สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

สาระน่ารู้เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษที่เด็กและเยาวชนควรรู้

         ปัจจุบันในแต่ละปีมีสถิติการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษที่ดำเนินคดีในศาลเยาวชนและครอบครัวทั่วประเทศเพิ่มขึ้นมาก จึงน่าเป็นห่วงเด็ก ( บุคคลที่มีอายุเกิน 7 ปีบริบูรณ์แต่ไม่เกิน 15 ปีบริบูรณ์ ) และเยาวชน ( บุคคลที่มีอายุเกิน 15 ปีบริบูรณ์แต่ไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ ) ซึ่งจะเป็นอนาคตของชาติเป็นอย่างยิ่ง จึงสมควรที่จะศึกษาเพื่อให้รู้จักยาเสพติดให้โทษ สาเหตุของการติดยาเสพติด โทษของยาเสพติดให้โทษ และการป้องกันมิให้ตนเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษต่อไป หาไม่แล้ว ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษก็อาจจะกระทำความผิดอื่นที่ต่อเนื่อง เช่น ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายอันเป็นปัญหาเดือดร้อนรำคาญและเป็นอาชญากรรมร้ายแรงมีผลกระทบต่อสังคมโดยรวม

ความหมายของยาเสพติดให้โทษ

ยาเสพติดให้โทษ หมายความว่า สารเคมีหรือวัตถุใด ๆ ซึ่งเมื่อเสพเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าโดยรับประทาน ดม สูบ ฉีด หรือด้วยประการใด ๆ แล้ว ทำให้เกิดผลต่อร่างกายและจิตใจในลักษณะสำคัญ เช่น ต้องเพิ่มขนาดการเสพเรื่อย ๆ มีอาการถอนยาเมื่อขาดยา มีความต้องการเสพทั้งร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรงตลอดเวลา และสุขภาพโดยทั่วไปจะทรุดโทรมลง กับให้รวมตลอดถึงพืชหรือส่วนของพืชที่เป็นหรือให้ผลผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษหรืออาจใช้ผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษ และสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษดังกล่าวด้วย

ประเภทของยาเสพติดให้โทษตามกฎหมาย แบ่งเป็น 5 ประเภทด้วยกัน คือ

  • ประเภท 1 ยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรง เช่นเฮโรอีน เมทแอมเฟตามีน
  • ประเภท 2 ยาเสพติดให้โทษทั่วไป เช่น มอร์ฟีน โคคาอีน โคเคอีน ฝิ่น
  • ประเภท 3 ยาเสพติดให้โทษที่มีลักษณะเป็นต้นตำรับยาและมียาเสพติดให้โทษประเภท 2 ผสมอยู่ด้วย
  • ประเภท 4 สารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษประเภท 1 หรือประเภท 2 เช่น อาเซติคแอนไฮไดรด์ อาเซติลคลอไรด์
  • ประเภท 5 ยาเสพติดให้โทษที่มิได้เข้าอยู่ในประเภท 1 ถึงประเภท 4 เช่น กัญชา พืชกระท่อม

สาเหตุของการติดยาเสพติดให้โทษ

สาเหตุของการติดยาเสพติดให้โทษมีหลายสาเหตุด้วยกัน ได้แก่

  1. เพื่อนชักชวนหรือต้องการให้เป็นที่ยอมรับของเพื่อน
  2. อยากรู้ อยากทดลอง
  3. ถูกหลอกเพื่อผลประโยชน์ต่าง ๆ เช่น เพื่อให้จำหน่ายยาเสพติดให้โทษ เพื่อใช้แรงงาน เพื่อค้าประเวณี
  4. มีความเชื่อในทางที่ผิดว่ายาเสพติดให้โทษบางประเภทอาจช่วยให้สบายใจ ลืมความทุกข์ ช่วยให้ทำงานได้มากกว่าปกติ
  5. ขาดความรัก ความอบอุ่น และความเข้าใจที่ดีระหว่างสมาชิกในครอบครัว
  6. สภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการติดยาเสพติดให้โทษ บริเวณถิ่นที่อยู่อาศัยมีการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษหรือมีผู้ติดยาเสพติดให้โทษ
  7. เพื่อหนีปัญหาในบางปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขให้กับตนเองได้

โทษของยาเสพติดให้โทษ

การเสพยาเสพติดให้โทษโดยเฉพาะเมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้าซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นปัญหาร้ายแรงในสังคมนั้น นอกจากจะเป็นความผิดซึ่งผู้เสพ จำหน่ายหรือผู้เกี่ยวข้องจะต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งมีโทษขั้นร้ายแรง ตั้งแต่ประหารชีวิต จำคุก หรือปรับแล้ว ยังเป็นโทษต่อร่างกายและจิตใจด้วย สำหรับผลเสียที่จะเกิดขึ้นแก่ร่างกายและจิตใจได้แก่ ผู้เสพยาเสพติดจะมีอาการปวดศีรษะ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ใจสั่น ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นแรงและเร็ว ร่างกายทรุดโทรม ในรายที่เสพยาเสพติดในปริมาณมากอาจทำให้เส้นเลือดในสมองแตกเป็นอัมพาตหรือเสียชีวิตได้ นอกจากนี้แล้วการเสพยาเสพติดให้โทษอาจส่งผลให้เป็นโรคจิตควบคุมตัวเองไม่ได้ หูแว่ว ประสาทหลอน หวาดระแวงว่าจะมีคนมาทำร้าย จึงมักจะจับผู้อื่นเป็นตัวประกันหรือทำร้ายคนอื่นเพื่อให้ตนเองรู้สึกปลอดภัย หรืออาจทำร้ายตัวเองได้ และยาเสพติดเป็นต้นเหตุที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ ซึ่งถ้าเกิดเหตุกรณีดังกล่าวขึ้น ผู้เสพยาเสพติดก็มีโอกาสได้รับโทษทางอาญาเนื่องจากการกระทำผิดต่อเนื่องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ในเรื่องนั้น ๆ อีกด้วย เช่น การขับรถขณะมีสารเสพติดอยู่ในร่างกายก็จะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522

การป้องกันยาเสพติดให้โทษ สามารถป้องกันได้ 3 ทางด้วยกัน คือ

  1. การป้องกันโดยตนเอง ด้วยการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ไม่ทดลองใช้ยาเสพติด ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์เช่นออกกำลังกาย อ่านหนังสือ ไม่คบค้าสมาคมกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด หากมีปัญหาควรปรึกษาบิดามารดา ญาติหรือครูอาจารย์
  2. การป้องกันโดยครอบครัว บุคคลภายในครอบครัวต้องร่วมกันสร้างความรัก ความอบอุ่นและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนในครอบครัว และดูแลสมาชิกภายในครอบครัวไม่ให้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ หากพบว่าสมาชิกในครอบครัวคนใดเสพยาเสพติดให้โทษแล้ว ต้องให้กำลังใจและร่วมกันหาทางรักษา
  3. การป้องกันโดยสังคม สมาชิกภายในสังคมนั้น มีหน้าที่ศึกษาและทำความรู้จักชุมชนของตนเอง มีการหาแนวร่วมเพื่อเชื่อมโยงและขยายเครือข่ายระหว่างชุมชนเพื่อตั้งกลุ่มร่วมกันป้องกันและต่อต้านยาเสพติดให้โทษ เมื่อพบคนในสังคมติดยาเสพติดให้โทษก็ชักชวนหรือช่วยเหลือให้บุคคลนั้นเข้ารับการบำบัดรักษา และเมื่อทราบแหล่งซึ่งเป็นที่เสพ จำหน่าย หรือผลิตยาเสพติดให้โทษให้รีบเจ้าหน้าที่บ้านเมืองทราบเพื่อดำเนินการจับกุมตามกฎหมายโดยทันที

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย