วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>
วิทยา ผิวงาม
ฉันทลักษณ์
โคลง
ฉันท์
กาพย์
กลอนสุภาพ
ร่าย
ประวัติการประพันธ์
การพัฒนาร้อยกรองไทยในปัจจุบัน
การอ่านออกเสียงบทร้อยกรอง
บทอาขยาน
การอ่านออกเสียงบทร้อยกรอง
1. ความหมายของบทร้อยกรอง
บทร้อยกรอง หมายถึง
ถ้อยคำที่เรียบเรียงให้เป็นระเบียบตามบัญญัติแห่งฉันทลักษณ์โดยมีกำหนดข้อบังคับต่าง
ๆ เพื่อให้เกิดความครึกครื้น และมีความไพเราะแตกต่างไปจากถ้อยคำธรรมดา
ในการอ่านบทร้อยกรองนั้น เราเรียนกว่า การอ่านทำนองเสนาะ
2. ความหมายของ การอ่านทำนองเสนาะ
การอ่านทำนองเสนาะคือ
วิธีการอ่านออกเสียงอย่างไพเราะตามลีลาของบทร้อยกรองประเภท โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน
( พจนานุกกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หน้า 528 )
บางคนให้ความหมายว่า การอ่านทำนองเสนาะ คือ การอ่านตามทำนอง ( ทำนอง =
ระบบเสียงสูงต่ำ ซึ่งมีจังหวะสั้นยาว ) เพื่อให้เกิดความเสนาะ ( เสนาะ , น่าฟัง ,
เพราะ , วังเวงใจ )
3. วัตถุประสงค์ในการอ่านทำนองเสนาะ
การอ่านทำนองเสนาะเป็นการอ่านให้คนอื่นฟัง ฉะนั้นทำนองเสนาะต้องอ่านออกเสียง
เสียงทำให้เกิดความรู้สึก ทำให้เห็นความงาม เห็นความไพเราะ เห็นภาพพจน์
ผู้ฟังสัมผัสด้วยเสียงจึงจะเข้าถึงรสและความงามของบทร้อยกรองที่เรียนกว่า
อ่านแล้วฟังพริ้งเราะเสนาะโสต
การอ่านทำนองเสนาะจึงมุ่งให้ผู้ฟังเข้าถึงรสและเห็นความงามของบทร้อยกรอง
4. ที่มาของการอ่านทำนองเสนาะ
เข้าใจว่า
การอ่านทำนองเสนาะมีมานานแล้วแต่ครั้งกรุงสุโขทัย
เท่าที่ปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง พุทธศักราช 1835 หลักที่ หนึ่ง
บรรทัดที่ 18 20 ดังความว่า
ด้วยเสียงพาดเสียงพิณ เสียงเลื้อน เสียงขับ
ใครจักมักเล่น เล่นใครจักมักหัว หัว ใครจักมักเลื้อน เลื้อน
จากข้อความดังกล่าว
ฉันทิชย์ กระเสสินธุ์ กล่าวว่า เสียงเลื้อน เสียงขับ คือการ้องเป็นทำนองเสนาะ ส่วน
ทองสืบ ศุภะมารค ชี้แจงว่า เลื้อนตรงกับภาษาไทยถิ่นว่า เลิ่น หมายถึง
การอ่านหนังสือเอื้อนเสียงเป็นทำนอง ซึ่งคล้ายกับที่ ประเสริฐ ณ นคร อธิบายว่า
เลื้อน เป็นคำภาษาถิ่นแปลว่า อ่านทำนองเสนาะ โดยอ้างถึง บรรจบ พันธุเมธา กล่าวว่า
คำนี้เป็นภาษาถิ่นของไทยในพม่า ถือไทยในรัฐฉานหรือไทยใหญ่นั่นเอง
จากความคิดเห็นของผู้รู้ประกอบกับหลักฐานในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงดังกล่าว
ทำให้เชื่อกันว่าการอ่านทำนองเสนาะของไทยมีมานานหลายร้อยปีแล้ว
โดยเรียกเป็นภาษาไทยถิ่นว่า เลื้อน
ที่มาหรือต้นเค้าของการอ่านทำนองเสนาะพอจะสันนิษฐานได้ว่า
น่าจะมีบ่อเกิดจากการดเนินวิถีชีวิตของคนไทยในสมัยก่อน
ที่มีความเกี่ยวกันกับการร้องเพลงทำนองต่าง ๆ ตลอดมา ทั้งนี้จากเหตุผลที่ว่า
คนไทยมีนิสัยชอบพูดคำคล้องจองให้มีจังหวะด้วยลักษณะสัมผัสเสมอ
ประกอบกับคำภาษาไทยที่มีวรรณยุกต์กำกับจึงทำให้คำมีระดับเสียงสูงต่ำเหมือนดนตรี
เมื่อประดิษฐ์ทำนองง่าย ๆ ใส่เข้าไปก็ทำให้สามารถสร้างบทเพลงร้องขึ้นมาได้แล้ว
ดังนั้นคนไทยจึงมีโอกาสได้ฟังและชื่นชมกับการร้องเพลงทำนองต่าง ๆ
ตั้งแต่เกิดจนตายทีเดียว
ศิลปะการอ่านทำนองเสนาะขึ้นอยู่กับคามสามารถของผู้อ่าน
และความไพเราะของบทประพันธ์แต่ละประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ผู้อ่านทำนองเสนาะจึงต้องศึกษาวิธีการอ่านให้ไพเราะและต้องหมั่นฝึกฝนการอ่านจนเกิดความชำนาญ
อนึ่งศิลปะการอ่านทำนองเสนาะอยู่ที่ตัวผู้อ่านต้องรู้จัก
วิธีการอ่านทอดเสียง โดยผ่อนจังหวะให้ช้าลง การเอื้อนเสียง โดยการลากเสียงช้า ๆ
เพื่อให้เข้าจังหวะและให้หางเสียงให้ไพเราะ การครั่นเสียง
โดยทำเสียงสะดุดสะเทือนเพื่อความไพเราะเหมาะสมกับบทกวีบางตอน การหลบเสียง
โดยการหักเสียงให้พลิกกลับจากเสียงสูงลงมาเป็นเสียงต่ำ
หรือจากเสียงต่ำขึ้นไปเป็นเสียงสูง
เนื่องจากผู้อ่านไม่สามารถที่จะดำเนินตามทำนองต่อไปได้
เป็นการหลบหนีจากเสียงที่เกินความสามารถ
จึงต้องหักทำนองพลิกกลับเข้ามาดำเนินทำนองในเขตเสียงของตน
และการกระแทกเสียงโดยการอ่านกระชากเสียงให้ดังผิดปกติในโอกาสที่แสดงความโกรธหรือความไม่พอใจหรือเมื่อต้องการเน้นเสียง
(มนตรี ตราโมท 2527 : 50 )
5. รสที่ใช้ในการอ่านทำนองเสนาะ
1.1 รสถ้อย ( คำพูด ) แต่ละคำมีรสในคำของตัวเอง
ผู้อ่านจะต้องอ่านให้เกิดรสถ้อย
ตัวอย่าง
สักวาหวานอื่นมีหมื่นแสน ไม่เหมือนแม้นพจมานที่หวานหอม
กลิ่นประเทียบเปรียบดวงพวงพะยอม อาจจะน้อมจิตโน้มด้วยโลมลม
แม้นล้อลามหยามหยาบไม่ปลาบปลื้ม ดังดูดดื่มบอระเพ็ดที่เข็ดขม
ผู้ดีไพร่ไม่ประกอบชอบอารมณ์ ใครฟังลมเมินหน้าระอาเอย
(พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงบดินทร์ไพศาลโสภณ)
1.2 รสความ ( เรื่องราวที่อ่าน ) ข้อความที่อ่านมีเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร
เช่น โศกเศร้า สนุกสนาน ตื่นเต้น โกรธ รัก
เวลาอ่านต้องอ่านให้มีลีลาไปตามลักษณะของเนื้อเรื่องนั้น ๆ
ตัวอย่าง :
บทโศกตอนที่นางวันทองไปส่งพลายงามให้ไปหาย่าทองประศรีที่สุพรรณบุรี
ลูกก็แลดูแม่แม่ดูลูก ต่างพันผูกเพียงว่าเลือดตาไหล
สะอื้นร่ำอำลาด้วยอาลัย แล้วแข็งใจจากนางตามทางมา
เหลียวหลังยังเห็นแม่แลเขม้น แม่ก็เห็นลูกน้อยละห้อยหา
แต่เหลียวเหลียวเลี้ยวลับวับวิญญาณ์ โอ้เปล่าตาต่างสะอื้นยืนตะลึง
(เสภาขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม : สุนทรภู่ )
ตัวอย่าง :
บทสนุกสนาน ในนิราศพระบาทขณะมีมวยปล้ำ
ละครหยุดอุตลุดด้วยมวลปล้ำ ยืนประจำหมายสู้เป็นคู่ขัน
มงคลใส่สวมหัวไม่กลัวกัน ตั้งประจันจดจับขยับมือ
ตีเข้าปับรับโปกสองมือปิด ประจบติดเตะผางหมัดขว้างหวือ
กระหวัดหวิดหวิวผวาเสียงฮาฮือ คนดูอ้อเออกันสนั่นอึง
(นิราศพระบาท : สุนทรภู่ )
1.3 รสทำนอง (
ระบบเสียงสูงต่ำซึ่งมีจังหวะสั้นยาว ) ในบทร้อยกรองไทยจะประกอบด้วยทำนองต่าง ๆ เช่น
ทำนองโคลง ทำนองฉันท์ ทำนองกาพย์ ทำนองกลอน และทำนองร่าย เป็นต้น
ผู้อ่านจะต้องอ่านให้ถูกต้องตามทำนองของร้อยกรองนั้น เช่น โคลงสี่สุภาพ
สัตว์ พวกหนึ่งนี้ชื่อ พหุบา ทาแฮ
มี เอนกสมญา ยอกย้อน
เท้า เกิดยิ่งจัตวา ควรนับ เขานอ
มาก จวบหมิ่นแสนซ้อน สุดพ้นประมาณฯ
( สัตวาภิธาน : พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยากูร )
1.4
รสคล้องจอง ในบทร้อยกรองต้องมีคำคล้องจอง
ในคำคล้องจองนั้นต้องให้ออกเสียงต่อเนื่องกันโดยเน้นสัมผักนอกเป็นสำคัญ เช่น
ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา
โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย
ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ พระสรรเพชรโพริญาณประมาณหมาย
ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินก็เกินไป
ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน
(นิราศภูเขาทอง : สุนทรภู่)
1.5 รสภาพ เสียงทำให้เกิดภาพ
ในแต่ละคำจะแฝงไปด้วยภาพ ในการอ่านให้เห็นภาพต้องใช้เสียง สูง ต่ำ ดัง - ค่อย
แล้วแต่จะให้เกิดภาพอย่างไร เช่น
มดเอ๋ยมดแดง เล็กเล็กเรี่ยวแรงแข็งขยัน
สุพรรณหงส์ทรงพูดห้อย
งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
6. หลักการอ่านทำนองเสนาะ
มีดังนี้
1.
ก่อนอ่านทำนองเสนาะให้แบ่งคำแบ่งวรรคให้ถูกต้องตามหลักคำประพันธ์เสียก่อนโดยต้องระวังในเรื่องความหมายของคำด้วย
เพราะคำบางคำอ่านแยกคำกันไม่ได้ เช่น
สร้อยคอขนมยุระ ยูงงาม
(ขน-มยุระ , ขนม-ยุระ)
หวนห่วงม่วงหมอนทอง อีกอกร่องรสโอชา
(อีก-อก-ร่อง , อี-กอ-กร่อง)
ดุเหว่าจับเต่าร้างร้อง
เหมือนจากห้องมาหยารัศมี
(จับ-เต่า-ร้าง , จับ-เต่า )
แรงเหมือนมดอดเหมือนกา กล้าเหมือนหญิง
(เหมือน-มด , เหมือน-มด-อด )
2. อ่านออกเสียงตามธรรมดาให้คล่องก่อน
3. อ่านให้ชัดเจน โดยเฉพาะออกเสียง ร ล และคำควบกล้ำให้ถูกต้อง เช่น
เกิดเป็นชายชาตรีอย่าขี้ขลาด บรรยากาศปลอดโปร่งโล่งสมอง
หยิบน้ำปลาตราสับปะรดให้ทดลอง ไหนเล่าน้องครีมนวดหน้าทาให้ที
เนื้อนั้นมีโปรตีนกินเข้าไว้ คนเคราะห์ร้ายคลุ้มคลั่งเรื่องหนังผี
ใช้น้ำคลองกรองเสียก่อนจึงจะดี เห็นมาลีคลี่บานหน้าบ้านเอย
4. อ่านให้เอื้อสัมผัส เรียกว่า คำแปรเสียง
เพื่อให้เกิดเสีงสัมผัสที่ไพเราะ เช่น
พระสมุทรสุดลึกล้น คณนา
( อ่านว่า พระ-สะ-หมุด-สุด-ลึก-ล้น คน-นะ-นา )
ข้าขอเคารพอภิวาท ในพระบาทบพิตรอดิสร
( อ่านว่า
ข้า-ขอ-เคา-รบ-อบ-พิ-วาด ใน-พระ-บาด-บอ-พิด-อะ-ดิด-สอน )
ขอสมหวังตั้งประโยชน์โพธิญาณ
( อ่านว่า ขอ-สม-หวัง-ตั้ง-ประ-โหยด-โพด-ทิ-ยาน )
5. ระวัง 3 ต
อย่าให้ตกหล่น อย่าต่อเติม และอย่าตู่ตัว
6. อ่านให้ถูกจังหวะ คำประพันธ์แต่ละประเภทมีจังหวะแตกต่างกัน
ต้องอ่านให้ถูกวรรคตอนตามแบบแผนของคำประพันธ์นั้น ๆ เช่น มุทิงคนาฉันท์ ( 2-2-3 )
ป๊ะโทน / ป๊ะโทน / ป๊ะโท่นโท่น บุรุษ
/ สิโอน / สะเอวไหว
อนงค์ / นำเคลื่อน / เขยื้อนไป
สะบัด / สไบ / วิไลตา
7. อ่านให้ถูกทำนองของคำประพันธ์นั้น ๆ ( รสทำนอง )
8.
ผู้อ่านต้องใส่อารมณ์ตามรสความของบทประพันธ์นั้น ๆ รสรัก โศก ตื่นเต้น ขบขัน โกรธ
แล้วใส่น้ำเสียงให้สอดคล้องกับรสหรืออารมณ์ต่าง ๆ เหล่านั้น
9. อ่านให้เสียงดัง ( พอที่จะได้ยินกันทั่วถึง ) ไม่ใช่ตะโกน
10.
ถ้าเป็นฉันท์ ต้องอ่านให้ถูกต้องตามบังคับของครุ - ลหุ ของฉันท์นั้น ๆ
ลหุ คือ คำที่ผสมด้วยสระเสียงสั้น และไม่มีตัวสะกด เช่น เตะ บุ และ
เถอะ ผัวะ ยกเว้น ก็ บ่อ นอกจากนี้ถือเป็นคำครุ ( คะ-รุ ) ทั้งหมด
ลหุ ให้เครื่องหมาย ( ุ ) แทนในการเขียน
ครุ ใช้เครื่องหมาย
( ั ) แทนในการเขียน
ตัวอย่าง : วสันตดิลกฉันท์ 14 มีครุ - ลหุ ดังนี้
อ้าเพศก็เพศนุชอนงค์ อรองค์ก็บอบบาง
( อ่านว่า อ้า - เพด ก้อ เพด นุ ชะ อะ นง อะ ระ อง ก้อ บอบ
บาง )
ควรแต่ผดุงสิริสะอาง ศุภลักษณ์ประโลมใจ
( อ่านว่า ควน แต่ ผะ ดุง
สิ หริ สะ อาง สุ พะ ลัก ประ โลม ใจ )
11. เวลาอ่านอย่าให้เสียงขาดเป็นช่วง ๆ ต้องให้เสียงติดต่อกันตลอด เช่น
วันจันทร์ มีดารากร เป็นบริวาร เห็นสิ้นฟ้า ในป่าท่าธาร มาลีคลี่บาน
ในก้านอรชร เวลาจบให้ทอดเสียงช้า ๆ
7. ประโยชน์ที่ได้รับจากการอ่านทำนองเสนาะ
1.ช่วยให้ผู้ฟังเข้าถึงรสและเห็นความงามของบทร้อยกรองที่อ่าน
2.ช่วยให้ผู้ฟังได้รับความไพเราะและเกิดความซาบซึ้ง (
อาการรู้สึกจับใจอย่างลึกซึ้ง )
3.ช่วยให้เกิดความสนุกสนาน ความเพลิดเพลิน
4.ช่วยให้จดจำบทร้อยกรองได้รวดเร็วและแม่นยำ
5.ช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้เป็นคนอ่อนโยนและเยือกเย็น ( ประโยชน์โดยอ้อม )
6.ช่วยสืบทอดวัฒนธรรม ในการอ่านทำนองเสนาะไว้เป็นมรดกต่อไป