ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม >>

ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมสำคัญในจังหวัดลำพูน

ประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุหริภุญชัย
ประเพณีปอยหลวง
ประเพณีการฟังเทศน์มหาชาติหรือประเพณีตั้งธรรมหลวง
ประเพณีต๋านก๋วยสลาก
ประเพณีการทานสลากย้อม
ประเพณีขึ้นดอยขะม้อ
ประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำ (เลี้ยงผีฝาย)

ประเพณีต๋านก๋วยสลาก

งานทำบุญทานข้าวสลาก(ต๋านก๋วยสลาก) หรือกินก๋วยสลาก คืองานประเพณีทำบุญสลากภัตต์ ซึ่งนิยมทำกันในช่วงกลางพรรษา ในราวปลายเดือนสองหาคม กันยายน ตุลาคม และจะกินกันมากในเดือนกันยายน เพราะถือว่าเดือนนี้เป็นเดือนที่อดอยากของชาวบ้าน ด้วยเหตุหลายประการ ประการสำคัญคือข้างเปลือกที่เก็บไว้ในยุ้งฉางใกล้จะหมด หรือหมดไปแล้ว คนที่มีข้างเปลือกก็จะเก็บไว้กินจนกว่าจะเก็บเกี่ยวข้าวใหม่มาใส่ในปีต่อไปซึ่งจะเป็นในราวเดือนมกราคม คนที่ซื้อกินข้าวสารก็จะหาซื้อยากและมีราคาแพง ด้วยเหตุนี้จึงถือว่าในระหว่างเดือนเหล่านี้เป็นเดือนที่เร้นแค้นอดอยาก เมื่อคนทั่วไปอดอยากก็พากันคิดถึงผีที่เป็นญาติพี่น้องก็คงจะอดอยากเช่นกัน ห่วงว่าพ่อแม่พี่น้องที่ตายไปแล้วจะไม่มีเครื่องอุปโภคบริโภค จึงรวมกันจัดพิธีทำบุญทานข้าวสลาก จัดข้าวปลาอาหารของกินของใช้ไปถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ เพื่ออุทิศส่วนบุญให้แก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว การทำบุญทานข้าวสลากมีพิธีการทานผิดกับการทานในโอกาสอื่นตรงที่ไม่จำเพาะเจาะจงแก่สงฆ์รูปใดองค์ใด จึงทำเป็นสลากไปรวมปะปนกันให้พระภิกษุสามเณรจับสลากหรือฉลาก หากก๋วยสลาก หรือภาชนะที่บรรจุเครื่องไทยทานตกที่พระภิกษุหรือสามเณรรูปใดก็จะยกก๋วยสลากถวายแก่รูปนั้น

วันงานทานข้าวสลากนี้ ชาวบ้านจะนักหมายตกลงกันว่าวันใดจะเป็นวันทานข้าวสลาก โดยเริ่มจากวัดสำคัญที่สุดในละแวกนั้นเสียก่อน ซึ่งการจัดงานนั้นจัดให้มีงาน 2 วัน คือ วัตแต่งดา หรือวันสุกดิบวันหนึ่งและวันทาน หรือวันถวายทาน อีกวันหนึ่ง ในวันแต่งดานั้น ทุกหลังคาเรือนจะจัดหาวัตถุเข้าของของกินของใช้ตามกำลังศรัทธา ญาติพี่น้องที่อยู่ต่างบ้านไม่ว่าไกลหรือใกล้ เมื่อรู้ข่าวก็จะพากันมาฮอม คือร่วมบริจาคจตุปัจจัยสมทบในการบำเพ็ญทานตามสายญาติของตน

อุปกรณ์สำคัญในการทำบุญกินก๋วยสลาก ประกอบด้วย

ต้นสลาก

คือเครื่องไทยทานที่จัดเป็นพุ่ม ตามแนวของต้นกัลปพฤกษ์ ต้นสลากแบ่งออกเป็น 3 ระดับ สลากขนาดใหญ่เรียกว่า สลากโชค หรือก๋วยโชค (อ่าน”โก๋ยโจ้ก”) ตันสลากขนาดปานกลางเรียกว่า ก๋วยสำรับ ตันสลากขนาดเล็ก ก๋วยซอง คือตระกร้าที่สานอย่างง่ายๆอย่างหนึ่งส่วนต้นสลากพิเศษเรียกว่า สลากย้อม

ก๋วยโชค เป็นเครื่องไทยทานที่ทำอย่างวิจิตรและมีขนาดใหญ่ บางทีอาจทำเป็นชองอ้อย หรือกระบะมีขาสูงเท่าเอวมีกำฟางประดับด้วยดอกไม้ หรือกิ่งไม้แขวนด้วยเครื่องใช้ต่างๆบางแห่งใช้ไม่ไผ่รวกทั้งลำเสียบปักของกินของใช้ตั้งแต่ต้นจนถึงปลาย บางครั้งก็ใช้กระบุงขนาดใหญ่ปักด้วยต้นคา หรือหญ้าคาทำเป็นกำยางแล้วแขวนด้วยวัตถุข้าวของต่างๆบางท้องถิ่นสร้างเป็นบ้านจำลอง ใส่ด้วยข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือนจนครบทุกอย่าง บางท้องถิ่นสร้างทำเป็นรูปปราสาท รูปเรือ รูปช้าง ม้า วัว ควาย ข้างในใส่ข้าวของเครื่องใช้เครื่องบริโภค ยอดหรือปัจจัยของก๋วยโชคจะมีจำนวนเงินมากกว่าก๋วยชนิดอื่น

ถ้าเป็นต้นสลากย้อม ซึ่งเป็นสลากพิเศษของหญิงสาวในบางท้องที่โดยเฉพาะในกลุ่มไทยองก็จะมีข้างของเครื่องใช้เพิ่มจำนวนขึ้นจนรวมไปถึงกระจก หวี แป้ง ผ้าเช็ดหน้า จำพวกของเครื่องใช้ของผู้หญิงจะนำมาใส่จนครบแล้วกางร่มไว้บนยอดสุด หญิงสาวนิยมทำต้นสลากย้อมถวายเพราะเชื่อว่าเมื่อแต่งงานแล้ว จะทำให้ครอบครัวมีความสุข

ก๋วยสำรับ ใช้ก๋วยหรือตะกร้าภาชนะเป็นที่บรรจุข้าวของเครื่องกินเครื่องใช้ เช่น ก๋วยตีนช้าง กระบุง พ้อม กะละมัง ถังน้ำ เป็นต้น เครื่องที่ใส่ข้างในพร้อมทุกอย่าง ยอดหรือปัจจัยเงินที่ใส่ทำบุญอาจมีจำนวนน้อยกว่าก๋วยโชค

ก๋วยซอง เป็น “ซอง” หรือภาชนะสานด้วยตอกไม้ไผ่เป็นรูปตะกร้าโปร่งทรงสูง ปล่อยตอกให้พ้นจากตัวตระกร้าขึ้นไปรองด้วยใบตองแล้วใส่ข้างปลาอาหารทุกอย่าง แล้วจึงรวบตอกที่พันขึ้นไปผูกติดกันเพื่อปิดปากก๋วย

เครื่องกินเครื่องใช้ที่ใส่ในก๋วย มีข้าวสุก ข้าวสาร อาหารสุก ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารแห้งอย่างแคบหมู ชิ้นส้ม ไส้อั่ว ชิ้นหนึ้ง ปลาปิ้ง พริก เกลือ หอม กระเทียม หมาก ปูน พลู ยาสูบ ขนมต้ม ขนมหวานต่างๆ ลูกไม้ผลไม้ เช่น ส้มโอ กล้วย อ้อย มะพร้าว น้ำตาล ถ้าเป็นก๋วยซองจะมีเนื้อที่ให้ใส่ของเหล่านี้อย่างละไม่มาก กล้วยจะแบ่งใส่ 1-2 ลูก ส้มโอก็ผ่าใส่ 1 กลีบ อ้อยก็ตัดยาวขนาด 1 คืบ ใส่ไว้ 1 ท่อน ถ้าเป็นก๋วยสำรับและก๋วยโชค ของเหล่านี้จะใส่ทั้งลูกทั้งหวี ก๋วยซอง นิยมทำถวายอุทิศส่วนบุญให้คนตาย มีบิดามารดา เป็นต้น

ในการไปรอมพอย (อ่านว่า”ฮอมปอย”) หรือการที่มีญาติมิตรนำเอาสิ่งของไปรอมหรือสมทบทำบุญกับเจ้าของต้นสลากนั้น ข้าวของที่พี่น้องนำไปรอมอาจเป็นดอกไม้พื้นเมืองที่หาได้หรือดอกที่สวยงามหรือมีกลิ่นหอม เช่น ดอกจำปา ดอกเก็ดถะหวา ดอกพุด ดอกสะบันงา ดอกกาแกด เป็นต้น และก็มีกล้วย อ้อย หมากพลู นอกจากจะเอาไปรอมแล้วยังช่วยแต่งช่วยดาเครื่องสลากจนเสร็จอีกด้วย ผู้เป็นเจ้าของต้นสลาก

หรือเจ้าของเรือนก็จะนำข้าวปลาอาหารเลี้ยงพี่เลี้ยงน้องที่มาฮอม แล้วยังทำขนมพื้นเมือง อย่างข้าวต้มกระทิ ข้าวต้มกล้วย ข้าวต้มถั่ว ที่นิยมทำและชอบกินกันคือ เข้าหนมจ็อก หรือขนมเทียนแบบล้านนา ตอนเย็นเมื่อพี่น้องจะกลับเจ้าของเรือนจะห่อเอาเข้าหนมจ็อก เป็นของฝากให้แก่พี่น้องทุกคนเพื่อนำไปให้ลูกหลานที่อยู่บ้านได้กินกัน การแต่งดาต้นสลากใช้เวลาทั้งวันจึงจะเสร็จ เพราะคนสมัยก่อนต้องทำด้วยมือเองทั้งหมด ไม่ได้ซื้อหาเอาได้ง่ายอย่างกับปัจจุบัน

จำนวนก๋วยที่ชาวบ้านทุกครัวเรือนต้องแต่งดา ในสมัยก่อนนั้น แต่ละครัวเรือนให้เตรียมก๋วยซองไว้ตั้งแต่ 10 ก๋วยขึ้นไป เพราะจะต้องนำไปถวายพระพุทธ พระธรรม พระธาตุคือองค์เจดีย์ (ถ้าวัดนั้นมี) ถวายเจ้าอาวาส และมอบให้แก่อาจารย์วัด รวมเป็น 5 ก๋วย และก๋วยทั้งห้านี้ไม่ต้องมีเส้นสลากหรือรายชื่อเจ้าของและคำอุทิศ นอกนั้นจะเป็นก๋วยซองที่มีเส้นเพื่ออุทิศให้แก่ญาติที่ตายไปคนละ 1 ก๋วย อุทิศถึงเทวดา อุทิศถึงสัตว์เลี้ยงใช้งานที่ตายไป ก๋วยสำรับจะแต่งตามจำนวนคนที่อยู่ในครอบครัวนั้นๆคือพ่อแม่ 1 สำรับ ลูกๆคนละ 1 สำรับ ก๋วยสำรับทำเพื่ออุทิศถึงคนตายและอุทิศไว้เสวยภายหน้าด้วย ส่วนก๋วยโชคนั้น แต่ละบ้านอาจจะมี 1 ต้น ถ้ามีลูกบ่าวลูกสาวอาจจะมี 2 ต้นก็ได้

ไม้เสียบก๋วย ก๋วยซองส่วนบนจะทำไม้ 3 ง่ามปักไว้ไม้อันกลางจะยาวกว่า 2 ข้าง ตรงกลางเป็นที่เสียบไม้ขีดไฟและยอดเงิน 2 ข้างจะเสียบด้วยบุหรี่ข้างละ 1 มวน บางท้องถิ่นเอาใบตาลหรือใบลานมาพับทำเป็นรูปหงส์ ปากคาบเงินยอดทานที่ปักไว้ที่ส่วนบนของก๋วยซอง

เส้นสลาก

หรือชื่อเจ้าศรัทธาและคำอุทิศ สมัยก่อนทำด้วยใบตาลหรือใบลาน นำมาตากให้แห้งแล้วตัดแต่ง กว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 40-50 เซนติเมตรแหลมหัวแหลมท้าย แต่งขยักหัวให้สวยงามเพื่อเขียนชื่อผู้เป็นเจ้าของและความปรารถนาของผู้ถวาย ในตอนกลางวันจะแต่งดาต้นสลากจนเสร็จ พอถึงกลางคืนก็ยังจะมีพี่น้องหรือบ่าวมาเที่ยวอีกครั้ง เพราะต้นสลากย้อมของหญิงสาวที่ยังแต่งไม่เสร็จก็จะแต่งให้เสร็จในตอนกลางคืน พวกบ่าวหนุ่มก็จะมาช่วยหญิงสาวแต่งและถือโอกาสได้ อู้สาว คือพูดคุยกับสาวเจ้าไปในตัว ในจำนวนบ่าวที่มาเที่ยวนั้น ถ้าเป็นคนที่เคยบวชเคยเรียนหนังสือรู้ตัวเมืองดี ก็จะมาช่วยเขียนเส้นสลากให้แก่เจ้าของเรือน สมัยก่อนการจารชื่อเจ้าของสลากและคำปรารถนาจะจารด้วยอักษรตัวมืองหรืออักษรธรรมล้านนาทั้งสิ้น

คำเขียนเส้นสลาก ภาษาคำที่จารลงบนใบตาลหรือใบลานที่เรียกว่าเส้นสลาก เป็นแบบที่เขียนต่อกันมานาน ดังนั้นคำในเส้นสลากจึงจะมีถ้อยคำที่คล้ายคลึงกันเกือบทุกที่ทุกท้องถิ่นในเขตล้านนา ถ้าเป็นก๋วยโชค มักจะจารว่า

“อิมินา สลากภตฺตทานํ สพฺพรุกฺขทานํ สพฺพปริวารทานํ ภณฺฑโอทานภิกฺขหารทานํ หมายทานสลากต้นนี้ หมายมีศรัทธา……………….พร้อมทังภริยาลูกหลานชู่คน ขออุทิศไว้เสวยในภายหน้า ของเถิงสุข 3 ประการ มีพระนิพพาน เป็นยอด นิพฺพานปจฺจโย โหตุเม นิจฺจํ ธุวํ ธุวํ”

ถ้าเป็นก๋วยสำรับมักเขียนว่า “สุทินฺนํ วตเมทานํ หมายทานสำรับนี้ศรทธา…………….พร้อมด้วยลูกหลานชู่คน ทานไพหา……………….ผู้ที่ล่วงลับขอหื้อไพรอดไพเถิง จิ่มเตอะ”

ถ้าเป็นก๋วยซองมักเขียนว่า “หมายทานสลากเข้าซอนี้ศรัทธา………………..ขออุทิศไพหา เทวบุตรเทวดา อินทร์พรหม ครุฑนาค น้ำปรไมไดศวร”หรือ “ขออุทิศไพหาพ่อแม่ผู้มีชื่อว่า………………..ขอไพรอดเถิงจิ่ม” หรือ “อุทิศไพเถิงสัตต์สัพพะว่าสัตว์ที่ได้ข้าได้บุบตี” หรือ “อุทิศไพหา เจ้ากัมม์นายเวรทังกลาย” หรือบางคนก็อุทิศไปหาวัวควายช้างม้าที่เจ้าของรักและได้ตายจากไป เช่น “ขออุทิศไพหาควายแม่ว้อง

เมื่อถึงวันที่มีงานทำบุญข้าวสลาก เจ้าของเรือนหรือเจ้าของสลากจะตื่นแต่เช้ามืดเข้าครัวนึ่งข้าว ทำอาหารเมื่อข้าวสุกแล้วก้จะจัดข้าวและอาหารเล้กน้อยไปใส่ข้าวพระเจ้า หรือถวายอาหารแก่พระพุทธรูปที่หิ้งพระ จากนั้นก็จะห่อข้าวสุกใส่ก๋วยสลากทุกอัน และห่ออาหารแห้งใส่ทุกก๋วยด้วย

เมื่อกินอาหารมื้อเช้าแล้วจะพากันอาบน้ำแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่สวยงาม โดยเฉพาะคนหนุ่มคนสาว

จะให้เสื้อผ้าที่มีสีสันที่ซื้อหามาไว้ เพราะตามธรรมดาถ้าไม่มีงานมีการจะไม่มีโอกาสได้ใส่ผ้าใหม่เลย เนื่องจากหากไม่มีงานบุญแล้วเอาเสื้อผ้าใหม่มาใส่ชาวบ้านก็จะนินทาเอา ดังนั้นเมื่อมีงานอย่างนี้จึงตื่นเต้นที่จะได้ใส่เสื้อผ้าสวยอวดกัน แล้วช่วยกันนำเอาต้นสลาก ก๋วยสลากไปตั้งไว้ในศาลาบาตร ซึ่งวัดในสมัยก่อนจะมีศาลาบาตรใกล้วิหารเกือบทุกวัดแล้วเอาเส้นสลากขึ้นไปกองรวมกันที่หน้าพระประธานในวิหาร สำหรับ

ก๋วยสลากที่ไม่มีเส้น 5 ก๋วยนั้น จะยกไปประเคนถวายพระพุทธที่ฐานแท่นแก้ว หรือพระประธานในวิหาร 1 ก๋วยยกไปประเคนพระธรรมที่ฐานธรรมาสน์ทรงปราสาท อันเป็นที่สำหรับแสดงพระธรรมเทศนา 1 ก๋วย ยกไปประเคนรับพรจากเจ้าวัดคือเจ้าอาวาส 1 ก๋วย ยกไปประเคนรับพรจากอาจารย์วัดหรือมัคทายก 1 ก๋วย

ร้านข้าวต้ม

ในระหว่างทางที่ชาวบ้านจะเดินทางนำเอาก๋วยไปรวมกันที่วัด ข้างทางมักจะมีเด็กเลี้ยงวัวเลี้ยงควายช่วยกันทำร้านเล็กๆสร้างด้วยไม่ไผ่แบบหยาบๆกว้างประมาณ 50 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1 เมตร สูงประมาณ 1 เมตร เส้นทางหนึ่งอาจจะมีเด็กสร้างไว้อย่างน้อย 1 ร้าน เมื่อศรัทธาเดินผ่านและเห็นร้านนี้ก็จะเอาข้าวต้มมัดที่เตรียมไว้แล้วไปวางไว้บนร้าน ในตอนกลางวันพวกเด็กเลี้ยงควายที่หิวจะมาดูและแบ่งข้าวต้มนั้นสู่กันกิน

แม่หาบ

ในกรณีที่พระภิกษุสามเณรที่ได้รับนิมนต์ไปกินก๋วยสลากที่วัดอื่น สมัยก่อนบางท้องถิ่น บางจังหวัด บางอำเภอจะมีแม่หาบตามพระภิกษุสามเณรไปด้วยรูปละ 1 คน ผู้ที่เป็นแม่หาบส่วนมากจะเป็นหญิงสาวในหมู่บ้านนั้นๆคนที่เป็นแม่หาบจะแต่งดาก๋วยสลาก ไปร่วมทำบุญกับวัดอื่นคนละ 1 ก๋วย มักจะจัดเป็น ก๋วยสำรับและตกแต่งดาอย่างสวยงาม บางคนเอาใบตาลมาพับเป็นหงส์คาบปัจจัย แล้วเขียนชื่อและคำอุทิศใส่ใบลานเป็นเส้นสลากไป 1 เส้น และก๋วยสลากของแม่หาบยังมีใบลานอีกอันหนึ่งที่พระภิกษุหรือคนที่เคยบวชเรียนมาแล้วที่เรียกว่า น้อย หรือ หนาน เป็นผู้เขียนให้โดยเขียนเป็นคำโคลงหรือกะโลงเขียนเป็นคำร่ำ เขียนเป็นค่าว บางแห่งเรียกว่าส้อยสลาก เป็นสำนวนการเขียนที่ไพเราะกล่าวถึงคำปรารถนาของแม่หาบ ผู้เป็นเจ้าของต้นสลากนั้นแม่หาบจะเอาภาชนะอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น กระบุง หรือตะกร้า สมัยต่อมาเอากะละมังใส่สาแหรก เอาก๋วยของนางใส่ในหาบแล้วหาบตามพระภิกษุสามเณรไป

ในวันที่มีการกินก๋วยสลากนั้น พระภิกษุสามเณรโดยเฉพาะสามเณรองค์น้อยๆจะตื่นเต้นเป็นพิเศษ เพราะอยากจะได้ก๋วยโชค มีการจุดเทียนบูชาเอาโชค เอา”น้ำหม้อหนึ้ง”ลูบหัวเอา”เตี่ยวหม้อหนึ้ง”(คือผ้าที่ชุบน้ำให้เปียกเอาเวียนรอบรอยต่อระหว่าง”หม้อหนึ้ง”กับไหข้าวป้องกันไอน้ำออก) ผูกเอวไปเพราะเชื่อว่าทำอย่างนี้จะทำให้เกิดโชค วัดๆหนึ่งจะเดินทางไปร่วมงานกินก๋วยสลากเป็นขบวนมีพระภิกษุนำ ตามด้วยสามเณร ตามด้วยแม่หาบ ตามด้วยขะโยม เมื่อไปถึงวัดที่กินก๋วยสลาก แม่หาบจะนำเอาหาบและก๋วยของนางไปตั้งเรียงกันในศาลาหรือที่ทางวัดจัดไว้ให้ แล้วนางจะเอาเส้นสลาก(บัญชีรายชื่อสลาก) ขึ้นไปรวมกันในที่วิหาร

ใส่บาตรยาจก

งานกินก๋วยสลากทุกงานจะมียาจกวณิพกคนขอทานเดินทางมาจากใกล้และไกล เพื่อมาขอกินเข้าก๋วยสลาก ในช่วงเช้านี้คณะกรรมการจะจัดให้พวกยาจกนั่งเรียงแถวกันที่หน้าวิหารหรือข้างวิหาร จากนั้นศรัทธาชาวบ้านก็จะนำเอาข้าวสารใส่ภาชนะมาแจกทานให้กับยาจกให้ทั่วถึงกันทุกคน โดยเฉพาะพวกหนุ่มสาวจะชอบการทำบุญแจกข้าวสารแก่พวกยาจกที่ยากจนและตั้งคำปรารถนาขออย่าได้อดอยาก ให้มีข้าวปลาอาหารกินตลอดชาติ

สูนเส้น

เมื่อเห็นว่าทุกคนทุกหลังคาเรือนนำเอาเส้นสลากมาวางรวมกันหมดแล้ว ทางคณะกรรมการผู้เฒ่าผู้แก่จึงทำการสูนเส้นสลาก คือทำบัญชีรายชื่อสลากทั้งหลายให้ปนกัน โดยทุกคนนั่งหรือยืนรอบๆกองเส้นสลาก ต่างคนต่างหอบเอาเส้นขึ้นโปรยไปรอบกอง บางครั้งก็จะเอาโปรยลงบนหัวของกรรมการเป็นที่สนุกสนาน เมื่อเห็นว่าคละเคล้าปะปนกันแล้วจึงช่วยกันเอาตอกผูกเส้นสลากทำเป็นมัดๆละ 10 เส้น ถึงตอนนี้ก็จะรู้ว่าจำนวนของเส้นสลากแล้วว่าได้จำนวนเท่าใดแล้วจึงคำนวณหารจำนวนพระภิกษุสามเณรที่นิมนต์มา ในสมัยโบราณมีสูตรในการแบ่งเส้นสลาก ดังปรากฏในพับสาของวัดสันป่าเลียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ว่าจำนวนพระภิกษุมีเท่าใดเอาเป็นเลขตั้งไว้ เอา 2 คูณ ได้เท่าใดเอาจำนวนของสามเณรมาบวก ได้เท่าใดแล้วเอาหารกับเส้นสลาก ออกมาเท่าใดก็แบ่งเป็นจำนวนเส้นของสามเณรที่จะรับสลากเส้นที่เหลือจากนั้นก็เอาจำนวนพระภิกษุหารได้เท่าใดก็เท่านั้น ก็คงจะเป็นพระภิกษุได้เส้นสลากมากกว่าสามเณรครึ่งหนึ่งนั่นเอง สมัยต่อมาวัดที่กินสลากต้องการเงินเข้าบำรุงวัดจึงจัดเอาเข้าเป็นของพระเจ้าครึ่งหนึ่ง เหลือครึ่งหนึ่งเอามาหารกับจำนวนพระภิกษุสามเณร ถ้าได้เส้นน้อยก็จะแบ่งเป็น 3 ส่วนเอาเป็นของพระเจ้าส่วนหนึ่ง เหลือ 2 ส่วนนำมาแบ่งให้พระภิกษุสามเณร ถ้าพระภิกษุได้ 10 เส้น สามเณรก็จะได้ 5 เส้น

เมื่อจัดเรื่องเส้นสลากเรียบร้อยแล้ว จะนิมนต์พระภิกษุสามเณรขึ้นไปบนวิหาร ทำพิธีไหว้พระรับศีลแล้วจึงมีการเทศน์จากธรรมหรือคัมภีร์ใบลานเรื่อง อานิสงส์เข้าสลาก โดยสามเณรที่เป็นองค์ธรรมกถึกหรือผู้เทศน์นั้น เจ้าอาวาสจะให้สามเณรที่พ่อแม่ยากจนกว่าองค์อื่นเป็นผู้เทศน์ ถ้าเป็นสามเณรองค์เล็กๆก็จะยิ่งดี สามเณรจะขึ้นเทศน์ธรรมบนธรรมาสน์รูปทรงปราสาทเรียกว่า ปราสาทธัมมาสน์ ธรรมอานิสงส์จะกล่าวถึงอานิสงส์หรือผลดีในการได้ทำบุญเข้าสลาก เพื่อเป็นการเพิ่มพูนศรัทธาความเชื่อของศรัทธาชาวบ้านได้เป็นอย่างดี เมื่อการเทศน์จบแล้วสามเณรผู้แสดงธรรมเทศนาจะได้รับกัณฑ์เทศน์จากก๋วยที่ศรัทธาทั้งบ้านนำมาถวายพระธรรมทั้งหมด แต่จะไม่ได้รับการแจกเส้นสลากอีก

เวนทาน

จากนั้นเป็นหน้าที่ของอาจารย์วัดที่กล่าวคำโอกาสเวนทานเป็นคำประพันธ์แบบร่ายยาว ซึ่งจะมีการวานอินทร์ วานพรหม ให้ลงมาเป็นสักขีพยานในการทำบุญครั้งนี้ บอกประวัติความเป็นมาของการกินก๋วยสลากและกล่าวถึงความพร้อมเพรียงของศรัทธาชาวบ้านสุดท้ายก็แบ่งบุญให้กับเทวดา อินทร์พรหม แก่สัตว์ แก่เปรต แก่ผีทั้งหลาย ให้มารับเอาของทานในวันนี้อาจารย์จะโอกาสยาวเป็นพิเศษ เพราะได้รับก๋วยสลากเท่ากับพระที่เป็นเจ้าอาวาสไปแล้ว

อุปโลกน์เส้นสลาก

เมื่อจบการโอกาสเวนทาน ทางคณะกรรมการจะนิมนต์พระภิกษุจำนวน 4 รูป มากล่าวคำอุปโลกน์ โดยพระสงฆ์นั่งล้อมกองเส้นสลากหรือนั่ง 4 มุม ศรัทธาจะเอาเส้นสลากใส่ในภาชนะยกขึ้นให้พระภิกษุจับทั้ง 4 รูป พระภิกษุรูปหนึ่งจะเป็นผู้กล่าวคำอุปโลกน์ว่า “อยํ ปฐมภาโค สงฺฆเถรสฺส ปาปุนฺนติ สงฺโฆรุจฺจติ สงฺโฆรุจฺจติ” ถือกันว่าถ้าพระสงฆ์ได้อุปโลกน์สิ่งของเครื่องทานแล้ว อาหารที่เหลือชาวบ้านนำไปกินไปใช้จะไม่เป็นบาป

ถวายเส้นสลาก

หลังจากนั้นคณะกรรมการจะเอาเส้านสลากใส่ในภาขนะยกไปถวายพระภิกษุสามเณรเป็นผู้หยิบยกเอาเอง พระสงฆ์ให้พร ศรัทธากล่าวคำกรวดน้ำ กล่าวคำลาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นอันเสร็จพิธีบนวิหาร

ขานเส้นสลาก

ถ้าเป็นวิธีที่ให้ศรัทธานำก๋วยไปหาเอาเส้น พระภิกษุสามเณรจะยืนเรียงกันรอบฐานวิหารเอาเส้นสลากวางไว้ ศรัทธาชาวบ้านจะถือก๋วยซองเดินหาเส้นสลากของตัวเองรอบไปมาหลายเที่ยว คนหนุ่มก็จะถือโอกาสทำการคุ้นเคยหยอกล้อสาวบางคนก็พูดเกี้ยวด้วยค่าว เช่น กล่าวว่า “บุญเพิ่นนักเพิ่นได้ทานก๋วย อ้ายขอทานทวย มอกก๋วยขี้เปี้ย” ก๋วยขี้เปี้ย คือก๋วยขนาดเล็ก พวกขะโยมหรือศรัทธาที่ไปกับพระก็จะอ่าน

เส้นสลากด้วยเสียงอันดัง เพื่อให้เจ้าของสลากได้ยินและจะได้นำก๋วยมาประเคน เรียกว่าร้องเส้น สลากดังตัวอย่างอ่านว่า“หมายทานสลากเข้าซองนี้เป็นของพ่อแก้วแม่คำ ทานไปหาพ่อสุก บ่เอาเทื่อค่าหา” เมื่อเส้นสลากที่เป็นก๋วยซองหมดแล้วพระรูปใดที่ได้เส้นก๋วยโชคนั้น ศรัทธาที่เป็นเจ้าของจะนิมนต์ให้ไปรับและให้พร ณ ที่ตั้งต้นสลาก ก่อนที่จะให้พรก็จะให้เด็กวัดหรือขะโยม อ่านเส้นให้ฟังอีกครั้งหนึ่งว่าถูกต้องหรือไม่ และเพื่อให้ดวงวิญญาณของคนตายได้ยิน จะได้มารับเอาเครื่องไทยทานนั้น

เมื่อศรัทธาพากันหาจนทั่วแล้วไม่พบเส้นสลากของตนก็จะเข้าใจว่าสลากของตนนั้นได้จัดไปถวายพระเจ้าหรือถวายพระ ก็จะนำเอาก๋วยขึ้นไปหาเอาก๋วยบนวิหารที่เป็นเส้นพระเจ้า สมัยก่อนเส้นสลากไม่มากนัก จำนวนคนก็ไม่มาก จึงสะดวกสบายในการหาเส้นของพระเจ้า ปัจจุบันคนมากขึ้น ถ้าจะให้ศรัทธายกก๋วยขึ้นไปหาเส้นในวิหารเป็นสิ่งที่ยุ่งยากวุ่นวาย จึงใช้วิธีว่าถ้าหาเส้นสลากจากพระเณรไม่พบ ถือว่าเส้นจะต้องตกอยู่เป็นของพระเจ้าไม่จำเป็นต้องหาเส้นสลากกันอีก เมื่อเสร็จแล้วจึงนิมนต์ให้เจ้าอาวาสของวัดนั้นไปให้พรเป็นกลุ่ม ๆ ไป ก๋วยสลากทั้งหมดจะตกเป็นของวัดนั้น

ถ้าเป็นวิธีที่ “เส้นไปหาก๋วย” คือพระภิกษุสามเณรเป็นฝ่ายเดินไปหาเอาก๋วยตามเส้นก๋วยสลากที่ระบุไว้ ก็จะให้ชาวบ้านที่ไปเป็นขะโยมอ่านชื่อเจ้าของสลาก เมื่อเจ้าของได้ยินก็จะทักและนิมนต์ไปรับเอาก๋วยสลากตรงที่ตั้งไว้ ถ้าพระภิกษุรูปใดหรือสามเณรองค์ใดได้เส้นสลากของแม่หาบหญิง แม่หาบจะขอให้อ่านคำร่ำ คำกะโลง คำค่าว หรือคำสร้อย ที่ใส่ไว้ในก๋วยสลากของนางให้ฟัง พระภิกษุสามเณรก็จะอ่านออกเสียงตามวรรคตอนให้ฟัง ถ้ามีชาวบ้านเดินติดตามไปด้วยก็จะให้ชาวบ้านหรือขโยมเป็นผู้อ่านก็ได้ซึ่งถ้าเป็นชาวบ้านอ่านแล้วมักจะอ่านเป็นทำนองเสนาะ เมื่ออ่านจบพวกบ่าวหนุ่มที่ยืนฟังอยู่ด้วยก็จะพากันไปปรบมือโห่ร้องชอบใจเป็นที่ครื้นเครง ตัวอย่าง “คำคร่าว” ของแม่หาบที่ใส่ไว้ในก๋วยที่ประดับข้างบนด้วยตัวหงส์ที่ทำด้วยใบตาลสำนวนหนึ่ง มีดังนี้

หงส์เหิยหงส์ บินบนแอ่นฟ้า ปางนี้ม่อนข้า ยกยืนยอสาน
จักยอยื่นยก นมัสการ ถวายหื้อเป็นทาน พระสังฆะเจ้า
ขอหื้อหงสา แห่งข้าน้องเหน้า กลายเป็นหงส์ทองเทพทิพ
มีรัศมี รังสีเดชฤทธิ์ เหาะเหินแอ่นผ้ายบินซาน
ไพเถิงชั้นฟ้า เมืองบนสวัรค์ บุญกินบุญทาน น้องดาแต่งสร้าง
สัพพะของกิน มีหลายมากกว้าง น้องได้ดามาพรั่งพร้อม
เก็บเอาใส่ก๋วย ใส่ถ้วยใส่พ้อม ทั้งสุบหมากส้อมยาพัน
หมากพลูหมากพร้าว กล้วยอ้อยของหวาน ยกยื่นยอทาน ในกลางข้วงแก้ว
กับหงส์คอคำ ตัวงามผ่องแผ้ว ขอถวายยอทายยื่นน้อม
สลากภัตตัง ทานังแห่งน้อง ได้ยกยอยื่นหื้อยอเคน
แก่พระสังฆะ แลมหาเถร พระสงฆ์องค์เณร ชู่องค์หนุ่มเถ้า
ขอหงส์คอคำ ตัวงามบ่เส้า สยองบินบนแอ่นฟ้า
นำเอาของทาน น้องไพอย่าช้า ไพไว้ในเขตห้องเมืองบน
ที่ปราสาททิพ นิเวศน์เวสน มหามงคล ปราสาทหลังกว้าง
ที่องค์สัตถา อินทาอยู่สร้าง สวัรค์เมืองบนฟากฟ้า
ขอหงส์พาทัง ตัวงามวาดว้า รักษาอยู่ถ้าญิงแพง
สลากดวงนี้ ขอเปนดวงแสน รักษาญิงแพง อยู่ในโลกหน้า
อายุสังขาร ได้ร้อยซาวห้า ขอหงส์คอคำอยู่ฟ้า
มานำเอาตัว ญิงไปอย่าช้า ไพเถิงเขตห้องเมืองบน
เสวยเครื่องทิพ อยู่ในเวสน มหามงคล ปราสาทหลังกว้าง
เทพาทั้งหลาย แวดล้อมอ้อมขวาง สนุกชมบานชื่นช้อย
ค่าวหงส์คอคำ ยาวนานบ่น้อย ขอจบเท่าอี้เนอนาย ก่อนแหล่นายเหย

อีกบทหนึ่งว่าดังนี้

สลากภัตตัง ทานังแห่งน้อง ได้ตกแต่งพร้อม สลากก๋วยสาน
จักยอยื่นยก นมัสการ ถวายยืนยอทาน พระสังฆะเจ้า
มีทั้งบุปผา ดวงงามบ่เส้า ทั้งขุนลิวโอพร้อมพรัก
สุบหมากมูลี สีส้อมสลัก พล้าวตาลกล้วยอ้อยหนมคราน
น้องดาใส่พร้อม เข้าต้มหนมหวาน ขอถวายยอทาน ในกลางข่วงแก้ว
มีทั้งบุปผา บานงามผ่องแผ้ว ทั้งของภุญชาพร่ำพร้อม
สลากก๋วยสาน น้องดาใส่พร้อม ขอถวายยื่นหื้อยอทาน
ภิกขุสังฆะ องค์พระสัณฐาน ในกลางอาราม ทังสามข่วงแก้ว
ขอหื้อกลายเปน สะเพาเลาแก้ว มหานาวาใหม่ยศ
ขี่ข้ามคงคา สาคอรย่านเล็ก สมุทรใหย่ใหม่ยศ
หื้อพันที่ร้าย ในโลกสงสาร เถิงนิพพานัง คือฝั่งกล้ำหน้า
สลากก๋วยสาน ของทานแห่งข้า จัดแจงดามาสู่วัด
ขอถวายยอทาน ในห้องสำนัก ในกวงข่วงแก้วอาราม
ขอเชิญพี่น้อย พี่อ้ายนายหนาน โมทนาทาน อ่านหื้อน้องเผี้ยน
เพื่อนฝูงมีใหน หื้อชวนมาเลี้ยง ไผไหนคนใดช่างช้อย ก่อนแหล่

การหาเส้นสลากและการกินเส้นสลากจะเสร็จสิ้นประมาณเวลา 11.00-11.30นาฬิกา พระภิกษุสามเณรก็จะรื้อก๋วยสลากนำเอาข้าวและอาหารในก๋วยออกมาฉันกัน ซึ่งปัจจุบันเป็นการเห็นว่าไม่เรียบร้อยที่พระภิกษุสามเณรต่างองค์ต่างฉัน ทั้งกิริยาที่ฉันเรียบร้อยและไม่เรียบร้อยโดยเฉพาะสามเณรเล็ก ๆ ดังนั้นจึงได้จัดเลี้ยงอาหารเพลแด่พระสงฆ์

หากมีขะโยมและชาวบ้านไปงานกินสลากกับพระภิกษุสามเณร ขะโยมหรือชาวบ้านจะเอาไม้รวกเป็นคานหามสอดก๋วยซองทั้งหมดหามกลับวัดของตน ในระหว่างเดินทางกลับหากหิวข้าวก็จะหยุดพักตามร่มไม้แล้วเทก๋วย เอาข้าวปลาอาหารสู่กันกิน ในกรณีที่มีแม่หาบไปด้วยพวกแม่หาบก็จะพากันเทก๋วยเลือกเอาเฉพาะของกินของใช้ออกใส่ภาชนะที่หาบมาจากบ้าน แล้วหาบตามพระภิกษุสามเณรกลับวัด เมื่อไปถึงก๋วยที่เป็นของเจ้าอาวาสก็จะมีศรัทธาชาวบ้านมาช่วยกันรื้อเก็บเข้าของรวมกันเป็นอย่างๆ และเจ้าอาวาสก็จะแบ่งของกินของใช้ให้แก่ชาวบ้านไปกิน กับก๋วยที่เป็นส่วนของสามเณรก็จะนำไปให้พ่อแม่หรือญาติพี่น้องเก็บวัตถุของกินเครื่องใช้ไว้ที่บ้านของสามเณรแต่ละองค์

สำหรับวัดที่จัดงานกินข้าวสลากนั้น เมื่อพระภิกษุสามเณรจากวัดอื่นกลับหมดแล้วก็จะให้ศรัทธาขึ้นไปหาเส้นสลากในวิหาร ซึ่งก็มีความสนุกและวุ่นวายอีกครั้งหนึ่งเพราะต้องหาเส้นสลากของตัวเองให้พบ ก๋วยที่เป็นส่วนของพระเจ้าหรือของที่เป็นพระพุทธรูป ต้น หรือเครื่องไทยทานใดที่เป็นต้นสลากโชคทางคณะกรรมการก็จะจัดไว้เป็นของบูชาแด่พระพุทธรูปประธานถ้าเป็นของใช้ในวัดเป็นส่วนรวม ที่เป็นก๋วยซองส่วนหนึ่งจะบริจาคให้แก่ยาจก อีกส่วนหนึ่งก็จะเป็นของเข้าวัดหรือเลกวัด ต่อมาเมื่อเข้าวัดหมดแล้ว ส่วนดังกล่าวจึงจะตกเป็นของขะโยมวัด

สลากเทวดา

หรือบางแห่งเรียกว่า สลากเบอร์ คือพิธีกินข้าวสลากขนาดเล็ก จัดขึ้นเฉพาะหมู่บ้านหนึ่งเท่านั้น ไม่มีการสมทบการทำบุญจากญาติพี่น้องต่างบ้าน พระภิกษุสามเณรผู้ร่วมพิธีก็จะนิมนต์เอาเฉพาะที่อยู่ในวัดนั้น ๆ เมื่อศรัทธาชาวบ้านนำเอาก๋วยมาสมทบกันแล้ว ก็จะจัดแบ่งรวมกันเป็นกอง ๆ ตามจำนวนภิกษุสามเณรของวัดนั้น และจัดกองหนึ่งถวายเป็นเครื่องบูชาพระพุทธรูป กองหนึ่งถวายเป็นเครื่องบูชาพระธรรม กองหนึ่งถวายพระธาตุเจดีย์ กองหนึ่งถวายเป็นของอาจารย์วัดกองที่จัดไว้ถวายแด่พระสงฆ์และสามเณรจะติดหมายเลขไว้ที่กองตั้งแต่เบอร์ 1 ไปจนครบจำนวนพระเณร แล้วเขียนตัวเลขใส่กระดาษแผ่นเล็ก ๆ ม้วนเป็นกระดาษใส่บาตรให้พระเณรจับเอาองค์ละ 1 เบอร์ ถ้าได้เบอร์ตรงกับกองไหนก็ยกกองนั้นถวายแก่รูปนั้นไป

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย