ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

ศาสนาคริสต์

อัสสัมชัญ

อัสสัมชัญ มาจากคำคำเต็มในภาษาอังกฤษว่า Assumption of Mary หมายถึงการรับการอัญเชิญขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณของพระนางมารีย์ ในศาสนจักรโรมันคาทอลิกเชื่อตามพระคัมภีร์ว่า พระนางมารีย์ผู้นิรมลประชวรและได้สิ้นพระชนม์ลง บรรดาอัครสาวกจึงได้ฝังพระศพไว้ในคูหาแห่งหนึ่ง แต่เมื่อศิษย์ (อัครสาวก)ได้กลับไปดูพระศพอีกครั้งก็พบว่าคูหาว่างเปล่าเหมือนคูหาของพระเยซู และพระนางได้สละชีวิตบนโลกนี้โดยได้รับการอัญเชิญเข้าสวรรค์โดยทั้งกายและวิญญาณ และตรงกับวันที่ 15 สิงหาคมของทุกปี ข้อความเชื่อข้อนี้เป็นข้อกำหนดที่ไม่อาจผิดพลาดได้ และถูกกำหนดขึ้นมาโดยพระสันตะปาปา ปิอัส ที่ 12 ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1950

ประวัติที่มา
เรื่องแนวคิดอัสสัมชัญมีที่มาย้อนกลับไปได้ตั้งแต่ช่วงศตวรรษต้น ๆ ของศาสนจักร ซึ่งหลักฐานเก่าแก่ที่สุดพบได้จากบทบรรยายที่เรียกว่า Liber Requiei Mariae (หนังสือว่าด้วยเรื่องการพักผ่อนของพระแม่มารีย์) เช่นเดียวกับหนังสือหลักฐานอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ เชื่อกันว่าพระนางได้ทรงสิ้นพระชนม์ในเขตเยรูซาเล็ม โดยมีนักบุญโทมัสเป็นประจักษ์พยานในการเห็นพระนางได้รับการยกขึ้นสวรรค์จากสุสานของพระนาง โดยไม่เหลือร่างกายทิ้งไว้บนโลกด้วย คือขึ้นสวรรค์ทั้งร่างกายและวิญญาณ (assumption) นั่นเอง ซึ่งในภายหลัง ข้อความเชื่อข้อนี้ก็ได้รับการยอมรับในศาสนจักรคาทอลิกว่าเป็นข้อเท็จจริงอันมิอาจผิดพลาดได้ และเป็นข้อความเชื่อที่คริสตศาสนิกชนคาทอลิกทุกคนยอมรับว่าเป็นความจริง

มีหลักฐานว่า คริสตชนให้ความเคารพและวอนขอพระนางพรหมจารีมารีย์มาตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว เพราะพระนางคือ "พระมารดาของพระเจ้า" หรือในภาษากรีกว่า Theotokos ถึงกระนั้นการเฉลิมฉลองพระนางในฐานะ Theotokos อย่างเป็นทางการในพิธีกรรมของพระศาสนจักรในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ ดูเหมือนจะเริ่มขึ้นราวศตวรรษที่ 5 ที่กรุงเยรูซาเล็ม ณ สถานที่แห่งหนึ่งระหว่างทางจากกรุงเยรูซาเล็มไปเมืองเบธเลเฮม ซึ่งตำนานโบราณเล่าว่า เป็นสถานที่พระนางมารีย์หยุดพัก ระหว่างการเดินทางไปเบธเลเฮมเพื่อคลอดพระเยซูเจ้า

คำภาษากรีกที่ใช้กล่าวถึงเหตุการณ์นี้คือคำว่า koimesis (การบรรทม) มีความหมาย 2 อย่างซึ่งอาจหมายถึงการนอนหลับพักผ่อนทั่วๆไป หรือการนอนหลับพักผ่อนตลอดไปเมื่อสิ้นชีวิตก็ได้ ต่อมาราวปลายศตวรรษที่ 5 นั้นเองคริสตชนยังฉลอง koimesis (หรือที่ภาษาลาตินใช้ว่า "dormitio") นี้ที่ใกล้ๆสวนเกธเสมนี ที่นี่มีพระวิหารซึ่งกล่าวกันว่าเป็นที่ฝังพระศพของพระนางมารีย์ การเฉลิมฉลองนี้จึงได้ชื่อว่า Dormitio Mariae หรือ "การบรรทมของพระนางมารีย์" เพื่อระลึกถึงการสิ้นพระชนม์และการเข้าสวรรค์อย่างรุ่งเรืองของพระนาง "การบรรทม" หรือการสิ้นพระชนม์ของพระนางจึงเป็นการเริ่มชีวิตนิรันดรอันรุ่งเรืองในสวรรค์ พระศาสนจักรเฉลิมฉลองเหตุการณ์นี้ เช่นเดียวกับที่เฉลิมฉลองวันตายของบรรดานักบุญมรณสักขี ซึ่งเป็น "วันบังเกิดใหม่" (Dies natalis) ของท่านในชีวิตนิรันดรนั่นเอง เพียงแต่เราก็ไม่ทราบว่าพระนางสิ้นพระชนม์อย่างไรและเมื่อไรเท่านั้น ต่อมาราวปลายศตวรรษที่ 6 พระจักรพรรดิโมริส (539-602) ทรงประกาศพระราชกฤษฏีกา ให้เฉลิมฉลองการบรรทมของพระนางมารีย์นี้ทั่วจักรวรรดิโรมันตะวันออก

ส่วนทางตะวันตกหรือในยุโรป วันฉลองนี้ก็มีวิวัฒนาการคล้ายๆกัน ในศตวรรษที่ 6 ที่กรุงโรมมีวันฉลองเป็นเกียรติแด่พระนางมารีย์อยู่แล้วในวันที่ 1 มกราคม เพื่อระลึกถึงการที่พระนางเป็นพระมารดาของพระเยซูคริสตเจ้า ราวปี ค.ศ. 650 พระศาสนจักรที่กรุงโรมยังรับการฉลองในวันที่ 15 สิงหาคมนี้จากพระศาสนจักรตะวันออกเข้ามาด้วย เพื่อเฉลิมฉลองการที่พระนางพรหมจารีได้รับเกียรติสูงสุดจากพระเจ้า และการฉลองนี้ได้รับชื่อว่า "Dormitio Mariae" (การบรรทมของพระนางมารีย์)

ในสมณสมัยของพระสันตะปาปา Sergius (687-702) ซึ่งมีเชื้อสายเป็นชาวซีเรีย ในศตวรรษต่อมา คือราวปี ค.ศ. 770 วันฉลองนี้ได้ชื่อใหม่ว่า "Assumptio" ซึ่งแปลว่า "การรับขึ้นไป" เพื่อเน้น "วิธีการ" ที่พระนางพรหมจารีจากโลกนี้ไปรับเกียรติรุ่งเรืองจากพระเจ้า อันที่จริงความคิดเรื่อง "การรับขึ้นไป" (หรือ Assumptio) นี้เป็นความคิดจากพระคัมภีร์โดยตรง ในพันธสัญญาเดิมประกาศกเอลียาห์ "ถูกรับขึ้นไป"จากโลกนี้โดยรถเพลิง (2 พกษ 2) ธรรมประเพณีของชาวยิวก็กล่าวว่าโมเสส "ถูกพระเจ้ารับขึ้นไป" เช่นเดียวกัน

ความสำคัญของ อัสสัมชัญ ในคำสอนของคาทอลิก
ลูดวิก อ็อต ได้อธิบายในข้อความเชื่อพื้นฐานของคาทอลิกไว้ว่า “ข้อเท็จจริงเรื่องการสิ้นพระชนม์ของพระนางได้รับการยอมรับโดยพระสงฆ์และนักเทวศาสตร์ทั้งหลาย และข้อความเชื่อนี้ก็ได้ถูกแสดงออกมาผ่านศาสนพิธีของพระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งนอกจากเขาจะสรุปข้อคิดเห็นสนับสนุนอื่น ๆ แล้ว เขายังเสริมด้วยว่า

“สำหรับพระนางมารีย์แล้ว พระนางได้รับการปลดเปลื้องจากบาปกำเนิดและบาปของตน ดังนั้นความตายที่เกิดกับพระนางจึงไม่ใช่บทลงโทษจากบาปความผิด หากแต่เป็นสิ่งที่สมควรเกิดกับร่างกายของพระนางตามธรรมชาติ คือเป็นร่างเนื้อหนังที่รู้ตาย เสื่อมสลายได้ ดังนั้นความตายของพระนางจึงเป็นการปลดปล่อยพระนางตามกฎของธรรมชาติ เพื่อให้พระนางได้ไปอยู่ร่วมกับพระบุตรสุดที่รักของพระนางในสวรรค์นั่นเอง” แต่เรื่องของความตายที่เกิดกับพระนางยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าความตายเกิดกับพระนางจริงหรือไม่ คือพระนางสิ้นพระชนม์และได้รับการยกขึ้นสวรรค์ หรือพระนางไม่ได้เสียชีวิตลงเลยแต่แรก หากแต่ได้รับการยกขึ้นสวรรค์เลยกันแน่ ซึ่งข้อความเชื่ออัสสัมชัญ ก็ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าพระนางผ่านประสบการณ์ของความตายทางกายหรือไม่ หากแต่ยืนยันอย่างแน่นอนว่าพระนางได้รับการยกขึ้นสวรรค์ทั้งร่างกายและวิญญาณจริง



อีสเตอร์

อีสเตอร์ (อังกฤษ:Easter) คือ วันอาทิตย์แห่งการฟื้นคืนพระชนม์ขององค์พระเยซูคริสต์ เป็นวันที่มีความสำคัญมากวันหนึ่งและมีการเฉลิมฉลองกันของชาวคริสต์ จัดขึ้นระหว่างปลายเดือนมีนาคมถึงปลายเดือนเมายน ในนิกายออร์โธดอกส์จะจัดขึ้นระหว่างต้นเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม(กำหนดขึ้นเป็นวันใดวันหนึ่งในช่วงเวลานี้)เพื่อเป็นการสรรเสริญในการที่พระเยซูได้เป็นขึ้นมาจากความตาย ตามความเชื่อที่ว่าภายหลังสามวันที่พระเยซูได้สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนและทรงฟื้นคืนพระชนม์ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ตรงกับช่วงเวลาเทศกาลปัสกาของชาวยิว

สมัยก่อน คริสตจักรต่างๆ จัดฉลองวันอีสเตอร์ในวันอาทิตย์ที่ไม่ตรงกัน จนถึงปี ค.ศ.325 สภาไนเซียหรือสภาผู้นำคริสตจักรทั่วโลกได้ประชุม และมีมติให้กำหนดแน่นอน ให้คริสตจักรทั่วโลกฉลองเทศกาลอีสเตอร์ให้ตรงกัน โดยกำหนดวันอีสเตอร์คำนวนตามระบบจันทรคติ ทั้งนี้เนื่องจากต้องการให้การฉลองวันที่พระเยซูเป็นขึ้นมาจากความตาย ตรงกับเหตุการณ์ในครั้งแรกจริงๆ

การฉลองวันอีสเตอร์ โดยทั่วไปจะเริ่มตั้งแต่เช้ามืดของวันอาทิตย์ คริสตชนจะไปรวมตัวกันที่โบสถ์ หรือที่สุสาน หรือในทุ่งกว้าง หรือตามป่าเขา ร้องเพลงนมัสการพระเจ้าตั้งแต่ยังมืดอยู่ พอดวงอาทิตย์ค่อยๆ โผล่ขึ้นจากขอบฟ้า เสียงเพลง "เป็นขึ้นแล้ว" ก็จะดังกระหึ่มขึ้น เขาจะร้องเพลง อธิษฐานโมทนาพระคุณพระเจ้า และสรรเสริญพระองค์ที่ทรงเป็นพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ ได้มีชัยชนะเหนือความตาย และทรงพระชนม์อยู่เป็นนิตย์ หลังจากนั้นก็ บรรยายถึงการเป็นขึ้นมาจากความตายของพระเยซูคริสต์ หนุนใจให้คริสตชนดำเนินชีวิตอย่างมีชัย เหนือความบาป และความตาย ยืนหยัดอยู่ในความเชื่อศรัทธาที่มีต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า จากนั้นส่วนใหญ่ก็จะรับประทานอาหารเช้าร่วมกัน เสร็จแล้วบางแห่งก็จะมีการเล่นเกมส์สนุกๆ หลายแห่งนิยมเอาไข่มาระบายสีต่างๆ ให้ดูสวยงาม และนำไปซ่อนให้เด็กๆ หรือหนุ่มสาวค้นหาอย่างสนุกสนาน คนโบราณในประเทศตะวันตก เชื่อกันว่าไข่เป็นสัญลักษณ์ของชีวิต เพราะกำลังจะมีชีวิตใหม่เกิดขึ้น จึงได้มีการใช้ไข่เป็นสัญลักษณ์ของวันอีสเตอร์ด้วย

ดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของวันอีสเตอร์ คือดอกลิลี่ หรือดอกพลับพลึงขาวบริสุทธิ์ สัญลักษณ์ของวันอีสเตอร์คือ ไข่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการบังเกิดใหม่หรือมีชีวิตใหม่ กางเขนและอุโมงค์ที่ว่างเปล่า เป็นสัญลักษณ์ของการเป็นขึ้นมาจากความตายของพระเยซูคริสต์ มีคนกล่าวว่าคริสเตียนแท้มักจะดำเนินชีวิตโดยยึดหลักการที่ว่า พระเยซูคริสต์ได้สิ้นพระชนม์ในวันศุกร์ประเสริฐเพื่อเราเมื่อวานนี้ และทรงเป็นขึ้นมาจากความตายในวันอาทิตย์อีสเตอร์ และทรงสถิตอยู่กับเราในวันนี้ และพระองค์จะทรงเสด็จกลับมารับเรา (ผู้เชื่อ) ในวันพรุ่งนี้

วันวาเลนไทน์

วันนักบุญวาเลนไทน์ (Saint Valentine's Day) หรือที่เป็นที่รู้จักว่า วันวาเลนไทน์ (Valentine's Day) ตรงกับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันประเพณีที่คู่รักบอกให้กันและกันทราบเกี่ยวกับความรักของพวกเขา โดยการส่งการ์ดวาเลนไทน์ ซึ่งโดยมากจะไม่ระบุชื่อ วันนี้เริ่มเกี่ยวข้องกับความรักแบบชู้สาวในช่วงยุค High Middle Ages เมื่อประเพณีความรักแบบช่างเอาใจ (courtly love) แผ่ขยาย

ประวัติ
วันวาเลนไทน์นั้นมีมาตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโรมัน ในกรุงโรมสมัยก่อนนั้น วันที่ 14 กุมภาพันธ์ จะเป็นวันเฉลิมฉลองของจูโน่ซึ่งเป็นราชินีแห่งเหล่าเทพและเทพธิดาของโรมัน ชาวโรมันรู้จักเธอในนามของเทพธิดาแห่ง อิสตรีและการแต่งงาน และในวันถัดมาคือวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ก็จะเป็นวันเริ่มต้นงานเลี้ยงของ Lupercalia การดำเนินชีวิตของเด็กหนุ่มและเด็กสาวในสมัยนั้นจะถูกแยกจากกันอย่างเด็ดขาด แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีประเพณี อย่างนึง ซึ่งเด็กหนุ่มสาวยังสืบทอดต่อกันมา คือ คืนก่อนวันเฉลิมฉลอง Lupercalia นั้นชื่อของเด็กสาวทุกคนจะถูกเขียนลงในเศษกระดาษเล็ก ๆ และจะใส่เอาไว้ในเหยือก เด็กหนุ่มแต่ละคนจะดึงชื่อของเด็กสาวออกจากเหยือก แล้วหลังจากนั้นก็จะจับคู่กันในงานเฉลิมฉลอง บางครั้งการจับคู่นี้ ท้ายที่สุดก็จะจบลงด้วยการที่เด็กหนุ่มและเด็กสาวทั้งสองนั้นได้ตกหลุมรักกันและแต่งงานกันในที่สุด ภายใต้การปกครองของจักรพรรดิคลอดิอุสที่สอง (Claudius II) นั้น กรุงโรมได้เกิดสงครามหลาย ครั้ง และคลอดิอุสเองก็ประสบกับปัญหาในการที่จะหาทหารจำนวนมากมายมหาศาลมาเข้าร่วมในศึกสงคราม และเขาเชื่อว่าเหตุผลสำคัญก็คือ ผู้ชายโรมันหลายคนไม่ต้องการจากครอบครัวและคนอันเป็นที่รักไป และด้วยเหตุผลนี้เอง ทำให้จักรพรรดิคลอดิอุสประกาศให้ยกเลิกงานแต่งงานและงานหมั้นทั้งหมดในกรุงโรม ถึงกระนั้นก็ตาม ยังมีนักบุญผู้ใจดีคนหนึ่งซึ่งชื่อว่า ท่านนักบุญวาเลนไทน์ ท่านเป็นพระที่กรุงโรมในสมัยของจักรพรรดิคลอดิอุสที่สอง ท่านนักบุญวาเลนไทน์และนักบุญมาริอุส ได้จัดตั้งกลุ่มองค์กรเล็ก ๆ เพื่อช่วยเหลือชาวคริสเตียนที่ตกทุกข์ได้ยากเหล่านี้ และได้จัดให้มีการแต่งงานของคู่รักอย่างลับ ๆ ด้วย และจากการกระทำเหล่านี้เอง ทำให้นักบุญวาเลนไทน์ถูกจับและถูกตัดสินประหารโดยการตัดศีรษะ ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ประมาณปีคริสต์ศักราชที่ 270 ซึ่งถือเป็นวันที่ท่านได้ทนทุกข์ทรมานและเสียสละเพื่อเพื่อนมนุษย์

นักบุญวาเลนไทน์
นักบุญวาเลนไทน์ ทำให้จักรพรรดิที่โรมเกิดความสำนึก และผู้พิพากษาได้กลับใจมาเป็นคาทอลิกเพราะท่านนักบุญทำให้บุตรสาวของเขาหาย จากตาบอด วา เลนไทน์ บวชเป็นพระสงฆ์ที่กรุงโรมและได้เป็นพระสังฆราชในเวลาต่อมา ท่านได้ถูกจับโดยคำสั่งของจักรพรรดิโกลดิโอ ที่ 2 เพราะท่านขึ้นชื่อลือเด่นในทางบำเพ็ญฤทธิ์กุศลหลายประการ ขั้นแรกจักรพรรดิทรงซักถามวาเลนไทน์ด้วยความอยากรู้อยากเห็น แต่ต่อมาทรงรู้สึกสนพระทัยในคำสอนของคริสตัง ในที่สุดพระองค์ตรัสว่า :“คำสอนของบุรุษผู้นี้ฟังแล้วจับใจจริง ๆ “ แต่ในขณะที่พระองค์ทรงเริ่มมีความเชื่อ ท่านผู้ว่าราชการกรุงโรมก็จัดให้ผู้พิพากษานายหนึ่งเข้ามาซักถามท่านวาเลนไทน์ ผู้พิพากษาคนนี้เยาะเย้ยท่านในเรื่องที่คริสตังชอบกล่าวว่า “พระคริสต์ทรงเป็นองค์ความสว่างของโลก”

ลูกสาวของผู้พิพากษาคนนี้ตาบอด วาเลนไทน์ได้ทำอัศจรรย์ให้หายได้ อัสเตริอุส ผู้พิพากษาจึงกลับใจเชื่อถึงพระเยซูคริสตเจ้า เมื่อเห็นดังนั้น ท่านผู้ว่าราชการเกิดความอิจฉา และต้องการกำจัดท่านวาเลนไทน์ จึงจับท่านวาเลนไทน์ไปขังไว้ในคุกมืด แล้วใช้ไม้เป็นปุ่มเป็นตาเฆี่ยนท่านอย่างสาหัส ที่สุดก็นำท่านไปตัดศีรษะ นักบุญวาเลนไทน์เป็นองค์อุปถัมภ์ของชาวเมืองตารัสก็อง(ภาคใต้ของฝรั่งเศส)

การส่งดอกไม้วันวาเลนไทน์
มนุษย์ได้ใช้ดอกไม้เป็นสื่อในการแสดงความรักต่อกันมานานแล้ว เราอาจจะคิดว่าดอกไม้เป็นสิ่งที่สามารถใช้สื่อความหมายเฉพาะความรักของหนุ่มสาวเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วดอกไม้แต่ละชนิดสามารถสื่อความรักได้หลายรูปแบบ ทั้งยังไม่จำกัดอายุและเพศอีกด้วย

  • กุหลาบแดง (Red Rose) : จะใช้ในความหมายแทน ประโยคที่ว่า "ฉันรักเธอ"
  • กุหลาบขาว (White Rose) : กุหลาบขาวแทนความหมายแห่งความรักอันบริสุทธิ์
  • กุหลาบชมพู (Pink Rose) : มักถูกใช้แทนความรักแบบโรแมนติก และความเสน่หาต่อกัน
  • กุหลาบเหลือง (Yellow Rose) : สีเหลืองเป็นสีแห่งความสดใส แทนความรักแบบเพื่อน

    อ่านต่อ หน้าถัดไป >>>

ประวัติความเป็นมาของศาสนาและผู้ก่อตั้งศาสนา
กำเนิดและวิวัฒนาการของนิกายที่สำคัญในศาสนาคริสต์
องค์ประกอบของคริสต์ศาสนา
ศาสนธรรมในศาสนาคริสต์
หลักคำสอนของศาสนาคริสต์
หลักคำสอนสำคัญ
เรื่องบาปกำเนิด
ศาสนบุคคลในศาสนาคริสต์
คริสต์ศาสนปราชญ์
ศีลศักดิ์สิทธิ์วิถีชีวิตของชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก
พิธีกรรมและแนวความเชื่อของนิกายออร์ธอด็อกซ์
พิธีกรรมของนิกายโปรเตสแตนต์
วันสำคัญทางศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก
วันสำคัญคริสตศาสนา นิกายโปรเตสแตนท์
วันสำคัญของคริสต์ศาสนาทุกนิกาย
ปัสกา
อัสสัมชัญ
ศาสนสถานที่สำคัญในศาสนาคริสต์
คาทอลิก กับ โปรเตสแตนท์ต่างกันตรงไหน
 

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย