ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
ทฤษฎีการสื่อสาร
ทฤษฎีการสื่อสาร
ความสำคัญของทฤษฎีการสื่อสาร
วิวัฒนาการของทฤษฎีการสื่อสาร
ทฤษฎีการสื่อสารและการเรียนการสอน
ทฤษฎีการสื่อสารยุคกลาง
ยุคนี้เริ่มตั้งแต่ประมาณปี 1945 หลังสงครามโลกครั้งที่สองจนมาถึงทศวรรษ 1970
อาจเรียกได้ว่าเป็นยุคโมเดิร์นนิสต์ (modernism) มีแนวโน้มสำคัญสามประการคือ
- การวิพากษ์ทฤษฎีการสื่อสารของกลุ่มอำนาจนิยม และเบ็ดเสร็จนิยม
- การก่อเกิดทฤษฎีสื่อสารเพื่อการพัฒนา หรือนิเทศศาสตร์พัฒนาการ (Development Communication Theory
- การวิพากษ์ลัทธิสมัยนิยม (modernism) ที่เป็นจุดเริ่มต้นของลัทธิหลังสมัยนิยม (postmodernism)
- การพัฒนาเทคนิคและเทคโนโลยีอันเป็นที่มาของศาสตร์แห่งการสื่อสารมวลชน
1. ในภาพรวม การวิพากษ์ทฤษฎีของกลุ่มอำนาจนิยมและเบ็ดเสร็จนิยม ก็คือ การวิเคราะห์เชิงมานุษยวิทยาว่าเป็นแนวคิดที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ปิดกั้นเสรีภาพทางการเมืองของปัจเจกชน ใช้สื่อมวลชนปฏิบัติการทางจิตวิทยาอย่างเข้มข้นเพื่อผลทางการเมืองของฝ่ายเผด็จการ สื่อมวลชนมีประสิทธิผลสูงในเชิงการเมือง แต่ขาดคุณค่าในเชิงมนุษยธรรม
การวิพากษ์ได้ก่อให้เกิดทฤษฎีหลากหลายที่เกี่ยวกับผลและอิทธิพลของสื่อในเชิงลบ อาทิ
กลุ่มทฤษฎีผลอันไม่จำกัดของสื่อ (unlimited effects) ได้แก่ ทฤษฎีกระสุนปืน (magic bullet theory) และทฤษฎีกระสุนเงิน (silver bullet theory) ซึ่งเชื่อว่าการโฆษณาชวนเชื่อของสื่อมวลชนมีอิทธิพลต่อความเชื่อและพฤติกรรมของมวลชนอย่างมหาศาล เช่น ในกรณีที่ฮิตเลอร์กระทำต่อประชาชนชาวเยอรมันก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ทฤษฎีเข็มฉีดยา (hypodermic needle theory) ที่พยายามแสดงให้เห็นว่าสื่อมวลชนสามารถอัดฉีด สารอย่างเดียวกัน แก่สมาชิกทั้งหมดของสังคมมวลชนอย่างได้ผล
กลุ่มทฤษฎีนี้ต่อมาถูก ลบล้าง ด้วยกลุ่มทฤษฎีผลที่จำกัดของสื่อ (limited effects) ที่อ้างปัจจัยตัวแปรต่าง ๆ
ทางด้านจิตวิทยา สังคมวิทยา หรือรัฐศาสตร์ที่สามารถจำกัดผลของสื่อได้ ทางด้านจิตวิทยา เช่น กระบวนการเลือกสรร (selective process) ความน่าเชื่อถือของแหล่งสาร (source credibility) กระบวนการยอมรับนวัตกรรม (innovation adoption process) ทฤษฎีแรงเสริม (reinforcement theory)
ทางด้านสังคมวิทยา เช่น แบบจำลองการเกี่ยวโยงพึ่งพากันของผลจากสื่อมวลชน (dependency model of media effects) สมมติฐานการไหลสองทอดของการสื่อสาร (two-step flow of communication) แบบจำลองสังคมวัฒนธรรมและกลุ่มประเภททางสังคมในกระบวนการโน้มน้าวใจ (sociocultural and social categories models of the persuasion process)
ทางด้านรัฐศาสตร์ เช่น ทฤษฎีปทัสถานของการปฏิบัติงานสื่อสารมวลชน (normative theories of media performance)
อย่างไรก็ตาม การวิพากษ์ผลและอิทธิพลของสื่อมิได้จำกัดอยู่เฉพาะผลทางตรงเท่านั้น หากมุ่งมองไปที่ผลทางอ้อมด้วย ทฤษฎีสำคัญที่ยังศึกษากันจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ ทฤษฎีคนเฝ้าประตู (gatekeeper theory) ซึ่งเคิร์ท ลูอิน (Kurt Lewin) เป็นผู้เริ่มเสนอในปี 1947 ว่าสื่อมวลชนเป็นผู้กลั่นกรองคัดเลือกข่าวให้เหลือน้อยลงเพื่อการเสนอต่อประชาชน แสดงให้เห็นอำนาจเด็ดขาดของสื่อมวลชนที่ไม่มีใครเข้าไปเกี่ยวข้องได้ ทฤษฎีบทบาทหน้าที่ในการกำหนดวาระ (agend-setting function) โดยลาซาร์สเฟลด์ (Lazarsfeld) เริ่มชี้ให้เห็นตั้งแต่ปี 1944 ว่านักการเมืองพยายามโน้มนำประชามติให้สนใจแต่วาระเรื่องราวที่สอดคล้องสนับสนุนจุดยืนของพรรคตน ซึ่งต่อมาแม็คคอมบ์และชอว์ (McCombs and Shaws) ในปี 1972 ได้เสนอเป็นทฤษฎีที่แสดงอิทธิพลทางอ้อมของสื่อในการชี้นำวาระทางสังคม หรือเรื่องราวที่ต้องให้ความสนใจ
แบบจำลองการขยายวงของความเงียบ (spiral of silence) ซึ่งโนแอล-นอยมันน์ (Noelle-Neumann) เริ่มเสนอตั้งแต่ปี 1974 ว่าสื่อมวลชนเป็นผู้สร้างบรรยากาศของความคิดเห็น (climate of opinion) ที่ทำให้ปัจเจกชนรู้แนวโน้มของประชามติ และมักจะปิดปากเงียบเมื่อรู้สึกว่าประชามติไม่ตรงกับความคิดเห็นของตน จำนวนปัจเจกชนที่ปิดปากเงียบจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามสัดส่วนความเข้มข้นของประชามตินั้น
2. นอกจากแนวโน้มในการวิพากษ์ผลและอิทธิพลของสื่อแล้ว ยุคกลางของทฤษฎีการสื่อสารยังมีแนวโน้มในการเสนอแนวคิดและแนวทางใหม่เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชน เพราะมีแรงผลักดันจากผลของสงคราม สงครามทำให้เห็นความสำคัญของการบูรณะฟื้นฟูพัฒนายุโรปตะวันตก การขยายขอบเขตการพัฒนาออกไปสู่ประเทศที่ยังด้อยพัฒนาในโลกที่สาม รวมทั้งความสำคัญที่จะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทของสื่อมวลชนให้หันมาเน้นสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในประเทศ ต่าง ๆ ทุกทวีป
ได้เกิดมีกลุ่มทฤษฎีที่รวมเรียกว่า ทฤษฎีการสื่อสารเพื่อการพัฒนา หรือนิเทศศาสตร์พัฒนาการ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากนักวิชาการอเมริกันที่ตระหนักในอำนาจอิทธิพลของสื่อ และประสงค์จะใช้สื่อในแนวทางใหม่ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาของโลก โดยเฉพาะในส่วนที่ยังยากจนและมองเห็นว่าล้าสมัย
แดเนียล เลอร์เนอร์ (Daniel Lerner) เขียนหนังสือเรื่อง :The Passing of Traditional Society, Modernization of the Middle East (การผ่านไปของสังคมประเพณีดั้งเดิม การทำให้ตะวันออกกลางทันสมัย) ในปี 1958 เสนอความคิดให้เปลี่ยนตะวันออกกลางจากสภาพสังคมประเพณีดั้งเดิมไปสู่ความทันสมัย เป็นหนังสือเล่มสำคัญที่ชูธงทฤษฎีการสื่อสารเพื่อการพัฒนาอย่างกล้าหาญ
ทฤษฎีของเขาได้รับการสนับสนุนโดยทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ของรอสตอฟ (Rostow) ที่เสนอในปี 1960 ว่า ประเทศที่ด้อยพัฒนาจะเจริญเติบโตได้ก็ด้วยการทำให้เป็นประเทศอุตสาหกรรม (industrialization) มิฉะนั้นก็ไม่สามารถที่จะบินเหิน (take-off) ขึ้นไปสู่ความทันสมัยได้
หลังจากนั้นอีกสองปี เอเวอเร็ตต์ รอเจอร์ส (Everett Rogers) ทุมเทงานวิจัยและเปิดฉากเสนอทฤษฎีสื่อสารนวัตกรรม (communication of innovation) ไปทั่วโลก แนวความคิดของเขามีอิทธิพลเป็นอันมากต่อนักนิเทศศาสตร์ในประเทศที่กำลังพัฒนา โดยเฉพาะแบบจำลองการยอมรับของชาวบ้าน (adoption process model of the peasants) ที่ยังนำมาประยุกต์ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
ลูเซียนพาย (Ludien Pye) ในปีเดียวกันเขียนเรื่อง บทบาทของทหารในประเทศกำลังพัฒนา
แต่ที่ตอกย้ำความสำคัญของสื่อมวลชนในการพัฒนามากเป็นพิเศษจนพูดได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของนิเทศศาสตร์พัฒนาการที่แท้จริงก็คือหนังสือเรื่อง สื่อมวลชนกับการพัฒนาประเทศ (1964) ของวิลเบอร์ชรามบ์ (Wilbur Schramm) นักสังคมวิทยาที่ต่อมาได้รับการยกย่องว่าเป็นนักวิชาการสื่อสารมวลชนที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งของโลก
ทฤษฎีเหล่านี้มุ่งเสนอให้สื่อช่วยส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะที่ยังล้าหลัง โดยมองเห็นว่า การพัฒนาก็คือการทำให้ทันสมัย (เลอร์เนอร์) การพัฒนาคือความมั่นคง (แม็คนามารา) การพัฒนาคือเสรีภาพ (ฌ็องมาเออ ผู้อำนวยการยูเนสโก) การพัฒนาคือการปฏิวัติด้วยเสรีภาพ (เฮอร์เบิร์ต มาร์แชล รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ)
แต่ก็ถูกย้อนวิพากษ์ (reverse criticism) ว่าการทำให้ทันสมัย (modernization) ก็คือการทำให้เป็นตะวันตก (westernization) ทำให้เป็นอเมริกัน (Americanization) เป็นการหล่อหลอมโน้มน้าวให้เชื่อในลัทธินิยม (modernism) เป็นเสรีภาพที่นำไปสู่ความเป็นทาสความคิดและวัฒนธรรมตะวันตก
3. การวิพากษ์ลัทธิสมัยนิยม (modernism) เป็นจุดเริ่มต้นของลัทธิหลังสมัยนิยม (postmodernism) นักทฤษฎีแนววิพากษ์จำนวนมิใช่น้อยได้ทุ่มเทศึกษาวิจัยเพื่อโต้แย้งหรือตักเตือนให้ประเทศกำลังพัฒนายั้งคิดไตร่ตรองก่อนที่จะทุ่มตัวยอมรับลัทธิสมัยนิยมจากนักวิชาการชาวอเมริกัน
เฮอร์เบอร์ต มาค์คูเซ (Herbert Marcuse) ได้วางรากฐานการวิพากษ์สังคมไว้ในหนังสือเรื่อง มนุษย์มิติเดียว (One-dimensional Man) ซึ่งเสนอในปี 1964 ว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ถูกนำมาเป็นบรรทัดฐานความคิดและเครื่องมือสร้างความทันสมัย ท้ายที่สุดก็ได้ลดระดับการพูดและการคิดของมนุษย์ให้เหลือเพียงมิติเดียว อาทิ การรวบความจริงกับการปรากฏความจริงไว้ด้วยกัน การรวบสิ่งของกับบทบาทหน้าที่ของมันไว้ด้วยกัน การรวบธนบัตรกับความสุขไว้ด้วยกัน
ทฤษฎีของเขาสร้างขึ้นตั้งแต่สอนอยู่ที่สาขาปรัชญาในมหาวิทยาลัยฟรังเฟิร์ต ซึ่งรู้จักกันในนามของสำนักแฟรงเฟิร์ต (Frankfurt School) มีส่วนเป็นชนวนให้นักศึกษาลุกฮือต่อต้านสถาบันทุนนิยม (capitalist establishment) และสังคมบริโภค (society of consumption) ทั้งในปารีส และแคลิฟอร์เนีย ในปี 1968 ชื่อของเขาถูกกล่าอ้างว่าอยู่ในกลุ่มสามเอ็ม (3 Ms) ผู้ปฏิวัติสังคม คือ Marx, Mao และ Marcuse
เฮอร์เบิร์ต ชิลเลอร์ (Herbert Schillet) แห่งมหาวิทยาลัยซานดิเอโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นผู้ผลักดันทฤษฎีวิพากษ์ออกไปสู่ทฤษฎีใหม่ที่อาจเรียกว่าลัทธิจักรวรรดินิยมทางการสื่อสาร (communication imperialism) โดยการเขียนเรื่อง จักรวรรดิ์อเมริกันกับการสื่อสาร American Empire and Communicaiton (1969) ตามมาด้วยหนังสืออีกหลายเล่มที่เป็นศูนย์รวมความคิดต่อต้าน การรุกรานทางวัฒนธรรม ของสหรัฐอเมริกา ติดตามสนับสนุนด้วยงานวิจัยของ คาร์ล นอร์เด็นสเตร็ง (Karl Nordenstreng) ตาปิโอ วารีส (Tapio Varis) จากประเทศฟินแลนด์ สมควร กวียะ, บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา จากประเทศไทยและนักคิดนักวิชาการอีกหลายคนจากตะวันออกกลางและอเมริกาใต้ในช่วงทศวรรษ 1970
ในบทความเรื่อง La Morale des Objects (วัตถุธรรม) ตีพิมพ์ในวารสารนิทเทศศาสตร์ของฝรั่งเศส (1969) ฌ็อง โบดริยาร์ด (Jean Baudrillard) มีส่วนริเริ่มอย่างสำคัญในการสถาปนาทฤษฎีการบริโภคสัญญะ (consumption of signs) ที่ประสมประสานแนวคิดลัทธินิยมบริโภคของมาร์คูเซและลัทธิจักรวรรดินิยมทางการสื่อสารของชิลเลอร์ทฤษฎีบริโภคสัญญะอธิบายว่า ในประเทศที่มั่งคั่งฟุ่มเฟือย (Pays de Cocagne) ด้วยลัทธิบริโภค มนุษย์มีความสุขความหวังของชีวิตอยู่ที่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะทำให้เขาได้บริโภควัตถุอย่างฟุ่มเฟือย แต่ในความเป็นจริงเขาต้องบริโภค สัญญะของวัตถุ ที่มาจากสื่อมวลชนด้วยและโดยทั่วไป สัญญะ ก็มักจะไม่ตรงกับ วัตถุ หรือผลิตภัณฑ์
ทฤษฎีที่วิพากษ์การบริโภคสัญญะ วิเคราะห์ลัทธิบริโภคและวิจารณ์ลัทธิจักรวรรดินิยมทางการสื่อสาร ได้ร่วมกันกระตุ้นเตือนอย่างรุนแรงให้โลกของนิเทศศาสตร์ผ่านจากยุคสมัยนิยม (modernism) มาสู่ยุคหลังสมัยนิยม (postmodernism) ในทศวรรษ 1980
4. การพัฒนาเทคนิคและเทคโนโลยีกลายเป็นที่มาของวิชาการสื่อสารมวลชน ย้อนกลับมาที่สหรัฐอเมริกาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นักคิดนักวิชาการไม่เพียงแต่จะได้เสนอแนวคิดทฤษฎีการสื่อสารเพื่อการพัฒนาโลกที่สาม (ประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนา) เท่านั้น หากยังได้พยายามศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาเทคนิคและเทคโนโลยีการสื่อสารของตนเองให้เพิ่มพูนคุณค่าและประสิทธิภาพอยู่โดยตลอด อาจเรียกรวมแนวคิดทฤษฎีเหล่านี้อยู่ในกลุ่มพัฒนาการสื่อสาร (communication development) ซึ่งต่อมายูเนสโกก็ได้นำไปเป็นพื้นฐานในการตั้งโครงการนานาชาติ เพื่อการพัฒนาการสื่อสาร (International Program for Communication Development) และญี่ปุ่นก็ได้นำแนวคิดไปสร้างแผนพัฒนาระบบเครือข่ายสารสนเทศ (Information Network System) ที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 1985-2000 ทำให้ญี่ปุ่นก้าวเข้ามาสู่สภาพสังคมสื่อสาร (cybersociety) ในต้นศตวรรษที่ 21
ทฤษฎีที่สำคัญและเป็นรากฐานของการพัฒนาสังคมสื่อสารเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันก็คือ ไซเบอร์เนติกส์ (Cybernetics) ซึ่งหมายถึงศาสตร์ที่ว่าด้วยการสื่อสารและการควบคุมภายในสัตว์และในเครื่องจักร ซึ่งนำเสนอโดยนอร์เบิร์ต วีเนอร์ (Norber Wiener) เมื่อปี 1948 แสดงให้เห็นบทบาทสำคัญของสารสนเทศในการเสริมสร้างและดำรงสังคมมนุษย์ โดยอาศัยกลไกการป้อนไปและป้อนกลับ (feedforward-feedback mechanism) ภายในระบบชีวิตและระบบสังคม ซึ่งถือว่ามีชีวิตเช่นเดียวกัน ชีวิตและสังคมจะเจริญพัฒนาไปได้ก็โดยการพัฒนาระบบการสื่อสารที่สามารถถ่ายทอดแลกเปลี่ยนสารสนเทศกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในปีเดียวกัน ฮาโรลด์ ลาสเวลล์ (Harold Lasswell) เสนอทฤษฎีบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชน (functionalism) เสนอให้เห็นชัดเจนเป็นครั้งแรกว่าบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชน คือการดำรงรักษาและบูรณาการสังคม (social integration) จึงจะต้องมีการปรับปรุงพัฒนาสื่อมวลชนมิให้เกิดความล้มเหลว (dysfunction) ในการปฏิบัติหน้าที่ของตนคือ การเฝ้าระวังสภาพแวดล้อม การประสานส่วนต่าง ๆ ของสังคมให้ตอบสนองต่อสภาพแวดล้อม และการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรม
อีกทฤษฎีหนึ่งแม้ในตอนเริ่มต้นมิได้เกี่ยวกับการสื่อสารมวลชนโดยตรง แต่ก็ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสื่อมวลชน นั่นคือ ทฤษฎีสารสนเทศ (information theory) ของ แชนนอน และวีเวอร์ (Shannon and Weaver) ซึ่งพัฒนาขึ้นในปี 1949 เสนอเป็นแบบจำลองที่วิเคราะห์การถ่ายทอดสารนิเทศ และแสดงให้เห็นการสื่อสารเป็นกระบวนการที่เริ่มต้นจากแหล่งสาร (source) เลือกสาร (message) ถ่ายทอดไป (transmitted) ในรูปแบบของสัญญาณ (signal) ผ่านช่องทางการสื่อสาร (channel) ไปยังเครื่องรับ (receive) ซึ่งแปลงสัญญาณเป็นสารสำหรับจุดหมายปลายทาง (destination) ในกระบวนการนี้อาจมีสิ่งรบกวนหรือแทรกแซง (noise or interference) ซึ่งทำให้สารที่ส่งกับสารที่รับแตกต่างกันได้
แบบจำลองของทฤษฎีสารสนเทศนี้ มีส่วนเป็นแรงบันดาลใจให้ เดวิด เค เบอร์โล (David K. Berlo) พัฒนาไปเป็นแบบจำลองทางจิตวิทยาว่าด้วยองค์ประกอบของการสื่อสารระหว่างบุคคลที่รู้จักกันดีในนามของ S M C R (Source, Message, Channel, Receiver) พิมพ์ในหนังสือ ชื่อ The Process of Communication (กระบวนการสื่อสาร ในปี 1960
แต่องค์ประกอบของกระบวนการการสื่อสารที่เสนอเพิ่มเติมอย่างมีความสำคัญจากทฤษฎีสารสนเทศของแชนนอน-วิเวอร์ ก็คือการเข้ารหัสและการถอดรหัส (encoding-decoding) ของผู้ส่งสารและผู้รับสารในแบบจำลองเชิงวงกลมของ วิลเบอร์ ชรามม์ และ ชาร์ลส์ ออสกูด (Wilbur Schramm and Charles osgood) ทำให้เห็นว่าการสื่อสารของมนุษย์และของสื่อมวลชนจะมีประสิทธิผลสูงก็ต่อเมื่อการเข้ารหัสถอดรหัสที่ดี ผู้สื่อสารทั้งสองฝ่ายจะต้องมีความรู้ความสามารถในการแปลสารสนเทศ (information) เป็นสาร (messgae) และแปลงสารเป็นสารสนเทศได้ทั้งสองทิศทาง
ทฤษฎีอีกกลุ่มหนึ่งที่นำมาประยุกต์ใช้บ่อยครั้งในการเพิ่มประสิทธิภาพของการสื่อสารมวลชนก็คือแนวคิดของแบบจำลองการใช้ประโยชน์และการไดรับความพึงพอใจ (uses and gratifications) โดยเฉพาะของเอลิฮูคัทซ์ (Elihu Katz) และคณะ (1974) ซึ่งเสนอว่า การใช้ประโยชน์และการได้รับความพึงพอใจของผู้รับสารมาจากการเปิดรับสารจากสื่อมวลชนที่เขาคาดหวังว่าจะให้สารสนเทศตามความต้องการ อันเกิดจากสภาวะทางจิตใจและทางสังคม
จากทฤษฎีนี้ทำให้เริ่มตระหนักว่าสื่อมวลชนที่ประสบความสำเร็จจะต้องมีการวิเคราะห์วิจัยให้รู้ความต้องการสารสนเทศของประชาชน รวมทั้งสภาวะทางจิตใจและสังคมอันเป็นที่มาของความต้องการนั้นอยู่ตลอดเวลา
ทฤษฎีที่กล่าวข้างต้นมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการสื่อสารมวลชน ซึ่งถือว่าเป็นการสื่อสารที่สำคัญที่สุดของสังคมสมัยใหม่ (modern society) ในที่สุดก็ก่อให้เกิดศาสตร์ใหม่ที่ขยายตัวมาจากวารสารศาสตร์ เรียกว่า วิชาการสื่อสารมวลชน
สถาบันการศึกษาหลายแหล่งในสหรัฐอเมริกาได้ต่อเติมชื่อคณะหรือสถาบันวารสารศาสตร์ เรียกเป็น วารสารศาสตร์และสื่อสารมวชชน (Journalism and Mass Communication) ซึ่งในประเทศไทยก็จะเห็นได้ชัดเจนจากกรณีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ก่อตั้งขึ้นเป็นคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนในช่วงทศวรรษ 1970 เช่นเดียวกัน
แต่สถาบันการศึกษาอีกส่วนหนึ่งก็ขยายขอบเขตหลักสูตรการศึกษาออกไปครอบคลุมวาทะวิทยา และศิลปะการแสดง แล้วเรียกรวมว่านิเทศศาสตร์ (Communication Arts) ซึ่งต้องการให้หมายถึงทั้งศิลปะและศาสตร์ของการสื่อสาร (Art and Science of Communication) ดังเช่นในกรณีของคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปัจจุบันสถาบันการศึกษาส่วนใหญ่ในประเทศไทยนิยมใช้คำว่า นิเทศศาสตร์ ยกเว้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งต้องเน้นความสำคัญของวิชาการที่เกี่ยวกับสื่อมวลชน ซึ่งถือว่าเป็นสื่อหลักของสังคมมวลชน