ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>
ปรัชญาอินเดียกับปรัชญาตะวันตก
ศาสนาน่าจะมีมาก่อนปรัชญา เพราะมนุษย์เชื่อก่อนคิดด้วยเหตุผล แต่มูลฐานของปรัชญาก็คือศาสนานั้นเอง เช่นเรื่องจิตเป็นอมตะเป็นต้น ความคิดทางศาสนาเริ่มต้นด้วยการนับถือผีบรรพบุรุษก่อน แล้วพัฒนามาเป็นนับถือพระเจ้าองค์เดียวแล้วจึงเกิดมีศาสนาที่ไม่มีพระเจ้า ความคิดทางปรัชญาก็คล้ายกับศาสนา คือเริ่มแรกก็เชื่อว่าสิ่งต่าง ๆ มีวิญญาณ ปรากฏการณ์ธรรมชาติเป็นไปด้วยอำนาจของวิญญาณ
ต่อมาจึงเชื่อว่า ธรรมชาติผู้-เมียเป็นตัวก่อให้เกิดโลก ต่อมาจึงมีความคิดเกี่ยวกับจิต (บุรุษ) ซึ่งเป็นตัวผู้ สสารหรือรูปธาตุ (ประกฤติ) ซึ่งถือว่าเป็นตัวเมีย ความคิดในลักษณะนี้เป็นปรากฏอยู่ในหลายชาติจึงน่าจะเป็นได้ว่า วิวัฒนาการทางปรัชญานั้นเองเกิดขึ้นในชาตินั้น ๆ โดยไม่ต้องอาศัยรับเอามาจากชาติอื่น
ข้อสังเกต อียิปต์กับเมโสโปเตเมีย (อิรัก) เป็นอารยชนมาแต่โบราณ แต่ไม่ปรากฏว่าให้ปรัชญาอะไรแก่โลกเลย ดินแดนของพวกกรีก ซึ่งเป็นคาบสมุทรกรีกและตุรกีในปัจจุบันเดิมเป็นที่อาศัยของพวกทราวิทมาก่อน แล้วพวกกรีกอพยพมาอยู่ที่หลังเมื่อราว 1,500 ปีก่อน ค.ศ. จึงน่าคิดว่าพวกกรีกพัฒนาปัญญาของตนเองโดยการรับเอาปัญญาของชาติอื่นมาอีกทีหนึ่ง โดยเฉพาะก็คือปัญญาของอินเดีย เพราะปรัชญากรีกเกิดร่วมยุคกับพุทธศาสนา และความคิดที่สำคัญ ๆ เกิดหลังพุทธกาลทั้งนั้น
ปรัชญาของอินเดียนั้นมีมาก่อนพุทธกาล คือปรัชญาพระเวทและอุปนิษัท มาถึงยุคพุทธกาลจึงเกิดปรัชญา 6 ระบบ ปรัชญาอินเดียจึงน่าจะถ่ายเทไปสู่พวกกรีกด้วยโดยผ่านทางเปอร์เชียไปสู่ตุรกีอันเป็นถิ่นของพวกกรีก เมื่อพวกกรีกเสื่อมอำนาจลง วิทยาการของพวกกรีกถ่ายทอดไปสู่พวกอาหรับ แล้วพวกยุโรปจึงได้รับเอาจากอาหรับไปพัฒนาเป็นวิทยาการสมัยใหม่อีกทีหนึ่ง ในศตวรรษที่ 16 พวกยุโรปเริ่มศึกษาเรื่องของอินเดีย ถึงศตวรรษที่ 18 พวกยุโรปจึงได้เริ่มแปลงานของชาวอินเดียเป็นภาษายุโรปโดยเฉพาะก็คือชาวเยอรมัน