ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
นวโกวาท
(ฉบับประชาชน)
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
วินัยบัญญัติ
พระประวัติสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส
หนังสือเล่มนี้เรียงย่อโดยประมาณดังนี้ สำหรับภิกษุสามเณรบวชใหม่,
เพราะผู้บวชใหม่ย่อมบวชเพียงพรรษาเดียว คือสี่เดือนเป็นพื้น
อุปัชฌาอาจารย์ผู้หวังความรู้แก่สัทธิวิหารก
และอันเตวาสิกต้องหาอุบายสั่งสอนให้เขาได้ความรู้มากที่สุดตามแต่จะเป็นได้
ถ้าใช้แบบสอนที่พิสดาร เรียนรู้ยังไม่ถึงไหนก็ถึงเวลาสึก
จะต้องใช้แบบย่อให้จุข้อความที่ควรจะศึกษา
นี้เป็นเหตุผลเริ่มเรียงหนังสือเล่มนี้ขึ้น หนังสือนี้ถือเป็นแบบย่อ
ถ้าเข้าใจวิธีสอน ก็ทำให้ภิกษุสามเณรผู้บวชใหม่เข้าใจกว้างขวางได้เหมือนกัน
ข้าพเจ้าได้ใช้ฝึกศิษย์ด้วยวิธีดังจะกล่าวต่อไปนี้
ให้ผู้ศึกษากำหนดจำหัวข้อในหนังสือเล่มนี้ให้ได้ตลอด เอาแต่ใจความ
ไม่ต้องจำถึงพยัญชนะ, แต่คนอ่านแล้วถอดใจความไว้ในใจไม่ได้
ยังต้องท่องเหมือนท่องสวดมนต์ กำหนดระยะให้ ๓ เดือน
(ยกเดือนต้นไว้สำหรับบุรพกิจอย่างอื่น) เดือนที่ ๒ วินัยบัญญัติ เดือนที่ ๓
ธรรมวิภาค เดือนท้ายเมื่อจวนสึก คิหิปฏิบัติ ผู้ประกอบด้วยสติปัญญา
อุตสาหะกล้าก็ได้เร็วกว่ากำหนด ปานกลางก็พอทันกำหนด ทรามก็ไม่ทันกำหนด
ในระหว่างที่ศึกษาอยู่นั้น ในขั้นต้น เมื่อถึงกถาอะไร
ได้สอบถามให้เล่าหัวข้อเหล่านั้นให้ฟังจนเห็นว่าขึ้นใจแล้ว
ส่วนวินัยได้ผูกเป็นปัญหาให้ตัดสิน ปัญหานั้นให้ตัดสินได้ด้วยเทียบตามแบบ เช่น "
ภิกษุพยาบาลไข้ วางยาผิด คนไข้ตาย จะต้องปาราชิกหรือไม่ "
ผู้ตอบต้องใคร่ครวญดูเจตนาของผู้วางยาว่า
เหมือนกับเจตนาของผู้ที่กล่าวไว้ในแบบหรือไม่ เท่านี้ก็ตัดสินได้
ถึง
ธรรมวิภาคและ คิหิปฏิบัติ ก็มีปัญหาถามเหมือนกัน เช่น "อย่างไร ความคบสัตบุรุษ
เป็นต้น จึงจะเป็นเครื่องเจริญของมนุษย์ "
ในที่นี้ผู้ตอบต้องอธิบายตามความเห็นของตนให้สมแก่รู้ปัญหา อีกข้างหนึ่ง "
ทรัพย์ที่จับจ่ายด้วยประการไร จึงได้ชื่อว่าเป็นประโยชน์ "
ในที่นี้ต้องเอากระทู้ความในหมวดที่ว่าด้วยประโยชน์เกิดแต่การถือเอาโภคทรัพย์
มาอธิบายแก้ให้สมรูปปัญหา เมื่อถึงกำหนด ได้มีการสอนความรู้ใน ๓ อย่างนั้น
เพื่อเป็นอุบายให้เอาใจใส่ดีขึ้น
ยังมีวิธีที่ช่วยทำให้ผู้บวชใหม่ ได้ความรู้กว้างขวางออกไปกว่านี้อีก ส่วนวินัย
ถามปัญหาให้เทียบตามแบบไม่ได้ เช่น " ภิกษุตีเด็ก ต้องอาบัติอะไร "
ในแบบมีแต่ว่าตีภิกษุต้องปาจิตตีย์ เช่นนี้ทำให้ค้นคว้าในสิกขาเล่มใหญ่
พอพบแล้วก็จำได้ทันที ส่วนธรรมวิภาคนั้นได้แจกกระทู้พุทธภาษิต เช่น "
คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร, ได้ชื่อเสียงเพราะความสัตย์ " วันละข้อ
แจกให้อย่างเดียวกันหมด ให้ไปแต่งแก้แล้วนำมาอ่านในที่ประชุมในกำหนด
ผู้แต่งต้องตริตรองด้วยน้ำใจให้เห็นเองก่อนว่า " ความเพียรเป็นเหตุ,
ความล่วงทุกข์เป็นผล ความสัตย์เป็นเหตุ, ชื่อเสียงเป็นผล "
จึงจะเรียงแต่งมาอ่านได้ในเวลาที่อ่าน ต่างก็ต่างมุ่งฟังของกันและกัน
เมื่อใครอธิบายดีก็จำไว้ และที่สุดได้รับวินิจฉัยว่าถูกหรือผิด
ข้อนี้เป็นเหตุผลให้ค้นคว้าข้อความในหนังสือธรรมมาอธิบาย
ได้ความรู้กว้างขวางและตริตรองให้เห็นความดี เห็นความชั่วด้วยน้ำใจเอง
หนังสือเล่มนี้ แต่งขึ้นสำหรับสอนภิกษุสามเณรบวชใหม่ให้พอควรแก่เวลาจะศึกษาได้
จึงตั้งชื่อว่า นวโกวาท และมีข้อความแต่งโดยย่อเพียงเท่านี้