สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์>>

นายสุประวัติ ปัทมสูต

ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ – ผู้กำกับ นักแสดง) พุทธศักราช 2553

นายสุประวัติ ปัทมสูต ปัจจุบันอายุ 72 ปี เกิดเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2481 ที่ กรุงเทพมหานคร จบการศึกษาระดับอาชีวะศึกษา โรงเรียนเชตุพนตั้งตรงจิตรพาณิชยการ และได้รับปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาสื่อสารมวลชน จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เริ่มรับราชการที่กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงอุตสาหกรรม ทำงานเป็นเวลา 9 ปี จึงลาออกจากราชการ

นายสุประวัติ ปัทมสูต เป็นศิลปินที่มากประสบการณ์ มีความตื่นตัวที่จะพัฒนาผลงานให้มีคุณภาพอยู่เสมอ เริ่มจากการเป็นนักแสดงละครวิทยุ ที่สามารถถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก น้ำเสียงออกมาให้ผู้ฟังมองเห็นภาพเหมือนอยู่ในสถานการณ์จริง ต่อมาแสดงละครพันทางที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม ซึ่งผู้แสดงจะต้องทั้งร้องและรำด้วยตนเอง ทำให้มีความสามารถทั้งทางนาฏศิลป์และดนตรีไทย

หลังจากนั้นก็หันมาทำงานด้านละครพูดร่วมสมัย ละครโทรทัศน์ เป็นทั้งผู้แสดง ผู้กำกับ และผู้เขียนบท มีผลงานหลากหลายทั้งละครที่สร้างจากวรรณกรรม จินตนิยาย ละครตลก ได้รับความนิยมจากคนทุกระดับ เช่น เรื่องสี่แผ่นดิน ในฝัน ก่อนบ่ายคลายเครียด ตุ๊กตายอดรัก เขยมะริกัน

จากผลงานดังกล่าวทำให้ได้รับรางวัลมากมาย คือได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำ ในฐานะผู้กำกับละครดีเด่น จากละครเรื่อง เรือนไม้สีเบจ ได้รับ 5 รางวัล คือ รางวัล Top Awards 2004 ในฐานะดาราสมทบชายยอดเยี่ยม, รางวัล Star Entertainment Awards 2004 ในฐานะนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม, รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ในฐานะดาราสนับสนุนชายดีเด่น, รางวัลเมขลา ในฐานะผู้แสดงสมทบชายยอดเยี่ยม, รางวัล Hamburger Awards ครั้งที่ 3 ในฐานะนักแสดงชายยอดเยี่ยม จากละครเรื่อง แม่อายสะอื้น ได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำ ในฐานะผู้กำกับยอดเยี่ยม และรางวัลเกียรติยศคนทีวี จากละครเรื่อง รังนกบนปลายไม้ ได้รับรางวัลหน้ากากทอง ในฐานะละครยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม ผู้แสดงประกอบฝ่ายชายยอดเยี่ยม จากละครพันทางและละครร้อง เรื่อง ธรณีเป็นพยาน นายสุประวัติ ปัทมสูต เป็นผู้กำกับที่ไม่เคยแสดงอารมณ์เสียให้ผู้ร่วมงานได้เห็น จนทุกคนในวงการยกย่องด้วยการเรียกว่า พ่ออี๊ด เป็นคนอารมณ์ดี มีเมตตา จึงเป็นที่รักใคร่นับถือของนักแสดงในวงการภาพยนตร์และโทรทัศน์ของไทย

ประวัติชีวิต

นายสุประวัติ ปัทมสูต ปัจจุบันอายุ 72 ปี เกิดเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2481 ที่ กรุงเทพมหานคร บิดาชื่อ ขุนไมตรีเสน่หา (ไสว ปัทมสูต) อาชีพรับราชการ กระทรวงการต่างประเทศ มารดาชื่อ นางทองใบ ปัทมสูต สมรสกับนางนีรนุช ปัทมสูต (สิริสวย) มีบุตร 1 คน คือ นายกษาปณ์ ปัทมสูต มีบุตรกับภรรยาเก่า 2 คน คือ นางสาวรสวรรณ สุกิจจวนิช และนางสาวศรันยา สุกิจจวนิช

ประวัติการศึกษา

นายสุประวัติ ปัทมสูต จบการศึกษาระดับอาชีวะศึกษา แผนกเลขานุการ โรงเรียนเชตุพนตั้งตรงจิตรพาณิชยการ และได้รับปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง รุ่นที่ 30 ประจำการศึกษา 2546-2547

ประวัติการทำงาน

พ.ศ. 2509 เริ่มรับราชการที่กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงอุตสาหกรรม พญาไทกรุงเทพมหานคร ในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งตามลำดับ ทำงานเป็นเวลา 9 ปี พ.ศ. 2521 ลาออกจากราชการ ในระดับ 3



ประวัติการสร้างสรรค์ผลงาน

นายสุประวัติ ปัทมสูต เริ่มเข้าสู่วงการบันเทิง 2503 มีความสนใจศิลปะการแสดง ตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือที่โรงเรียนเชตุพนตั้งตรงจิตพาณิชยการ ทำหน้าที่เป็นผู้บรรยายละครวิทยุ คณะเฉลาศรี ปิ่นสุวรรณ ต่อมาย้ายมาอยู่กับคณะวัชรากร ได้แสดงเป็นตัวละครนำ ในละครวิทยุเรื่อง น้ำผึ้งขม ทำให้เป็นที่ชื่นชอบของเหล่าผู้ฟังละครวิทยุในสมัยนั้น ทำให้ได้เรียนรู้ในการสร้างอารมณ์ให้คนดูและคนฟังมีอารมณ์ร่วม มีการใช้เสียงและภาษาอย่างถูกต้อง การออกเสียงอักขระตัวควบกล้ำต้องชัดเจน หลังจากนั้น ได้ร่วมแสดงละครวิทยุให้กับคณะต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยม เช่น คณะศรีรัตน์ โสภณศิริ คณะสนิธ เกษธนัง ต่อมาจึงได้เข้าแสดงประจำกับคณะเสนีย์ บุษปะเกศ เรื่อง “ตะวันยอแสง” ทำให้ชื่อของสุประวัติได้รับความนิยมและเป็นที่ชื่นชอบของบรรดาผู้ฟังละครวิทยุนับแต่นั้น

ต่อมา นายสุประวัติ ปัทมสูต ได้แสดงละครทีวี และภาพยนตร์ชุดทางทีวี ตลอดจนภาพยนตร์จอใหญ่ ประมาณ 44 ปี ซึ่งมีผลงาน ดังนี้

ละครโทรทัศน์ เข้าสู่วงการแสดงละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2506 กับคณะรัชนี จันทรังษี ด้วยการแสดงเป็นพระเอก เรื่อง หัวเราะ ทางทีวี ช่อง 5 และบทบาทของ ศักดิ์ระบือ ที่แฟนละครทีวี ชื่นชอบมากที่สุด ในเรื่อง เศรษฐีอนาถา และบทบาท ดร.ดิเรก ในละครชุดเรื่อง สามเกลอ พลนิกร กิมหงวน ที่แสดงเป็นตอน ทางไทยทีวี ช่อง 9 ผลงานแสดงละครโทรทัศน์ เช่น คมพยาบาท สาวแก่ ผู้ชนะสิบทิศ เกียรติศักดิ์ทหารเสือ เศรษฐีอนาถา พลนิกร กิมหงวน ธนูทอง รัตติกาลยอดรัก หัวเราะ ขุนช้าง-ขุนแผน นายบ่าวเจ้าปัญหา ตะวันยอแสง กามเทพเล่นกล พิภพมัจจุราช เลือดสุพรรณ แรงรัก จบไม่ลง ชาวเขื่อน จิตแพทย์หมายเลข 7 หลวงตา ห้วงรักเหวลึก แม่อายสะอื้น และละครตลกประจำวันอาทิตย์ ฯลฯ

ละครดึกดำบรรพ์ เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความชอบการร้องเพลงไทยเดิม จึงได้รับการชักชวนให้เข้าร่วมแสดงละครดึกดำบรรพ์หลายเรื่อง เช่น หน่อหาญ บูเช็กเทียน พระสุพรรณกัลยา ศรีปราชญ์ องค์เชียงสือ โรมลิขิต อสัญแดหวา วิสุทธิราชเทวี ฯลฯ นับเป็นความภูมิใจของ สุประวัติ ปัทมสูต เพราะได้แสดงเป็นตัวนำออกอากาศครั้งแรกที่ช่อง 4 บางขุนพรหม ค่อนข้างจะเป็นเรื่องยากที่สุดและท้าทายที่สุด สำหรับคนที่เพิ่งได้รับการฝึกหัดหลังจากที่ร้องไม่เป็นรำไม่เป็นเลย จนกลายมาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเมื่อแสดงละครโทรทัศน์ในโอกาสต่อ ๆ มาว่า นอกจากการแสดงละครโทรทัศน์ และละครดึกดำบรรพ์แล้ว ยังได้มีโอกาสเขียนบทละครโทรทัศน์ โดยใช้ชื่อว่า จิตประวัติ และ ฝ้ายคำ เริ่มต้นจากการเขียนบทละครเรื่องเล็ก ๆ เป็นละครครึ่งชั่วโมง จากละครครึ่งชั่วโมงมาเป็นละครจบเป็นตอน จากละครตอนมาเป็นละครเรื่องยาว ละครยาวเรื่องแรกในชีวิตที่ได้เขียนบท คือ เรื่อง “ร่มฉัตร” เป็นบทประพันธ์ของคุณทมยันตี ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ต่อมาได้เขียนบทละครอีกหลายเรื่อง

ภาพยนตร์ เริ่มเข้าสู่วงการภาพยนตร์ โดยการชักชวนของคุณสวง ทรัพย์สำรวย (ล้อต๊อก) แสดงเรื่องแรกคือ รุ่งทิพย์ ซึ่งคุณรังสี ทัศน์พยัคฆ์ เป็นผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์ พอใจกับการแสดงของสุประวัติมาก ตั้งแต่นั้นจึงได้มีผลงานการแสดงภาพยนตร์ในเรื่องต่างๆ มากมาย เช่น อยู่กับก๋ง คู่รัก สามเณรใจสิงห์ กามนิต วาสิฏฐี สมศรี#442 อาร์ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีผลงานแสดงภาพยนตร์ 16 มม. อย่างเช่น หุ่นไล่กา มิติที่สี่ เป็นต้น

การกำกับภาพยนตร์ 35 มม. และเขียนบทภาพยนตร์ ช่วงปี พ.ศ. 2508 – 2521 เป็นช่วงที่ทำงานซ้อนกันสองอาชีพ คือ รับราชการกรมทรัพยากรธรณี กับงานแสดงต่าง ๆ จริงอยู่แม้ละครในสมัยนั้นจะแสดงสด ๆ ในตอนกลางคืน และจะต้องเลือกรับงานเฉพาะวันหยุด วันเสาร์ และวันอาทิตย์ เมื่อได้สัมผัสกับเสน่ห์ของการแสดงและรู้ในความสามารถและสิ่งที่ตนเองสนใจ ประกอบกับการที่ได้รับการชักชวน จากคุณสันติ เศวตวิมล ให้มากำกับภาพยนตร์ 35 มม. จึงตัดสินใจลาออกจากราชการ

นอกจากจะกำกับภาพยนตร์แล้ว ยังเขียนบทภาพยนตร์เองด้วย ผลงานกำกับภาพยนตร์ 35 มม. ที่กำกับและเขียนบทภาพยนตร์เองเรื่องแรก คือ ชีวิตนี้เพื่อเธอ และอีกหลาย ๆ เรื่อง อาทิ แผลรัก ทำให้สุประวัติ ปัทมสูต ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงในฐานะ ผู้แสดงสมทบชาย และคุณนันทนา เงากระจ่าง ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงดารานำหญิง จากรางวัลพระสุรัสวดี ผลงานการกำกับภาพยนตร์ 35 มม. และเขียนบทภาพยนตร์ เช่น ชีวิตนี้เพื่อเธอ พ่อจ๋า รักเธอสุดหัวใจ แผลรัก รักต้องโกย รอยลิขิต เป็นต้น

สุประวัติ ปัทมสูต เป็นนักแสดงชั้นแนวหน้าของวงการภาพยนตร์ ด้วยการใช้ความสามารถเบื้องหน้าการแสดง และได้เก็บเกี่ยวความรู้ประสบการณ์จนกระทั่งได้หักเหชีวิตมาอยู่เบื้องหลัง โดยกำกับการแสดงละครโทรทัศน์ เรื่อง นางสิบสอง ให้กับช่อง 9 เรื่อง มนต์รักอสูร ให้กับช่อง 5 และ พ.ศ. 2519 กำกับการแสดงเรื่อง ตะวันยอแสง ของสถานีโทรทัศน์ ช่อง 3 จากการมีฝีมือด้านการกำกับการแสดงส่งผลให้นักแสดงได้รับการเสนอชื่อและได้รับรางวัลมากมาย โดยเฉพาะละครโทรทัศน์ เรื่อง สี่แผ่นดิน ที่ถือว่าเป็นเกียรติประวัติสูงสุด ได้รับรางวัล เมขลา และโทรทัศน์ทองคำ ในฐานะผู้กำกับการแสดงดีเด่น และนางสาวจินตหรา สุขพัฒน์ ได้รับรางวัลเมขลาและโทรทัศน์ทองคำ ในฐานะดารานำหญิงดีเด่น นอกจากนี้ เรื่อง สี่แผ่นดิน ยังได้รับรางวัลละครโทรทัศน์ยอดเยี่ยม และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลเมขลาและโทรทัศน์ทองคำ ในสาขาดาราประกอบชาย และดาราประกอบหญิง ซึ่งผลงานการกำกับการแสดงหลาย ๆ เรื่อง ส่งผลให้นักแสดงได้รับการเสนอชื่อเข้ารอบชิงรางวัล 1 ใน 5 เกือบทุกปี

การกำกับละครเวที และการแสดงละครเวที นับเป็นงานบันเทิงที่สำคัญที่ผลักดัน ให้นายสุประวัติ ปัทมสูต กลายเป็นผู้ที่มีบทบาทในการอนุรักษ์และพัฒนาศิลปะการแสดงละครไทย เนื่องจากได้พยายามนำเอาละครพื้นบ้าน และละครรำของไทยมานำเสนอในรูปแบบที่ทันสมัย ขณะเดียวกันก็ไม่ทำลายคุณค่าของวัฒนธรรมดั้งเดิม ได้กำกับละครเวที เรื่อง ท้าวทองกีบม้า ให้กับโรงเรียนเซ็นฟรังส์ ซิลชาเวีย คอนแวนต์ เพื่อนำเงินรายได้มาจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องใช้สำคัญ ๆ ต่าง ๆ ในหอประชุม เป็นงานที่ค่อนข้างท้าทายความสามารถ เพราะนักแสดงทั้งหมดเป็นนักเรียน ต้องฝึกให้เริ่มแสดง หัดร้อง หัดรำ พูดเป็นบทกลอน ซึ่งค่อนข้างยากแต่ด้วยความตั้งใจในการฝึกซ้อมของเหล่านักเรียนและความตั้งใจจริงของผู้กำกับ ก็สามารถจัดการแสดงได้สำเร็จ และบรรลุตามเป้าหมาย ต่อมาได้จัดการแสดง เรื่อง ศึกถลาง จากผลงานการกับละครเวทีทั้ง 2 เรื่อง ทำให้ได้รับรางวัลพระราชทานโล่จากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

นายสุประวัติ ปัทมสูต ได้เข้าไปร่วมแสดงละครเวทีอยู่กับคุณชนประคัลภ์ จันทร์เรือง ซึ่งมีผลงานละครเวทีหลาย ๆ เรื่อง เช่น ใต้แสงเทียน ขอรับฉัน คันเมื่อวันครบเจ็ดปี ฯลฯ ที่ได้ทำการแสดงที่โรงแรมมณเทียร ซึ่งเป็นเวทีการแสดงอีกแห่งหนึ่งของละครเวที พ.ศ. 2531 โรงแรมมณเฑียรได้จัดให้มีการประกวดละครเวทีมณเฑียรทอง ครั้งที่ 2 นายสุประวัติ ปัทมสูต ได้จัดกำกับ และแสดงละครเวทีเรื่อง ศรีปราชญ์ ตอนธรณีคือพยาน ของอาจารย์สมภพ จันทรประภา ทำให้ได้รับรางวัล 4 รางวัล คือ

  • เรื่อง ศรีปราชญ์ ธรณีคือพยาน ละครยอดเยี่ยมแห่งปี
  • นายสุประวัติ ปัทมสูต ดารานำชายยอดเยี่ยม
  • นายชนประคัลภ์ จันทร์เรือง ดาราประกอบชายยอดเยี่ยม
  • นางโฉมฉาย ฉัตรวิไล ดาราประกอบหญิงยอดเยี่ยม

การเผยแพร่ข้อมูลทางศิลปะการแสดงแก่สาธารณชน การถ่ายทอดเทคนิค วิธีการ 45 ปี บนเส้นทางสายบันเทิงของสุประวัติ ปัทมสูต ที่ยืนหยัดอยู่บนความภาคภูมิใจและพอใจกับผลงานการแสดงและงานกำกับการแสดงของตน พร้อมสะพรั่งด้วยบรรดาลูกศิษย์ลูกหาในวงการบันเทิงเบื้องหน้าและเบื้องหลังที่ได้เคยร่วมงานกันมาหลาย ๆ สมัย ถ่ายทอดเทคนิค และวิธีการของสุประวัติ ปัทมสูต คือ

สอนให้รู้จัก ในโลกศิลปะของวงการละคร
สอนให้เข้าใจ ในภาระหน้าที่ของนักแสดง
สอนให้กล้า ในการตัดสินใจแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
สอนให้แสดง ในบทบาทด้วยจิตวิญญาณของตัวละคร
สอนให้รัก ในอาชีพศิลปินเพื่อทดแทนคุณผืนแผ่นดิน

ลักษณะในการถ่ายทอดวิชาของนายสุประวัติ คือมุ่งหวังให้คนที่มีใจรักที่จะเข้ามาทำงานในวงการบันเทิงเรียนรู้และแสดงออกอย่างถูกต้อง รูปแบบการสอนเป็นแบบที่เน้นให้มีความรู้ที่แข็งแรง รู้แนวทางในการแสดงแบบเดียวกับที่ตนได้เคยมีประสบการณ์ได้เรียนรู้มาจากครูต่าง ๆ คือ จะไม่สอนให้ทำ แต่จะสอนให้คิด ให้รู้ที่มาที่ไปของตัวละครนั้น ๆ โดยมักจะบอกกับนักแสดงใหม่ ๆ ว่าการเข้าถึงบทไม่ใช่การท่องบทแบบนกแก้วนกขุนทอง อย่าพูดออกมาอย่างเร็วตามที่ท่องมา แต่ให้ทำตัวเหมือนเครื่องรับที่ต้องรับมาจากเครื่องส่งแล้วเก็บเข้าไปไว้ในสมอง พยายามรับรู้เรื่องราวหรือคำพูดที่เครื่องส่งมาให้ได้ก่อน จึงจะโต้ตอบกลับไป ในการพูดโต้ตอบสมองก็จะต้องได้ยินเสียงที่พูดโต้ตอบออกมาก่อน แล้วอารมณ์ หน้าตา ความรู้สึก แววตามันจะออกมาตามการแสดงนั้น ๆ และความหมายที่ออกมาตามการแสดงนั้น ๆ ก็จะได้ความเป็นธรรมชาติมากที่สุดอย่างครบถ้วน

รางวัลและเกียรติคุณที่ได้รับ

  • ได้รับรางวัลพระราชทานโล่จากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ 2 ปี โดยการกำกับละครเวที ที่โรงเรียนเซ็นฟรังซ์ ซิสซาเวียคอนแวนต์ ในละครร้อง-รำ เรื่อง ท้าวทองกีบม้า พ.ศ. 2518 และเรื่อง ศึกถลาง ใน พ.ศ. 2519
  • ได้รับรางวัลโล่เกียรติยศจากนายบรรหาร ศิลปะอาชา ในงานหาเงินเพื่อสร้างสมาคมสุพรรณพระนคร ในการจัดละครเวที เรื่อง เลือดสุพรรณ แสดงคู่กับคุณจารุวรรณ ปัญโญภาส ซึ่งการแสดงครั้งนี้จัดขึ้นที่สวนอัมพร ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สี กองทัพบกช่อง 7 ในปี 2518
  • ได้รับพระราชทานโล่ที่ระลึก จากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในการกำกับ เรื่อง ตึกกรอสส์ เนื่องในวันมหิดล 2528
  • ได้รับรางวัลหน้ากากทองคำ ดารานำชายยอดเยี่ยม จากเรื่องศรีปราชญ์ ตอน ธรณีคือพยาน และรางวัลละครยอดเยี่ยมแห่งปี ในฐานะผู้จัดละครเวที 2531
  • ได้รับรางวัลเมขลา ครั้งที่ 11 ประจำปี 2534 สาขาผู้กำกับการแสดงดีเด่น จากละครเรื่อง สี่แผ่นดิน
  • ได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 6 ประจำปี 2534 สาขาผู้กำกับการแสดงดีเด่น จากละครเรื่อง สี่แผ่นดิน และครั้งที่ 16 ประจำปี 2544 สาขาผู้กำกับละครดีเด่น จากละครเรื่อง สะใภ้ไร้ศักดินา
  • ได้รับพระราชทานโล่จากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการกำกับละครเทิดพระเกียรติ เรื่อง ประหนึ่งดวงใจ ไทยทั้งผอง ในงานเฉลิมฉลองงาน 100 ปี พระราชวังดุสิต ณ เวทีกลางน้ำ พิพิธภัณฑ์ พระที่นั่งวิมานเมฆ ในปี พ.ศ. 2542
  • ได้รับ 6 รางวัล ในการกำกับละครและแสดง เรื่อง แม่อายสะอื้น พ.ศ. 2547 คือ รางวัลด้านโทรทัศน์ ASIAN TELEVISION AWARDS 2004 จัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ สุประวัติ ปัทมสูต ติดอันดับ 1 ใน 4 ของรางวัลดารานักแสดงชายยอดเยี่ยม เรื่อง แม่อายสะอื้น สาขาละครดราม่า รางวัล TOP AWARDS 2004 ที่จัดโดยนิตยสารทีวีพูล สุประวัติ ปัทมสูต ได้รับในฐานะดาราสมทบชายยอดเยี่ยม, รางวัล STAR ENTERTAINMENT AWARDS 2004 จัดโดยสมาคมนักข่าวบันเทิง ในฐานะนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม, รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 19 ในฐานะดาราสนับสนุนชายดีเด่น, รางวัลเมขลา ครั้งที่ 23 ในฐานะผู้แสดงสมทบชายยอดเยี่ยม, รางวัล HAMBURGER AWARDS # 3 ในฐานะ นักแสดงชายยอดเยี่ยม
  • ได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำ ในฐานะผู้กำกับยอดเยี่ยม และรางวัลเกียรติยศคนทีวีในงานเดียวกัน พ.ศ. 2550 ละครเรื่อง รังนกบนปลายไม้

การทำคุณประโยชน์เพื่อสังคม

ตลอดระยะเวลาที่ประกอบอาชีพอยู่ในแวดวงบันเทิง นายสุประวัติ ปัทมสูต ได้อุทิศตนเป็นผู้อยู่เบื้องหลังงานการกุศลต่าง ๆ ในการสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อสาธารณชนผ่านงานทางสายอาชีพของตน ด้วยการเข้าร่วมเป็นกรรมการฝ่ายการแสดงขององค์กรการกุศล กิจกรรมของหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา และมูลนิธิต่างๆ สุประวัติ ปัทมสูต เป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล รักที่จะพัฒนาความคิดความสามารถของตนเองให้ก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา สนับสนุนให้เด็กรุ่นใหม่ได้สร้างผลงาน เป็นพี่เลี้ยงให้คำชี้แนะที่เฉียบคมและเป็นประโยชน์อยู่เสมอ และการที่เพื่อนพ้องดาราและนักแสดงต่างใช้สรรพนามเรียกเขาว่า พ่อ เรียกเหมือนกันโดยไม่ได้นัดหมาย สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดมาจากการบังคับใจ แต่เกิดมาจากความผูกพัน คำว่า พ่อ ในที่นี้ หมายถึง ผู้ให้วิชาความรู้ การแสดงแบบไทย ๆ เช่น ที่เรียกพ่อเพลง หรือแม่เพลงว่า พ่อหวังเต๊ะ พ่อเสรี และนอกจากให้ความรู้ยังให้ความเป็นกันเองในการทำงานแบบพ่อกับลูก คอยอบรม สั่งสอน และชี้แนะแนวทางไปในสิ่งที่ใช่และถูกต้อง โดยไม่คำนึงถึงความเหน็ดเหนื่อย ท้อใจ ในการบอกแนวทางให้พลังความรู้และส่งเสริมจินตนาการ โดยเฉพาะกับเยาวชนรุ่นใหม่ ๆ มากมายที่เกิดขึ้นในวงการบันเทิง ทั้งกล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ กล้าแสดงออกในความคิด ถ้าสิ่งไหนเห็นว่าไม่ใช่หรือไม่ควรก็จะคอยแนะนำไม่เคยคิดหวงวิชา

นางประนอม ทาแปง
นางสาวพิศมัย วิไลศักดิ์
นายควน ทวนยก
นายสมบัติ พลายน้อย
นายสุประวัติ ปัทมสูต
นายสุรชัย จันทิมาธร

 

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย