ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

เต๋าแห่งฟิสิกส์

บทที่ 1 ฟิสิกส์สมัยใหม่
บทที่ 2 การรู้และการเห็น
บทที่ 3 พ้นภาษา
บทที่ 4 ฟิสิกส์แนวใหม่
บทที่ 5 ศาสนาฮินดู
บทที่ 6 พุทธศาสนา
บทที่ 7 ปรัชญาจีน
บทที่ 8 ลัทธิเต๋า
บทที่ 9 นิกายเซน
บทที่ 10 เอกภาพแห่งสรรพสิ่ง
บทที่ 11 เหนือโลกแห่งความขัดแย้ง
บทที่ 12 จักรวาลอันเคลื่อนไหว
บทที่ 13 ความว่างและรูปลักษณ์

บทที่ 11 เหนือโลกแห่งความขัดแย้ง

4

11.3 โลกสี่มิติ

ข้าพเจ้าได้เคยกล่าวมาแล้วว่า ฟิสิกส์สมัยใหม่ได้เสนอสิ่งที่คล้ายคลึงกันนี้ การศึกษาสำรวจอนุภาคที่เล็กกว่าอะตอมได้เปิดเผยความจริงซึ่งได้แสดงให้เห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าไปพ้นภาษาและเหตุผล และการรวมเป็นเอกภาพของความคิดที่ เคยเชื่อว่าเป็นสิ่งตรงกันข้ามและไม่อาจผสมผสานกันได้ นั้นได้กลายเป็นคุณลักษณะอันน่าตื่นใจของความจริงอันใหม่นี้ แนวความคิดซึ่งดูแล้วว่าไม่น่าจะเข้ากันได้ดังกล่าวนี้ มิใช่แนวที่ศาสนาตะวันออกสนใจเกี่ยวข้องด้วยทว่าการรวมเป็นเอกภาพของมันในความจริงระดับที่สูงขึ้นไป เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับศาสนาตะวันออก ดังนั้นนักฟิสิกส์สมัยใหม่อาจที่จะบรรลุถึงญาณทัศนะอันปรากฏในคำสอนสำคัญของตะวันออกไกล โดยการค้นหาประสบการณ์ในสาขาของตน เป็นนักฟิสิกส์รุ่นใหม่กลุ่มเล็กๆซึ่งกำลังทวีจำนวนขึ้น ได้พบว่าวิธีการดังกล่าวเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและกระตุ้นให้เกิดความสนใจในศาสนาตะวันออกมากขึ้นตัวอย่างของการรวมตัวกันของแนวความคิดที่ตรงกันข้ามในวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่อาจจะพบได้ในการศึกษาในระดับอนุภาคที่เล็กกว่าอะตอม ซึ่งอนุภาคเป็นทั้งสิ่งที่ทั้งทำลายได้และทำลายไม่ได้และสสารวัตถุเป็นสิ่งที่มีสภาพต่อเนื่องและไม่ต่อเนื่อง และแรงกับสสารวัตถุเป็นเพียงสองด้านของปรากฏการณ์เดียวกัน ตัวอย่างทั้งหมดเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ากรอบแนวคิดที่ตรงกันข้าม อันเกิดจากประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของเรานั้น เป็นสิ่งที่คับแคบเกินไปสำหรับโลกของอนุภาคที่เล็กกว่าอะตอม

ทฤษฎีสัมพัทธภาพเป็นทฤษฎีที่สำคัญยิ่งในการอธิบายโลภพิภพนี้ และในโครงราง”สัมพัทธ์” นั้น แนวคิดดั้งเดิมได้ถูกก้าวว่างไปสู่มิติที่สูงกว่า คือ กาล-อวกาศสี่มิติ อวกาศและเวลาในตัวของมันเองเป็นความคิดสองประการซึ่งดูเหมือนว่าแตกต่างกัน แต่ปรากฏเป็นเอกภาพในฟิสิกส์แห่งสัมพัทธภาพ เอกภาพพื้นฐานประการนี้เป็นรากฐานแห่งเอกภาพของความคิดที่ตรงกันข้ามทั้งมวลซึ่งกล่าวถึงข้างต้น และเช่นเดียวกับเอกภาพของสิ่งที่ตรงกันข้ามในศาสนาตะวันออก เอกภาพนี้เกิดขึ้นใน “ระดับที่สูงกว่า” นั่นคือในมิติที่สูงกว่า ทั้งยังเป็นเอกภาพซึ่งมีลักษณะเคลื่อนไหว เนื่องจากความจริงในเรื่องกาล-อวกาศอันสัมพันธ์นี้มีลักษณะเป็นความจริงอันมีสภาพเคลื่อนไหวอยู่ในเนื้อหาของมันเอง โดยที่วัตถุต่างๆ เป็นตัวกระบวนการด้วย และรูปลักษณ์ทั้งมวลเป็นแบบแผนแห่งการเคลื่อนไหว เพื่อที่จะให้เห็นชัดเจนในเอกภาพของสิ่งที่ดูเหมือนว่าแยกจากกันในมิติที่สูงกว่านั้น เราไม่จำเป็นต้องไปถึงทฤษฎีสัมพัทธภาพ เพียงแต่ขึ้นไปจากหนึ่งมิติสู่สองมิติ หรือจากสองไปสามมิติ

ตัวอย่างของการเคลื่อนที่ของลูกบอลเป็นวงกลม(ที่กล่าวถึงแล้ว) และเงาของมันซึ่งเคลื่อนที่กลับไปกลับมาระหว่างขั้วสองขั้วที่ดูเหมือนเป็นสิ่งตรงกันข้ามในสภาวะหนึ่งมิติ (ตามเส้นตรง) กลับรวมเป็นเอกภาพของการเคลื่อนไหวเป็นวงกลมในสภาวะสองมิติ (ในระนาบหนึ่ง) ภาพข้างล่างนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งซึ่งเปลี่ยนจากสภาพสองมิติไปสู่สามมิติ มันแสดงให้เห็นภาพวงของขนมโดนัทถูกตัดโดยแผ่นราบอันหนึ่งในสภาพของสองมิติในพื้นราบนั้น พื้นผิวของโดนัทที่ถูกตัดปรากฏเสมือนแผ่นสองแผ่นซึ่งแยกจากกันโดยสิ้นเชิง แต่ในสภาพสามมิติมันเป็นส่วนของวงโดนัทอันเดียวกัน เอกภาพของสิ่งต่างๆดูเหมือนแยกออกจากกัน และรวมเข้ากันไม่ได้ในทำนองเดียวกันนี้ปรากฏในทฤษฎีสัมพัทธภาพ เมื่อเราไปจากสภาพสามมิติไปสู่สภาพสี่มิติ โลกของฟิสิกส์แห่งสัมพัทธภาพซึ่งมีสภาพสี่มิตินั้นคือโลกที่แรงและสสารเป็นหนึ่งเดียวกัน โลกที่สสารวัตถุอาจจะปรากฏเป็นอนุภาคซึ่งไม่มีสภาพต่อเนื่อง หรือเป็นสนามที่มีสภาพต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามในกรณีนี้เราไม่อาจจะนึกเห็นภาพมันได้ชัดเจนนัก นักฟิสิกส์สามารถ “หยั่งรู้ในประสบการณ์” ถึงโลกแห่งกาล- อวกาศ สี่มิติ โดยผ่านสูตรคณิตศาสตร์ในทฤษฎีของเขา แต่มโนภาพของเขาก็ถูกจำกัดอยู่ในโลกแห่งการรับรู้อันมีสภาพสามมิติเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ภาษาและแบบแผนความคิดของเราทั้งหมดเกี่ยวข้องกับโลกสามมิติ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ยากอย่างยิ่งที่เราจะเข้าใจความจริงของสภาพสี่มิติในฟิสิกส์แห่งสัมพัทธภาพได้

<< ย้อนกลับ | หน้าถัดไป >>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย