วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>
ปรัชญาศาสตร์
บทที่4 :: การตัดสินถูกและผิด
กรณีศึกษาที่ 1
อาจารย์ ก. กำหนดวัดสอบอีก 1 สัปดาห์ข้างหน้า
แต่พออีกไม่กี่วันก่อนถึงวันที่กำหนด
อาจารย์กลับบอกว่าขอเลื่อนสอบออกไปก่อน เพราะมีธุระ
แต่พอนักศึกษาโวยวายขึ้นมา อาจารย์กลับตอบว่า เอาล่ะ
ผมไม่ได้สัญญาอย่างนั้นเสียหน่อย
เป็นอันว่าการสอบจะยังมีอยู่ในวันอังคารหน้าเหมือนเดิม
กรณีศึกษาที่ 2
คุณกับเพื่อนชื่อ ข.
เดินเข้าไปในศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยเพื่อซื้อหนังสือตามรายการวิชา
ต่าง ๆ ที่ได้รับมา แต่พอกลับออกมาปรากฏว่า ข. แอบนำหนังสือกายวิภาคเล่มโต
ราคากว่า 2,000 บาท ซุกมาใต้เสื้อคลุม
พร้อมกับตอบเมื่อคุณแสดงความประหลาดใจออกไปว่า ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ
ก็ราคาสูงเหมือนกันนั่นแหล่ะ ค่าเล่าเรียน ค่าตำรับตำรา มีแต่แพง ๆ
ทั้งนั้น ...ขอถามหน่อย ครั้งสุดท้ายที่นายจ่ายเงิน 2,000
บาทในร้านหนังสือทั่วไปเมื่อไหร่
ฉันเอาของออกมาจากศูนย์หนังสือด้วยเหตุผลอย่างนี้เสมอ
กรณีศึกษาที่ 3
หญิง กับแฟนของเธอชื่อ ชาย
ต่างก็เป็นนักศึกษาในหลักสูตรเตรียมแพทย์
พวกเขาฝันว่าจะได้เข้าเรียนในคณะแพทย์
แต่งงานแล้วก็ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขตลอดไป ดังนั้น
เพื่อให้คะแนนเฉลี่ยของเขาอยู่ในระดับสูง พวกเขาจึงร่วมกันลงมือโกงข้อสอบ
จ้างคนอื่นทำการบ้าน
ลอกงานของอีกฝ่ายหนึ่ง(รวมทั้งข้อสอบ)เมื่อมีวิชาต้องเรียนร่วมกัน
นอกจากนี้ทั้งสองคนยังมักจะขโมยหนังสือห้องสมุด
ด้วยหวังว่านักศึกษาที่จำเป็นต้องใช้หนังสือเหล่านั้นจะได้เกรดต่ำกว่าของพวกเขา
กรณีศึกษาที่ 4
ร. ทำงานร้านตัดเสื้อแล้วจึงไปเรียนหนังสือภาคค่ำ
เขาแต่งงานและมีบุตรแล้ว 1 คน เขากับ ท.
ซึ่งเป็นพนักงานขายอีกคนหนึ่งและเป็นโสด
ต่างก็หวังจะได้รับการส่งเสริมให้เป็นผู้จัดการร้านซึ่งมีรายได้เพิ่มขึ้นจำนวนมาก
ในขณะที่ ร.เห็นว่าเขาจำเป็นเรื่องเงินมากกว่า ท. เขาจึงลงมือบอกเป็นนัย ๆ
แก่เจ้าของร้านว่า ท. ขายยาบ้าให้นักเรียนมัธยมเป็นประจำ
กรณีศึกษาที่ 5
ที่สหรัฐอเมริก บ. เป็นนักศึกษาที่ขยันขันแข็ง
เขาอยากเป็นสมาชิกของชมรมหนึ่ง
เขาก็รู้อีกว่าสมาชิกชมรมส่วนหนึ่งมีความเป็นพี่เป็นน้องกัน(ความผูกพัน)อย่างใกล้ชิด
ซึ่ง บ.เองก็อยากเป็นส่วนหนึ่งด้วย แต่ติดที่ว่าเขาเป็นคนผิวดำ
และเขาก็หวังว่าจะเป็นคนที่มิใช่คนผิวขาวคนแรกขอชมรมดังกล่าว
ต่อมาเมื่อเขาสมัครก็ปรากฏว่าได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น มีเพียง จ.
ซึ่งเป็นพี่รุ่นใหญ่เป็นคนที่มีแนวคิดแบบเชื้อชาตินิยม (racist)
และไม่สามารถทำใจให้ยอมรับการสมัครเป็นสมาชิกของ บ. ได้ จ.
จึงพยายามทำให้ บ. ถอนตัวจากสโมสรดังกล่าวให้ได้
เขาส่งบัตรสนเท่ห์ที่เต็มไปด้วยข้อความของพวกเชื้อชาตินิยม
และการคุกคามต่าง ๆ เช่น จดหมายฉบับหนึ่งบอกว่าถ้า บ. ไม่ยอมถอนตัว จะเกิด
อุบัติเหตุ จนขาหักที่เปิดภาคการศึกษาใหม่ แต่ บ.
ก็ไม่สนใจต่อคำขู่ดังกล่าว จนกระทั่ง วันหนึ่ง
เขาพบว่ามีคนมาเจาะยางรถยนต์ของเขาซึ่งเป็นเสมือน คำเตือน
ในที่สุดเขาก็ยอมเปลี่ยนใจและถอนตัวในเวลาต่อมา
จากกรณีศึกษาทั้ง 5
ที่ผ่านมา เราจะเห็นการผิดคำสัญญา การลักขโมย การโกง การโกหก
การคุกคามขมขู่ การเลือกที่รักมักที่ชัง และการใช้บางอย่างในทางที่ผิด
ซึ่งคนส่วนมากมักจะโจมตีการกระทำดังกล่าว
แต่ถ้าเป็นคุณเองที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำนั้นคุณจะตอบโต้อย่างไร แน่นอน
คุณรู้สึกเจ็บปวดและโกรธแค้น บางครั้งคุณอาจจะบอกว่าคนอื่นทำในสิ่งที่
ไม่ยุติธรรม อันตราย ผิด ไม่ใส่ใจ เลวทราม ทารุณโหดร้าย ฯลฯ
แต่ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม คุณประเมินพฤติกรรมเหล่านั้นในทางลบอย่างแน่นอน
เราประเมินพฤติกรรมคนอื่น ๆ (รวมทั้งตัวเราเอง?) อยู่ตลอดเวลา การประเมินพฤติกรรมเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญยิ่งของปรัชญา เรียกว่า จริยศาสตร์ (ethics) หรือ ปรัชญาศีลธรรม (moral philosophy) จริยศาสตร์ ครอบคลุมถึงการสร้างมาตรฐานที่มีน้ำหนัก มีเหตุมีผลเพื่อเป็นแนวปฏิบัติที่มนุษย์ ยอมรับได้ และประยุกต์มาตรฐานเหล่านั้นสำหรับกรณีปลีกย่อยเป็นกรณี ๆ ไป
การตัดสินถูก ผิดในทางปรัชญา
จากการที่เราเรียนวิชาที่เกี่ยวข้องกับปรัชญามาบ้างแล้ว
เรายังได้ทราบว่าการอ้างผู้มีคุณวิเศษ การอ้างอำนาจเข้าข่ม
หรือแม้แต่การใช้อารมณ์ก็ทำให้การใช้เหตุผลผิดพลาดได้
ในทางปรัชญา การที่เราจะประเมินการกระทำของคนอื่น ๆ หรือแม้แต่การกระทำของเราเองนั้น ไม่อาจใช้มาตรฐานทางศาสนา กฎหมาย จารีตประเพณี หรือแม้แต่อารมณ์ความนึกคิดส่วนบุคคลมาเป็นเครื่องตัดสินได้
ความต้องการของมนุษย์ (Human Needs) และสวัสดิภาพของมนุษย์
(Human Well-being)
ในเมื่อจริยศาสตร์ไม่ได้เป็นเรื่องของศาสนา กฎหมาย จารีตประเพณี
หรือความนึกคิดส่วนบุคคล
แล้วเราจะใช้สิ่งใดมาประเมินการกระทำของมนุษย์ได้หรือไม่?
นักปรัชญาใช้คำว่า สวัสดิภาพ (well-being) เพื่อประเมินการกระทำของมนุษย์มานานนับศตวรรษ กล่าวคือ การที่นักปรัชญาจะประเมินว่าการกระทำของคนหนึ่งดีกว่าการกระทำของคนอีกคนหนึ่ง ก็ด้วยการพิจารณาว่าการกระทำนั้นทำให้ชีวิตดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
มาตรฐานสูงสุดของนักปรัชญาในการประเมินการกระทำของมนุษย์คือ สวัสดิภาพของมนุษย์ หรือ ความสุข (ในที่นี้เราจะใช้คำว่าสวัสดิภาพแทน เนื่องจากเป็นคำที่ไม่มีส่วนแสดงอารมณ์ความรู้สึกมาเกี่ยวข้อง) อะไรคือ สวัสดิภาพ ความสุข หรือ การทำให้ ดีขึ้น คำอธิบายที่ดีที่สุดสำหรับแนวคิดดังกล่าวก็คือ สำนึกพื้นฐานของความพึงพอใจในชีวิตของเรา
สำนึกพื้นฐานของความพึงพอใจ (basic sense of satisfaction)
ลองพิจารณาดูว่าการกระทำบางอย่าง เช่น การโกงข้อสอบ
ทำให้คุณรู้สึกมีสวัสดิภาพมากขึ้นหรือไม่? หากคุณโกงข้อสอบ
แต่คุณกลับต้องรู้สึกไม่สบายใจเกี่ยวกับการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อเพื่อนที่ตั้งใจเรียนและซื่อสัตย์ต่อตนเอง
หากเพื่อนคนอื่นรู้เข้าเขาก็อาจเลิกเชื่อถือคุณไปก็ได้
บางทีพฤติกรรมการโกงอาจส่งผลระยะยาวถึงการทำงาน
และการเข้าสังคมของคุณก็ได้
ความต้องการของมนุษย์
เราควรเข้าใจข้อสรุปที่ว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมกับชุดของความต้องการ
(needs) ที่จะต้องเกิดขึ้นเพื่อให้เราได้ใช้ชีวิตที่ ดี
ไม่ว่าจะเป็นความต้องการเพื่อการยังชีพ (ที่อยู่อาศัย อาหาร
และเครื่องนุ่งห่ม) นอกจากนี้ยังมีความต้องการอื่น ๆ เช่น
ความเป็นอิสระจากการกดขี่บีบบังคับ ความยุติธรรม ความเสมอภาค
รวมถึงความเคารพต่อบุคคลอื่น ๆ ในที่นี้ขออย่าสับสนระหว่างความต้องการแบบ
wants กับแบบ needs เพราะเรารู้อยู่ว่าเราต้องการทุกอย่าง
แต่ของทุกอย่างที่เราต้องการอาจจะไม่ใช่สิ่งจำเป็นเสมอไป
อย่างไรก็ตาม ความต้องการของมนุษย์ดังกล่าวไปข้างต้นมีความสำคัญอย่างมาก เพราะหากความต้องการพื้นฐานเพื่อการดำรงชีพไม่ได้รับการตอบสนอง เราก็ต้องตายไป และหากความต้องการด้านอารมณ์ไม่ได้รับการตอบสนองในวัยเยาว์ เราอาจต้องเผชิญกับความบกพร่องทางจิตไปตลอดชีวิตก็เป็นได้
เราต้องการอะไร?
แม้จะไม่มีรายการกำหนดไว้อย่างเป็นทางการ เราก็อาจพิจารณา
ได้จากสิ่งที่สหประชาชาติระบุไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
(Universal Declaration of Human Rights) ซึ่งแม้จะว่าด้วยเรื่องของ
สิทธิ แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความต้องการ เพราะเป็นการยืนยันว่าโดยพื้นฐาน
มนุษย์มีสิทธิบางอย่างก็เนื่องมาจากเรามีความต้องการต่อสิ่งนั้น
แม้ว่าคำประกาศดังกล่าวจะมีเนื้อหามาก แต่เราก็อาจสรุปเรื่องของสิทธิและความต้องการได้ ดังต่อไปนี้
- ชีวิต
- อิสรภาพ
- ความเท่าเทียม
- ความปลอดภัยส่วนบุคคล
- การได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย
- สิทธิทางการเมือง
- การพักผ่อน
- การเลือกสมรสและการมีครอบครัว
- การมีส่วนร่วมทางการเมือง วัฒนธรรม การศึกษา
- การป้องกันจากโรคภัยไข้เจ็บ ฯลฯ
จริยศาสตร์สองแนว
มีมุมมองหลักอยู่ 2 แนวในการพิจารณาจริยศาสตร์ คือ
การให้ความสำคัญกับผล (results-oriented approach เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า
teleological approach) ที่อ้างว่าลักษณะ
ทางจริยธรรมของการกระทำ ขึ้นอยู่กับว่าผลที่ตามมานั้น เป็นผลด้านบวก (positive)หรือ ผลด้านลบ (negative) สำนักคิดที่สำคัญมากซึ่งใช้แนวทางดังกล่าวพิจารณาด้านจริยศาสตร์ ได้แก่ สำนักประโยชน์นิยม (utilitarianism)
สำนักประโยชน์นิยม เริ่มต้นจากแนวความคิดของ เจเรมี เบนแธม (Jeremy Bentham) จากนั้นก็ปรับปรุงให้ซับซ้อนขึ้นโดย จอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill) สำนักคิดดังกล่าวนี้เสนอว่า ลักษณะทางจริยธรรมของการกระทำ ขึ้นอยู่กับเกิดความพึงพอใจ หรือความเจ็บปวดจากการกระทำนั้น มากน้อยเพียงใด
เบนแธม พยายามคำนวณค่าความพึงพอใจและความเจ็บปวดจากการกระทำต่าง ๆ ในขณะที่ มิลล์ เสนอว่าคุณภาพของความพึงพอใจควรจะสามารถจัดระดับจากล่างสุดไปจนถึงสูงสุดได้ด้วย นอกจากนี้เขายังเสนอให้พิจารณาผลลัพธ์ทั้งระยะสั้น และระยะยาวอีกด้วย
การวัดแบบ hedonistic calculus ของเบนแธม
1. ความเข้มข้น/ความรุนแรงของความรู้สึก
2. ช่วงเวลาของการเกิดความรู้สึกนั้นขึ้น
3. โอกาสที่ความรู้สึกนั้นจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น
4. ความรวดเร็วในการรับรู้ความรู้สึก
5. โอกาสที่ความรู้สึกนั้นจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต
6. โอกาสที่จะทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือความไม่สบายใจ
7. จำนวนผู้ได้รับผลกระทบ
อีกมุมมองหนึ่ง ได้แก่ การความสำคัญกับการกระทำ (action-oriented approach - เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า deontological approach) ที่ให้ความสำคัญกับผลของการกระทำน้อยกว่าธรรมชาติของการกระทำนั้น ๆ เอง
การกระทำที่เคารพต่อความต้องการของมนุษย์จะเป็นการให้เกียรติ (dignity) ความซื่อสัตย์ (honesty) ความเสมอภาค (equity) และความเป็นธรรม (fairness) ซึ่งถือว่าเป็นความถูกต้อง ส่วนการกระทำที่ไม่เคารพต่อความต้องการของมนุษย์ได้แก่ การหลอกลวง (deceive) การครอบงำ (manipulate) ความลำเอียง (discriminate) ถือว่าเป็นความผิด
ด้วยเหตุนี้ หน้าที่ หรือ ภาระ (duty) จึงเป็นแนวคิดที่สำคัญมากสำหรับนักคิดในแนวที่ให้ความสำคัญกับการกระทำ ผู้ให้การสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวที่สำคัญที่สุดได้แก่ นักปรัชญาชาวเยอรมัน ชื่อ อิมมานูเอล ค้านท์ (Immanuel Kant) เขาเสนอว่าเรามีภาระทางศีลธรรมที่จะต้องทำเพื่อคุณค่าภายใน (intrinsic worth) เช่น การรักษาคำมั่นสัญญา และการมีความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น เป็นต้น
ค้านท์เห็นว่าการกระทำทีดี คือ การกระทำที่เกิดจากเจตนาดี (good will) ซึ่งประกอบด้วยลักษณะต่อไปนี้
1. เป็นการกระทำที่เป็นอิสระจากความรู้สึกทั้งด้านลบและด้านบวก
(ความดีไม่ควรขึ้นอยู่กับความรู้สึกหรือเงื่อนไขใด ๆ)
2. เป็นการกระทำตามหลักการ ตามหน้าที่ ตามเหตุผล
โดยไม่คำนึงถึงหรือคาดหวังต่อผลที่จะเกิดขึ้น
ไม่ว่าผลนั้นจะเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษ
3. เป็นการกระทำตามกฎศีลธรรม หรือกฎของคนในฐานะที่เป็นคน
3.1 การทำตามหลักที่เราจงใจให้เป็นหลักสากล
ไม่ได้เป็นหลักที่ยกเว้น หรือให้อภิสิทธิ์เฉพาะตน (เราทำ เราก็ยอมรับได้
คนอื่นทำ เราก็ยอมรับได้
3.2 การกระทำที่มองเห็นคนอื่นเป็น คน เช่นเดียวกับเรา
ไม่ใช้ผู้อื่นเป็นเครื่องมือเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่เราต้องการ
แม้จะมีผลตอบแทนมากมายรออยู่ก็ตาม
ค้านท์ย้ำว่า ความสุขมิใช่สิ่งดีที่สุดของชีวิต คนดีไม่จำเป็นต้องสุขสบายหรือทำให้คนอื่นสุขสบายเสมอไป ความดีกับความสุขเป็นคนละสิ่งกัน ความดีมีค่าในตัวเองไม่จำเป็นต้องใช้ความสุขมาตัดสิน ทำดีย่อมดีในตัวเอง ทำชั่วย่อมชั่วทันที ไม่จำเป็นว่าทำดีย่อมต้องได้ดี ทำชั่วย่อมต้องได้ชั่ว เพราะการ ได้ แสดงถึง ผล ของการกระทำนั้น ๆ สำหรับค้านท์ คนที่จะรู้ดีที่สุดเกี่ยวกับเจตนาของเรา ก็คือ ตัวเราเอง คนอื่นมีโอกาสรู้ค่อนข้างน้อย ส่วนมากมักเชื่อว่าเมื่อมีเจตนาดี วิธีการถูกต้อง ผลก็น่าจะออกมาดี
การประเมินหรือตัดสินความประพฤติของกันและกัน จึงมีโอกาสประเมินผิดสูง ทางที่ดีในทัศนะของค้านท์ คือ พยายามเพ่งเล็งผู้อื่นให้น้อย ไม่ต้องเสริมแรงในความดีหรือความชั่วของคนอื่น แต่หากเราถูกประเมิน ถ้าไม่ได้เป็นดังเขาว่า ก็ไม่ต้องไปสนใจอะไร เพราะไม่มีใครทำให้เราเป็นคนดีหรือคนเลวได้ นอกจากตัวเราเอง
ความหมาย และวัตถุประสงค์ ของการศึกษาปรัชญา
เครื่องมือของ ปรัชญาและ เหตุผล
มนุษยภาวะ
การตัดสินถูกและผิด
ความหมายและ ความจำเป็นของคุณธรรม
สังคมอุดมคติ
ความรู้ของมนุษย์
ปัญหาเรื่องความจริง และสิ่งที่เป็นจริง
เพศกับความคิด
มาร์กซ์ กับ พระพุทธเจ้า