สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
เกออร์ก เฮเกล
คาร์ล มาร์กซ์
วลาดิมีร์ เลนิน
เหมา เจ๋อ ตุง
คาร์ล มาร์กซ์
(Karl Marx 1818 1883)
มาร์กซ์ เกิดที่ประเทศเยอรมนี ใน ค.ศ. 1818
ในตระกูลชนชั้นกลางเชื้อสายเยอรมันยิว สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาเอก สาขาวิชาปรัชญา
เมื่อ ค.ศ. 1841 จากมหาวิทยาลัยจีนา หลังจบการศึกษา เขาได้ยึดอาชีพนักเขียน
และบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เขาได้ให้ความสนใจ
และมีส่วนร่วมในกิจกรรมปฏิวัติต่าง ๆ จึงทำให้ชีวิตของเขาต้องระเหเร่ร่อน
และลี้ภัยในประเทศต่างๆ ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม และอังกฤษ
จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิตใน ค.ศ.1883
ชีวิตของมาร์กซ์อยู่ท่ามกลางความเฟื่องฟูของลัทธินายทุน
อันเป็นผลมาจากการปฏิวัติทางการค้า และอุตสาหกรรม กล่าวคือ
นายทุนจะทำหน้าที่ควบคุมและผูกขาดการผลิตในทางเศรษฐกิจตลอดจนเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตในทุกด้าน
ขณะที่กรรมกรผู้ใช้แรงงานถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุน
ทัศนคติของมาร์กซ์เช่นนี้จึงกลายเป็นแรงกระตุ้นให้เขาเสนอแนวความคิดเกี่ยวกับการปฏิวัติสังคมเพื่อการมีชีวิตที่ดีขึ้นของชนชั้นผู้ใช้แรงงาน
ปรัชญาการเมืองของมาร์กซ์ หรือที่เรียกว่า มาร์กซิสม์ (Marxism) นั้น
เป็นการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
โดยการพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางสังคมกับพลังทางเศรษฐกิจ
โดยใช้ทฤษฏีวิภาษวิธี-วัตถุนิยม (dialectical materialism)
ซึ่งเขาได้รับอิทธิพลมาจาก เฮเกล (Hegel) เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์
อาจกล่าวได้ว่ามาร์กซิสม์นี้เป็นทั้งปรัชญาทางการเมือง ปรัชญาทางเศรษฐกิจ
และกลยุทธในการปฏิวัติสังคม กล่าวคือในฐานะที่เป็นปรัชญาการเมือง
ลัทธิมาร์กซ์มุ่งอธิบายโครงสร้างทางชนชั้นทางสังคมที่ได้เปรียบ
ในฐานะที่เป็นปรัชญาทางเศรษฐกิจ
ลัทธิมาร์กซ์มุ่งวิจารณ์วิถีแห่งการผลิตแบบนายทุนที่มีลักษณะกดขี่ผู้ใช้แรงงาน
ซึ่งมาร์กซ์เห็นว่าในที่สุดก็จะทำให้ระบบการผลิตเช่นนี้ล่มสลายไปในที่สุด
และในฐานะที่เป็นกลยุทธ์ของการปฏิวัติสังคม
มาร์กซ์ได้มุ่งอธิบายถึงกลยุทธ์ของการปฏิวัติสังคม
มาร์กซ์ได้มุ่งอธิบายถึงกลยุทธ์ในการล้มล้างลัทธินายทุนโดยการต่อสู้ทางชนชั้นเพื่อนำไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์
ผลงานสำคัญ
- ปัญหาชาวยิว (On the Jewish Question) อุดมการณ์เยอรมัน (The German Ideology)
- ความอับจนของปรัชญา (The Poverty of Philosophy)
- คำประกาศเจตนาคอมมิวนิสต์ (The Communist Manifesto)
- การปฏิวัติของหลุยส์โบนาปาร์ต (The Eighteenth Brumaire of Louis Bonaparte)
- ทุน (หรือในชื่อเต็มว่า ทุน: บทวิพากษ์ทางเศรษฐศาสตร์การเมือง และชื่อภาษาเยอรมันว่า Das Kapital)
ปัจจัยที่มีอิทธิพลให้มาร์กซ์คิดทฤษฎีสังคมนิยม
อิทธิพลของปรัชญาจิตนิยม และวัตถุนิยมต่อมาร์กซ์ในระยะแรกเริ่ม
ทรรศนะของมาร์กซ์มองวัตถุนิยมว่าเป็นทรรศนะที่ถูกต้อง
เพราะไม่อธิบายว่าโลกถูกสร้างขึ้นด้วยอำนาจเหนือธรรมชาติ
ส่วนปรัชญาจิตนิยมในความเห็นของมาร์กซ์นั้นเป็นปรัชญาที่ไม่ให้ความสำคัญแก่ชีวิตจริง
ในทรรศนะของมาร์กซ์มองปรัชญาวัตถุนิยมของกรีก และโรมันว่าเป็นขั้นปฐมเท่านั้น
มาถึงสมัยกลาง ปรัชญาที่เคยเป็นวิชาการอิสระได้ถูกนำไปรับใช้ศาสนจักร
จนมาถึงสมัยใหม่ มาร์กซ์ได้ยกย่องนักปรัชญาวัตถุนิยม เช่น
สปิโนซ่าเห็นว่าสสารเป็นพื้นฐานของเอกภพ เป็นต้น และนักปรัชญาวัตถุนิยม
ให้ทรรศนะในเรื่องสสารที่สำคัญ เช่น
บอกว่ามนุษย์เป็นสสารซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของสสาร
และในด้านทฤษฎีความรู้ และอภิปรัชญายังคงให้ความสำคัญแก่สสาร
อาจเป็นเพราะเขาไม่ชอบระบบศักดินา ศาสนาคริสต์ และปรัชญาจิตนิยม
ซึ่งสิ่งนี้คือแรงบันดาลใจวาทะของมาร์กซ์ที่กล่าวว่า ศาสนา คือ
ยาเสพติดของประชาชน ศาสนาเป็นเครื่องมือของชนชั้นสูง เพื่อรักษาสถานภาพทางสังคม
แนวคิดของนักปรัชญาอื่น
มาร์กซ์ได้เรียนปรัชญาของเฮเกล
ซึ่งเฮเกลมีปรัชญาว่า ความจริงแท้มีสภาพเป็นจิต
โลกและประวัติศาสตร์ของมนุษย์ต่างเป็นผลพัฒนาของจิต พัฒนาไปจนถึง จุดเอกภาพ
และไม่หยุดเพียงแต่จุดที่พัฒนาต่อไป ภายใต้เงื่อนไขของภาวะขัดแย้ง ซึ่งมีอยู่ 3
ขั้น คือ สภาวะพื้นฐาน (Thesis) สภาวะขัดแย้ง (Anti Thesis) และสภาวะสังเคราะห์
(Synthesis) จนกว่าจะบรรลุจุดสูงสุดที่เรียกว่า สัมบูรณจิต
จากรูปข้างต้น เฮเกลอธิบายว่า Idea ( Thesis ) คือสภาวะพื้นฐานกับธรรมชาติ
ทั้งสองสิ่งเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วขัดแย้งกัน Nature ( Antithesis )
ทำให้เกิดขึ้นสูงขึ้นคือ Spirit (Synthesis)
ซึ่งเฮเกลเชื่อว่ามนุษย์พัฒนาจิดสมบูรณ์ได้ถือว่ามนุษย์เจริญสูงสุด
นักปรัชญาที่มีอิทธิพลต่อมาร์กซ์อีกท่านคือ ลุดวิก ฟอยเออร์บัด
กล่าวว่าประวัติศาสตร์มนุษยชาติเป็นกิจกรรมทางวัตถุ
เชื่อว่าการที่จะรู้จักมนุษย์ต้องรู้จักที่ตัวเขา
ศึกษาธรรมชาติฝ่ายวัตถุเป็นที่มาของความรู้สึกนึกคิดของเขาให้เข้าใจ
แต่มาร์กซ์คิดว่าฟอยเออร์บัดนั้น
ไม่ได้ให้ความสำคัญแก่ประวัติศาสตร์ของมนุษย์อย่างแท้จริง
เพราะมนุษย์ที่เขารู้จักนั้น คือมนุษย์ที่รู้จักกันในทางชีววิทยานั่นเอง
ไม่ใช่ดำรงชีวิตแบบภายใต้เงื่อนไขของประวัติศาสตร์ ซึ่งความคิดทั้งสองท่านนี้
มาร์กซ์ปฏิเสธปรัชญาจิตนิยมของเฮเกล
แต่รับเอามรรควิธีวิภาษของเฮเกลมาใช้ในการแสวงหาความจริงจากสังคม
และธรรมชาติโดยสลัดจิตนิยมของเฮเกลทิ้ง
วัตถุนิยมประวัติศาสตร์
วัตถุนิยมประวัติศาสตร์ คือ การนำหลักการวิภาษวิธีมาใช้
เพื่อศึกษาค้นคว้า และทำความเข้าใจชีวิตทางสังคม หรืออีกนัยหนึ่ง
เป็นการประยุกต์หลักการ หรือมองชีวิตทางสังคมแบบวิภาษวิธี
แนวคิดของมาร์กซ์นั้นเห็นว่ามนุษย์
และชีวิตทางสังคมเป็นวัตถุอย่างหนึ่งย่อมมีการเคลื่อนไหว
จึงต้องยึดหลักการวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ มาร์กซ์เห็นว่า
มนุษย์ในสังคมแต่ละยุคต่างทำการผลิต
จากนั้นความสัมพันธ์ทางการผลิตที่เหมาะกับสังคมยุคนั้นจึงอุบัติขึ้นเป็นที่มาของรากฐานทางเศรษฐกิจในสังคมซึ่งเป็นสิ่งที่กำหนดสภาวะทางสังคม
เป็นสิ่งที่เข้าใจด้วยกระบวนการวิภาษวิธี มาร์กซ์ได้แบ่งสังคมมนุษย์ออกเป็น 3 ยุค
คือ
- ยุคทาส เกิดการต่อสู้ทางชนชั้นในสังคมระหว่างทาสกับนายทาส
- ยุคศักดินา เกิดการล้มล้างระบบศักดินาหรือมูลนายเจ้าของที่ดิน จากนั้นเป็นระบบทุนนิยมได้เกิดขึ้น
- ยุคนายทุน นายทุนเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ผู้ใช้แรงงานเป็นอิสระที่จริง แต่การดำรงชีวิตขึ้นอยู่กับนายทุน เพราะต้องขายแรงงานของคนแก่นายทุน เปิดโอกาสให้นายทุนกดขี่ขูดรีด
ระบบทุนนิยม
มาร์กซ์ได้เขียนหนังสือทุนซึ่งมีสาระสำคัญคือ
ระบบนายทุนเหมือนกับระบบเศรษฐกิจอื่น ๆในประวัติศาสตร์
สังคมมนุษย์มีผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ ผู้ได้ประโยชน์จากระบบนี้ คือ
นายทุน เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ส่วนผู้เสียผลประโยชน์ คือ กรรมกร
ที่ทำงานแลกค่าจ้างจากนายทุน ซึ่งมาร์กซ์วางหลักการใหญ่ไว้ 2 หลักการ คือ
- ทฤษฎีมูลค่าจากกำลังงาน มาร์กซ์ได้เน้นว่า
ปัจจัยอื่นนอกจากแรงงานไม่สามารถทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ได้
แรงงานยังเป็นที่มาของราคาผลผลิต เช่น ถ้าใช้กำลังงานจากแรงงานของกรรมกร 10
หน่วย ก็จะทำให้เกิดค่า 10 หน่วยตามมาด้วย
- ทฤษฎีมูลค่าส่วนเกิน คือ ทฤษฎีที่ว่าด้วยกำไรที่พวกนายทุนเบียดบังจากผู้ใช้แรงงานเช่น สมมติว่าใน 7 ปอนด์ กรรมกรได้ค่าจ้าง 2 ปอนด์ ความจริงนั้นเงิน 2 ปอนด์ ที่กรรมกรได้รับน้อยกว่ามูลค่าของกำลังแรงงานที่กรรมกรควรจะได้ มาร์กซ์เรียกมูลค่าที่ไม่ได้จ่ายกับกรรมกรนั้นว่ามูลค่าส่วนเกิน
มาร์กซ์เห็นว่า ในที่สุดกรรมกรจะร่วมมือกันกำจัดนายทุน และระบบทุนนิยม
ซึ่งเป็นที่มาแห่งความทุกข์ยากของเขาไป และกรรมกรจะช่วยจัดระบบสังคมใหม่ คือ
สังคมนิยม คือรัฐจะเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตทั้งหมด แต่ละคนจะทำงานให้รัฐ
และได้รับผลตอบแทนตามกำลังงานของตน มาร์กซ์เรียกการปกครองนี้ว่า
เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ และระบบนี้จะปูทางไปสู่ระบบคอมมิวนิสต์ต่อไป
เรื่องระบบนายทุน
มาร์กซ์ให้ความเห็นว่ามนุษย์ในระบบนายทุนไม่มีความรู้สึกที่ต้องการเห็น ฟัง คิด
รักษา จุดประสงค์อย่างเดียว คือ
ต้องการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของตนเหนือวัตถุทั้งหลาย
ในที่สุดสิ่งที่มนุษย์ต้องการเป็นเจ้าของกลับกลายเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลเหนือความเป็นอยู่ของมนุษย์
อันเป็นการนำไปสู่ปรากฎการณ์ของปัจจัยลดคุณค่าของมนุษย์
ปัจจัยลดคุณค่าของมนุษย์ มีดังนี้
- มนุษย์ในระบบทุนนิยมจะห่างเหินจากผลงานที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง
- มนุษย์ในสังคมทุนนิยมถูกแยกออก และห่างเหินจากผลผลิตของตัว โดยที่ตัวมนุษย์เองหาได้มีคุณค่า แต่สิ่งที่มนุษย์ผลิตกลับมีคุณค่าขึ้นมาแทน
- มนุษย์จะถูกแยกออกจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เนื่องมาจากการแข่งขัน และความขัดแย้งระหว่างมนุษย์
ระบบสังคมทุนนิยม
ระบบสังคมทุนนิยม คือ การที่เจ้าของปัจจัยการผลิต
เปลี่ยนจากคนส่วนน้อยมาเป็นรัฐ ไม่มีผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่
สินค้าที่ผลิตขึ้นมาจะถูกจำหน่ายจ่ายแจกตามแรงงานที่ทำลงไป
ไม่มีการขูดรีดระหว่างกัน ทั้งนี้ เพราะลักษณะทางสังคมของการผลิต
สอดคล้องกับการที่สังคมเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตร่วมกัน ความสัมพันธ์ทางการผลิต
พลังทางการผลิต (Productive farce) ในทางสังคมเรียกว่า ฐานทางเศรษฐกิจ (Economic
Base) หรือโครงสร้างส่วนล่าง ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดสภาวการณ์ทางสังคม เช่น
ระบบการปกครอง ศิลปวัฒนธรรม กฎหมาย ปรัชญา และศาสนา เป็นต้น เรียกว่า
โครงสร้างส่วนบน
โครงสร้างส่วนบนจึงเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับโครงสร้างส่วนล่างดังแผนภาพ
ระบบคอมมิวนิสต์แบบทุนนิยม
บุคคลแรกที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้วางรากฐานของลัทธิคอมมิวนิสต์ คือ คาร์ล
มาร์กซ์ เขามีความคิดว่า วัตถุเป็นตัวกำหนดให้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ
ขึ้นในประวัติศาสตร์หรือที่เรียกกันว่า ลัทธิวัตถุนิยมเชิงประวัติศาสตร์
(historical materialism) และในการที่มาร์กซ์นำ วัตถุ
มาใช้ในการตีความทางประวัติศาสตร์ มาร์กซ์ได้ย้ำให้เห็นว่า วัตถุ
เป็นเรื่องของเศรษฐกิจ ฉะนั้น จึงได้เรียกทฤษฎีของมาร์กซ์ว่ามีลักษณะเป็น economic
determinism อันหมายถึงว่า เศรษฐกิจมีอิทธิพลต่อสังคม ทั้งในด้านการเมือง การศึกษา
ศาสนา ปรัชญา ศิลปวัฒนธรรม
การมองประวัติศาสตร์แบบวัตถุนิยมมุ่งสนใจส่วนที่เป็นพื้นฐาน ได้แก่
สนใจเรื่องการผลิต และการทำมาหากินของมนุษย์ว่าเป็นรากฐานของประวัติศาสตร์
และเมื่อพลังการผลิตเปลี่ยนแปลงไปก็จะมีผลกระทบให้ความสัมพันธ์ในการผลิต
และระบบกรรมสิทธิ์เปลี่ยนแปลงไปด้วย
ฉะนั้นการขัดแย้งกับโครงสร้างส่วนบนซึ่งพยายามที่จะรักษาสถานภาพดั้งเดิมจึงเกิดขึ้น
ทำให้เกิดการปฏิวัติสังคมเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ขณะเดียวกันโครงสร้างส่วนบนอันได้แก่ ระบบการเมืองและวัฒนธรรม
จะต้องเปลี่ยนแปลงจนสอดคล้องกับพลังการผลิต และระบบกรรมสิทธิ์
เพราะฉะนั้นการมองประวัติศาสตร์แบบวัตถุนิยมดังกล่าวแล้ว
จะทราบได้ว่าพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ของมนุษย์เป็นเรื่องของความขัดแย้งเชิงเศรษฐกิจ
การวิเคราะห์เหตุการณ์ต่าง ๆ
โดยถือเอาเศรษฐกิจเป็นตัวนำในส่วนที่เกี่ยวกับการเมืองแล้ว
ย่อมมีความสำคัญต่ออุดมการณ์ของลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นอันมาก ทั้งนี้
เพราะมาร์กซ์มองการเมืองว่าเป็นการต่อสู้ของชนชั้น(social class)
อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการขัดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และในทรรศนะของมาร์กซ์นั้น
การต่อสู้ระหว่างชนชั้นได้แก่ ผู้ปกครองและผู้อยู่ใต้ปกครองเท่านั้น
สำหรับในสังคมนายทุน (capitalist) นั้น มาร์กซ์กล่าวว่า มีคนอยู่ 2 ชนชั้น ได้แก่
นายทุน หรือกระฎุมพี (capitalists or bourgeoisie) กับผู้ใช้แรงงาน
หรือชนชั้นกรรมาชีพ (proletariat) ซึ่งมาร์กซ์มีความเห็นว่าต้องล้มล้างระบบนายทุน
และเมื่อปราศจากนายทุนแล้ว สังคมคอมมิวนิสต์ ตามที่มาร์กซ์คิดก็จะเกิดขึ้น
ซึ่งจะเป็นสังคมที่ไม่มีการแบ่งชนชั้น และการขัดแย้งอีกต่อไป
เพราะชนชั้นอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความแตกต่างทางเศรษฐกิจจะสูญหายไป
ทรัพย์สินจะตกเป็นของส่วนกลาง
และแต่ละคนจะได้รับผลประโยชน์จากการทำงานตามความจำเป็นในการยังชีพของตน
โดยไม่คำนึงว่าใครจะทำงานมาก หรือทำงานน้อย
และในที่สุดระบบเศรษฐกิจในสังคมคอมมิวนิสต์จะไม่มีการเอารัดเอาเปรียบ
(exploitation)โดยชนชั้นหนึ่งจากอีกชนชั้นหนึ่ง มาร์กซ์อธิบายต่อไปว่า
เมื่อสังคมปราศจากเสียซึ่งชนชั้นแล้ว
คือเมื่อไม่มีชนชั้นปกครองกับชนชั้นผู้ถูกปกครอง รัฐก็จะสลายตัวไป
เพราะไม่มีความจำเป็นต้องมีการปกครองต่อไปอีก และกระบวนการสลายตัวของรัฐแบบนี้
มาร์กซ์เรียกว่า รัฐจะร่วงโรยหมดสิ้นไปเอง (the state will wither away)
สำหรับคำว่า คอมมิวนิสต์ นั้น มาร์กซ์ และฟรีดริช เองเกลส์ (Friedrich
Engels) ได้ใช้คำนี้เป็นครั้งแรกในการเขียน คำประกาศของคอมมิวนิสต์ (the
Communist Manifesto) ในระหว่างปี ค.ศ. 1847-1848
ซึ่งถือได้ว่าเป็นเอกสารสำคัญที่อธิบายถึงหลักการของคอมมิวนิสต์ สาระสำคัญ
คำประกาศของคอมมิวนิสต์ ได้กล่าวถึงประวัติศาสตร์ของสังคมว่า
เป็นประวัติการต่อสู้ระหว่างชนชั้น ทาสต่อสู้กับนายทาส ไพร่ต่อสู้กับเจ้าของที่ดิน
กรรมกรต่อสู้กับนายทุน
และในขั้นตอนสุดท้ายกรรมกรซึ่งเป็นชนชั้นที่ถูกขูดรีดมีความต้องการที่จะเปลี่ยนความสัมพันธ์ในการผลิตหรือระบบกรรมสิทธิ์และโครงสร้างส่วนบน
(superstructure) อันได้แก่ ระบบกฏหมาย การเมือง วัฒนธรรม และระบบความคิด
ทั้งนี้เพื่อที่จะยุติการขูดรีด
เมื่อพลังการผลิตของแรงงานได้พัฒนาถึงขั้นพร้อมเต็มที่
ก็จะเกิดการปฏิวัติสังคม ฝ่ายต่อสู้จะประสบชัยชนะ ซึ่งจะเป็นผลให้ระบบกรรมสิทธิ์
และโครงสร้างส่วนบนเปลี่ยนแปลงไป
การปฏิวัติได้เกิดขึ้นตลอดเวลาในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
มีการเปลี่ยนแปลงระบบกรรมสิทธิ์ และระบบการปกครองสืบต่อเนื่องมาไม่ขาดสาย
นับตั้งแต่จากระบบทาสมาสู่ระบบศักดินา จนกระทั่งถึงระบบนายทุน
และการปฏิวัติครั้งสำคัญที่สุดก็ คือ การปฏิวัติล้มระบบกรรมสิทธิ์ และระบบนายทุน
เพราะการปฏิวัติที่ผ่านมานั้นเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตจากคนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งไปสู่คนกลุ่มน้อยอีกกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
เพราะฉะนั้นการขูดรีดยังคงมีอยู่ต่อไป
แต่การปฏิวัติล้มล้างระบบนายทุนจะทำให้การขูดรีดสิ้นสุดลง
เพราะจะมีการโอนปัจจัยการผลิตมาเป็นของส่วนรวม
ตามทฤษฎีของมาร์กซ์ ได้บรรยายถึงความสัมพันธ์ทางการผลิต
ซึ่งแสดงถึงการต่อสู้ทางชนชั้นของสังคมแต่ละยุค
- ยุคดั้งเดิม มนุษย์ในยุคนั้นมีจำนวนน้อย แต่ทรัพยากรธรรมชาติมีมาก
ไม่จำเป็นต้องมีการแก่งแย่งกัน สังคมในยุคดั้งเดิมจึงเป็นสังคมขนาดเล็ก
ไม่มีชนชั้น และมนุษย์ยังไม่มีความสำนึกในเรื่องกรรมสิทธิ์ อาจเรียกได้ว่าเป็น
สังคมคอมมิวนิสต์บุพกาล ก็ได้
- ยุคทาส เมื่อพลังการผลิตพัฒนาขึ้น เกิดการเลี้ยงสัตว์ และเกษตรกรรมขนาดใหญ่
จึงมักมีผลิตผลเหลือเฟือ
ทำให้บุคคลกลุ่มหนึ่งที่แข็งแรงกว่ายึดเอาแรงงานของผู้อื่นมาเป็นของตน
โดยให้แรงงานเหล่านั้นส่งผลผลิตให้แก่ตน
ซึ่งในตอนเริ่มแรกได้มีการบังคับเอาเชลยศึกมาเป็นทาส
ต่อมาก็ได้มีการนำเอาคนในสังคมเดียวกันมาเป็นทาส
จึงทำให้เกิดระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลและชนชั้น ตลอดจนการขูดรีด
- ยุคศักดินา
สืบต่อมาจากการพัฒนาการผลิตของแรงงานนำไปสู่การขัดแย้งความสัมพันธ์ทางการผลิตของระบบทาส
กล่าวคือ การกดขี่ทาสทำให้ทาสไม่สนใจในการผลิต ฉะนั้นการผลิตขนาดเล็ก
โดยผู้เช่าที่ดินเริ่มมีประสิทธิภาพ
ทาสได้รับการปลดปล่อยและการได้เช่าที่ดินทำมาหากิน โดยผู้เช่า
และผู้สืบสายโลหิตต้องติดอยู่กับที่ดินนั้น ทำให้เกิดเป็นระบบศักดินา คือ
เจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตกึ่งเป็นเจ้าของผู้ทำกินในที่ดิน
ซึ่งเรียกว่าทาสติดที่ดิน หรือไพร่
- ยุคนายทุน เป็นยุคสืบต่อจากยุคศักดินา คือ เมื่อพลังการผลิตได้พัฒนามาถึงระดับการผลิตเพื่อการขยายผลิตผลเป็นสินค้า และเป็นการผลิตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่โดยใช้เครื่องจักร จึงเกิดระบบนายทุนแทนระบบศักดินา ไพร่ได้รับการปลดปล่อย ส่วนผู้ทำงานในโรงงาน หรือกรรมกร ไม่มีปัจจัยการผลิต คงมีแต่แรงงานขายเลี้ยงชีวิต ขณะเดียวกันนายทุนกลับร่ำรวย และสะสมกำไรไว้ในมือ การขูดรีดได้เปลี่ยนสภาพจากการเป็นเจ้าของที่ดินกับไพร่ มาเป็นการขูดรีดระหว่างนายทุนกับผู้ใช้แรงงาน โดยนายทุนกดค่าจ้างแรงงาน และเอาค่าส่วนเกินของแรงงานเป็นของนายทุน (surplus value) คือมูลค่าของสินค้าแรงงานผลิตที่ได้เกินไปกว่าค่าจ้าง
เมื่อพิจารณาทรรศนะของมาร์กซ์ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า
ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ และการเมืองของมนุษย์ได้วิวัฒนาการโดยสันติวิธี
แต่เป็นระบบเศรษฐกิจ และการเมืองที่ผูกขาดโดยคนกลุ่มน้อย
คือผู้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ซึ่งขูดรีดคนกลุ่มใหญ่ทำให้เกิดการต่อสู้
และการขัดแย้ง มาร์กซ์เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์มนุษย์นั้น
เป็นเรื่องของการต่อสู้ และการปฏิวัติ มาร์กซ์
และเองเกลส์ได้เน้นให้ตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ได้ก้าวสู่ยุคพัฒนาขึ้นโดยลำดับ
ฉะนั้น เขาทั้งสองจึงมีความเห็นว่า ระบบสังคมนิยม หรือระบบคอมมิวนิสต์
ซึ่งเป็นยุคสุดท้ายที่ดีที่สุดของมนุษย์ จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
โดยการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ อันเป็นการเกิดขึ้นตามกฎไดอะเล็กติค ฉะนั้น
มาร์กซ์และเองเกลส์ จึงเชื่อว่าสังคมนิยมตามแนวความคิดของเขาเป็น
สังคมนิยมแบบวิทยาศาสตร์
มาร์กซ์มีความเชื่อมั่นว่า
ชนชั้นกรรมาชีพสามารถมีจิตสำนึกได้เองว่าฝ่ายตนถูกขูดรีด โดยได้รับ
หรือผ่านทางประสบการณ์ในการทำงาน และการดำรงชีพ
ครั้นเมื่อสำนึกแล้วชนชั้นกรรมาชีพจะร่วมมือกันปฏิวัติล้มล้างนายทุน ดังปรากฏใน
คำประกาศของคอมมิวนิสต์ (The Communist Manifesto)
ซึ่งมาร์กซ์และเองเกลส์ร่วมกันร่างไว้ สรุปได้ว่า ทุกคนจะมีเสรีภาพ
ซึ่งเกิดขึ้นมาพร้อมกับชัยชนะขั้นสุดท้ายของชนชั้นกรรมาชีพ
โดยกระบวนการของการปฏิวัติ และสังคมจะเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคคอมมิวนิสต์
ซึ่งมาร์กซ์เชื่อว่าเป็นยุคสุดท้าย คือเป็นสังคมที่ไม่มีการขัดแย้งกันทางชนชั้น
เป็นสังคมที่ปราศจากชนชั้น (classless society) ไม่มีกฎหมาย ไม่มีการปกครอง
และรัฐจะต้องอันตรธานไป (state will wither away)
ทฤษฎีปฏิวัติสังคมของมาร์กซ์ ได้รับการนำไปขยายความต่อเติมโดยเลนิน (Lenin)
เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับประเทศรัสเซีย และเหมา เจ๋อ ตุง (Mao Tse-Tung)
เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในจีน
ในส่วนที่เกี่ยวกับวิวัฒนาการของลัทธิคอมมิวนิสต์นั้น
จากการศึกษาวิวัฒนาการของลัทธินี้เป็นที่ยอมรับกันว่า
วิวัฒนาการของลัทธิคอมมิวนิสต์ในปัจจุบันเป็นการผสมผสานกันระหว่างความคิดของมาร์กซ์
และเลนิน ที่เรียกกันว่า ลัทธิมาร์กซิสม์ และเลนินนิสม์ (Marxism and Leninism)