ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>

ประชุมพงศาวดาร

    สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงพระนิพนธ์อธิบายเกี่ยวกับหนังสือประชุมพงศาวดารไว้ มีความว่า

ที่จริง การศึกษาหาความรู้พงศาวดาร และตำนานเก่าย่อมถือว่าเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งใน การศึกษาทั่วทุกประเทศ ในสยามประเทศแต่โบราณมา ท่านผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินตั้งต้นแต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลก่อน ๆ มา ก็ย่อมเป็นพระราชธุระทำนุบำรุงความรู้พงศาวดารตลอดมาแทบทุกรัชกาล ยกตัวอย่างเพียงชั้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ในรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ก็ได้เป็นพระราชธุระชำระ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า และโปรดให้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่เมื่อครั้งดำรงพระเกียรติยศ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงรับหน้าที่ชำระ หนังสือพงศาวดารเหนือ อันเป็นเรื่องพงศาวดารก่อน สร้างกรุงศรีอยุธยา อีกเรื่องหนึ่ง

มาในรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ดูเหมือนจะได้โปรดให้ผู้ใดรวบรวมเรื่องราวเมืองสุโขทัย ครั้งเป็นราชธานี ที่ว่าเป็นหนังสือนางนพมาศ แต่งเรื่อง 1 และได้ทรงอาราธนากรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสทรงเรียบเรียงพระราชพงศาวดาร ต่อที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงไว้ คือ ตั้งแต่ตอนตั้งกรุงธนบุรี มาจนถึงปี ชวด จัตวาศก จุลศักราช 1154 พ.ศ.2335 ในรัชกาลที่ 1 หนังสือพระราชพงศาวดาร ฉบับนี้มาถึงรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิทชำระ แลทรงตรวจแก้ไขเองอีกครั้งหนึ่ง คือ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภานุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภานุพันธ์วงศ์วรเดช ได้ทรงพิมพ์เป็นครั้งแรกนั้น

ต่อมาในรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เอาพระทัยใส่เสาะแสวงหาหนังสือพงศาวดารรวบรวมไว้ ในหอหลวงหลายเรื่อง ที่ได้พบฉบับแล้วคือ เรื่องราวครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ที่อ่านและแปลจากศิลาจารึก ซึ่งเสด็จไปพบแต่ครั้งยังทรงผนวช แลโปรดให้เอามาไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น ก็ควรนับเป็นเรื่องหนึ่ง หนังสือพงศาวดารกรุงเก่า แปลจากภาษารามัญที่เรียกกันว่า คำให้การขุนหลวงหาวัด เรื่องหนึ่ง หนังสือพงศาวดารเขมร มีรับสั่งให้แปลออกเป็นภาษาไทย เมื่อปีเถาะ สัปตศก จุลศักราช 1217 พ.ศ.2398 เรื่องหนึ่ง พงศาวดารพม่ารามัญโปรดให้แปลออกเป็นภาษาไทย เมื่อปีมะเส็ง นพศก จุลศักราช 1219 พ.ศ.2400 ยัง ตำนานต่าง ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ก็หลายเรื่อง

มาถึงรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) แต่งหนังสือ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อเรื่องที่กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสได้ทรงไว้ใน รัชกาลที่ 1 ลงมาจนสิ้นรัชกาลที่ 4 เรื่องหนึ่ง ในส่วนพระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์เองก็มีหลายเรื่องคือ หนังสือพระราชวิจารณ์ เป็นต้น นอกจากที่ทรงพระราชนิพนธ์ ยังโปรดให้พิมพ์หนังสือพงศาวดารต่าง ๆ ซึ่งยังมิได้เคยพิมพ์มาแต่ก่อนให้ปรากฏแพร่หลายขึ้นในรัชกาลที่ 5 เป็นอันมาก แลที่สุดเมื่อปีมะแม นพศก จุลศักราช 1219 พ.ศ.2450 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้ง โบราณคดีสโมสร แลเมื่อปีมะเส็ง สัปตศก จุลศักราช 1267 พ.ศ.2448 ทรงพระกรุณาโปรดให้ตั้ง หอสมุดสำหรับพระนครขึ้น การศึกษาโบราณคดีจึงเป็นหลักฐานยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน

พระราชพงศาวดารเหนือ
พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ
ศิลาจารึก
พงศาวดารเขมร
พงศาวดารมอญพม่า
พงศาวดารล้านช้าง

ที่มา : หอมรดกไทย

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย