ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
ศาสนาคริสต์
หลักคำสอนของศาสนาคริสต์
บรรดาคำสอนทั้งหลายของพระเยซูนั้นเทศนาบนภูเขา (Sermon on the Mount) เป็นคำสอนที่จัดเป็นระบบมากที่สุด และแสดงให้เห็นถึงจุดประสงค์ของพระเยซูที่ต้องการปฏิรูปชีวิตมนุษย์ไปสู่หนทางที่ถูกต้อง อีกทั้งเป็นหลักจริยธรรมที่พระองค์ทรงมอบให้แก่มนุษย์ทุกคนได้ปฏิบัติเพื่อความสุขในโลกนี้และโลกหน้า ซึ่งควรแก่การศึกษา โดยตัดมาบางข้อพอเป็นสังเขปและจัดเรียงหัวข้อตามที่ปรากฏอยู่ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ใหม่ โดยเรียงตามลำดับดังนี้ คือ
- ผู้เป็นสุข หรือบรมสุข 8 ประการ คำสอนนี้มีลักษณะส่งเสริมการให้กำลังใจแก่คนทุกคน เพื่อให้พวกเขาสามารถเผชิญหน้ากับปัญหาได้อย่างไม่หวั่นไหว แม้นว่าตนเองจะรู้สึกว่ามีความบกพร่องไม่ดีพอ เป็นคนมีทุกข์โศกเศร้า เป็นคนจิตอ่อนโยน เป็นคนรักความถูกต้องเที่ยงธรรม เป็นคนจิตใจบริสุทธิ์ และเป็นคนที่ถูกกลั่นแกล้งข่มเหง บุคคลเหล่านี้ย่อมได้รับอนุญาตจากพระเจ้าให้อยู่ในอาณาจักรสวรรค์ พวกเขาไม่จำเป็นต้องยินดียินร้ายต่อคำนินทาว่าร้ายของผู้อื่น และไม่ต้องหวั่นเกรงต่อการข่มเหงของผู้ข่มเหงเหล่านั้น
- เกลือแห่งแผ่นดินโลก คำสอนนี้ต้องการให้มนุษย์ดำรงรักษาความดีงามเหมือนเกลือรักษาความเค็ม เพราะถ้าทิ้งความดีไปแล้วก็ไม่ต่างไปจากเกลือที่หมดรสเค็ม ประโยชน์ที่จะพึงมีก็หมดไม่ หาคุณค่าใดไม่ได้เลย
- ความสว่างของโลก คำสอนนี้เป็นการส่งเสริมและให้กำลังใจแก่ผู้ทำความดีและปฏิบัติตามธรรมบัญญัติอย่างมั่นคง ความดีที่เขาทำไว้จะมีผลต่อโลกและผู้อื่น เป็นผลให้ผู้ที่เห็นความดีนั้นสรรเสริญพระเป็นเจ้าผู้เป็นพระบิดา เปรียบเหมือนกับลูกที่ดีบิดาย่อมได้รับการยกย่อง เพราะความดีของลูก
- พระธรรมบัญญัติใหม่ (The New Testament) คำสอนนี้แสดงให้เห็นถึงเจตจำนงค์ของพระเยซูที่มุ่งชี้แจงให้บุคคลทั้งหลาย ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า การเผยแพร่ศาสนาที่ได้ดำเนินอยู่นั้น มิได้เป็นไปเพื่อการล้มล้างหรือยกเลิก พระบัญญัติเดิมที่ชาวยิวได้นับถือสืบกันมาหากแต่ว่าเป็นการปฏิรูปคำสอนเดิมให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
- ความโกรธ คำสอนได้สะท้อนถึงข้อห้ามในพระธรรมบัญญัติเดิมที่ว่า อย่าฆ่าคน แต่พระเยซูได้มาขยายคำสอนนี้ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยชี้ให้ทุกคนพึงระวังในด้านจิตใจด้วยมิใช่ระวังแต่ทางกายเพียงทางเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความโกรธซึ่งเป็นอารมณ์ความรู้สึกอย่างหนึ่งที่ให้ผลในทางกาย การฆ่ายากที่จะเกิดขึ้นได้ถ้าไม่มีความโกรธ ความโกรธจึงเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่ทุกคนต้องระวังอย่าให้เกิดขึ้นได้ ความในใจที่มีอยู่จะต้องปลดเปลื้องให้หมด อย่าได้ติดค้างไว้เพราะสิ่งเหล่านี้เมื่อทับถมมากเข้าจะมีผลทางกาย ในที่สุดทำให้เกิดการเข่นฆ่าทำลายล้างซึ่งกันและกัน
- การล่วงประเวณี คำสอนได้แสดงให้เห็นถึง การปฏิรูปทางความคิดแต่เดิมที่มุ่งหมายเฉพาะการล่วงประเวณีที่เกิดขึ้นทางกายแต่พระเยซูได้สอนให้ลึกซึ้งไปกว่านี้ โดยเตือนให้ทุกคนระวังการล่วงประเวณีทางใจ ซึ่งเกิดจากความพอใจในทางจิตวิญญาณ ดังนั้นถ้าร่างกายเราส่วนใดส่วนหนึ่งทำผิด ทำบาป ควรทำลายส่วนนั้นทิ้งเสีย เพราะถึงจะเสียอวัยวะไปก็ดีกว่าตัวเราจะต้องลงนรก
- การหย่าร้าง คำสอนนี้แสดงให้เห็นถึงโลกทัศน์อันยาวไกลของพระเยซูที่เห็นว่า แต่เดิมมาที่มีการอนุญาตให้บุคคลทั้งหลายหย่ากันอย่างง่าย เพียงแค่ทำหนังสือหย่ากันก็เป็นการเพียงพอแล้วนั้น เท่ากับเปิดโอกาสให้บุคคลไม่เกรงกลัวต่อบาป การแต่งงานก็จะเกิดขึ้นเพราะความพอใจแต่ขาดความรับผิดชอบและการหย่าร้างก็จะมีมากขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีผู้ชี้นำและทำความเข้าใจในเรื่องนี้ก่อนที่สังคมจะเต็มไปด้วยคนทำชั่วเพราะความไม่รู้จริง
- การสบถสาบาน คำสอนนี้ได้ทำให้เห็นว่า ให้บุคคลยึดถือสัจจะและความจริงใจอย่างมั่นคง โดยไม่จำเป็นต้องไปอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งอื่น ๆ เพื่อเป็นหลักประกันคำพูดของตนเอง คนที่มีจิตใจมั่นคงในคำสอนของศาสนาย่อมไม่กล่าวคำเท็จ และมีความเชื่อมั่นในตนเองทำทุกอย่างด้วยความซื่อสัตย์
- การตอบแทน คำสอนนี้ได้แสดงให้เห็นว่าพระเยซูไม่ต้องการให้บุคคลทั้งหลายมีจิตใจอาฆาตแค้นต่อกัน คำสอนในตอนนี้ทำให้นึกถึงการละอัตตาในพุทธศาสนา ตราบใดที่คนเรายังมีความ ยึดมั่นถือมั่นในตัวตนของตนอยู่ก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรเพื่อผู้อื่นและพระเจ้าได้
- รักศัตรู คำสอนนี้สะท้อนให้เห็นถึงหลักแห่งความเมตตากรุณาต่อสัตว์โลกทั้งหลาย แม้แต่ศัตรูผู้ที่คิดร้าย บุคคลนั้นได้ชื่อว่ามนุษย์ที่สมบูรณ์เพราะสามารถต้านทานกิเลสในจิตใจได้
- การทำทาน คำสอนนี้ได้แสดงให้เห็นว่า พระเยซูต้องการให้บุคคลทำดีจนเคยชินเป็นนิสัย มากกว่าที่จะทำบุญเพื่อหวังบำเหน็จรางวัล เพราะความดีที่แท้จริงคือการเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ
- การอธิษฐาน คำสอนนี้แสดงให้เห็นว่าการสวดมนต์อธิษฐานด้วยความเคารพอย่างแท้จริงนั้น ต้องไม่อวดตัวว่าเป็นผู้เคร่งศาสนาและเป็นผู้มีศีลมีสัตย์ ผู้ปฏิบัติต่อศาสนาด้วยความเคารพอย่างจริงใจ
- การถืออดอาหาร คำสอนนี้ สะท้อนให้บุคคลปฏิบัติทางศาสนาด้วยความเชื่อมั่น การถืออดอาหารเป็นการปฏิบัติทางศาสนาที่ทุกคนควรเต็มใจทำ แต่ไม่ใช่จำใจทำ เพราะนั่นไม่ใช่ความดีที่แท้จริง
- ทรัพย์สมบัติในสวรรค์ คำสอนนี้ ทำให้เกิดแนวคิดในเรื่องการทำจิตให้หมดความยึดถือในทรัพย์สมบัติ ภายนอกกาย แต่ความดียิ่งทำมากเท่าใดสวรรค์ย่อมเป็นที่ไปสำหรับบุคคลนั้น
- ประทีปของร่างกาย คำสอนนี้ทำให้เราคิดได้ว่าความสว่างในจิตใจนั้นเกิดจากมุมมองอันถูกต้องถ้าดวงตา สามารถหยั่งเห็นสัจธรรมของชีวิตได้ การดำเนินชีวิตย่อมเป็นไปตามปกติ
- พระเจ้าและเงินทอง คำสอนนี้สะท้อนแนวคิดที่ว่า คนเราไม่สามารถยึดถือเงินตราหรือพระเจ้าเป็น ที่พึ่งอาศัย โดยพร้อมกันทั้งสองอย่าง แต่จะต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยความรักและสัตย์ซื่ออย่างหมดหัวใจ และจะต้องหมิ่นประมาทอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะนายทั้งสองนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน
- ความกระวนกระวาย คำสอนนี้ทำให้เห็นว่า มนุษย์รักและศรัทธาในพระเจ้าก็ควรจะวางใจเชื่อ พระองค์ ให้คำนึงถึงแต่ปัจจุบันเท่านั้น และทำดีให้ถึงที่สุดของความดีนั้น
- การกล่าวโทษผู้อื่น คำสอนนี้ทำให้เกิดความคิดที่ว่า "บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผล อย่างนั้น" เรากล่าวโทษผู้อื่นอย่างไร และเราก็จะถูกกล่าวโทษเช่นนั้นบ้าง คนส่วนมากไม่ใคร่มอง ตนเอง แต่มักเพ่งโทษของผู้อื่น จึงมองไม่เห็นความชั่วของตนทำให้เป็นผู้ที่โลกทัศน์มืดมัวและปัญญามืดบอด
- ขอหาเคาะ คำสอนนี้ได้แสดงให้เห็นว่าพระเจ้า ย่อมมีน้ำพระทัยเมตตาแก่ผู้ทุกข์ยากที่ร้องขอความช่วยเหลือพระเจ้าย่อมไม่ทอดทิ้ง พระองค์ดีต่อพวกเขาอย่างไร พวกเขาก็ควรที่จะดำเนินตามรอยพระองค์ ด้วยการปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างที่ปรารถนาจะให้ผู้อื่นปฏิบัติ เช่นนั้นต่อพวกเขา
- ประตูคับแคบ คำสอนนี้เป็นการเตือนสติบุคคลให้ดำรงตนอยู่ในความไม่ประมาทคนส่วนมากชอบความง่าย ความสะดวกสบาย จึงพลาดต่อการทำผิดทำชั่ว จิตที่ชอบความสะดวกสบาย จึงมีคนน้อยมากที่จะยอมประพฤติปฏิบัติความดีงามและยอมต้านกระแสความต้องการของโลก คนส่วนมากเลือกประตูกว้างซึ่งเป็นทางที่สะดวกกว่าประตูที่คับแคบเช่นเดียวกับคนส่วนมากเลือกที่จะทำชั่วมากกว่าที่จะทำความดีเพราะการทำดีนั้นยากลำบาก ต้องใช้ความอดทนและความพยายามอย่างสูง
- รู้จักต้นไม้ด้วยผลของมัน คำสอนนี้เป็นการเตือนใจบุคคลให้รู้จักเฟ้นบูชาบุคคลที่ควรบูชา ไม่ศรัทธา เพียงเพราะเห็นว่ามีท่าทีน่าเลื่อมใส แต่ให้ดูผลงานของบุคคลที่บอกถึงคุณค่าที่แท้จริงของเขา
- เราไม่เคยรู้จักเจ้าเลย คำสอนนี้ได้แสดงให้เห็นว่าบุคคลที่เอ่ยเรียกพระเจ้าบ่อยครั้ง ไม่ได้หมายความว่าจะได้สิทธิอยู่ในอาณาจักรสวรรค์ เพราะปากที่เคยพร่ำถึงอยู่เสมอแต่ไม่เคยปฏิบัติตามคำสอนของพระเจ้าก็ไม่ได้ชื่อว่าเป็นคนดีที่แท้จริง และเป็นคนที่พระเจ้าไม่เคยรู้จัก
- รากฐานสองชนิด คำสอนนี้เป็นตอนสุดท้ายที่ย้ำเตือนให้บุคคลทั้งหลาย นำคำสอนที่กล่าวมาทั้งหมดตั้งแต่ต้นไปปฏิบัติซึ่งจะเกิดผลดีแก่เขาทั้งโลกนี้และโลกหน้า อีกทั้งเป็นการเตือนสติบุคคลให้ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท
คือหนังสือบันทึก ประวัติความสัมพันธ์ ระหว่างพระ กับมนุษย์ ข้อพึงระวังในการอ่านพระคัมภีร์คือ พระธรรมคัมภีร์นั้นเป็นพระวจนะ (พระวาจา)ของพระเป็นเจ้า ตรัสเล่าความจริงใน แง่ศาสนา มุ่งสอนมนุษย์ให้เข้าใจ ประวัติความรอดของมนุษย์ พระธรรมคัมภีร์แบ่งออกเป็น 2 ภาค ภาคพันธสัญญาเดิม (เคยใช้ว่า "พระธรรมเก่า - Old Testament") เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นก่อนพระเยซูทรงสมภพ ประกอบด้วยหนังสือต่างๆ 46 เล่ม เช่น หนังสือปฐมกาล, อพยพ, พงศ์กษัตริย์ ฯลฯ ที่จริงข้อความในพันธสัญญาเดิมเป็นแผนการของพระเป็นเจ้า เพื่อเตรียมมนุษยชาติต้อนรับพระผู้ไถ่ (พระแมสสิยาห์) นั่นเอง ภาคพันธสัญญาใหม่ (เคยใช้ "พระธรรมใหม่ - New Testament") เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นภายหลังพระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์ ประกอบด้วยหนังสือต่างๆ 27 เล่ม ได้แก่ พระวรสาร 4 ฉบับ, หนังสือกิจการอัครสาวก และจดหมายต่างๆถึงกลุ่มคริสตชนรุ่นแรก ภาคพันธสัญญาใหม่คือพระชีวประวัติ และคำสั่งสอนโดยย่อของพระเยซูนั่นเอง
จากพระคัมภีร์ เราทราบว่า พระเป็นเจ้าทรงปรากฏพระองค์ หรือมีพระสุรเสียงตรัสกับมนุษย์หลายครั้ง เช่น กับอดัมและอีฟ (พ่อแม่คู่แรกของมนุษย์), กับคาอิน, กับโนอาห์, กับอับราฮัม, อิสอัก, ยากอบ, โมเสส ฯลฯ และโดยองค์พระเยซูคริสตเจ้าเอง พระเยซูเจ้าประทับอยู่ในโลกประมาณ 33 ปี ทรงประทานแบบฉบับ และพระโอวาทอันบันดาลชีวิต และที่สุดทรงสมัครพระทัยรับทรมานแสนฉกรรจ์ จนกระทั่งสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน เพื่อกอบกู้มนุษยชาติ สามวันต่อมา พระองค์ทรงกลับฟื้นคืนพระชนม์ แล้วเสด็จสู่สวรรค์ต่อหน้าคณะอัครสาวก และสานุศิษย์ นอกจากทรงปรากฏพระองค์โดยตรงแล้ว พระเป็นเจ้ายังทรงดลใจมนุษย์บางคนให้ พูด สอน แทนพระองค์ ท่านเหล่านี้เราเรียกว่า "ประกาศก" เช่น ซามูเอล, เยเรมีย์, อิสยาห์, ดาวิด, ดาเนียล ฯลฯ อาศัยพระคัมภีร์ มนุษย์สามารถรู้จักพระเป็นเจ้า และน้ำพระทัยของพระองค์ สามารถประพฤติตนสมเป็นลูกที่ดีของพระองค์ได้ จากหลักเหตุผล
นอกจากพระเป็นเจ้าจะทรงเปิดเผยพระองค์ทางพระคัมภีร์แล้ว มนุษย์อาศัยตรรกญาณ หรือความคิดหาเหตุผล ก็สามารถยืนยันว่า มีพระเจ้า หรือท่านผู้สร้าง หรือผู้เป็นใหญ่ในสกลโลกได้ หลักเหตุผลที่สำคัญคือ- เราเห็นว่าสรรพสิ่งในโลกล้วนอนิจจัง มีเริ่มต้น แปรปรวนไป และแตกดับในที่สุด ปัญหามีอยู่ว่า สรรพสิ่งเหล่านี้เริ่มต้นอย่างไร อยู่ดีๆก็ออกมาจากความว่างเปล่ากระนั้นหรือ? เป็นไปไม่ได้ เพราะความว่างจะเกิดได้แต่ความว่างเปล่า 0+0=0 สรุปว่า "สรรพสิ่งที่อนิจจัง" ต้องได้รับความเป็นอยู่จาก "สิ่งที่คงอยู่ถาวร"
- หากพิจารณาต่อไป จะเห็นว่าสรรพสิ่งประกอบด้วยอำนาจและพลังต่างๆซึ่งเคลื่อนไหวอย่างมีระบบน่าพิศวง แสดงว่าต้องมี"วิศวกรผู้ทรงปัญญาลึกล้ำ" ได้ออกแบบ และวางกฏเกณฑ์ไว้อย่างสุขุมคัมภีรภาพ
- เรายังเห็นว่า สิ่งที่มีชีวิต ล้วนแต่เกิดต่อๆกันมาจากสิ่งที่มีชีวิตอยู่ก่อนแล้ว เช่น เราเกิดมาแต่พ่อแม่ พ่อแม่เกิดมาแต่ปู่ย่าตายาย ฯลฯ แต่จะถอยหลังขึ้นไปเช่นนี้มิรู้จบก็ไม่ได้ จำต้องไปถึงมนุษย์คนแรก ..ถ้าเป็นข้าวก็เป็นข้าวต้นแรก หรือเมล็ดแรก ..ถ้าเป็นไก่ก็เป็นไก่ตัวแรก หรือไข่ฟองแรก ฯลฯ
จากหลักประวัติศาสตร์ จะเห็นว่าประชาชาติทั้งหลาย แม้ที่ป่าเถื่อนล้าหลัง ก็เชื่อว่ามี"พระ" หรือ "สิ่งศักดิสิทธิ์" ที่เป็นใหญ่เหนือมนุษย์ เห็นได้จาก แท่นบูชา รูปเคารพ การบวงสรวง การเซ่นไหว้ ฯลฯ อนึ่ง, ตลอด 3 ศตวรรษหลังที่ผ่านมา โลกมีปราชญ์คนสำคัญๆถึงกว่า 200 คน ปราชญ์เหล่านี้ร้อยละ 92 เชื่อว่ามีพระเจ้า ถ้าเป็นเรื่องเหลวไหลงมงาย ก็ต้องแสดงว่าปราชญ์ส่วนมากช่างโง่เง่าเสียนี้กระไร
จากมโนธรรม ของแต่ละคน ในตัวเราแต่ละคน ต่างตระหนักแน่ว่ามี กฎหมายอย่างหนึ่งจารึกอยู่ในส่วนลึกของหัวใจ .กฎหมายนี้คริสตังเราเรียกว่า "มโนธรรม (Conscience)" คือธรรมะประจำใจของทุกคน เมื่อมี "กฎ" ก็ต้องมี "ผู้ตรา" ขึ้น และ "บังคับ" ให้เป็นไปตามกฎนั้น กฏมโนธรรมซึ่งเป็นทั้งพยาน ทั้งตุลาการ สนองให้เป็นไปตามกฎ เป็นผู้อยู่นอก และอยู่เหนือมนุษย์ ก็ต้องต้องมีผู้ตราขึ้น ผู้นั้นคือ พระเป็นเจ้า นั่นเอง
พระเป็นเจ้าทรงเป็นจิต ซึ่งเป็นพระธรรมชาติเฉพาะของพระองค์ เช่นเดียวกับมนุษย์ก็มีธรรมชาติของมนุษย์ (คือ กายและวิญญาณ ร่วมสนิกกันเรียกว่า มนุษย์) พระธรรมชาติของพระเป็นเจ้า คือ ทรงเป็นจิตเดียว ไร้ขอบเขต และแบ่งแยกไม่ได้ จิต คือไม่มีรูปร่างทางวัตถุ สัมผัสด้วยประสาททั้ง 5 มิได้ จิตจึงแบ่งแยกไม่ได้ แต่จิตสามารถคิดได้ รัก และทำงานด้วยตนเองได้ พระเป็นเจ้าจำเป็นต้องเป็นจิต เพราะกายมีขนาดจำกัด ซึ่งขัดกับความเป็นจิตไร้ขอบเขตของพระองค์ เพื่อแสดงพระสรรพานุภาพ และแผ่ความรักหาที่เปรียบมิได้ของพระองค็ พระองค์ทรงสร้างนิกรเทวดา และสกลจักวาล (เอกภพ) รวมทั้งมนุษย์ การสร้างสรรค์ (Creation) ของพระ ผิดแผกกับมนุษย์สร้างบ้าน หรือประดิษฐ์คิดค้นสิ่งไดขึ้นมา พระเป็นเจ้าทรงสรรพานุภาพ เมื่อประสงค์จะทำสิ่งใด เพียงแต่ทรงคิด (ดำริ) สิ่งนั้นก็จะเป็นอันสำเร็จทันที โดยที่พระองค์ทรงเป็น องค์ปฐมเหตุ (เหตุแรก) ของสิ่งสร้างทั้งหลาย เหตุแรกแท้ อันจำเป็นต้องมีนั้น จึงมีหลายเหตุมิได้ เราเรียกเหตุแรกนั้นว่า พระ (พระเป็นเจ้า) พระที่ทรงความสมบูรณ์ไร้ขอบเขต จึงจำเป็นมีได้แต่เพียง องค์เดียว พระเป็นเจ้าทรงยิ่งใหญ่ไร้ขอบเขต แต่สติปัญญา และความสามารถของมนุษย์ (ซึ่งเป็นสิ่งสร้าง)มีขอบเขตจำกัด เราจึงมิอาจล่วงรู้ และเข้าใจพระธรรมชาติ และแผนการของพระเป็นเจ้า โดยทะลุปรุโปร่งได้เลย ดุจภาชนะน้อยมิอาจบรรจุน้ำทะเลได้หมดข้อที่พระองค์ทรงเปิดเผยให้รู้ เราก็รู้ แต่มิอาจเข้าใจได้ตลอด เรียกว่า "อัตถ์ลึกซึ้ง" หรือ"พระธรรมล้ำลึก" การที่มีอัตถ์ลึกซึ้งในพระศาสนา มิใช่เรื่องแปลกประหลาดเลย ในธรรมชาติเองก็มีสิ่งที่เราไม่รู้ ไม่เข้าใจอีกมากมาย เช่น ชีวิต, ไฟฟ้า, วิทยุ เป็นอะไร? เราไม่รู้ รู้แต่ลักษณะ หรือคุณสมบัติ ของมันบ้างเท่านั้น ฉะนั้น เรื่องที่พระเป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ไร้ขอบเขต ถ้ามนุษย์สามารถรู้จักพระองค์โดยทะลุปรุโปร่งได้ เรื่องของพระองค์ก็จะเป็นเพียงธรรมชาติวิทยา หรือวิทยาศาสตร์ หรืออย่างมากก็แค่ปรัชญา เท่านั้น หาใช่ ศาสนา ไม่
พระธรรมล้ำลึกขั้นพื้นฐาน ของคาทอลิกมี 3 ข้อ- เรื่องพระตรีเอกภพ คือพระเป็นเจ้าหนึ่งเดียว ทรงเป็น 3 พระบุคคล ต่างกัน และเท่าเสมอกันทุกประการ ได้แก่ พระบิดา พระบุตร และพระจิต
- การที่พระบุตร (พระบุคคลที่ 2 ) เสด็จมารับสภาพมนุษย์ ทรงพระนามว่า "พระเยซูคริสตเจ้า"
- การไถ่บาปมนุษย์ ทำให้มนุษยชาติสามารถไปร่วมเสวยนิรันดรสุขกับพระองค์ในสวรรค์ได้
บทสรุปพระธรรมล้ำลึกทั้งสามข้อนี้ คือบทสำคัญมหากางเขน : "เดชะพระนาม พระบิดา และพระบุตร และพระจิต อาเมน" ถือเป็น "เครื่องหมายภายนอกของคริสตัง" สิ่งที่พระเป็นเจ้าทรงสร้าง แบ่งกว้างๆได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
- สิ่งที่แลเห็นไม่ได้ ได้แก่ พลังงาน และจิตต่างๆ
- สิ่งที่แลเห็นได้ ซึ่งแบ่งเป็น 2 อย่างคือ
- ไม่มีชีวิต เช่น ดิน ทราย แร่ธาตุต่างๆ
- มีชีวิต ได้แก่ พวกพืช สัตว์ และมนุษย์
ทรงสร้างเทวดา (Angels)
ก่อนจะทรงสร้างสกลจักรวาล (เอกภพ) พระเป็นเจ้าทรงสร้าง "เทวดา" ซึ่งเป็นจิตล้วน
เพื่อรับใช้พระองค์ในสวรรค์
ก่อนที่พระเป็นเจ้าจะให้เทวดา รับความสุขนิรันดร(สวรรค์) พระองค์ทรงทดลองน้ำใจของเทวดาด้วย น่าเสียดายเทวดาบางพวกซึ่งมีลูซีแฟร์ (Lucifer) เป็นหัวหน้า ไม่ยอมอ่อนน้อมต่อพระ จึงถูกลงโทษสู่นรก กลายเป็นผีปีศาจ (Devils) ในทันที หัวหน้าเทวดากบฏนี้บางทีเรียกว่า "ซาตาน (Satan)" ปีศาจริษยามนุษย์ ไม่อยากให้มนุษย์ทำดี จะได้ไปสวรรค์ ปีศาจจึงมาล่อลวงมนุษย์ให้เห็นผิดเป็นชอบ ให้ทรยศต่อพระ (ทำบาป) จะได้ตกนรกไปเป็นบริวารของมัน
เทวดารักษาตัว หรือ อารักขเทวดา
หลังจากการทดลองแล้ว เทวดาที่จงรักภักดีต่อพระ ก็ได้ร่วมเสวยนิรันดรสุขกับพระ
รับใช้พระองค์ เช่นอัครเทวดากาเบรียล ถือสารมาแจ้งแก่พระแม่มารีย์ เป็นต้น
นอกจากนั้น พระเป็นเจ้ายังโปรดให้มนุษย์แต่ละคน มีเทวดาองค์หนึ่ง คอยพิทักษ์รักษา
เรียกว่า "เทวดารักษาตัว (อารักขเทวดา)"
การสร้างมนุษย์
พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมเล่มแรก (ปฐมกาล) เล่าเรื่องการสร้างสรรค์ว่า
หลังจากทรงสร้างสิ่งต่างๆในเอกภพแล้ว ที่สุดทรงสร้างมนุษย์ เป็นชาย-หญิง คู่แรกชื่อ
อดัม และเอวา พระองค์ทรงประสาทพรให้ท่านทั้งสอง
บังเกิดบุตรหลานสืบต่อๆไปจนทั่วแผ่นดิน
และทรงมอบให้ท่านปกครองดูแลสรรพสิ่งในโลกด้วย
ทำไมจึงว่า มนุษย์เป็นยอดของสิ่งสร้างทั้งหลายในโลก
เพราะมนุษย์ประกอบด้วย ร่างกาย ภายนอกที่แลเห็นได้ และวิญญาณ (Soul) เป็นจิต
ที่สามารถคิดหาเหตุผลได้ (มีสติปัญญา) และมีอำเภอใจ (อิสระเสรี) ที่จะเลือกทำดีได้
ทำชั่วได้
จุดประสงค์ของการสร้างมนุษย์
พระเป็นเจ้าทรงสร้างมนุษย์สำหรับพระองค์เอง คือให้มนุษย์ใช้สติปัญญาศึกษา
ให้รู้จักพระ รู้แล้วจะได้รัก และปฏิบัติพระองค์ สุดกำลังความสามารถ
นอกนั้นยังทรงประสงค์ "ให้มนุษย์รัก และช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันด้วย"
ถ้ามนุษย์ปฏิบัติได้ครบถ้วนตามพระประสงค์นี้ ก็สมจะได้สวรรค์ในโลกหน้า 1.
สิ่งสร้างที่ไร้สติปัญญา ต้องเดินตาม "กฎธรรมชาติ"
ที่พระองค์ทรงตราไว้อย่างเข้มงวดตายตัว เช่น พระอาทิตย์ไม่เดินถอยหลัง
ต้นขนุนไม่ออกผลเป็นมังคุด ฯลฯ 2. ส่วนมนุษย์ ที่กอบด้วยสติปัญญา พระองค์ทรงวาง
"กฎศีลธรรม (พระบัญญัติ)" ให้ถือตาม
พระเป็นเจ้าทรงสร้างอาดัมและเอวาใน "สถานะความสุข" ให้ท่านทั้งสองเจริญชีวิตสุขสบาย ในสวนเอเดน(อุทยานสวรรค์ ณ แผ่นดิน) ท่านทั้งสองได้รับชีวิต 2 อย่าง คือ
- ชีวิตตามธรรมชาติ คือ การที่กาย และวิญญาณร่วมสนิทกัน
- ชีวิตเหนือธรรมชาติ คือ การมีส่วนในชีวิตพระ ทำให้เป็นบุตรบุญธรรมของพระ มีสิทธิ์มีส่วนในมรดก(ทายาท)สวรรค์
นอกนั้นอาดัมและเอวายังได้รับเอกสิทธิ์พิเศษ หรือพระคุณนอกธรรมชาติ คือ
- ทางกาย ไม่เจ็บไข้ ไม่เหน็ดเหนื่อยลำบาก ไม่ตาย (อมร)
- ทางวิญญาณ มีสติปัญญาเฉียบแหลม มีเจตนาซื่อตรง ไม่เอนเอียงไปทางบาปอกุศล
"นี่แหละแผนการแรกของพระ ในการสร้างมนุษย์"
อาดัมและเอวาตลอดจนลูกหลานจะดำรงสถานะดังกล่าวนี้ทั้งหมด ก็ต้องเคารพเชื่อฟังพระเป็นเจ้า อาดัมและเอวาดำรงอยู่ในสถานะความสุขดังกล่าวเพียงชั่วระยะหนึ่ง แล้วท่านก็ทำให้สถานะเดิมเสียไป โดยหลงเชื่อปีศาจ คิดมักใหญ่ใฝ่สูง จะใคร่เป็นใหญ่เท่าพระเป็นเจ้าบาปกำเนิด (Original Sin)
หมายถึงบาปแรกที่มนุษย์คู่แรกกระทำ และมลทินบาปนี้ยังสืบเนื่องตกทอดมาถึงมนุษยชาติที่เป็นลูกหลานด้วย โทษของบาปกำเนิด อาดัมและเอวาถูกขับออกจากสวนเอเดน ต้องทำมาหากินด้วยความยากลำบาก เกิดโรคภัยเบียดเบียน และสุดท้ายต้อง "ตาย"
- เสียชีวิตเหนือธรรมชาติ คือเสียสิทธิ์เป็นทายาทสวรรค์
- ลูกหลานเกิดต่อมาก็พลอยมีส่วนในมลทินโทษนี้ด้วย เรียกว่าติดมลทิน "บาปกำเนิด"
"แต่พระเป็นเจ้ามิได้ทรงทอดทิ้งมนุษยชาติ ทรงสัญญาว่าต่อไปภายหน้าจะทรงใช้ พระบุตรเสด็จมากอบกู้ (ไถ่) มนุษย์ให้สามารถไปสวรรค์ได้" "มนุษย์มิอาจลุกขึ้นด้วยตนเองได้"
บาปที่อาดัมและเอวาทำนั้นร้ายแรงมาก เพราะทำผิดต่อพระเป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ไร้ขอบเขต ฉะนั้นลำพังแต่มนุษย์สิ่งสร้างมีขอบเขต จะขอโทษชดเชยบาปสักเพียงไร ก็มิอาจสาสม จำต้องให้ "ผู้ไม่มีขอบเขต" มาทำชดเชย พระเป็นเจ้าพระบิดา จึงทรงใช้พระบุตร (เท่าเสมอพระบิดา) มารับสภาพมนุษย์ ทรงพระนามว่า "พระเยซูคริสตเจ้า" พระเยซูเจ้าจึงทรงเป็นทั้ง พระแท้ และ มนุษย์แท้ (มนุษย์-พระ) กิจการของพระเยซูเจ้าจึงมีคุณค่ามหาศาลหาขอบเขตมิได้ของพระ พระนาม "เยซู" แปลว่า "ผู้ไถ่" "ผู้กอบกู้" "ผู้ช่วยให้รอด"- ทรงสมภพที่ตำบลเบธเลเฮม ประเทศปาเลสไตน์ (ปัจจุบันคือ อิสราเอล)
- พระมารดาทรงพระนามว่า "มารีย์"พระนางทรงปฏิสนธิพระเยซูเจ้าด้วยพระสรรพานุภาพของพระจิตเจ้า นักบุญยอเซฟ (ยอแซฟ) เป็นบิดาเลี้ยงของพระองค์
- พระเยซูเจ้าทรงเจริญชีวิตในโลกประมาณ 33 ปี 30 ปีแรกทรงเจริญพระชนม์เยี่ยงสามัญชน อยู่กับพระมารดา และนักบุญโยเซฟ ที่ตำบลนาซาเร็ธ แคว้นกาลิลี ประเทศปาเลสไตน์
- 3 ปีหลัง พระองค์ทรงจาริกเทศนาประกาศ "พระวรสาร" (หรือ "ข่าวดี, "ข่าวประเสริฐ") เรื่องเมืองสวรรค์ และทรงเลือกศิษย์ 12 คน (อัครสาวก) เพื่อสืบพระศาสนาของพระองค์ต่อไป
- พระเป็นเจ้าทรงเป็นพระผู้สร้าง และเป็นพระบิดาพระทัยดี ทรงรัก และเมตตาเรามนุษย์ มนุษย์จึงต้องสนองความรักของพระ โดยพยายามถือตามพระบัญญัติ สุดกำลังความสามารถ
- พระเยซูเจ้าทรงประกาศยืนยันว่า พระองค์ทรงเป็นพระบุตรพระเจ้า เป็นพระผู้ไถ่ (พระแมสสิยาห์) ที่พระเป็นเจ้าทรงสัญญาไว้ และที่มนุษยชาติกำลังรอคอย
- พระองทรงเน้นว่า มนุษย์ทุกคนเป็นพี่น้องกัน ร่วมพระบิดาเดียวกัน (สืบจากอาดัมและเอวา) จึงต้องรัก และช่วยเหลือกัน ทั้งฝ่ายกาย และวิญญาณ
ตลอดพระชนม์ชีพของพระเยซูเจ้า คือ กางเขน เพราะพระองค์ทรงยอมรับความยากลำบากเหน็ดเหนื่อย เสียสละอย่างสูง แต่ที่เห็นเด่นชัดคือ 3 วันสุดท้าย เริ่มแต่ค่ำวันพฤหัสบดี วันศุกร์ วันเสาร์ในสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ พระองค์ทรงยอมให้ถูกจับกุม ขึ้นศาลทางศาสนา ศาลบ้านเมือง ถูกเฆี่ยนตี ถูกสวมมงกุฎหนาม ถูกสบประมาทเย้ยหยัน ถูกตรึงกางเขน และสิ้นพระชนม์ในวันศุกร์ ตอบสั้นๆก็เป็นอัตถ์ล้ำลึกข้อหนึ่ง แต่เหตุผลที่พอจะเข้าใจได้บ้างคือ เพื่อแสดงว่า
- บาป ทำเคืองพระทัยพระเป็นเจ้าสุดประมาณ เจ้าจึงต้องเกลียด และหลีกเลี่ยงบาปยิ่งกว่าภยันตรายใดๆ
- พระทรงรัก และหวังดีต่อมนุษย์สักเพียงไร รักจนกระทั่งยอมอุทิศชีวิตตายบนกางเขน เพื่อกอบกู้ชาวเราให้พ้นจากบาป
พระเยซูเจ้าเองตรัสว่า "ไม่มีความรักใดใหญ่ยิ่ง เท่ากับการพลีชีพเพื่อสหาย" (ยน.15:13) พระองค์ตรัสสอน และทรงกระทำเช่นนั้นด้วย ระหว่างเวลา 40 วัน หลังจากทรงคืนพระชนม์ชีพ พระเยซูเจ้าทรงประจักแก่คณะอัครสาวก และศิษย์หลายครั้ง เพื่อพิสูจน์ว่าทรงคืนชีพจริง และเพื่อปรับปรุงพระศาสนจักรที่ทรงตั้งขึ้น ครั้นครบ 40 วันแล้วพระองค์เสด็จเหาะขึ้นสวรรค์ต่อหน้าคณะอัครสาวก และศิษย์ทั้งหลาย
บัญญัติประการที่ 1
จงนมัสการพระเป็นเจ้าแต่องค์เดียว ศัพท์ "นมัสการ" นี้
คริสตังควรสงวนไว้ใช้เรียกเคารพชั้นพิเศษ ถวายแด่พระเป็นเจ้าผู้เดียว คือ รัก
เคารพพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นผู้สร้าง และเจ้านายสูงสุดของสรรพสิ่ง ในขณะเดียวกัน
พระองค์ยังเป็น พระบิดาผู้ใจดี เอาพระทัยสอดส่องดูแลเราทุกคนอย่างใกล้ชิด
เราจึงครองชีพร่วมกับพระบิดา และเพื่อพระองค์ด้วยสายตาแห่งความเชื่อ ความไว้ใจ
ความหวัง และความรักต่อพระองค์ เรานมัสการพระองค์ ด้วยการสวดภาวนา
และกิจแสดงความเคารพ(คารวกิจ) ทั้งภายในภายนอก และร่วมกับบุคคลอื่น (สังคม) เช่น
การไปร่วมศาสนพิธีกรรม
บัญญัติประการที่ 2
อย่าออกพระนามพระเจ้าโดยใช่เหตุ คือ รัก เคารพพระนามของพระเป็นเจ้า
ซึ่งเป็นพระนามศักดิ์สิทธิ์กว่านามทั้งหลาย
และห้ามนำพระนามของพระองค์มาใช้ในทางที่ผิด ที่ไม่สมควร เช่น
การสาบานในเรื่องเบ็ดเตล็ด และสาบานเท็จเป็นต้น
บัญญัติประการที่ 3
วันพระเจ้า อย่าลืมฉลองวันศักดิ์สิทธิ์ ที่สำคัญคือ การถือวันอาทิตย์..
พระเป็นเจ้าทรงเป็นเจ้าของวันเวลา พระองค์โปรดให้เราทำมาหากิน 6 วัน
และให้ฉลองวันอาทิตย์ คือ งดธุระฝ่ายโลก หันมาเอาใจใส่เรื่องฝ่ายวิญญาณเป็นพิเศษ
โดยไปร่วมพิธีมิสซา และงดเว้นงานหนัก
บัญญัติประการที่ 4
จงนับถือบิดามารดา พระเป็นเจ้า ทรงพอพระทัยให้มนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นสังคม (คือ
เป็นครอบครัว, หมู่บ้าน, ตำบล ประเทศ) และ
เพื่อให้การอยู่ร่วมกันในสังคมดำเนินไปเป็นปรกติสุข บัญญัติประการที่ 4
จึงกำหนดสิทธิ์ และ หน้าที่อันพึงมีต่อกัน เริ่มแต่ภายในครอบครัว
คือระหว่างพ่อแม่ลูก วงศ์ญาติ แล้วขยายกว้างออกไปในสังคมภายนอก
ระหว่างครูกับนักเรียน วัดกับสัตบุรุษ นายจ้างกับลูกจ้าง
รัฐบาลกับประชาชน..ตลอดจนประชาโลกทั้งมวล
บัญญัติประการที่ 5
อย่าฆ่าคน เราต้องเคารพชีวิตร่างกายของตนเอง
(โดยเอาใจใส่ถือหลักสุขภาพตามสมควร) และของผู้อื่น ด้วยกาย วาจา ใจ ไม่คิดเกลียดชัง
อาฆาตพยาบาท พูดให้เจ็บช้ำน้ำใจ สบประมาทด่าว่า ตลอดจนทุบตี ทำร้ายร่างกาย
และปลิดชีวิต (รวมทั้งการจงใจทำแท้ง) เราต้องเคารพชีวิตร่างกายของตนเอง
(คือละเว้นการทำบาป และโอกาสบาป) และของผู้อื่น
โดยละเว้นทุกสิ่งที่อาจทำให้ผู้อื่นตกในบาป (ภาษาคริสตังว่า "เป็นที่สะดุด
(Scandal)" )เป็นการเสียชีวิตเหนือธรรมชาติ
บัญญัติประการที่ 6 และ 9
อย่าทำอุลามก, อย่าปลงใจในความอุลามก ปรกติวิญญาณต้องเป็นปกครองร่างกาย
แต่อนิจจา! นับแต่บาปกำเนิด ร่างกายเป็นนาย อยากปล่อยตัวตามราคตัณหา บัญญัติ 2
ประการนี้จึงห้ามการสนุกทางเนื้อหนัง ด้วยกาย วาจา ใจ กล่าวอีกนัยหนึ่ง
การหาความสุขทางเพศที่อยู่นอกขอบข่ายวัตถุประสงค์ของศีลสมรส
(ศีลแต่งงาน)ล้วนเป็นความอุลามก เพราะเป็นสิ่งที่ขัดต่อระเบียบที่พระทรงวางไว้
เป็นการทำให้มนุษย์ลดศักดิ์ศรีตนเอง เยี่ยงสัตว์เดรัจฉาน
บัญญัติประการที่ 7 และ 10
อย่าลักขโมย อย่ามักได้ทรัพย์ของเขา บัญญัติ 2
ประการนี้สอนเราให้เคารพสิทธิในทรัพย์สินของผู้อื่น
เวลาเดียวกันก็กำชับเรามิให้ผูกใจหมกหมุ่นกับทรัพย์สินฝ่ายโลกจนเกินควร
เรามีสิทธิ์เป็นเจ้าของโดยชอบธรรม ด้วยการทำงาน,
ประหยัดการใช่จ่ายเก็บหอมรอมริบไว้, ด้วยการรับมรดก, ด้วยการซื้อขาย,
ด้วยการรับค่าจ้าง เป็นต้น เราอาจผิดต่อความยุติธรรมเรื่องทรัพย์สินของผู้อื่น เช่น
ลักขโมย, เรียกดอกเบี้ยเกินควร, ไม่จ่ายค่าจ้างที่เป็นธรรม,
ลูกจ้างไม่ถือตามข้อตกลงว่าจ้าง, เป็นหนี้แล้วไม่พยายามชดใช้, ไม่คืนของที่เก็บได้
หรือฝากไว้
บัญญัติประการที่ 8
อย่าใส่ความนินทา มนุษย์มีสิทธิ์รู้ความจริง, จะรักษาชื่อเสียง,
วาจาของเรามีอิทธิพลมากทั้งในทางสร้างสรรค์ และทำลาย บัญญัติประการนี้จึงห้ามมุสา
(โกหก คือปากกับใจ ไม่ตรงกัน), การใส่ความ (หมิ่นประมาท และการนินทา เป็นต้น
- อำนวย เช่นปรารถนาจะขโมยนาฬิกาของเพื่อน
- ด้วยวาจา เช่น พูดปด (ประการ 8)
- ด้วยกิจการ เช่น ขโมย, ทำร้ายร่างกายเขา ฯลฯ
- ด้วยการละเว้น เช่น จงใจไม่ไปร่วมถวายบูชามิสซาวันอาทิตย์ (โดยไม่มีเหตุผลอันควร)บาป คือการจงใจฝ่าฝืน หรือละเมิดพระบัญญัติ (คือทำผิดต่อน้ำพระทัยของพระ) โดยรู้ว่าเป็นบาป และยินยอมทำ เช่น รู้ว่าลักขโมยไม่ดี ผิดบัญญัติประการ 7 แล้วยังเต็มใจขโมย ก็เป็น บาป
- ด้วยความคิด เช่น คิดพิพากษาเขาด้วยเบาความ (ประการ 8), เกลียดชังท่าน (ประการ 5)
- ด้วยความปรารถนา เมื่อน้ำใจ (เจตนา) หันไปสู่สิ่งชั่ว และตั้งใจจะทำเมื่อโอกาส
บาปที่ทำเองมี 2 ประเภทคือ
- บาปเบา (Venial sin) เมื่อทำผิดในข้อเบาโดยรู้ตัวและเต็มใจ หรือทำผิดในข้อหนักที่ไม่สู้รู้ตัวและไม่เต็มใจ
- บาปหนัก (Mortal sin) เมื่อจงใจทำผิดในข้อหนัก โดยรู้ว่าเป็นข้อหนัก และยินยอมทำ
ท่าทาง หรือ โอกาสบาป หมายถึง ทุกสิ่งที่ชักนำให้ทำบาป อาจเป็นสถานที่ เช่น ไนต์คลับ, อาจเป็นบุคคล เช่น เพื่อนชั่ว, อาจเป็นสิ่งของ เช่น หนังสือลามก เราตั้งใจไม่ทำบาปก็ต้องพยายามหลีกเลี่ยงโอกาสบาปด้วย มนุษย์แต่ละคนมีความโน้มเอียงทางชั่วไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ความโน้มเอียงที่ทำให้เราตกในบาปบ่อยๆจนเกิดเป็นนิสัยชั่ว (ศัพท์คริสตังว่า พยศชั่ว :Vice) เรียกว่า "บาปต้น (Capital Sin)"พยศชั่ว (เทียบอกุศลมูล) ตรงข้ามกับฤทธิ์กุศล ฤทธิ์กุศลโน้มนำให้ทำดีหนีความชั่วจนเคยชินเป็นนิสัยดี ส่วนพยศชั่วมีแต่โน้มนำให้ทำชั่ว
- ความจองหอง คือการยกตนข่มท่าน ทะนงตนเกินขอบเขตที่เป็นจริง ดังเช่น พวกฟาริสีที่กล่าวในพระวรสาร บาปจองหองนำไปสู่ความมักใหญ่ใฝ่สูงเกินประมาณ, โอ้อวดเกินเหตุ
- ความตระหนี่ คือการผูกใจอยู่กับทรัพย์สมบัติต่างๆเป็นต้นเงินทอง บูชาเงินเป็นพระเจ้า จนลืมคิดถึงพระ ไม่ยอมเหลียวแลช่วยเหลือผู้ตกยาก ไม่สนใจความรอดวิญญาณของตน (เช่น ไม่ไปวัด เพราะเสียดายเวลาหากิน) บาปตระหนี่นำไปสู่การขโมย, การฉ้อฉลกลโกง, การทะเลาะวิวาท ฯลฯ
- ความอุลามก คือการใฝ่หาความสนุกฝ่ายเนื้อหนัง (ทางเพศ) กับตนเอง หรือผู้อื่น นอกขอบข่ายวัตถุประสงค์ของศีลสมรส พระเป็นเจ้าเคยลงโทษมนุษย์ที่ปล่อยตัวเป็นทาสของบาปอุลามก เช่น เรื่องน้ำมหาวินาศยุคโนอาห์ และเรื่องเมืองโซดมถูกฝนกำมะถันถล่มพินาศกลายเป็นทะเลตาย (Dead Sea)
- ความริษยา คือ เสียใจเมื่อคนอื่นได้ดี และยินดีเมื่อเห็นคนอื่นได้ร้าย พระคัมภีร์เล่าเรื่องคาอินริษยาอาเบล น้องชายของตน; ยอแซฟถูกพี่ๆขายไปประเทศอียิปต์ บาปริษยานำไปสู่ความเกลียดชัง การหมิ่นประมาทใส่ร้าย การผูกพยาบาททะเลาะวิวาท
- ความโลภอาหาร คือชอบกินเกินขนาด หรือเพราะเห็นแก่ความสนุก ปรกติเราต้องกินเพื่ออยู่ มิใช่อยู่เพื่อกิน
- ความโกรธ คือความวุ่นวายใจนอกลู่นอกทาง ทำให้ชิงชังบุคคล หรือสิ่งที่มาขัดอารมณ์ เมื่อโกรธก็ขาดสติ จึงอาจก่ออาชญากรรมได้มากมาย เช่น ด่าแช่ง. ทุบตี, ฆ่า
- ความเกียจคร้าน คือไม่อยากทำงาน หรือเลินเล่อต่อหน้าที่ ในพระวรสารพระเยซูทรงตำหนิคนใช้ที่นำเงินไปฝังดิน (มธ. 25, 14-30) บาปเกียจคร้านเปิดช่องให้แก่การประจญล่อลวงทุกชนิด มันนำไปสู่ความเฉื่อยชา, ความยากจน, ความเสียใจ และความหน่ายแหนงชีวิต
บทบัญญัติแห่งพระศาสนจักร เมื่อพระเยซูเจ้าทรงตั้งพระศาสนจักรก็ได้แต่งตั้งเปโตร หัวหน้าคณะอัครสาวก ให้เป็นประมุข:"จงเลี้ยงลูกแกะ และแม่แกะของเรา" (ยน.21:15-17)และเมื่อทรงใช้สาวกไปเทศน์สอนก็ได้ตรัสว่า "ผู้ใดฟังท่าน คือฟังเรา ผู้ใดดูหมิ่นท่าน คือดูหมิ่นเรา" (ลก. 10:2-16) พระศาสนจักรผู้รับมอบฉันทะจากพระเยซูเจ้า จึงมีอำนาจตราบทบัญญัติให้คริสตังทั้งหลายถือปฏิบัติ บทบัญญัติพระศาสนจักรที่สำคัญ 4 ประการ
บทบัญญัติในการปกครองพระศาสนจักรทั่วโลกมีอยู่นับพันมาตรา รวมเรียกว่า "ประมวลกฎหมายพระศาสนจักร (The Code of Canon Law)" แต่ที่เกี่ยวกับสัตบุรุษทั่วไปมี 4 ประการคือ 1. จงร่วมถวายบูชามิสซา และอย่าทำงานหนักในวันอาทิตย์ และวันฉลองบังคับ 2. จงอดอาหาร และเนื้อในวันบังคับ 3. จงรับศีลแก้บาปอย่างน้อยปีละครั้ง และจงรับศีลมหาสนิอย่างน้อยปีละครั้งในกำหนดปัสกา 4. จงบำรุงพระศาสนาตามความสามารถ
"ฤทธิ์กุศล"เป็นศัพท์คริสตัง หมายถึง คุณธรรมเหนือธรรมชาติ ที่โน้มนำไปในทางดี เป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่งโน้มนำเราให้ถือพระบัญญัติ หรือทำตามน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้า) เมื่อรับศีลล้างบาป เราได้รับชีวิตพระหรรษทาน เป็นบุตรบุญธรรมของพระ พร้อมกับได้รับ ฤทธิ์กุศลเหนือธรรมชาติด้วย ฤทธิ์กุศลเหนือธรรมชาติ ที่เกี่ยวกับพระเป็นเจ้าโดยตรงมี 3 ประการ คือ ความเชื่อ, ความไว้วางใจ (ความหวัง) และความรัก
- ฤทธิ์กุศลความเชื่อ (หรือ ศรัทธา)
โน้มนำเราให้เชื่อทุกข้อที่พระองค์ทรงเปิดเผย และที่พระศาสนจักรสั่งสอน เพราะพระองค์ไม่รู้จักผิดหลง ไม่หลอกลวง หรือถูกหลอกลวงเลย เช่น เชื่อว่ามีพระสถิตอยู่ทั่วไป ทรงรู้แม้ความคิดในใจ ก็เป็นกำลังใจให้ทำความดีหนีความชั่ว ตามพระบัญญัติ แม้ในที่ลับไม่มีคนเห็น แต่พระทรงเห็น เชื่อถึงชีวิตนิรันดร ก็ทำให้เราเข้มแข็ง พากเพียร เสียสละทุกอย่างในโลกอนิจจังนี้ ดีกว่าทำบาปให้ขัดเคืองพระทัยของพระเป็นต้น - ฤทธิ์กุศลความไว้วางใจ (ความหวัง)
โน้มนำเราให้หวังไว้ใจว่า อาศัยพระบารมีของพระเยซูเจ้า พระองค์จะประทานพระหรรษทานช่วยเราอย่างเพียงพอในการถือพระบัญญัติ และถ้าเราสัตย์ซื่อถือธรรมตลอดไป หกล้มตกในบาปก็ตั้งใจลุกขึ้นมาใหม่ ขอโทษพระ ก็เป็นที่หวังได้ว่า เราจะได้สวรรค์อันจุใจเรา ความหวังของชาวคาทอลิกมั่นคง เพราะฤทธิ์กุศลนี้ทำให้เราคิดพึ่งพระ มากกว่าหมายพึ่งมนุษย์ที่อ่อนแอไม่แน่นอน เป็นต้น ในยามประสบทุกข์ลำบาก, เจ็บไข้ได้ป่วยมิรู้หาย, หรือเมือถูกปีศาจมาประจญล่อลวงเราอย่างหนัก ฯลฯ ข้อพึงระวังเรื่องความไว้ใจ คือ เราไม่ควรประมาทตั้งตนอยู่ในโอกาสบาป - ฤทธิ์กุศลความรัก
โน้มนำเราให้รักพระเหนือทุกสิ่ง และรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตัวเอง ทั้งนี้เพราะเห็นแก่ความรักพระ ถ้าเรารักพระจริง ก็ต้องพยายามถือพระบัญญัติสุดสามารถ ไม่อยากทำบาปให้เป็นที่ขัดเคืองพระทัยพระองค์ ส่วนความรักเพื่อนมนุษย์ ได้แก่ปรารถนาดีต่อทุกคน, เคารพต่อสิทธิและหน้าที่อันพึงมีต่อกัน, พากเพียรทนต่อข้อบกพร่องล่วงเกินกัน, ให้อภัยกัน และช่วยเหลือกันทั้งฝ่ายกาย และวิญญาณ
"เพื่อนมนุษย์"
หมายถึง ทุกคน นอกจากตัวเรา อย่างไรก็ดี
เราต้องแสดงความรักต่อบุคคลที่พระญาณสอดส่องทรงจัดไว้ให้เกี่ยวข้องกับเราไปตามลำดับ
จนกระทั่งเพื่อนร่วมโลก พูดง่ายๆคือ เริ่มจากบุคคลในครอบครัว, ญาติพี่น้อง,
เพื่อนบ้าน, ผู้มีพระคุณ, ที่วัด, ที่โรงเรียน, ที่ทำงาน, เพื่อนร่วมตำบล,
ร่วมชาติ, แผ่ไปจนร่วมโลกรวมทั้งผู้ที่เป็นอริกับเราด้วย (มธ. 5:44) มโนธรรม
(Conscience) คือธรรมะในใจที่คอยชี้บอกถึงกิจการกระทำแต่อันที่เราทำคือ
-ขณะกำลังทำ มโนธรรมเป็นพยาน และเตือนให้ทำ หรือให้ละเว้น
-หลังการกระทำ มโนธรรม จะเป็นตุลาการ ชมเชย หรือติเตียน
ดังนั้น เราจะทำอะไรขัดต่อมโนธรรมมิได้ และเมื่อถือตามเสียงมโนธรรม เราจะรู้สึกสบายใจ (สวรรค์อยู่ในอก) ตรงกันข้าม คนบาปที่ทำฝืนมโนธรรม แม้ภายนอกจะเห็นว่าเขาสุขสบาย แต่ความจริงเขาไม่สบายใจเลย เพราะมโนธรรมคอยติเตียนเขาเสมอ ชมเชย หรือติเตียน
พระหรรษทานคือ พระคุณที่พระเป็นเจ้าให้เปล่า เพราะพระทัยดีของพระองค์ โดยอาศัยพระบารมีของพระเยซูเจ้า เพื่อช่วยเราให้สามารถดำรง ชีวิตคริสตัง และบรรลุถึงสวรรค์ได้ พระหรรษทานมี 2 ชนิด คือ
- พระหรรษทานศักดิ์สิทธิกร (Sanctifying Grace)
- พระหรรษทานปัจจุบัน (Actual Grace )
คือพระคุณที่พระเป็นเจ้า มาประทับอยู่ในวิญญาณของเรา บันดาลให้เรามีชีวิต และฤทธ์กุศลเหนือธรรมชาติ อาจพูดอีกอย่างหนึ่งว่า พระหรรษทานศักดิ์สิทธกรบันดาลให้เรามีส่วนในชีวิตพระ เป็นสหายกับพระ สมที่จะไปอยู่กับพระ และทำให้สามารถประกอบกรรมดีสมรับบำเหน็จสวรรค์
เราได้รับพระหรรษทานศักดิ์สิทธิกร เมื่อเราได้รับศีลล้างบาป และพระหรรษทานนี้จะดำรงอยู่ในวิญญาณตลอดเวลาที่ไม่ทำบาปหนัก บาปหนัก(สำหรับคริสตัง)จึงเป็นภัยร้ายกาจยิ่งกว่าภยันตรายใดๆ เพราะทำให้เราสูญเสียสิทธิ์เป็นบุตรบุญธรรมของพระ และถ้าตายในขณะติดบาปหนัก ก็สมโทษนรก อย่างไรก็ดี ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ ยังเป็นเวลาแห่งพระมหากรุณา เราอาจได้รับพระหรรษทานศักดิ์สิทธิกรกลับคืนมา โดยเป็นทุกข์ถึงบาปอย่างสมบูรณ์ หรือโดยทางรับศีลแก้บาป
พระหรรษทานปัจจุบัน
คือพระคุณที่พระเป็นเจ้าโปรดประทาน เป็นครั้งคราว
บันดาลให้สติปัญญารู้จักทางดีไปสวรรค์ และให้ น้ำใจของเรามีกำลัง เดินในทางดี
และหนีความชั่วได้ พระเป็นเจ้าประทานพระหรรษทานปัจจุบันแก่ทุกคน เพราะ
"พระองค์ทรงประสงค์ ให้มนุษย์ทุกคนเอาตัวรอด (1 ทิโมธี 2:4)
"พระเยซูเจ้าทรงไถ่บาปของทุกคน
ตั้งแต่มนุษย์คนแรกจนกระทั่งคนสุดท้ายเมื่อสิ้นโลก(สิ้นพิภพ)
พระบุญญาบารมีของพระองค์มิรู้หมดสิ้น จึงเพียงพอสำหรับทุกคน อย่างไรก็ดี
พระเป็นโปรดให้มนุษย์มีอิสรเสรี จะเชื่อฟังพระหรรษทานก็ได้ จะขัดสู้ก็ได้
แต่ผู่ที่ขัดสู้พระหรรษทานนี้บ่อยๆ ก็จะได้รับพระหรรษทานยิ่งทียิ่งน้อยลง
จิตใจจะมืดมัวลง และแข็งกระด้างในความชั่ว เพลงสดุดีบท 94 ข้อ 4 จึงว่า "วันนี้
ถ้าท่านได้ยินพระสุรเสียงของพระเป็นเจ้า ก็อย่าทำใจแข็งกระด้างเลย"
วิธีการรับพระหรรษทาน
ตามปรกติ เราได้รับพระหรรษทาน 3 วิธีคือ
- การสวดภาวนา
- รับศีลศักดิ์สิทธิ์
- การบำเพ็ญกุศลกิจ
มิใช่เพียงเช้านั้นเช้าเดียว แต่ในพระคัมภีร์มีเขียนเล่าว่า พระเยซูเจ้ามักใช้เวลาเงียบๆคนเดียวสวดภาวนาเสมอ แม้พระองค์จะมีภารกิจมากเพียงใดในการเทศน์สอน และรักษาคนเจ็บป่วย แต่ก็ยังคงใช้เวลาในช่วงวันในการสวดภาวนาบ่อยที่สุดเท่าที่ทำได้
การภาวนาคือการยกจิตใจขึ้นหาพระเป็นเจ้า เพื่อสนทนากับพระองค์ มีอยู่ 2 ลักษณะ คือ
- การภาวนาจากใจ หมายถึงการสวดภาวนาส่วนตัว โดยการพูดกับพระเป็นเจ้าในใจ คิดถึงพระองค์ บางครั้งออกมาในรูปแบบการอ่านพระคัมภีร์ และรำพึงไตร่ตรองพระวาจาของพระที่ตรัสกับเราในพระคัมภีร์ การภาวนาจากใจเช่นนี้ต้องมีการฝึกหัด และพัฒนาจิตใจให้จดจ่ออยู่กับพระเป็นเจ้าเสมอ ผู้ที่พัฒนาจิตใจ และหมั่นสวดภาวนาอยู่เสมอในชีวิตประจำวัด จะภาวนาได้ง่ายขึ้น แม้ในเวลาทำงาน, บนรถเมล์ หรือที่ไหนก็สามารถยกจิตใจขึ้นหาพระเป็นเจ้าได้เสมอ
- การภาวนาตามบทสวดที่พระศาสนจักรแต่งขึ้น หมายถึงการภาวนาที่บางครั้งเราไม่ทราบว่าจะพูดอะไร หรือสวดอย่างไรกับพระเป็นเจ้า ก็มีบทภาวนาที่พระศาสนจักรได้แต่งไว้ ให้เราได้สวดตามบทสวดนั้น ขณะสวดก็คิดตามความหมายของเนื้อหาของบทสวดที่แต่งไว้เช่น "บทข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย" เป็นบทที่พระเยซูเจ้าสอนเราในพระคัมภีร์, "บทวันทามารีอา" เป็นบทที่เราใช้สรรเสริญพระเป็นเจ้าผ่านทางพระนางมารีอา, "บทเยซูมารีอายอแซฟ "ฯลฯ คริสตชนจะสวดบทภาวนาต่างๆเหล่านี้ได้ขึ้นใจ ตั้งแต่เป็นเด็ก และมีโอกาสสวดภาวนาร่วมกับคริสตชนอื่นๆ เมื่อประกอบศาสนกิจร่วมกัน ก็จะเปล่งเสียงสวดภาวนาเหล่านี้ด้วยกันอย่างพร้อมเพรียง
- ศีลล้างบาป (Baptism)
เป็นเครื่องหมายภายนอกที่โปรดให้แก่ผู้รับ เพื่อประทานพระหรรษทานศักดิ์สิทธิกร ลบล้างผลร้ายของบาปที่ติดตัวเรามาแต่กำเนิด หรือเรียกว่า "บาปกำเนิด" จนหมดสิ้น ทำให้เรากลับกลายเป็นบุตรบุญธรรมของพระเป็นเจ้า มีสิทธิ์ในมรดกสวรรค์ และได้รับศีลศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ขณะดำเนินชีวิตบนโลกนี้ คริสตชนนำทารกแรกเกิดเมื่อแข็งแรงแล้ว มารับศีลล้างบาปกับพระสงฆ์ที่วัดท่ามกลางกลุ่มคริสตชนที่มาร่วมยินดีต้อนรับเด็กน้อย แล้วเด็กนั้นก็โตขึ้นโดยอาศัยกลุ่มคริสตชนช่วยเหลือประคับประคองความเชื่อ เมื่อถึงวัยรุ่นก็จะได้รับศีลศักดิ์สิทธิ์อีกประการหนึ่งคือ "ศีลกำลัง" - ศีลกำลัง (Confirmation)
ศีลกำลังเป็นการต่อเนื่องศีลล้างบาป ด้วยว่าเมื่อทารกได้กลับกลายเป็นคริสตชน เขาจะค่อยๆโตขึ้นเพื่อพัฒนาความเชื่อ และเรียนรู้ที่จะดำเนินชีวิตคริสตชน จนเขาเข้าสู่วัยรุ่น เขาจะได้รับพระจิตเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม ให้มีกำลังในการจะเป็นพยาน และแพร่ธรรมอีกทั้งปกป้องช่วยเหลือเมื่อพระศาสนจักรพบอุปสรรค และความยากลำบาก การจะพร้อมช่วยเหลือนี้ องค์พระจิตเจ้าจะประทานพระคุณ 7 ประการแก่เขา ให้กลับกลายเป็นคริสตชนที่สมบูรณ์ เป็นผู้ใหญ่ทางความเชื่อ และทำงานตามฐานะของตนอย่างไม่ย่อท้อ พระคุณทั้ง 7 ประการคือ
1. พระดำริ พระคุณที่ช่วยให้เราซาบซึ้งในความดีงามของพระเป็นเจ้า ได้ลิ้มรสความดีงามอันเหนือธรรมชาติของพระเป็นเจ้า
2. สติปัญญา เพื่อเข้าใจข้อคำสอนอันลึกซึ้งของพระศาสนจักร
3. ความคิดอ่าน เพื่อแยกแยะตัดสินคุณค่าสิ่งต่างๆได้อย่างแม่นยำ
4. ความรู้ ความสามารถในการเรียน ทั้งทางโลก, ทางธรรม, การพัฒนาคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เพื่อสร้างสรรโลก
5. ความยำเกรง ความรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้า และตั้งพระองค์ไว้ต่อหน้าเสมอ
6. ความเลื่อมใสศรัทธา เป็นพระคุณ ที่ช่วยให้คริตชนร้อนรนในการปฏิบัติศาสนกิจอย่างเข้าใจ และรู้ความหมาย
7. กำลัง เป็นพระคุณความเข้มแข้ง ที่จะต่อสู้การประจญล่อลวง และความโน้มเอียงฝ่ายต่ำ ที่เราเรียกว่าทำชั่ว - ศีลอภัยบาป (Penance)
ขณะรับศีลล้างบาปเราได้ยกบาปทั้งสิ้น, ผลของบาปที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิดทุกประการ แต่เมื่อเราโตขึ้นเราก็พลาดพลั้งทำบาปอีก ทุกครั้งที่ทำบาปหนัก ผลของบาปทำให้เรากับพระตัดสัมพันธ์กัน เราสูญเสียพระหรรษทานศักด์สิทธิกร มิได้เป็นบุตรบุญธรรมของพระเป็นเจ้าอีกต่อไป ไม่มีสิทธ์รับมรดกในเมืองสวรรค์ พระเยซูเจ้าทรงตั้งศีลอภัยบาปเพื่อให้มนุษย์ได้กลับมามีความสัมพันธ์ และกลับมาคืนดีกับพระเสียใหม่ อีกชื่อหนึ่งของศีลศักดิ์สิทธิ์ประการนี้คือ "ศีลแห่งการคืนดี" เด็กๆที่เติบโตมาจึงเรียนรู้ที่จะกลับมาขอโทษพระเป็นเจ้าทุกครั้งที่กระทำบาป และได้รับการอภัยโทษ โดยเข้าไปขอสารภาพบาปกับพระสงฆ์ผู้เป็นคนกลางระหว่างพระกับมนุษย์ ท่านให้อภัยในนามของพระเป็นเจ้า เนื้อแท้ของศีลอภัยบาปจึงมิใช่การปลดเปลื้องบาปออกจาก ตัวเราด้วยความเห็นแก่ตัว แต่เป็นการเห็นแก่พระเป็นเจ้า เพราะพระองค์เป็นความดีงาม, องค์ความรัก แต่ทำไมเราจึงกระทำบาปให้พระองค์เสียใจ และตัดความสัมพันธ์กับองค์ความดีนั้น เงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งของศีลอภัยบาปคือต้องเสียใจ เพราะเราได้กระทำบาปนั้น และตั้งใจว่าจะไม่กระทำอีก ความรักของพระเป็นเจ้าที่มีต่อคริสตชน และมนุษย์ทุกคน เปรียบได้กับความรักของพ่อที่มีต่อลูกผู้สำนึกผิดกลับมาขอโทษ และพ่อให้อภัย จึงเป็นความชื่นชมยินดี และการเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ทุกครั้งที่เราพลาดไป - ศีลมหาสนิท (Holy Eucharist)
เราจัดอันดับศีลมหาสนิทไว้อันดับที่สี่ เพื่อบ่งว่าศีลนี้ยิ่งใหญ่ และสำคัญที่สุด เป็นหัวใจของศีลศักดิ์ทุกประการ เราจึงนำมาวางไว้ตรงกลาง เพราะศีลมหาสนิทเป็น องค์พระเยซูเจ้าเองที่ประทับอยู่ท่ามกลางมนุษย์ทุกคน ภายใต้รูปปรากฎของแผ่นปังและเหล้าองุ่น เมื่อได้รับการอภิเษกในบูชาแผ่นปัง และเหล้าองุ่นก็กลับเปลี่ยนเป็นพระกาย และพระโลหิตของพระเยซูเจ้า แม้สายตาจะเห็นภาพเป็นแผ่นปังและเหล้าองุ่น แต่เนื้อแท้ได้เปลี่ยนเป็นพระวรกายทั้งครบของพระเยซูเจ้า เมื่อคริสตชนได้รับศีลมหาสนิทก็เชื่อมั่นคงว่าเป็นองค์พระเยซูเจ้าเองที่มาประทับในชีวิตของคริสตชน เพื่อเราจะได้ชิดสนิทเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์
คำพูดของไทยเราที่ว่า "รักกันปานจะกลืนกิน" หมายถึงความรักของคนที่มีความรักใกล้ชิดสนิทสนม และผูกพันกันมิได้เหินห่าง บัดนี้พระเยซูเจ้าก็ได้กระทำอัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่ตั้งศีลมาหสนิท อันเป็นมรดกสุดท้ายที่พระองค์มอบให้แก่อัครสาวก และคริสตชนทั้งปวง
ในค่ำวันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์ ก่อนวันที่พระองค์จะสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน พระเยซูเจ้าได้รับประทานอาหารค่ำมื้อสุดท้ายกับบรรดาอัครสาวก และทรงหยิบแผ่นขนมปังอันเป็นอาหารพื้นๆประจำวันของชาวยิว บิออกและส่งให้พวกเขารับไปกินจากปังก้อนเดียวกันนั้นเอง หากเทียบกับบ้านเราก็คงคล้ายกับคดข้าวจากหม้อเดียวกัน และพระเยซูเจ้าตรัสว่า "จงรับไปกินให้ทั่วกันเถิด นี่เป็นกายของเรา" จากนั้นทรงหยิบถ้วยเหล้าองุ่นอันเป็นเครื่องดื่มในมื้ออาหารธรรมดาของชาวยิว และส่งให้บรรดาอัครสาวกดื่มจากถ้วยเดียวกัน และตรัสว่า "จงรับเอานี่ไปดื่มให้ทั่วกันเถิด นี่เป็นโลหิตของเรา โลหิตแห่งพันธสัญญาใหม่อันยืนยง โลหิตซึ่งหลั่งออกเพื่อยกบาปเพื่อพวกท่านและมนุษย์ทั้งหลาย จงทำดังนี้เพื่อระลึกถึงเราเถิด"
เฉพาะเรื่องศีลมหาสนิท บรรดานักเทววิทยาจัดเป็นวิชาหนึ่งเลยทีเดียว ผู้เขียนเชื่อว่าคงยากที่จะอธิบายเรื่องศีลมหาสนิทให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งในโอกาสนี้ คริสตชนรับศีลมหาสนิททุกครั้งในพิธีกรรมบูชามิสซา และมีความเชื่อศรัทธาภักดีต่อศีลมหาสนิทว่า เป็นองค์พระเยซูเจ้าประทับอยู่ภายใต้เพศปัง และคริสตชนเก็บรักษาศีลมหาสนิทไว้ในตู้ศีล ซึ่งอยู่ในวัด เพื่อเปิดโอกาสให้คริสตชน และทุกคนได้มาเฝ้าสนทนากับพระเยซูเจ้าได้ทุกเวลาที่ต้องการ เรียกว่า "การเฝ้าศีลมหาสนิท" - ศีลสมรส (Matrimony)
ความรักของพระเป็นเจ้าติดตามเราไปทุกขณะจิต ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออันสำคัญต่อชีวิตหนุ่มสาวก็คือ เวลาแต่งงาน และเริ่มต้นชีวิตครอบครัว มันไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้งยังเป็นเรื่องสำคัญ ใครช่วยแนะนำ และอธิบายถึงสภาพครอบครัว และธรรมชาติอันถ่องแท้ของมันให้แก่หนุ่มสาวฟังว่า แท้จริงการแต่งงานมีอะไรมากกว่าการเตรียมงานภายนอกอย่างหรูหรามีหน้ามีตา คู่แต่งงานที่รักกัน และตกลงปลงใจที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน จึงจูงมือกันมาหาพระสงฆ์ที่วัด เพื่อรับการอบรมคำสอนเตรียมแต่งงาน ศีลศักดิ์สิทธิ์ประการนี้จึงเริ่มตั้งแต่เขามารับฟังคำสอนกับพระสงฆ์ด้วยกันทั้งคู่ มิใช่จู่ๆก็มาทำพิธีกันในโบสถ์ได้เลย เมื่อชายหญิงพบว่ารักกันและกัน จนสามารถมอบความรักให้แก่กันจนหมดสิ้น และมั่นใจด้วยว่าอีกฝ่ายก็จะรับรักของเขาไว้ทั้งหมดด้วยเช่นกัน มิใช่รับไว้เพียงครึ่งๆกลางๆ เผื่อเลือก หากได้พบคนเช่นนี้เราจึงแต่งงาน คริสตชนเรียกว่า "การตกลงปลงใจ" ยอมรับกันและกัน และมอบความรักแก่กันและกันจนหมดสิ้น
การมาประกอบพิธีสมรสในวัด จะมีการกล่าวรับเป็นสามีภรรยากันต่อหน้าเพื่อนพี่น้อง และต่อหน้าพระเป็นเจ้า ชายและหญิงผู้เป็นคริสตชนทั้งสองฝ่ายเป็นผู้โปรดศีลศักดิ์สิทธ์ประการนี้แก่กันและกัน พระสงฆ์เป็นเพียงพยานในพิธี ศีลศักดิ์สิทธ์ประการนี้ผูกพันเขาทั้งสองให้เป็นหนึ่งเดียวกัน จะหย่าร้างกันไม่ได้จนกว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะตายไป พระเป็นเจ้าทรงยกเรื่องแต่งงานเป็นเรื่องสูง การใช้ชีวิตร่วมหลับนอนกันฉันท์สามีภรรยาก็คือ การมอบความรักให้แก่กันและกันอย่างมากที่สุดเท่าทีมนุษย์ที่รักกันจะให้กันได้ และผลพวงของความรักอันยิ่งใหญ่นี้ก็คือลูกที่น่ารักที่ถือกำเนิดมาจากพ่อแม่ซึ่งแต่งงานกัน คริสตชนจึงห้ามทำหมัน, การทำแท้ง, การวางแผนครอบครัวด้วยอุปกรณ์ภายนอกด้วยความคิดเห็นแก่ตัวไม่ต้องการลำบากเพราะมีลูก เพราะลูกเป็นพระพรของพระเป็นเจ้า และการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันกับพระเป็นเจ้าในการสร้างโลก คริตชนจึงรัก และเอาใจใส่อบรมลูกให้เป็นคนดีทั้งทางโลก และทางธรรม เพื่อเป็นคนที่สมบูรณ์เมื่อเขาพร้อมจะออกไปอยู่ในสังคม และทำให้โลกที่พระเป็นเจ้าสร้างมาสวยงามอย่างที่มันควรเป็น - ศีลอนุกรม หรือ ศีลบวช (Holy Orders)
ในค่ำวันพฤหัสสบดีศักดิ์สิทธิ์ที่พระเยซูทรงตั้งศีลมหาสนิท พระองค์ทรงตั้งศีลอนุกรม เพื่อมอบอำนาจ และบวชชายหนุ่มให้เป็นพระสงฆ์ เพื่อสืบงานและอำนาจโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ต่อไปในพระศาสนจักรของพระองค์ ในเวลานั้นพระองค์ตรัสกับอัครสาวกเวลาบิปัง และส่งถ้วยเหล้าองุ่นให้แก่พวกเขาพระองค์กำชับว่า"จงทำดังนี้เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเราเถิด" ก็คือให้อัครสาวกทำสืบต่อกันมา เป็นผู้ประกอบบูชามิสซา และศีลศักดิ์สิทธิ์ประการอื่นๆ เพื่อบรรดาคริสตชนต่อมา 2,000 ปีมาแล้ว
ศีลอนุกรม ก็คือศีลบวชพระสงฆ์ ในศักดิ์สงฆ์นี้เองมีลำดับ 3 ขั้น
1. สังฆานุกร เป็นการบวชเมื่อเริ่มเข้าสู่สังฆภาพ ยังไม่มีอำนาจเต็มในการเป็นศาสนบริการ
2. พระสงฆ์ เป็นการรับศีลบวชเข้าสู่สังฆภาพที่ครบถ้วนแล้ว แต่ยังต้องเชื่อฟังพระสังฆราชผู้บวชตน และอำนาจบางอย่างแม้มีศักยภาพประกอบกิจได้ แต่ยังสงวนไว้จนกว่าพระสังฆราชจะอนุญาตให้ประกอบได้
3. พระสังฆราช เป็นการเข้าสู่สังฆภาพที่ครบถ้วนบริบูรณ์ พระสังฆราชจะเป็นผู้โปรดศีลบวชพระสงฆ์
ในเรื่องศีลอนุกรมนี้ยังมีแง่มุมทางด้านการปกครอง, ทางเทววิทยาความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างพระสังฆราชและพระสงฆ์ และพระสงฆ์กับองค์พระคริสตเจ้า คริสตชนถือว่าพระสงฆ์แบ่งเอาความเป็นสงฆ์มาจากองค์พระเยซูเจ้า พระองค์เป็นพระสงฆ์ในความใหม่นี้เป็นบุคคลแรก เป็นสงฆ์ผู้บูชาถวาย และทั้งเป็นเครื่องบูชาในเวลาเดียวกัน ผู้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์จะเป็นพระสงฆ์ตลอดไปนิรันดร หมายความว่าแม้ตายไปไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดก็ยังคงเป็นพระสงฆ์เช่นนี้ตลอดไป ความเป็นสงฆ์ของพระเยซูคริตเจ้าได้เข้าอยู่ในตัวผู้รับศีลบวชอย่างไม่มีวันลบเลือน หน้าที่สำคัญ 3 ประการของพระสงฆ์ก็คือ
1. สงฆ์ คือหน้าที่ประกอบพิธีเพื่อโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์แก่มวลประชาสัตบุรุษ เป็นคนกลางระหว่างพระและมนุษย์ เป็นศาสนบริกรในพระศาสนจักร
2. ประกาศก หมายถึงทำหน้าที่เทศน์สอนสิ่งที่พระเป็นเจ้าได้ตรัสในพระคัมภีร์แก่คริสตชนได้ทราบและเข้าใจ เทศน์เตือนใจให้ละทิ้งหนทางบาป และสอนพระธรรมคำสอนแก่ทุกคน
3. กษัตริย์ หมายถึงการทำหน้าที่ปกครองมวลประชาสัตบุรุษฝ่ายวิญญาณ โดยเริ่มตั้งแต่พระสังฆราชจะมีเขตปกครองมวลประชาสัตบุรุษของตนเรียกว่า "สังฆมลฑล" และมอบอำนาจแก่พระสงฆ์ให้ช่วยดูแลวัดต่างๆที่อยู่ในสังฆมณฑลของท่าน
การสมัครเข้ารับการอบรมเพื่อรับศีลบวชเป็นพระสงฆ์สำหรับพระศาสนจักรในประเทศไทย จะเริ่มตั้งแต่เด็กชายจบการศึกษาชั้นป.6 เป็นอย่างน้อย และใช้เวลาศึกษาอบรมประมาณ 15 ปี จึงได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ จากพระสังฆราชผู้ปกครองตน - ศีลเจิมคนไข้ (Anointing of the Sick)
เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ที่พระเยซูเจ้าทรงตั้งขึ้นเพื่อโปรดให้แก่ผู่ป่วยหนักจวนจะสิ้นใจ หรือผู้ป่วยที่อ่อนกำลัง แม้แต่ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดสำคัญ และไม่แน่ใจว่าจะรอดหรือไม่ ศีลศักดิ์สิทธิ์ประการนี้ประทานพระหรรษทานให้แก่ผู้รับ เพื่อฟื้นฟูกำลังยามป่วยไข้และปฏิสังขรณ์สภาพร่างกาย และวิญญาณเพื่อเตรียมตัวจากโลกนี้เดินทางกลับไปหาพระเป็นเจ้า พระสงฆ์มักฌปรเศีลเจิมคนไข้พร้อมทั้งศีลอภัยบาป และศีลมหาสนิทด้วยในคราวเดียวกัน เมื่อรับศีลมหาสนิทเช่นนี้คริสตชนเรียกว่า "ศีลเสบียง"
ศีลศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวทั้ง 7 ประการจึงแสดงให้เห็นพระเมตตา และความรักของพระเป็นเจ้าที่มีต่อคริสตชน ตั้งแต่เกิดจนตาย ตามระยะเวลาอันสำคัญช่วงต่างๆของชีวิตเป็นกิจศรัทธาที่คริสตชนปฏิบัติทุกวันอาทิตย์ หากจะให้คำจำกัดความว่า มิสซาคืออะไร มหาบูชามิสซาคือ
- งานเลี้ยง ที่พระเยซูเจ้าเชื้อเชิญบรรดาคริสตชนมาร่วมเลี้ยงฉลองและรับประทานร่วมกัน นั่นคือเลี้ยงฉลองศีลมหาสนิท มาเป็นอาหารหล่อเลี้ยงวิญญาณของเรา
- บูชา โดยมีพระสงฆ์ผู้ประกอบพิธีเป็นผู้ถวายในนามของพระเยซูเจ้า
มีองค์พระเยซูเป็นเครื่องบูชาไถ่บาปถวายแด่พระบิดา
เมื่อพระสงฆ์เสกปังและเหล้าองุ่น
ทั้งสองได้กลับเปลี่ยนเป็นพระกายและพระโลหิตของพระเยซูเจ้า
องค์พระเยซูเจ้าเป็นเหมือนลูกแกะปัสกาแห่งความรอด,
เครื่องบูชาอันประเสริฐที่ถูกฆ่าเป็นเครื่องบูชาชดเชยบาปแก่มนุษย์ทั้งมวล
ในพิธีบูชามิสซาแบ่งออกเป็น 2 ภาค คือ
ภาควจนพิธีกรรม
จะมีการอ่านพระวาจาของพระเป็นเจ้าจากพระคัมภีร์ ซึ่งพระศาสนจักรได้จัดไว้แล้วตลอดปี และพระสงฆ์ผู้ประกอบพิธี จะเทศน์อธิบายเพื่อสัตบุรุษจะได้นำเอาพระวาจาไปปฏิบัติ และเป็นเสมือนอาหารฝ่ายจิต ที่เราอิ่มใจเมื่อได้ฟังพระวาจาของพระเป็นเจ้า
ภาคบูชาขอบพระคุณ
เป็นการเสกปัง และเหล้าองุ่นเป็นพระวรกายของพระเยซูเจ้า และยกถวายแด่พระบิดาเป็นเครื่องบูชาอันประเสริฐเพื่อชดเชยบาป สัตบุรุษก็จะร่วมถวายชีวิต, วิญญาณ, คำภาวนาร่วมไปกับองค์พระเยซูเจ้า ผู้เป็นเครื่องบูชาอันประเสริฐแด่พระบิดาเช่นกัน การไปวัดทุกวันอาทิตย์ของคริสตชนจึงเป็นไปเพื่อร่วมในสุดยอดแห่งพิธีกรรม เพราะในพิธีบูชามิสซานี้จะมีส่วนปลีกย่อยทั้งสองภาค ซึ่งรวมกันแล้วคริสตชนได้ทำ 4 อย่างใหญ่ๆ คือ
1. ได้สรรเสริญ
2. ขอษมาโทษ
3. ขอบพระคุณ
4. วิงวอนขอ
การขับร้องบทเพลง เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมที่ก่อให้เกิดบรรยากาศของการสวดภาวนา
และเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
เพราะบทเพลงที่ขับร้องก็เป็นเนื้อเพลงที่คัดมาจากพระคัมภีร์
และเพลงที่ร้องอย่างไพเราะในวัดด้วยความพร้อมเพรียงกัน ก็เป็นคำภาวนาอันประเสริฐ
ที่ออกมาจากใจถวายแด่พระบิดา
ประวัติความเป็นมาของศาสนาและผู้ก่อตั้งศาสนา
กำเนิดและวิวัฒนาการของนิกายที่สำคัญในศาสนาคริสต์
องค์ประกอบของคริสต์ศาสนา
ศาสนธรรมในศาสนาคริสต์
หลักคำสอนของศาสนาคริสต์
หลักคำสอนสำคัญ
เรื่องบาปกำเนิด
ศาสนบุคคลในศาสนาคริสต์
คริสต์ศาสนปราชญ์
ศีลศักดิ์สิทธิ์วิถีชีวิตของชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก
พิธีกรรมและแนวความเชื่อของนิกายออร์ธอด็อกซ์
พิธีกรรมของนิกายโปรเตสแตนต์
วันสำคัญทางศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก
วันสำคัญคริสตศาสนา นิกายโปรเตสแตนท์
วันสำคัญของคริสต์ศาสนาทุกนิกาย
ปัสกา
อัสสัมชัญ
ศาสนสถานที่สำคัญในศาสนาคริสต์
คาทอลิก กับ โปรเตสแตนท์ต่างกันตรงไหน