สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>
พล.ร.ต. สุริยา ณ นคร ,วรันยา พวงพงศ์
-
หลักการทั่วไปของการใช้น้ำเพื่อสุขภาพ
หลักการทั่วไปของการใช้น้ำเพื่อสุขภาพ
การใช้น้ำเพื่อสุขภาพในปัจจุบัน อาจจำแนกออกได้เป็นสองลักษณะใหญ่ๆ
คือการใช้น้ำในเชิงรับ (Passive) และการใช้น้ำในเชิงรุก (Active use)
การใช้น้ำเพื่อสุขภาพในเชิงรับ
มีลักษณะสำคัญคือใช้น้ำเพื่อบำบัดรักษาภายนอกร่างกายเพื่อหวังผลต่อสุขภาพโดยที่คนไม่ได้มีการปฏิบัติใดร่วมด้วย
การใช้น้ำเพื่อสุขภาพในอดีตมักมีลักษณะเป็นการใช้น้ำเพื่อสุขภาพเชิงรับ
และมีสองรูปแบบใหญ่ๆ คือ
Balneotherapy คือ การอาบแช่ในน้ำแร่ น้ำพุร้อนต่างๆ
ซึ่งรวมถึงการดื่มกินน้ำหรือน้ำแร่ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นแหล่งน้ำในธรรมชาติ
วิธีการเช่นนี้เป็นรูปแบบที่ใช้มาตั้งแต่โบราณ และปรากฏอยู่ในหลายวัฒนธรรม
ทั้งวัฒนธรรมกรีก โรมัน จีน และญี่ปุ่น บางครั้งเรียกการอาบแช่ดังกล่าวว่า Spa
therapy
Hydrotherapy เป็นภาษากรีกที่แปลว่าการบำบัดรักษาด้วยน้ำ
ในภาษาไทยมักเรียกศาสตร์นี้กันแพร่หลายว่า วารีบำบัด ความหมายเฉพาะของ hydrotherapy
คือการใช้น้ำธรรมดา (ไม่ใช่น้ำแร่) บำบัดภายนอกร่างกาย
โดยเน้นการใช้ร่วมกับความร้อนและความเย็นและกระแสน้ำ
ต้นแบบของลักษณะการใช้น้ำแบบนี้ได้แก่ การแช่ในอ่างน้ำวน (Whirlpool)
การประคบด้วยน้ำร้อนหรือน้ำเย็น การฉีดด้วยน้ำ
การใช้น้ำในเชิงรุก
เป็นรูปแบบการใช้น้ำเพื่อสุขภาพที่พัฒนาขึ้นมาตามค่านิยมในปัจจุบันว่าการที่จะมีสุขภาพดี
นอกจากจะอาศัยการบำบัดในเชิงรับแล้ว บุคคลควรลงมือปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ
อันเป็นพฤติกรรมสุขภาพที่ดีเช่นการออกกำลังกายและการควบคุมความเครียด
การใช้น้ำเพื่อสุขภาพในเชิงรุก ได้แก่การออกกำลังกายในน้ำแบบต่างๆ
การฝึกความผ่อนคลายและสมาธิโดยอาศัยคุณสมบัติของน้ำมาช่วย
รูปแบบของการใช้น้ำเพื่อสุขภาพ
นายแพทย์บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล
วิธีการใช้น้ำเพื่อสุขภาพที่มีการปฏิบัติอยู่ในปัจจุบันมีดังนี้
หลักสรีรวิทยาของการอาบน้ำร้อนและเย็น
วารีบำบัดเกิดผลต่อสุขภาพ ด้วยอุณหภูมิที่มากระทบผิวกาย ความแตกต่างทางอุณหภูมิและความแรงของการกระทบ ระยะเวลาที่กระทบ และจำนวนครั้งที่ทำการบำบัด เหล่านี้เป็นปัจจัยประกอบให้เกิดผลมากหรือน้อย ทั้งนี้โดยแบ่งการปรับตัวของร่างกายออกเป็น 2 ระยะ คือ กิริยาและปฏิกิริยา ดังนี้คือ
- กิริยาแรก เมื่อกระทบความเย็นหรือความร้อนใหม่ๆ
ก่อนอื่นต้องรู้ว่า คนเราเป็นสัตว์เลือดอุ่น จะควบคุมอุณหภูมิของร่างกายไว้ที่ 37 องศาเซลเซียส ตลอดเวลา โดยใช้ระบบประสาทอัตโนมัติ เราจะสร้างความร้อนเพิ่มขึ้นหรือคายความร้อนออกก็อาศัยการทำงานของประสาทนั่นเอง ในสมองของคนเรามีเซลล์ประสาทหลายอาณาบริเวณ ทำหน้าที่ควบคุมการไหลเวียนของเลือดที่ผิวหนัง ทั้งระดับตื้นและระดับลึก มันควบคุมการขับเหงื่อ บางครั้งก็ทำให้กล้ามเนื้อสั่นสะท้านเพื่อผลิตความร้อน ทั้งควบคุมอัตราเผาผลาญอาหาร เมื่อร่างกายตกอยู่ในสภาพแวดล้อมต่างสถานการณ์กัน ดังนี้:
-ในสมองส่วนกลางมีพื้นที่สำคัญส่วนหนึ่ง เรียกว่า ฮัยโปธาลามัส พื้นที่ส่วนนี้เป็นศูนย์ควบคุมระดับอุณหภูมิของร่างกายทั่วทั้งหมด โดยตอบสนองต่อความรู้สึกร้อนเย็นที่มากระทบผิวกาย
-สมองยังมีอีกพื้นที่หนึ่งเรียกว่า เมดุลลา ออบลองกาตา อยู่ที่ก้านสมองคอยควบคุมการตีบตัวของหลอดเลือด เมื่อฮัยโปธาลามัสรับรู้ความร้อนเย็นแล้ว จะมีคำสั่งผ่านลงมายังสมองส่วนนี้ เพื่อให้หลอดเลือดตีบตัวหรือคลายตัว เพื่อรักษาความร้อนหรือระบายความร้อน ตามแต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้น
-ร่างกายเรายังมีประสาทแขนงของระบบประสาทอัตโนมัติซิมพาเทติก และพาราซิมเทติกที่ไปยังอวัยวะภายใน ให้ทำงานมากขึ้นหรือน้อยลง ตามระดับความร้อนเย็นที่ร่างกายกระทบอีกด้วย
ระบบทั้งหมดนี้มีขึ้นก็เพื่อช่วยกันปรับสมดุลของอุณหภูมิร่างกายให้คงที่ที่ 37 องศาเซลเซียส ตลอดเวลา
เมื่ออยู่ในที่เย็น
เมื่อตกอยู่ในที่อากาศหนาวเย็น สักพักหนึ่งเลือดในกายของเราจะเย็นลง เลือดจำนวนนี้เมื่อหมุนเวียนไปถึงตำแหน่งฮัยโปธาลามัส ซึ่งเป็นตำแหน่งควบคุมอุณหภูมิร่างกาย สมองส่วนนี้จะตอบสนองโดยสั่งคำสั่งผ่านลงไปยังก้านสมอง ผ่านคำสั่งไปยังเส้นเลือดผิวกาย ให้เส้นเลือดหดตัว เพื่อไม่สูญเสียความร้อนไปกับอากาศภายนอก ดังนั้นเราอยู่ในที่เย็นนานๆ ผิวของเราจะซีด เพราะการหดตัวของเส้นเลือดนี้เอง
นอกจากนี้จะมีอีกคำสั่งหนึ่งสั่งการให้อวัยวะภายในทำงานเพิ่มขึ้นโดยอาศัยทั้งประสาทอัตโนมัติ และการหลั่งฮอร์โมนแอดรีนาลิน และไทร็อกซิน กระตุ้นให้อวัยวะต่างๆ เพิ่มการเผาผลาญอาหาร ทำให้ หัวใจ ปอด ตับ ม้าม อวัยวะภายในต่างๆ ทำงานมากขึ้น ขณะเดียวกันกล้ามเนื้อก็รับคำสั่งให้มีการสั่นสะท้านเพื่อผลิตความร้อนเพิ่มขึ้น ดังที่เราเรียกกันว่า “หนาวจนคางสั่น” พร้อมกันนั้นหัวใจก็เพิ่มการสูบฉีดเลือดหมุนเวียนไปทั่วร่างกายอีกด้วย ผลโดยรวมเหล่านี้ทำให้ความร้อนในร่างกายเพิ่มขึ้นอีกระดับหนึ่ง เมื่อเลือดที่อุ่นขึ้นนี้หมุนเวียนไปถึงสมองตรงฮัยโปทาลามัส ตำแหน่งที่สมองนี้รับรู้ถึงอุณหภูมิที่ปรับเพิ่มขึ้นแล้ว ก็จะหยุดคำสั่งเดิมไว้ เป็นผลให้เรารักษาอุณหภูมิไว้ได้ที่ 37 องศาเซลเซียส ตลอดเวลา
เมื่ออยู่ในที่ร้อน
เมื่อเราไปอยู่ในที่อากาศร้อน สักพักหนึ่งเลือดในกายของเราจะร้อนขึ้น เลือดนี้หมุนเวียนไปถึงศูนย์ควบคุมอุณหภูมิฮัยโปธาลามัส สมองส่วนนี้จะออกคำสั่งเพื่อแก้ไขสถานการณ์ให้รักษาอุณหภูมิไว้ให้คงที่
ก่อนอื่นจะผ่านคำสั่งไปยังก้านสมอง ไปถึงหลอดเลือดผิวกาย ให้หลอดเลือดขยายตัว เพื่อระบายความร้อนออก ดังนั้นเวลาเราไปตากแดดมา หน้าของเราจะเป็นสีแดง เพราะเส้นเลือดขยายตัว ขณะเดียวกันต่อมเหงื่อจะทำงานเพิ่มขึ้น เพื่อระบายเหงื่อออก เหงื่อระเหยไปจากผิวหนัง ก็ช่วยพาความร้อนออกไปจากตัว
ในอีกด้านหนึ่ง คำสั่งระบบประสาทอัตโนมัติจะไปยังอวัยวะภายใน และระบบฮอร์โมนให้ลดอัตราเผาผลาญอาหารของร่างกาย และลดการทำงานของอวัยวะภายใน ผลโดยรวมทำให้หัวใจ ปอด ตับ ม้าม อวัยวะภายในทำงานน้อยลง กล้ามเนื้อก็ทำงานน้อยลง เกิดการคลายตัว เป็นผลโดยรวมให้สร้างความร้อนในร่างกายน้อยลง
สักพักหนึ่ง เลือดในร่างกายของเราจะเย็นลง เมื่อเลือดจำนวนนี้หมุนเวียนไปถึงฮัยโปธาลามัส ศูนย์แห่งนี้รับรู้อุณหภูมิเลือดที่เย็นลงเป็นปกติแล้ว ก็จะหยุดคำสั่งเบื้องต้นไว้ ทำให้รักษาอุณหภูมิไว้ที่ 37 องศา เซลเซียสเอาไว้ได้
- ปฏิกิริยาสืบเนื่อง
เมื่อถูกร้อนหรือเย็นนานๆ จะเกิดปฏิกิริยาสืบเนื่อง ต่อจากกิริยาแรก ดังนี้
เมื่ออยู่ในที่เย็นนานๆ
เมื่ออยู่ในที่เย็นนานๆ จะมีปฏิกิริยาเกิดขึ้นตรงข้ามกับกิริยาแรก
จะเห็นได้ว่าเมื่ออยู่ในที่เย็น ในระยะแรกร่างกายต้องลดการเสียความร้อนด้วยการหดเส้น เลือดผิวกาย และเพิ่มการทำงานของอวัยวะภายในเช่นกล้ามเนื้อ หัวใจ ปอด ตับ ฯลฯ หลังจากนั้นเมื่อออกจากที่เย็นจะมีผลสืบเนื่องที่เกิดประโยชน์แก่ร่างกาย ทำให้สดชื่น สบาย กระปรี้กระเปร่า ตัวอย่างเช่นเอามือจุ่มในถังน้ำแข็ง ทีแรกมือจะเย็นจัดจนรู้สึกเจ็บ แต่พอยกมือขึ้นจากน้ำเย็นสักพักหนึ่ง มือจะรู้สึกอุ่นสบาย บางคนหน้าหนาว อาบน้ำเย็น ขณะแรกจะรู้สึกหนาวสะท้าน แต่พอออกมาจากการอาบน้ำสักพักจะรู้สึกอุ่นสบายและผ่อนคลาย นี่คือข้อดีของการถูกความเย็น
เมื่ออยู่ในที่ร้อนนานๆ
ทีนี้เมื่ออยู่ในที่ร้อนบ้าง ร่างกายจะเพิ่มการระบายความร้อน โดยเส้นเลือดผิวกายขยายตัว ขับเหงื่ออวัยวะภายในเช่นกล้ามเนื้อ หัวใจ ปอด ตับจะลดการทำงาน เส้นเลือดทั่วกายขยายตัว เลือดไปกองตามแขน ขา เมื่ออยู่ในที่ร้อนนานๆ เส้นเลือดจะยิ่งขยายต่อไป จนทำให้เกิดการคั่งเลือด
เนื่องจากว่าคนเรามีปริมาณเลือดจำกัดที่ 4,500 ซีซี เมื่ออยู่ในที่ร้อนนานๆ เส้นเลือดขยายตัวเลือดไปกองตามแขนขาเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เลือดที่จะหมุนเวียนที่ส่วนกลางลดน้อยลง เลือดจึงไปเลี้ยงสมองไม่พอ ถ้าอาการน้อยก็อาจรู้สึกมึนซึม ง่วงเหงาหาวนอน ถ้าเป็นเฉียบพลันก็ทำให้เกิดอาการเป็นลมหน้ามืดหรือหมดสติได้
จะเห็นได้ว่า การถูกร้อนตอนแรกจะตื่นตัวแจ่มใส แต่เมื่ออยู่นานๆ
จะเกิดผลร้ายมากกว่าผลดี ทำให้คั่งเลือดตามแขนขา หลอดเลือดส่วนกลางมีปริมาณน้อยลง
เป็นเหตุให้หน้ามืด เป็นลม แถมไม่กระปรี้กระเปร่า ง่วงเหงาซึมเซา
กระทั่งกระปรกกระเปลี้ยไม่มีแรง
ดังนั้นความรู้วารีบำบัดที่เป็นสากลจึงแนะนำให้อบร้อนสลับกับความเย็น
โดยวิธีมาตรฐานคือ อบร้อน 3 นาที แล้วสลับลงบ่อน้ำเย็น 2 นาที ทำสลับกัน 3 รอบ
เพื่อประโยชน์คือ เพิ่มความยืดหยุ่นของระบบอัตโนมัติในร่างกาย อันได้แก่
ระบบประสาทอัตโนมัติมีการเร่งรัดและผ่อนคลายสลับกัน
ระบบฮอร์โมนมีการกระตุ้นการเผาผลาญอาหารและลดการทำงานสลับกัน
ระบบอวัยวะภายในก็มีการเร่งรัดทำงานและผ่อนคลายสลับไปมา
เป็นเหตุให้เกิดความว่องไวในการปรับสภาพร่างกาย แม้แต่ภูมิต้านทานก็เช่นกัน
เมื่อเราอบร้อนก็เหมือนการสร้าง “ไข้เทียม” เพื่อหลอก
ให้ร่างกายเร่งภูมิต้านทานออกมา เมื่อลงน้ำเย็น
เส้นเลือดหดตัวจะบีบไล่เลือดให้หมุนเวียนเข้าสู่ส่วนกลางช่วยให้ภูมิต้านทานหมุนเวียนไปทั่วร่างกายดีขึ้น
นี่คือหัวใจขององค์ความรู้วารีบำบัด ที่พัฒนาเป็น Western Spa
ซึ่งเผยแพร่ไปทั่วโลกทุกวันนี้
อย่างไรก็ตามเมืองไทยซึ่งเปิดรับสปาแบบตะวันตกเข้ามา
แต่ไม่ทันได้ศึกษาความรู้วารีบำบัดให้ดีพอ
มักส่งเสริมแต่การอบไอน้ำหรืออบซาวน่าให้ร้อนๆอย่างเดียว ผู้รับบริการก็ไม่เข้าใจ
พยายามอบในตู้ร้อนนานๆ บ้างอยู่ถึงครึ่งชั่วโมง จึงปรากฏบ่อยๆว่า
มีคนที่ถูกความร้อนนานๆ รู้สึกหน้ามืด เป็นลม บ้างถึงกับหมดสติก็เคยปรากฏ
ไทยสปา และ สปาแบบตะวันตก
ที่เมืองไทยเรากำลังจะพัฒนาเป็นจุดขายที่มีคุณค่ายิ่งเพื่อดึงดูดชาวต่างประเทศที่รักสุขภาพ
จึงต้องให้ผู้ประกอบการและผู้รับบริการได้มีความรู้เรื่องของการอบร้อนสลับเย็น
ควรได้มีข้อกำหนดให้สปาทุกแห่งมีระบบอบร้อนและแช่น้ำเย็นให้ต้องตามมาตรฐานสากล
ทั้งมีระบบให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ผู้รับบริการด้วย จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด
ก่อนที่จะมีเหตุร้ายของการอบร้อนจนคนต่างประเทศมาเสียชีวิตหรือทุพลภาพในประเทศไทย