป็นผู้ติดในแบบแผนหรือความคิดเก่า ๆ มากเกินไปจนมองไม่เห็นความคิดใหม่ ๆ
กล่าวโดยสรุป ทุกมาตรฐานแล้วมีข้อบกพร่องด้วยกันทั้งนั้น ความต้องการของปรัชญาเปรียบเทียบ คือต้องการความแจ่มแจ้งในความคิดและความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างบุคคลต่างวัฒนธรรมกัน